'มิน อ่อง หล่าย'วอนนานาชาติร่วมมือจัดการโควิดในเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เรียกร้องความร่วมมือเพิ่มขึ้นกับประชาคมนานาชาติและมิตรประเทศ เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นวันละเกือบ 5,000 ราย

แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Sefa Karacan/Anadolu Agency via Getty Images)

    รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 28 กรกฎาคม กล่าวว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมากำลังทำให้รัฐบาลเมียนมาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากนานาชาติ นอกเหนือจากเพื่อนบ้านอย่างจีนที่เพิ่งส่งวัคซีนมาให้อีกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยรายงานอ้างข่าวจากหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมาว่า ในสุนทรพจน์ต่อการประชุมประสานงาน พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ เรียกร้องความร่วมมือเพิ่มขึ้นด้านการป้องกัน, ควบคุม และรักษาโควิด-19 รวมถึงกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มอาเซียน และเหล่ามิตรประเทศ

    หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของทางการเมียนมาฉบับนี้รายงานเมื่อวันพุธว่า ผู้นำรัฐบาลทหารกล่าวว่า เมียนมาจำเป็นต้องเพิ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งด้วยวัคซีนที่ได้รับบริจาค และด้วยการพัฒนาการผลิตวัคซีนในประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากรัสเซีย และเมียนมาต้องการดึงเงินจากกองทุนโควิด-19 ของอาเซียน

    รัฐบาลทหารเคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนว่าได้สั่งซื้อวัคซีนจากจีน 4 ล้านโดส และจีนจะบริจาคเพิ่มอีก 2 ล้านโดส เมื่อต้นปีนี้เมียนมายังได้รับมอบวัคซีนที่อินเดียบริจาคให้ 1.5 ล้านโดส แต่ข้อมูลจากสภาบริหารแห่งรัฐระบุว่า เมียนมาเพิ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปได้แค่ราว 1.75 ล้านโดส จากประชากร 54 ล้านคน

    นอกจากปัญหาการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ยังมีรายงานปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนในหลายพื้นที่ของประเทศ สำนักข่าวออนไลน์เมียนมานาวรายงานอ้างพยานหลายรายว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนไข้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง หลังจากระบบท่อส่งออกซิเจนใช้งานไม่ได้

    ข่าวรอยเตอร์กล่าวว่ายังไม่สามารถตรวจสอบรายงานข่าวนี้อย่างอิสระได้ รวมถึงไม่สามารถติดต่อขอข้อมูลยืนยันจากโรงพยาบาลกลางออกกะลาปาเหนือและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

    ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาตามรายงานของสื่อในประเทศ เมื่อวันอังคารเมียนมาตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,964 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 338 คน แต่หน่วยแพทย์และบริการจัดการศพระบุตัวเลขที่สูงกว่านี้มาก ตามฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ เมียนมามีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 279,119 คน เสียชีวิตแล้ว 7,845 คน

    สัปดาห์ที่แล้ว มีนักโทษก่อหวอดประท้วงในเรือนจำอินเส่งของนครย่างกุ้ง ซึ่งผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยโดนคุมขังอยู่หลายราย นักเคลื่อนไหวกล่าวว่าเป็นการประท้วงการระบาดของโควิด-19 ในคุก

    รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ความพยายามรับมือโรคระบาดยังเจออุปสรรคเพิ่มเติมจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีในภาคตะวันออกของเมียนมา

    ในอดีต กองทัพเมียนมาระวังกับการรับความช่วยเหลือจากภายนอกเมื่อเกิดภัยพิบัติในประเทศ โดยเฉพาะจากความกังวลเงื่อนไขผูกมัด ซึ่งทำให้ชาวเมียนมามักต้องช่วยเหลือกันเอง แต่รัฐบาลทหารชุดที่ผ่านเคยยอมรับความช่วยเหลือจากอาเซียนหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มเมื่อปี 2551

    แม้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเห็นด้วยกับแผนของอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน แต่แทบไม่มีวี่แววที่กองทัพเมียนมาจะปฏิบัติตามแผนนี้ โดยพวกเขาเลือกแนวทางของตนเองในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยหลังรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแผนของอาเซียน

    สัปดาห์นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ยังประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นโมฆะด้วย โดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง และไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม เนื่องจากพรรคของนางอองซาน ซูจี ทุจริต จึงทำให้พรรคชนะคู่แข่งอย่างถล่มทลาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"