เปิดตัวแอป 'Thai Tuner' รักษามาตรฐานดนตรีไทย4ภาค


เพิ่มเพื่อน    

     

     ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้รักษามาตรฐานเสียงของดนตรีไทย เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้โครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทยในรูปแบบของหนังสือ แต่การพัฒนาไม่จบเท่านี้ ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์  มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชัน Thai Tuner เป็นเครื่องมือเทียบเสียงดนตรีไทยครั้งแรก 
    ขณะเดียวกันแอปนี้ยังเป็นแอปพลิเคชันแรกของโลกที่รวบรวมการเทียบเสียงของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อีสาน เหนือ กลาง ใต้ ได้ครบครัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  เปิดให้นักดนตรี นักเรียน นักศึกษา ครู และผู้ผลิตเครื่องดนตรีไทย ดาวน์โหลดได้ฟรีลงบนมือถือสมาร์ทโฟนทั้งในระบบ iOS และ Android   

 

อ.ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปิน สาธิตการใช้แอปพลิเคชัน Thai Tuner 


    ในงานเปิดตัวนวัตกรรมเทียบเสียงดนตรีไทย Thai Tuner ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์  ม.มหิดล ผู้ริเริ่มโครงการ Thai Tuner กล่าวว่า แอปพลิเคชัน  Thai Tuner  ทำขึ้นเพื่อสืบสานและรักษามาตรฐานเสียงของเครื่องดนตรีไทยให้คงอยู่ โดยพัฒนาเป็นโปรแกรมใช้เทียบเสียงดนตรีไทยหรือตั้งค่าเสียงเครื่องดนตรีไทยได้อย่างมีมาตรฐาน   โดยในเฟสแรกเป็นเทียบเสียงดนตรีไทยภาคกลาง  จำนวน 32 ชิ้น แบ่งเป็นประเภท ดีด สี ตี เป่า และได้ทดลองใช้งานเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นพัฒนาสู่เฟสที่ 2 รวบรวมค่าความถี่เสียงดนตรีพื้นบ้าน  4 ภาค  รวม 89 ชิ้น  ถือเป็นครั้งแรกของโลก อีกทั้งได้ปรับเปลี่ยนการออกแบบแอปให้คงความคลาสสิกตอบโจทย์นักดนตรีไทยและนักดนตรีพื้นบ้าน  มีกราฟฟิกเครื่องดนตรีสวยงาม  

            

         จูนเสียงจะเข้ แอปมีระบบบันทึกค่าความถี่เป็นตัวเลขดิจิตอล

     นอกจากนี้  ผศ.ดร.สุรพงษ์ เผยว่า โครงการยังมีการวิจัยผลิตเครื่องดนตรีไทยต้นแบบด้วยกรรมวิธีดิจิตอล เพื่อให้ได้เครื่องดนตรีที่มีมาตรฐาน ผลิตเครื่องดนตรีไทยออกมาแล้วได้ค่าความถี่เสียงถูกต้อง ครั้งนี้เราต่อยอดผลิตฉิ่งมโหรีและขลุ่ยเพียงออต้นแบบ  มีการจูนเสียงระหว่างการผลิตเพื่อให้ได้ค่าเสียงมาตรฐาน ทั้งนี้ จะส่งต่อองค์ความรู้การผลิตให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดนตรีไทยใช้ผลิตอย่างมีคุณภาพ  ปัจจุบันมีผู้ผลิตอยู่ 300 ราย 

 

เครื่องดนตรีไทยต้นแบบ ฉิ่งมโหรีและขลุ่ยเพียงออ 

     ก่อนพัฒนาสู่แอป   Thai Tuner อาจารย์ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในฐานะผู้วิจัยโครงการวิจัยความถี่เสียงดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน กล่าวว่า จากหนังสือค่าความถี่เสียงดนตรีไทยที่มีเนื้อหาบนกระดาษ ไม่มีเสียงดนตรี  ตนต่อยอดสู่แอปพลิเคชันที่รวบรวมการเทียบเสียง ในต่างประเทศมีแอปเทียบเสียงดนตรีสากลมากกว่า 100 ค่าย แต่ประเทศไทยไม่เคยมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เทียบเสียงดนตรีไทยมาก่อน  ตนเริ่มจากเครื่องดนตรีภาคกลาง เครื่องดนตรีในราชสำนัก แล้วขยายมาสู่ดนตรีพื้นบ้าน 

 

เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ทดลองเทียบขลุ่ยเสียงกับแอป  

     " จากการลงภาคสนาม 4 ภาค เพื่อบันทึกเสียงและวิเคราะห์ค่าความถี่ พบว่าใช้ระบบเสียงแบบสากลมาเทียบเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เล่นประยุกต์ให้เข้ากับวงดนตรีสากลและไม่มีมาตรฐานเสียงต้นแบบที่ใช้อ้างอิง    อย่าง ภาคใต้ ปี่โนราห์ เป็นคีย์ C หมดแล้ว คีย์ดนตรีไทยหายไป เช่นเดียวกันในอีสาน โปงลาง แคน ใช้คีย์สากลเทียบเสียง เราไม่สามารถค้นหาคีย์ดั้งเดิมได้แล้ว แม้เสียงต่างกันไม่มาก แต่ไทยเดิมถือว่าเสียงเพี้ยน  ส่วนวงดนตรีไทยภาคกลาง 90% ยังยึดความถี่เสียงแบบเดิมอยู่ใช้มาตรฐานเสียงเครื่องดนตรีไทยชุดที่มีอักษรพระปรมาภิไธย ม.ว. ของกรมศิลปากร เป็นหลัก  " อาจารย์ปกรณ์ กล่าว 
    ที่สำคัญ หลักที่ใช้เทียบเสียงดนตรีพื้นบ้าน คีตศิลปินอธิบายว่า จะยึดเอาเสียงของสำนักดนตรีที่เป็นนิยมและมีมาตรฐานเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการ รวมถึงช่างที่ทำเครื่องดนตรีไทยจนมีชื่อเสียงเลืองลือ ดึงดูดนักดนตรี  อย่าง เสียงกลองบานอในจังหวัดชายแดนใต้จะเทียบเสียงกับสำนักใหญ่ แอปนี้ทำให้เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละภาคไปในทิศทางเดียวกัน เราไม่สามารถยื้ออดีตได้แล้ว แต่ต้องวิ่งตามให้ทัน แผนในอนาคตต้องพัฒนาเสียงดนตรีไทยให้ครบทุกเสียงแบบสากลเพื่อให้ดนตรีไทยโกอินเตอร์มากขึ้น

 

การแสดงดนตรีไทยด้วยเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบ้าน

     ขณะที่  อาจารย์ทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์) บอกว่า แอปพลิเคชั่นและเครื่องดนตรีไทยต้นแบบได้ทดลองใช้ในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา  นักเรียนใช้ในการเทียบเสียงเครื่องดนตรีและขับร้อง เมื่อประเมินแล้ว ผลลัพธ์ออกมาดี  เห็นว่า ควรขยายผลในวิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ  สร้างนักดนตรีไทยที่มีคุณภาพและมั่นใจในการแสดง 
    นอกจากนี้ นักร้องนักดนตรีชื่อดัง เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ที่ร่วมงานเปิดตัวแอปใหม่ยังให้ความมั่นใจนวัตกรรมนี้ใช้ประโยชน์ได้จริง ใช้ตั้งค่าเสียงดนตรีไทยครบทุกประเภท สร้างมิติใหม่วงการดนตรีไทยเลยทีเดียว


    ทั้งนี้ ผู้สนใจดาวน์โหลดแอป Thai Tuner ใช้งานได้ทั้งระบบ  iOS และ Android   ทาง App Store หรือ Play store ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"