Police Watch จี้'มีชัย'ยกเลิกลงโทษวินัยตำรวจแบบทหารชี้เป็นเหตุให้ตร.กลัวนาย


เพิ่มเพื่อน    

 

13 มิ.ย.61 - เมื่อเวลา 16.00น.ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ  (คป.ตร.)หรือ Police Watch  ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ผ่านผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ ขอให้ปฏิรูประบบการลงโทษวินัยตำรวจ และกำหนดให้กองบังคับการตำรวจจังหวัดเป็นราชการส่วนภูมิภาคอยู่ภายใต้การตรวจสอบ และการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด

โดยจดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหาสรุปว่า องค์กรตำรวจไทยถูกกำหนดให้มีชั้นยศและวินัยแบบทหาร แม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานสอบสวน ทำให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจสามารถใช้อำนาจสอบสวนและลงโทษทางวินัยผู้ปฏิบัติงานทุกคนเช่นเดียวกับทหารได้ง่ายและไร้ขอบเขต เป็นสาเหตุให้ตำรวจทุกคนเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างแท้จริงหรือต้องจำยอมปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงควรแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดให้ “พนักงานสอบสวน” และตำรวจในสายงานสอบสวนเป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ และอยู่ในระบบวินัยข้าราชการพลเรือนลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการ ส่วนการเรียกชื่อตำแหน่งพนักงานสอบสวนระดับต่างๆ ก็ไม่ควรใช้คำว่า “ผู้บัญชาการ” และ “ผู้บังคับการ” และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดได้ทุกระดับ

----

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ / Police Watch

ที่ คป.ตร.  020/2561         
                                      13 มิถุนายน 2561

เรื่อง    ขอให้ปฏิรูประบบการลงโทษวินัยตำรวจ และกำหนดให้กองบังคับการตำรวจจังหวัดเป็นราชการส่วนภูมิภาคอยู่ภายใต้การตรวจสอบ และการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด
เรียน     อาจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ

ด้วยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ซึ่งติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการมาโดยตลอด เห็นว่า แนวทางปฏิรูปที่แถลงต่อสื่อมวลชนดูจะมีความคืบหน้าเป็นลำดับ และมีแนวโน้มที่ดียิ่ง โดยเฉพาะการจะแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ โดยแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรมโดยให้ “หัวหน้างานสอบสวน” เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนแทนหัวหน้าสถานีตำรวจ การแต่งตั้งโยกย้ายจะสามารถกระทำได้เมื่อหัวหน้างานสอบสวนเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้ระบบงานสอบสวนมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรตำรวจไทยได้ถูกกำหนดให้มีชั้นยศและระบบวินัยแบบทหารแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานสอบสวนในปัจจุบัน ยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ตำรวจทุกฝ่ายโดยเฉพาะ “พนักงานสอบสวน” ไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เนื่องจากระบบวินัยแบบทหารที่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติมาตรา 78 (3) “ต้องรักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย” ซึ่งหมายถึง “ผู้มียศต่ำต้องทำความเคารพผู้มียศสูงกว่า” รวมถึงใน (12) “ไม่ใช้กริยาวาจาหรือประพฤติตนในลักษณะที่ไม่สมควร” และ (15) “ไม่กระทำหรือละเว้นการกระทำที่เป็นเหตุให้เสียระเบียบแบบแผนของตำรวจ” ทำให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจสามารถใช้อำนาจสอบสวนและลงโทษทางวินัยผู้ปฏิบัติงานทุกคนตั้งแต่ “ภาคทัณฑ์” “ทัณฑกรรม” “กักยาม” “กักขัง” เช่นเดียวกับทหารตามมาตรา 82 ได้ง่ายและไร้ขอบเขต เป็นสาเหตุให้ตำรวจทุกคนเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างแท้จริง หรือแม้กระทั่งต้องจำยอมปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองดังที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ จึงควรแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการกำหนดให้ “พนักงานสอบสวน” และตำรวจในสายงานสอบสวนเป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ และอยู่ในระบบวินัยข้าราชการพลเรือนลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการ เพื่อจะได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมเป็นการปฏิรูประบบงานสอบสวนให้มีความเป็นสากลเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ

ส่วนการเรียกชื่อตำแหน่งพนักงานสอบสวนระดับต่างๆ ก็ไม่ควรใช้คำว่า “ผู้บัญชาการ” และ “ผู้บังคับการ” ซึ่งเป็นการเรียกตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารผู้ทำหน้าที่บัญชาการหรือบังคับการรบ ขัดต่อลักษณะงานสอบสวนและภาพลักษณ์ของเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนั้น ควรกำหนดให้กองบังคับการตำรวจจังหวัดมีฐานะเป็น “ราชการส่วนภูมิภาค” ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดได้ทุกระดับเมื่อผ่านความเห็นชอบของ “คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด” (กต.ตร.จังหวัด) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในปัจจุบัน ซึ่งอาจเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัด” มีตัวแทนภาคประชาชน และวิชาการ เช่น อธิการบดี หรือผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สื่อมวลชนในจังหวัด ตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการ เพิ่มบทบาทของประชาชนในการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของตำรวจในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายด้วยการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ตช.) เกี่ยวกับองค์ประกอบ และกำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ผลการดำเนินการเป็นประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วย เพื่อจะได้แจ้งให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนทราบต่อไป

                                         ขอแสดงความนับถือ


                                      นางสมศรี หาญอนันทสุข
                ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) 

หมายเหตุ: แฟ้มภาพ เมื่อวันที่ 20เม.ย.61


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"