พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปฏิเสธสมบูรณาญาสิทธิราชย์


เพิ่มเพื่อน    

(ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่ห้าต่อจากตอนแรก “การซุบซิบ ข่าวลือ ข่าวลวงและเสรีภาพ” และตอนที่สอง “พ.ศ. 2408:  มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และตอนที่สาม “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอำนาจมากแค่ไหน ?” และตอนที่สี่ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทรัพย์มากแค่ไหน ?”  ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้)    

ในปี พ.ศ. 2408 มีการปล่อยข่าวลือป้ายสีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์ทรงปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทรงมีพระราชทรัพย์เงินทองมากมายท่วมท้องพระคลัง“ประหนึ่งภูเขาทองและเงิน และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุด”                             

ข่าวลือที่ว่าเผยแพร่ในรูปของจดหมายในทำนองบัตรสนเท่ห์ และเขียนเป็นภาษาอังกฤษ         

จากข้อมูลประวัติศาสตร์    ผมได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากพระองค์จะไม่ได้ปกครองประเทศในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว พระองค์ยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่แทบจะไม่มีพระราชอำนาจจเลยด้วยซ้ำ เพราะอำนาจอิทธิพลถูกรวบไว้อยู่ในมือของขุนนางตระกูลบุนนาคภายใต้การนำของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  และพระราชทรัพย์ของพระองค์ก็มิได้มีมากมายตามข่าวลือ     (ดู ตอนที่สามและสี่)            

ยิ่งกว่านั้น หากพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจ พระองค์ก็ไม่ทรงมีพระราชอำนาจอันกว้างขวางอย่งาพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย                                

คงมีคนสงสัยว่า ผมรู้ได้อย่างไร ?                                

ก่อนอื่นคงต้องถามว่า พระองค์ทรงรู้จัก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ไหม ? เพราะคำภาษาไทยคำนี้ ยังไม่ได้มีการบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไปจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯด้วยซ้ำ เพราะในสมัยรัชกาลที่ห้า ยังใช้ทับศัพท์ว่า  “แอบโสลูดโมนากี” (ดู ตอนที่สอง “พ.ศ. 2408:  มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์”)                    

ดังนั้น คงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า รัชกาลที่สี่รู้จัก “แอบโสลูดโมนากี” ไหม ?                

จากหลักฐานประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่สี่ การรับรู้เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของตะวันตกเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทั้งจากการเผยแพร่สู่สังคมทั่วไปผ่านการออกหนังสือพิมพ์โดยมิชชันนารี โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “หนังสือจดหมายเหตุ” ที่เรียกทับศัพท์ว่า “บางกอกรีกอเดอ” (The Bangkok Recorder ทับศัพท์แบบปัจจุบัน บางกอกรีคอร์เดอร์) ของหมอบรัดเลย์  และจากการศึกษาหาความรู้โดยตรงจากการพบปะชาวตะวันตกหรือจากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารภาษาอังกฤษ                 

การรับรู้เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองตะวันตกได้ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชทาน

ไปยังพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) ผู้ว่าการเกาะปีนังหรือเกาะปรินซ์ ออฟ เวล (Prince of Wales Island) ในปี พ.ศ. 2394  ก่อนที่หมอบรัดเลย์จะตีพิมพ์เผยแพร่การปกรองของสหรัฐอเมริกาในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 14 ปี  น่าจะตีความได้ว่า พระองค์ทรงศึกษาหาความรู้ดังกล่าวนี้ด้วยพระองค์เองในช่วงเวลาที่ยังทรงผนวชอยู่                    

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้คำลงท้ายในพระปรมาภิไธยดังกล่าวว่า “newly elect President or Acting King of Siam”  แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความรู้เกี่ยวกับการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง  และจากพระราชสาส์นที่ทรงมีไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงเข้าใจในกติกาและประเพณีการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งสมัยละสี่ปี และไม่เกินสองสมัย โดยผู้คนต่างเคารพกติกากัน “ไม่มีการขัดขวางแก่งแย่งแก่กัน  ด้วยผู้นั้นๆ จะช่วงชิงอิสริยยศกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดังเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นอยู่เนืองๆ”  ซึ่งจาก ข้อความนี้ย่อมสะท้อนถึงการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์ในการเมืองสยามที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งอยุธยา และพระองค์ทรงเห็นความเคร่งครัดในการเคารพกติกาการปกครองของผู้คนในสหรัฐอเมริกาว่า “เป็นการอัศจรรย์ยิ่งนัก เป็นขนบธรรมเนียมที่ควรจะสรรเสริญอยู่แล้ว”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองในสยามขณะนั้น                            

พระองค์ทรงวิเคราะห์เกี่ยวกับลักษณะการปกครองของประเทศต่างๆไว้ว่า  ปัจจัยที่ทำให้รูปแบบการปกครองแตกต่างกันอยู่ที่ “ตัวคน” ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การปกครองของประเทศหนึ่งดำเนินไปได้ตามกฎกติกากฎหมาย  ดังข้อความที่ทรงมีพระราชสาส์นไปยังประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนันแห่งสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้คนที่แบ่งออกเป็นสองประเภท นั่นคือ พวกแรก “ยังเป็นเถื่อนหรือใกล้เถื่อน” และ อกพวกหนึ่งคือ พวกที่ “ใกล้จะเชื่องราบหรือเชื่องราบแล้วด้วยรู้จักแลส้องเสพย์กฎหมาย แลอย่างธรรมเนียมอันดีๆในบ้านเมืองเช่นนี้โดยมาก”                          
ถ้ายังเป็นเถื่อนหรือใกล้เถื่อน การปกครองก็จะดำเนินไปโดยขึ้นอยู่กับผู้มีกำลังอำนาจหรือมีพรรคพวกมาก และผู้คนจำต้องยอมรับการปกครองของผู้มีกำลังอำนาจไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม   แต่ถ้าผู้คนใกล้จะเชื่องราบหรือเชื่องราบแล้ว ผู้คนเหล่านั้นก็จะรู้จักที่จะยอมรับกฎกติกา แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม     และยอมให้ผู้ปกครองปกครองบ้านเมืองไปจนครบวาระถ้าไม่เจ็บป่วย หรือยอมให้ปกครองไปจนสิ้นอายุขัย ไม่ใช้กำลังแก่งแย่ง “ช่วงชิงอิสริยยศกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”                        

               
                                                                                      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          

ประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน  (1857–1861)

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเห็นว่า ในเมืองต่างๆ จึงมีความแตกต่างระหว่าง “เมือง” ที่มีการปกครองที่ผู้คนยอมรับเคารพกฎหมายกับ “เมือง” ที่มีการปกครองที่ผู้คนยอมจำนนต่อผู้ที่มีกำลังอำนาจนี้อันเป็น “ธรรมเนียมของเมืองต่างๆ ซึ่งมีปรกติเช่นนั้น”                      

และจากการจัดแบ่งความแตกต่างของ “ผู้คน” สองประเภทดังกล่าวนี้ หากนำประเด็นเรื่อง “ยังเป็นเถื่อน” หรือ “ใกล้จะเชื่องราบหรือเชื่องราบ” มาพิจารณาผู้คนชาวสยาม ก็เป็นไปได้ว่า พระองค์น่าจะทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าผู้คนชาวสยามยังไม่เข้าข่าย “ใกล้จะเชื่องราบหรือเชื่องราบแล้วด้วยรู้จักแลส้องเสพย์กฎหมาย” ที่จะยอมรับกติกาการปกครองที่ “ไม่มีการขัดขวางแก่งแย่งแก่กัน  ด้วยผู้นั้นๆจะช่วงชิงอิสริยยศกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  การปกครองของไทยน่าจะอยู่ไปในทาง “เมือง” ที่มีการปกครองที่ผู้คนยอมจำนนต่อผู้ที่มีกำลังอำนาจ และการที่พระองค์ใช้คำว่าเป็นธรรมเนียมซึ่งมีปรกตินั้น ความหมายของคำว่าปรกติคือ “ธรรมดา, เป็นไปอย่างเคย”                                           
ซึ่งความปกติดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ธรรมดาสำหรับการเมืองการปกครองไทยที่มีผู้คนไม่เคารพกฎกติกา แต่ใช้กำลังอำนาจแย่งกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อันเต็มไปความหวาดระแวง ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างบุคคลในพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางที่มีฝักฝ่ายและมักจะปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อยู่เสมอตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา                                     
และด้วยเหตุนี้เองที่พระองค์ทรงให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีตกลงกันว่าจะเลือกให้ผู้ใดสืบราชสันตติวงศ์ โดยพระองค์ไม่ใช้พระราชอำนาจของพระองค์ในการกำหนดตัวบุคคล เพราะอาจจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและเป็นอันตรายต่อพระราชโอรส (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) ที่ยังทรงพระเยาว์และทรงพระประชวร ซึ่งการยอมให้เป็นอำนาจของที่ประชุมนี้ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สองเป็นต้นมา และคาดว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการจะให้เป็นอำนาจของที่ประชุมเป็น “ปกติ” ต่อไป ดังที่พระองค์ได้ทรงโปรดให้มีพระปรมาภิไธยที่แผ่นพระบรมสุพรรณบัฏว่า “เอนกนิกรสโมสรสมมติ”  ในครั้งที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์  และก็เช่นเดียวกันในคราวที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จขึ้นครองราชย์ ข้อความในพระบรมสุพรรณบัฏก็มีข้อความ “เอนกนิกรสโมสรสมมติ”                       
การกำหนดข้อความดังกล่าวในพระบรมสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะตีความได้ว่า พระองค์ทรงต้องการวางกฎกติกาการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้น โดยวางหลักการที่ให้อำนาจในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์อยู่ที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีอย่างเป็นทางการหรือให้เป็นที่ยอมรับเป็น “ปกติ” ต่อไป  และไม่จำเป็นว่าผู้สืบราชสันตติวงศ์จะต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เป็นพระองค์ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอ  

การวางหลักการดังกล่าวนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการยอมรับอำนาจของขุนนางเสนาบดีหรืออีกนัยหนึ่งคือ การยอมรับเงื่อนไขการครองอำนาจนำของอภิชนหรืออภิชนาธิปไตยเหนือราชาธิปไตยนั่นเอง         

และพระองค์ทรงหวังว่า เมื่อยอมรับกติกาที่ให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีเป็นผู้เลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์แล้ว “ผู้คนเหล่านั้นก็จะรู้จักที่จะยอมรับกฎกติกา แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม     และยอมให้ผู้ปกครองปกครองบ้านเมืองไปจนครบวาระถ้าไม่เจ็บป่วย หรือยอมให้ปกครองไปจนสิ้นอายุขัย (เน้นโดยผู้เขียน) ไม่ใช้กำลังแก่งแย่ง “ช่วงชิงอิสริยยศกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”    นั่นคือ พระองค์ทรงต้องการวางหลักการ “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” ให้เป็นกติการากฐานในการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้กำลังความรุนแรงในการแก่งแย่งชิงบัลลังก์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาในยุครัตนโกสินทร์จะไม่เกิดการใช้กำลังความรุนแรงในการแย่งชิงบัลลังก์อย่างประจักษ์ชัดเจน เพราะด้วยเหตุบังเอิญที่ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าสวรรคตไปก่อนสิ้นรัชกาลเป็นส่วนใหญ่  แต่ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำให้เกิดความบังเอิญนี้ได้ในทุกๆรัชกาลต่อไป  และหากหลักการ “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” นี้เป็นที่เคารพยอมรับอย่างเคร่งครัดจากทุกฝ่าย  สมการการเมืองแห่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลและกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคจะไม่สามารถ “เล่นการเมือง” กับฝ่ายวังหลวงและวังหน้าอันทำให้สถานะของตนครองอำนาจนำเหนือทุกฝ่ายได้มากจนเกินไป                                         

จากข้างต้น พอจะอนุมานได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงยอมรับการมีอำนาจนำของกลุ่มขุนนาง   และยอมรับสภาพที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัด และพระองค์ทรงรับรู้ถึงการปกครองที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือ “Absolute Monarchy” และพระองค์ทรงปฏิเสธระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะโดยแท้จริงแล้ว อำนาจสิทธิ์ขาดไม่ได้อยู่ที่พระองค์ แต่อยู่ที่เหล่าเสนาบดี                

ด้วยอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในปลายรัชสมัย มีการแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับพระองค์ในหมู่ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวยุโรปและชาวจีน ซึ่งเผยแพร่ในภาษาอังกฤษในราว พ.ศ. 2409 โดยหนึ่งสาระของข่าวลือคือ     “กรุงสยามอยู่ภายใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (under quite absolute Monarchy)  ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ (Supreme Sovereign) จะมีพระบรมราชโองการมาประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม”                                
พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษ (และมีการใช้คำว่า absolute monarchy) และให้เหตุผลว่า การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ของสยามมิได้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด และพระองค์ได้ลงท้ายพระราชหัตถเลขาฉบับนั้นว่า “ที่แท้ราชการจะหมดสิทธิ์ขาดคงอย่างไร ก็สุดแต่ท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันนั่นแหละ”  (ดู พระราชหัตถเลขา

ฉบับที่ 18”  ใน รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2547, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา: 2548), หน้า 493.)                                    
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์ที่สามารถนำมาเป็นเหตุผลแวดล้อมที่สนับสนุนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงต้องการปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่จะกล่าวในตอนต่อไป             
(แหล่างอ้างอิง:  “พงศาวดาร บท 3” ดู หนังสือจดหมายเหตุ (หมอบรัดเลย์)  Vol. 1 เล่ม ๑ บางกอก เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๗ Oct. 5th 1865 กฤษศักราช ๑๘๖๕, ใบที่ ๑๕ No. 15. หน้า 124;   หนังสือจดหมายเหตุ Vol. 1 เล่ม ๑ บางกอก เดือนสิบเอ็ด แรมสิบสี่ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๗ Oct. 19th 1865 กฤษศักราช ๑๘๖๕, ใบที่ ๑๖ No. 16. หน้า 137-139 และ หนังสือจดหมายเหตุ Vol. 1 เล่ม ๑ บางกอก เดือนสิบเอ็ด แรมสิบสี่ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๗ Oct. 19th 1865 กฤษศักราช ๑๘๖๕, ใบที่ ๑๖ No. 16. หน้า 137; หนังสือจดหมายเหตุ Vol. 2 เล่ม ๒ บางกอก เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๘ เดือนยูน วันที่ ๒๗  กฤษศักราช ๑๘๖๖, ใบที่ ๙ หน้า ๙๗; พระราชหัตถเลขาถึงผู้ว่าการเกาะปรินซ์ ออฟ เวล (Prince of Wales Island) หรือเกาะปีนัง วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2394 เพื่อแจ้งข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคมปีเดียวกัน “English Correspondence of King Mongkut,” pp. 3, 6. https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/2020/02/JSS_021_1b_EnglishCorrespondenceOfKingMongkut.pdf;  “พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีอเมริกา เมื่อปีวอก พ.ศ. 2403”  ใน รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 400-401)
                
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"