พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชทรัพย์มากแค่ไหน? 


เพิ่มเพื่อน    


    (ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่สี่ต่อจากตอนแรก “การซุบซิบ ข่าวลือ ข่าวลวงและเสรีภาพ” และตอนที่สอง “พ.ศ.2408 : มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์”และตอนที่สาม “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทรัพย์มากแค่ไหน?” ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้) และในตอนที่สาม ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชอำนาจน้อยมาก และยิ่งในปลายรัชกาลในปี พ.ศ.2408 ก็ยิ่งน้อยลงอย่างยิ่ง เมื่ออำนาจถูกรวบไปอยู่ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่กระนั้นก็นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่ในปี พ.ศ.2408 มีคนปล่อยบัตรสนเท่ห์เป็นภาษาอังกฤษว่า พระองค์มีพระราชอำนาจในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์! และ “ในท้องพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามนั้นเต็มไปด้วยเงิน ประหนึ่งภูเขาทองและเงิน และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุด” เรามาดูกันว่าพระองค์มีพระราชทรัพย์มากมายตามข่าวลือหรือเปล่า?     จากการศึกษาของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด กล่าวว่า         

“พระคลังข้างที่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ถือเป็นพระราชทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไม่อ้างสิทธิ์ครอบครอง”      “พระคลังข้างที่” คือ ทรัพย์สินรายได้ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงหาได้เป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งมีมากเสียจนต้องเก็บในอีกห้องหนึ่งต่างหาก อันเป็นที่มาของ “คลังข้างที่”              

เพราะอย่างที่ทราบกันตามประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปรีชาสามารถในทางการค้า ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงประสบความสำเร็จในการค้าและการสะสมความมั่งคั่ง จากการที่ได้ทรงรับราชการในหน้าที่กรมท่า และทรงสามารถหาเงินจากการแต่งสำเภาค้าขาย และเก็บภาษีขาเข้า มีได้รายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้จ่ายในราชการแผ่นดินทุกอย่างทุกประการ จนทำให้การคลังมั่งคั่งมั่นคงจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดาทรงสัพยอกให้สมญาพระองค์ว่าเป็น “เจ้าสัว” แห่งกรุงสยาม แต่เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมีพระราชทรัพย์ในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทรัพย์ทั้งหมดจึงควรจะเป็นของแผ่นดิน หาใช่พระราชทรัพย์ที่จะตกทอดถึงพระราชโอรส ธิดาของพระองค์      
แต่กระนั้น อย่างที่อาจารย์กุลลดาได้กล่าวข้างต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไม่ทรงอ้างสิทธิ์ในพระคลังข้างที่ และอาจารย์กุลลดายังได้กล่าวต่อไปว่า “จึงเกิดคำถามขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงหารายได้ส่วนพระองค์ด้วยวิธีใดในเมื่อมิใช่ผู้มี ‘หัวการค้า’” ด้วย “เมื่อเริ่มต้นรัชกาลนั้น พระองค์มีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อยู่ 100 ชั่ง”                                      

อาจารย์กุลลดาอธิบายว่า “ทรงพยายามลงทุนในกิจการส่วนพระองค์ให้ได้กำไรงอกเงยขึ้น เมื่อกิจการดังกล่าวเกิดความยุ่งยากจากสนธิสัญญาเบาว์ริง พระองค์จึงขอความช่วยเหลือจากขุนนางผู้ใหญ่จนเป็นที่ตกลงกันในหมู่ชนชั้นนำว่า พระคลังข้างที่จะได้รับรายได้จากภาษีอากรร้อยละ 5 ซึ่งเป็นที่ถูกเพิกเฉยละเลยกันโดยมาก ส่วนใหญ่แล้ว พระองค์จะอาศัยเจ้าพระยาพลเทพผู้จงรักภักดี ซึ่งขึ้นเป็นเสนาบดีกรมนาได้ด้วยการสนับสนุนของพระองค์ เจ้าพระยาพลเทพได้ถวายเงินเข้าพระคลังข้างที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยปีละ 2,000 ชั่ง แต่เมื่อพระยาอาหารบริรักษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานและผู้ใต้อุปถัมภ์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้ามาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมนาแทน พระองค์ก็ต้องสูญเงินอุดหนุน 2,000 ชั่งไป”         

อาจารย์กุลลดากล่าวต่อไปอีกว่า “เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่ถือว่า ภาษีอากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว และใช้ทุกโอกาสที่จะไม่ต้องจ่ายเงินเข้าท้องพระคลัง ถึงแม้รายได้จากการประมูลภาษีอากรจะเพิ่มขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว ขุนนางเหล่านี้ก็ถือว่าการจ่ายรายได้แผ่นดินเข้าพระคลังหลวงเป็นจำนวนที่แน่นอนตายตัวนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง แม้กระทั่งกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งกำกับดูแลพระคลังสินค้า ก็มิได้ประพฤติต่างไปจากขุนนางผู้ใหญ่คนอื่นๆ……ด้วยเหตุนี้ ทั้งพระคลังข้างที่และพระคลังหลวงจึงได้ประโยชน์น้อยมากในยามที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว……ขุนนางผู้ใหญ่เป็นกลุ่มที่รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ (จากการทำสนธิสัญญาการค้าเบาว์ริงกับอังฤษ/ผู้เขียน)”    “สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรต่างๆ ตกอยู่ในการควบคุมของขุนนางผู้ใหญ่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตกอยู่ในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์จากขุนนางผู้ใหญ่มาตั้งแต่ต้น แทนที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ขุนนางเหล่านั้น”            

                    
ในวิทยานิพนธ์ของ ชลธิชา บุนนาค ได้กล่าวถึงภาวะทางการเงินของบ้านเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไว้ว่า                     

“ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยต้องยอมเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับชาติตะวันตก คือ สัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐโดยตรงยิ่งกว่าสัญญาเบอร์นี เนื่องจากรัฐมีสิทธิ์เก็บภาษีขาเข้าจากต่างประเทศได้เพียงร้อยละสามเท่านั้น และต้องจ่ายคืนถ้าสินค้าที่พ่อค้านำเข้ามาจำหน่ายเหลือกลับออกไป ผลประโยชน์ที่รัฐเคยได้จากภาษีเบิกร่อง ภาษีปากเรือ ภาษีสินค้าเข้าและออก ต้องยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงหาวิธีแก้ไขเพื่อหารายได้แผ่นดินมาชดเชยส่วนที่เสียไป โดยการเรียกเก็บภาษีอากรภายในเพิ่มขึ้นอีก 14 อย่าง รวมกับภาษีอากรเดิมที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จำนวน 38 อย่าง เป็น 52 อย่าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เพราะอยู่ในระยะที่ต้องใช้เงินเพื่อปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเพื่อรักษาเอกราชของชาติด้วย และในขณะเดียวกันต้องคอยเอาใจบรรดาเจ้านายและขุนนางผู้เคยได้รับผลประโยชน์จากการค้าผู้ขาดแต่เดิม โดยทรงเลื่อนตำแหน่งเจ้านายและขุนนาง แจกเบี้ยหวัด และให้โอกาสข้าราชการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากระบบภาษีนายอากร ซึ่งทำให้ ‘ความลำบากในเรื่องเงินแผ่นดินตกต่ำจึงค่อยสงบลงไป’” นอกจากนี้ ชลธิชายัง “มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงพยายามแสวงหารายได้เพิ่มขึ้นทุกวิถีทางเพื่อชดเชยส่วนที่เสียไปในการเจรจากับประเทศคู่สัญญาขอแก้ไขอัตราภาษี และจัดเก็บภาษีอากรภายในเพิ่มขึ้นอีก 14 ชนิด ซึ่งน่าจะทำให้รายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่า จากตัวเลขประมาณการรายได้ตอนปลายรัชกาลที่ 4 รายได้อยู่ในภาวะทรงตัว แต่รายจ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น                 

พ.ศ.2403 จ่าย 2,217,426 บาท 87 สตางค์ พ.ศ.2404 จ่าย 2,615,764 บาท 50 สตางค์ พ.ศ.2405 จ่าย 2,680,332 บาท 50 สตางค์        

พ.ศ.2406 จ่าย 2,670,786 บาท 50 สตางค์ รายได้ในปีสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ คงเหลืออยู่ 2,967,604 บาท”    

ชลธิชาได้วิเคราะห์สาเหตุที่รัฐบาลมีปัญหาเรื่องรายรับไม่พอกับรายจ่ายในช่วงนั้นไว้ดังต่อไปนี้ 

“หนึ่ง เจ้านายภาษีอากรที่ประมูลจัดเก็บภาษีอากรไม่ส่งเงินผลประโยชน์ให้รัฐตามกำหนดเวลา นอกจากปัญหาไม่ส่งเงินตามเวลาแล้ว เจ้าภาษีนายอากรพากันเป็นหนี้รัฐบาลเป็นจำนวนมาก เพราะเจ้าภาษีมักจะนำเงินที่ได้ไปใช้สอยส่วนตัว เนื่องจากเจ้าภาษีนายอากรส่วนใหญ่มักจะทำการค้าอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย มักจะนำเงินภาษีอากรที่เก็บได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน                        

สอง เจ้าภาษีนายอากรประมูลเงินส่งรัฐในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควร การรั่วไหลของเงินภาษีอากรแผ่นดินที่เกิดจากระบบเจ้าภาษีนายอากร คือ การที่รัฐให้เอกชนผู้ต้องการทำภาษีเป็นผู้เสนอราคาว่าจะส่งเงินให้แก่รัฐบาลเท่าใด เนื่องจากรัฐไม่เคยสำรวจการทำมาหากินของประชาชนว่าทำสิ่งใดมากน้อย มีสิ่งผลิตจำนวนเท่าใดที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นเจ้าภาษีจึงถือโอกาสเสนอราคาซึ่งต่ำกว่าที่สมควรเพื่อตนจะได้กำไรจากการทำภาษีเป็นจำนวนมาก     

                        
สาม รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บภาษีสูงโดยไม่จำเป็น การที่รัฐกำหนดให้มีเจ้าภาษีนายอากรเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละประเภทเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น ค่าพาหนะขนส่ง ค่าเรือ ค่าจ้างโคต่าง เกวียนต่างๆ ค่าก่อสร้างโรงภาษี ที่เจ้าภาษีหักไว้เป็นค่าใช้จ่าย เงินที่รัฐได้จึงลดลง      

         
สี่ รัฐไม่มีหน่วยงานควบคุมและตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายของแผ่นดินโดยตรง อำนาจในการเก็บเงินภาษีอากรกระจายอยู่ในหน่วยงานทางการบริหารที่สำคัญหลายกรม ทำให้รัฐไม่อาจทราบจำนวนรายได้แท้จริงของแผ่นดินที่เจ้าภาษีจัดเก็บมาส่งมอบ                            

ห้า รัฐอนุญาตให้ขุนนางในกรมที่ได้ควบคุมภาษีใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้ทันทีเมื่อเจ้าภาษีนำเงินมาส่งตามกำหนด ขุนนางในกรมนั้นสามารถหักเงินภาษีนี้ใช้จ่ายราชการได้ก่อนเหลือเท่าไร จึงจะนำส่งคลังมหาสมบัติ”          

               
หก เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและซื่อตรง การที่บรรดาเจ้าภาษีนายอากรพากันติดค้างเงินหลวงเป็นจำนวนมาก เพราะเอาเงินไปลงทุนทำการค้าส่วนตัวโดยไม่หวั่นเกรงอำนาจรัฐ เป็นผลเนื่องมาจากเจ้าพนักงานที่รัฐตั้งให้เป็นผู้ควบคุมเจ้าภาษีที่เรียกว่า ‘เจ้าจำนวน’ นั้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเด็ดขาด เนื่องด้วยมีผลประโยชน์ร่วมกับเจ้าภาษี”                    

จากปัญหาด้านการเงิน ทำให้ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีเงินพอใช้จ่ายราชการและต้องตกเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพตลอดมาจนถึงปีมะแม (พ.ศ.2414) เป็นเงินถึง 100,000 ชั่ง และ “รายได้แผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลไม่พอใช้จ่าย” ดังความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า “….แต่เบี้ยหวัดปีละ 11,000 ชั่งก็วิ่งตาแตก ได้เงินคลังมหาสมบัติ ซึ่งเปนเจ้าน่าที่ต้องวิ่งหาเปนพื้น นอกนั้นก็ปล่อยให้ค้าง ที่ได้ตัวเงินจริงมีประมาณ 20,000 ชั่งเท่านั้น เงินไม่พอจ่ายราชการ ต้องเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพ ตลอดมาจนถึงปีมะแมนี้ เปนเงิน 100,000 ชั่ง”     

           
ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ น่าจะชัดเจนแล้วว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ “ในท้องพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามนั้น เต็มไปด้วยเงิน ประหนึ่งภูเขาทองและเงิน และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุด” จริงตามข่าวลือหรือไม่!      

         
                 
มีเกร็ดเรื่องเล่าเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ คือ พระองค์ทรงเสียพระทนต์ทั้งพระโอษฐ์ไปตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2397 (หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ 3 ปี) หมอบรัดเลย์ได้ทรงถวายชุดพระทนต์ปลอม (ฟันปลอม) จากทันตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อหมอฮิทช์คอก แต่ฟันปลอมไม่พอดีกับพระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.2410 (ก่อนสวรรคตหนึ่งปี) มีหมอฟันอีกท่านหนึ่งชื่อ หมอคอลลินส์ได้เดินทางมาจากประเทศจีน เพื่อจะมาถวายการจัดพระทนต์ปลอมแด่พระองค์ โดยหมอท่านนั้นได้ยินคำเล่าลือมาว่า พระองค์จะทรงพระราชทานเงินเป็นจำนวนถึง 1,000 ดอลลาร์ สำหรับหมอฟันคนใดที่ทำฟันปลอมให้พระองค์ได้สำเร็จ แต่ปัญหาคือ พระองค์ไม่ยอมให้หมอท่านนั้นเอามือเข้าไปในพระโอษฐ์ของพระองค์เพื่อทำพิมพ์ฟันปลอม แต่พระองค์ขอใส่พิมพ์ฟันนั้นด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อเอาพิมพ์ฟันนั้นไปทำฟันปลอม ก็ปรากฏว่าไม่พอดี พระองค์ทรงกริ้วหมอนั้นมาก แต่วันรุ่งขึ้น พระองค์ก็ทรงขอโทษคุณหมอ ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เป็นผู้เอามือใส่ในพระโอษฐ์เพื่อกดขี้ผึ้งแท่นพิมพ์ คราวนี้ ฟันปลอมที่ทำมาใส่ได้พอดี แต่พระองค์ไม่ได้ทรงพระราชทานเงิน 1,000 ดอลลาร์ให้หมอคอลลินส์ตามข่าวลือ แต่พระราชทานเพียง 560 ดอลลาร์เท่านั้น  และเงินจำนวนนั้นยังรวมค่าทำฟันปลอมให้กับพระประยูรญาติที่แก่กว่าพระองค์อีกหนึ่งชุดด้วย! ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่ทรงต้องมัธยัสถ์หรือเหตุใดก็แล้วแต่จะพิจารณากันเอาเอง เมื่อเราทราบแน่นอนแล้วว่า ข่าวลือที่ปล่อยออกมาในปี พ.ศ.2408 นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตอนต่อไปเราจะมาวิเคราะห์กันว่า ทำไมถึงมีการปล่อยข่าวลือ และใครน่าจะเป็นคนปล่อย เพราะอะไร ใครได้อะไร?            


(กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย ; ๒๐๐ ปีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งแรกในวารสารข่าวช่าง ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๓๐ ; ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416-235) : ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ.2527 ; Abbot Low Moffat, Mongkut the King of Siam.).
  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"