นิรโทษกรรมบุคคลสู้ไวรัส ช่ออัดบิ๊กตู่ใช้หมอบังหน้า


เพิ่มเพื่อน    

“อนุทิน” ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมโควิด-19 แบบเหมาเข่งอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็น ชี้ทำเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องปัญหาไวรัสมรณะทำงานเต็มที่ “สธ.” แจงไม่คุ้มกะลาหัวทุกกรณี ต้องอยู่ในกรอบสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่อ “ส.ว.”เตรียมหนุน แต่ “น้องช่อ” โผล่อัดบิ๊กตู่ใช้ “หมอ-พยาบาล” บังหน้าเอาตัวรอด
    เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เตรียมออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.... เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด-19 ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศและทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศในการดูแลผู้ป่วยภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และวัคซีน ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัจจัยในการผลิตวัคซีนและเงื่อนไขในขณะการเจรจาในขณะนั้น
    นายอนุทินกล่าวต่อว่า กฎหมายดังกล่าวจึงมีเจตนารมณ์ให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการการจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมดได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรง หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีนมีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด 
    “ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาลก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่ลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาลวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังวิตกกังวลระดับหนึ่ง จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาลคนไข้ให้มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชนคนไข้ก็ได้ประโยชน์” นายอนุทินกล่าว
    ด้าน นพ.ธ​เรศ​ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุน​บริการ​สุขภาพ แถลงเรื่องนี้ว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งกำเนิด​ขึ้นมา จึงจำเป็นที่ต้องมีภูมิ​คุ้มกัน​ให้บุคลากร​ทางการแพทย์ในการดูแลประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ 
การมีภูมิต้านทานในการป้องกันการถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากร​มีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพจากสภาวิชาชีพต่างๆ และโรงพยาบาลเอกชน ในการเสนอกฎหมายลักษณะ​นี้ เบื้องต้น สธ.ตั้งคณะทำงานยกร่าง โดยมอบหมายให้กรม​สนับสนุน​บริการ​สุขภาพ​เป็นหน่วยงานหลัก และมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ มาดูเพื่อจะมีกลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดดังกล่าวให้ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวคุ้มครองไปถึงบุคลากร​ทางการสาธารณสุข​ ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุข​ หรืออาสาสมัครต่างๆ ที่มาช่วยเรา บุคคลที่มีส่วนการช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา วัคซีน สำหรับสถานที่ที่มีการคุ้มครองประกอบด้วยสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน โรงพยาบาลสนาม รถฉุกเฉินที่ออกไปรับผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ 
    “การดูแลการคุ้มครองไม่ได้ครอบคลุมทุกกรณี ต้องอยู่ในกรอบใหญ่ๆ คือต้องเป็นการกระทำโดยสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่อ​อย่างร้ายแรง เพราะฉะนั้นการคุ้มครองที่ให้บุคลากรสาธารณสุขไปดูแล มีกรอบจำกัด ทั้งนี้ ถ้ามีประชาชนที่เสียหาย ก็ได้เขียนไว้ว่าไม่เป็นการตัดที่จะได้รับการเยียวยากฎหมายที่เกี่ยวข้อง”
    เมื่อถามถึงบุคลากร​ที่ไม่ต้องรับผิดตามร่าง พ.ร.ก.​ดังกล่าว นพ.ธเรศกล่าวว่า ยกตัวอย่างการปฏิบัติ​งานใน รพ.​สนาม ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดทำขึ้นเพื่อรับจำนวนคนไข้ที่มาก บางครั้งเครื่องมือหรือบุคลากร​จึงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง นอกจากนี้แนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ยังเป็นเรื่องใหม่ และมีแนวทางการเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งในช่วงหนึ่งการรักษาก็เป็นอีกแบบตามภาววิสัย
    ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้นำกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ พ.ร.ก. ก็คงส่งมายังรัฐสภาให้พิจารณาได้ทันภายในสมัยประชุมนี้ ซึ่งถ้าถามถึงเหตุผลและความจำเป็น ก็ต้องถือว่ามีเหตุผลความจำเป็น แต่ต้องตอบสังคมให้ได้ใน 2-3 คำถาม คือปัจจุบันมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ ที่มีบทบัญญัติครอบคลุมในการให้ความคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ดังนั้นการออก พ.ร.ก.นี้รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่ากฎหมายความรับผิดชอบทางละเมิดฯ ที่ใช้อยู่ไม่ครอบคลุมหรือ รวมทั้งรัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าการออก พ.ร.ก.จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่  เพราะหากออกเป็น พ.ร.บ.ที่รอบคอบกว่าแต่อาจใช้เวลา หากเขาตอบตรงนี้ได้ ก็ถือว่าจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้
“เท่าที่ได้คุยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า เขาก็บอกตรงกันว่าสิ่งที่ทำวันนี้อาจส่งผลกระทบในวันข้างหน้า เกรงจะมีการฟ้องร้องหน้างาน หมอ พยาบาลเขากลัวในสิ่งที่ทำตอนนี้มาก หากมีกฎหมายออกมา จะทำให้เขาทำงานได้สบายใจ" นพ.เจตน์กล่าว
      นพ.เจตน์กล่าวว่า ส่วนที่ พ.ร.ก.จะมีเนื้อหาคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดซื้อวัคซีน ประเด็นนี้ หาก พ.ร.ก.มาที่สภาก็มีฝ่ายค้านตรวจสอบอยู่ และคงมีการอภิปรายค่อนข้างมาก ต้องดูว่า พ.ร.ก.จะให้ครอบคลุมถึงระดับไหน เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่ออกมาตามคำสั่ง ศบค.ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรื่องวัคซีนก็อาจมีคนนำเรื่องการจัดหาวัคซีนไปฟ้องศาลได้ด้วย เขาก็เลยเขียน พ.ร.ก.ออกมาให้คุ้มครองถึงผู้เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งดูแล้วร่าง พ.ร.ก.คงให้การคุ้มครองทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ฝ่ายค้าน ก็คงอภิปรายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน 
     น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของนายอนุทิน แสดงว่ากำลังจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จริง เพียงแต่เอาแพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้ามาบังหน้า ทั้งที่ในเอกสารดังกล่าวระบุชัดเจนว่า บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้อง นอกจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ยังรวมถึงคณะผู้จัดหาวัคซีนด้วย 
    “วันนี้ประชาชนทุกคนรู้อยู่เต็มอก รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจ ว่าที่ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่มีผู้ติดเชื้อหลักสองหมื่นคน ผู้เสียชีวิตหลัก 100-200 คนต่อวัน คนแย่งชิงวัคซีนกันเหมือนจับฉลากชิงโชค บุคลากรด่านหน้าต้องเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาถึงแขน ทั้งหมดนี้เกิดจากการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น การแทงม้าตัวเดียวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หยุดเอาบุคลากรการแพทย์มาบังหน้า หยุดเอาประชาชนเป็นตัวประกัน หยุดทำเรื่องไร้ยางอาย ประชาชนยังตายกันไม่หยุดหย่อน แต่รัฐบาลกลับคิดหาทางเอาตัวรอด พ้นผิดลอยนวล” น.ส.พรรณิการ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"