ละเลียดอ่าน!ข้อคิดเรื่องพระจาก'น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย'


เพิ่มเพื่อน    

น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “คิดให้เป็น จับประเด็นให้ถูก” ถึงกรณีเงินทอนวัดและพระจับเงินไว้น่าสนใจ โดยระบุว่า  เรื่องทางราชการสั่งให้จับพระสึกดังที่รู้กันทั่วไปนั้น ผมสังเกตเห็นว่ามีการแสดงความคิดเห็นกันค่อนข้างมั่ว “มั่ว” ไม่ใช่คำหยาบพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า “ปะปนกันจนแยกไม่ออก” ผมขอเสนอวิธีคิดเพื่อไม่ให้ปะปนกันจนแยกไม่ออก ดังนี้

เริ่มด้วยการศึกษาข้อเท็จจริงก่อนว่า พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) กล่าวหาว่าอย่างไร เท่าที่ฟังพูดกัน ก็พูดกันอยู่ใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องพระทุจริตการใช้เงิน  2.เรื่องพระรับเงิน

ประเด็นที่ 1 กรณีพระทุจริตการใช้เงิน ประเด็นนี้เป็นข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาก่อนว่า ทุจริตการใช้เงินกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร และ พศ.ฟ้องร้องกล่าวหาว่าอย่างไร ใครรู้หลักเกณฑ์ เอาหลักเกณฑ์นั้นมาบอกกล่าวให้รับรู้กันไว้ ใครมีสำนวนฟ้องร้องกล่าวหา เอาสำนวนมาเผยแพร่ให้รู้ทั่วกันว่าโจทก์กล่าวหาว่าอย่างไร ใครมีหลักฐานรู้เห็นว่าจำเลยคือพระทั้งหลายเหล่านั้นรับเงินของใครมา รับแล้วเอาใช้ไปอย่างไร เป็นการทุจริตตามข้อกล่าวหาอย่างไร หรือไม่เป็นการทุจริตตามข้อกล่าวหาอย่างไร เอาหลักฐานข้อมูลมาเผยแพร่ให้รู้ทั่วกัน และถ้าเผยแพร่ให้ไปสู่การรับรู้ของกระบวรการยุติธรรมได้ด้วยก็จะเป็นการดีนักหนา วิธีการเช่นว่านี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ฝ่ายที่แน่ใจว่าพระเป็นคนเลว ก็จะสามารถกระทืบพระได้เต็มตีน ฝ่ายที่แน่ใจว่าพระไม่ได้ทำผิด ก็จะสามารถช่วยพระได้เต็มตัว หาข้อมูลหลักฐานให้ได้ก่อนแล้วจึงค่อยแสดงความคิดเห็น ถ้ายังไม่รู้ ยังไม่แน่ใจ ไม่พูดดีที่สุด อย่าหลงกระแส และอย่ายอมให้กระแสมาจูงจมูกง่ายๆ

ประเด็นที่ 2 กรณีพระรับเงิน ผมเข้าใจว่า พศ. ไม่ได้ฟ้องร้องกล่าวหาในประเด็นนี้ แต่ถ้าใครอยากจะพูดมั่ง ก็เอา แต่ต้องตั้งหลักให้ถูก พระรับเงินเป็นปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นใครอยากจะพูดประเด็นนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาพระธรรมวินัยว่ามีข้อบัญญัติไว้อย่างไร จับที่ตรงนั้นก่อน ที่มั่วกันมากในเวลานี้ก็เพราะชอบแสดงความเห็น แต่ไม่ศึกษาหลักพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ตั้งหลักกันใหม่ อัญเชิญพระธรรมวินัยออกมาศึกษากันก่อนว่าท่านบัญญัติเรื่องนี้ไว้อย่างไร ศึกษาอย่างบริสุทธิ์  ปลอดอคติ  ปลอดความคิดเห็นส่วนตัว  เอาพระธรรมวินัยล้วนๆ กันก่อน

เริ่มจากเปิดพระไตรปิฎก อ่านเรื่องนี้ให้เข้าใจ ถ้าอ่านต้นฉบับบาลีไม่ออก ก็อ่านฉบับแปล แต่การอ่านฉบับแปลมีข้อเสียตรงที่ผู้อ่านจะไม่รู้ว่าต้นฉบับบาลีท่านว่าอย่างไร อย่างในกรณีนี้ ที่เอามาพูดกันก็คือ ห้ามพระรับเงิน
“เงิน” เป็นคำที่แปลมา ต้นฉบับบาลีใช้คำว่า “ชาตรูปรชต” (ชา-ตะ-รู-ปะ-ระ-ชะ-ตะ) ถ้าไม่อ่านฉบับบาลี ก็ไม่มีทางรู้ว่าท่านใช้คำนี้ คนไม่รู้บาลี ก็ไม่รู้ว่า “ชาตรูปรชต” คืออะไร เพราะฉะนั้น คนที่รู้บาลีก็จะมีโอกาสดีกว่าคนที่อ่านจากคำแปล แม้รู้คำบาลี แต่ถ้าดูเฉพาะรูปศัพท์ตรงนี้ ก็จะเข้าใจแค่ว่า  “ชาตรูป” แปลว่า ทอง หรือ gold 
“รชต” แปลว่า เงิน หรือ silver จึงมีผู้เอาความเข้าใจตามรูปศัพท์ไปบอกกล่าวกันว่า พระวินัยห้ามพระรับ gold และ silver ไม่ได้ห้ามรับ money เชื่อว่าเวลาก็ยังมีผู้เข้าใจแบบนี้อยู่เป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น ศึกษาดูให้ตลอดว่าพระไตรปิฎกให้คำจำกัดความ “ชาตรูปรชต” ไว้อย่างไร ต่อจากนั้นตามไปดูคำอธิบายของอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตามสายของพระคัมภีร์ให้ตลอด สรุปให้ได้ว่าพระคัมภีร์ว่าไว้อย่างไร
สรุปว่า พระธรรมวินัยห้ามภิกษุสามเณรรับ money แน่นอน แต่เรื่องไม่ได้จบแค่ห้ามรับ เพราะถ้าญาติโยมเขาอยากถวาย จะไปห้ามศรัทธาเขาอย่างไรได้ ท่านจึงบอกวิธีถวายเงินไว้ให้ด้วย ตรงวิธีถวายนี่แหละที่ไม่เอามาพูดกัน ไม่เอามาศึกษากัน

ชอบพูดกันแต่ว่า พระรับเงินไม่ได้ อย่าถวายเงินให้พระ ไม่พูดความจริงให้ตลอดสายว่า-ถวายเงินให้พระก็ได้ แต่ต้องถวายให้ถูกวิธี ที่ชอบอ้างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระสมัยนี้จำเป็นต้องใช้เงิน ความจริงก็คือ ไม่ใช่เฉพาะพระสมัยนี้ที่จำเป็นต้องใช้เงิน แม้พระสมัยพุทธกาลก็จำเป็นต้องใช้เงิน ท่านจึงไม่ได้ห้ามถวายเงิน และไม่ได้ห้ามใช้เงิน แต่ท่านกำหนดวิธีถวาย และกำหนดวิธีใช้เอาไว้ ต้องถวายให้ถูกวิธี และใช้ให้ถูกวิธี ตรงนี้แหละที่ไม่ได้ศึกษากันให้เข้าใจ

มีคำ 2 คำที่ควรศึกษาให้เข้าใจ คือ “ปวารณา” และ “ไวยาวัจกร” หรือ “กัปปิยการก” (1) “ปวารณา” คือวิธีถวายเงิน หลักการก็คือ บอกกล่าวแก่พระเณรรูปที่เราจะถวายเงินว่า ขอถวายเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แล้วนำเงินนั้นไปมอบไว้แก่ไวยาวัจกรหรือกัปปิยการก อย่ามอบเงินกับมือพระโดยตรง เพราะพระรับเงินไม่ได้ ผิดวินัย วิธีนี้เรียกว่า “ปวารณา” จะปวารณาด้วยวาจาก็ได้ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ใจความในคำปวารณาที่เป็นแบบแผนก็คือ 

ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยแก่พระคุณเจ้ามีราคาเท่ากับเงินจำนวนเท่านั้นๆ ได้มอบเงินจำนวนนั้นให้แก่ไวยาวัจกรแล้ว ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรนั้นเถิด

พระเณร-ญาติโยมรุ่นเก่าเข้าใจเรื่องเช่นนี้กันทั้งนั้น และทำกันมาแล้วตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ที่พูดว่า-อย่าถวายเงินให้พระ-ควรจะหมายถึงขั้นตอนตรงนี้ นั่นคืออย่าส่งเงินให้พระรับไปตรงๆ แต่ให้ใช้วิธีปวารณา

(2) “ไวยาวัจกร” หรือ “กัปปิยการก” คือผู้รับ-จ่ายเงินแทนพระ ทุกวัดจะต้องมีฆราวาสทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ เรียกว่า “ไวยาวัจกร” หรือ “กัปปิยการก” ไวยาวัจกรนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วเช่นกัน ปัจจุบันนี้มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วย – ไปศึกษากันดู 

หลักการก็คือ ผู้ถวายเมื่อปวารณาแล้วก็นำเงินไปมอบให้ไวยาวัจกร ระบุให้ชัดเจนว่าถวายแก่พระเณรรูปไหน จำนวนเงินเท่าไร ต่อจากนี้ พระเณรที่โยมปวารณาไว้นั้นต้องการจะให้สอยสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ก็ไปแจ้งแก่ไวยาวัจกร ไวยาวัจกรจะเป็นผู้ไปจัดหาสิ่งนั้นๆ หรือจ่ายค่าสิ่งนั้นๆ แทนพระเณร ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องระหว่างไวยาวัจกรกับพระ หรือเป็นเรื่องภายในของพระของวัด ญาติโยมชาวบ้านไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีก 

ด้วยหลักการดังนี้ พระเณรก็ไม่ต้องรับเงินจ่ายเงินด้วยตนเอง นั่นคือไม่ต้องทำผิดพระวินัย จะถวายเป็นส่วนตัว หรือถวายเป็นของวัดของสงฆ์ ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เข้าใจว่าพระเณรรุ่นใหม่และญาติโยมรุ่นใหม่ทุกวันนี้จะไม่รู้จักวิธีปวารณากันแล้วเป็นส่วนมาก ไปศึกษาดูว่าไวยาวัจกรคือใคร และจะหาได้ที่ไหน

บอกให้นิดหนึ่งว่า อันว่าคนที่ทำหน้าที่ไวยาวัจกรนี้ทางพระวินัยให้สิทธิพิเศษ สามารถกินข้าวก่อนพระได้ เรารู้กันว่าพระไปบิณฑบาตได้อะไรมา ยังไม่ได้ฉัน จะเอาไปให้คนทั่วไปกินก่อนไม่ได้ ผิดวินัย ยกเว้นพ่อแม่ ความจริงแล้วยังมียกเว้นคนอื่นอีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือไวยาวัจกร เพราะไวยาวัจกรเป็นผู้ทำงานแทนพระ ทำงานรับใช้พระ เป็นคนที่พร้อมจะเหนื่อยแทนพระได้ตลอดเวลา ท่านจึงให้สิทธิพิเศษไว้เทียบเท่ากับพ่อแม่พระ รีบไปฟื้นฟูศึกษาหาความรู้กันเสียบ้างเถิด อย่าเอาแต่ด่าระเบิดใส่กัน จะเห็นได้ว่า หลักการปวารณา-ไวยาวัจกรนี้คือ “ประตู” ที่ท่านเปิดไว้ให้เข้า-ออก ชาวบ้านจะถวายเงิน พระเณรจะใช้เงิน โปรดเข้า-ออกทางประตูนี้ประตูเดียว
ที่เกิดเป็นเรื่องตำหนิติเตียนกันก็เพราะไม่ชอบที่จะเข้า-ออกทางประตูนี้ แต่ชอบแหกคอก คือไปออกตรงที่ท่านไม่ได้บอกให้ออก โดยเฉพาะการเรียกใช้ไวยาวัจกรเป็นเรื่องสำคัญมาก จำเป็นมาก แต่มีปัญหามากด้วย
ข้ออ้างใหญ่ก็คือ มัวแต่ใช้ไวยาวัจกรก็ไม่คล่องตัว-นี่พระพูดเอง

ยกตัวอย่าง อยู่ราชบุรีจะไปกิจของสงฆ์ที่เชียงใหม่ ถ้าโดยสารพาหนะประจำทาง หนีบไวยาวัจกรไปด้วยก็เสีย ค่าใช้จ่ายสองเท่า แล้วก็หาคนทำหน้าที่ไวยาวัจกรคือเดินทางไปด้วยกันกับพระยากเย็นที่สุด เพราะฉะนั้น ไปคนเดียว จับเองจ่ายเอง คล่องตัวกว่า จะให้พระทำอย่างไร คนที่ด่าพระว่ารับเงินจับเงินใช้เงินเหมือนชาวบ้าน ลองเสนอวิธีแก้ปัญหาให้พระหน่อยเถิด จะใช้ระบบอะไรมาแก้ปัญหาพระแหกคอกตรงนี้ ใครมีหน้าที่ ลองคิดกันดู
ผมว่า พศ.นั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ เพราะหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยประโยชน์ให้พระให้วัดให้พระพุทธศาสนา พศ. มีทุกจังหวัด เรียกได้ว่ามีทุกพื้นที่ คนของ พศ.จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะต้องทำหน้าที่ไวยาวัจกรให้พระได้ทุกสถานการณ์ คนของ พศ.ต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาให้พระ ไม่ใช่สร้างปัญหาให้พระอย่างที่กำลังทำอยู่

เพราะฉะนั้น แถมอีกเรื่องหนึ่งเป็นประเด็นที่ 3 คือ เมื่อพระเณรใช้เงินตรงๆ ไม่ได้ แล้วจะให้ท่านทำอย่างไร
พูดกันมากว่าไม่ควรถวายเงินให้พระ อ้างว่าผิดพระธรรมวินัย พระรับเงินผิดพระธรรมวินัยนั้น ใช่แล้ว อย่าเถียงว่าไม่ผิด แต่เรื่องไม่ควรจบแค่พูดว่า-ไม่ควรถวายเงินให้พระ ผู้แสดงความเห็นว่าอย่าถวายเงินให้พระ ต้องบอกวิธีปฏิบัติที่เป็นไปได้ด้วยว่า ในสภาพสังคมปัจจุบัน พระจะปฏิบัติกิจประจำวันได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องหยิบจับใช้เงิน อย่าตอบว่าไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่ที่ฉันจะต้องบอก ฉันรู้แต่ว่าพระจะต้องเป็นพระในอุดมคติอย่างที่ฉันอยากให้เป็นแต่จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร จะทำกันอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร ไปคิดหาทางออกกันเอง ฉันไม่เกี่ยว เป็นเสียอย่างนี้ ความอัดอั้นตันใจมันจึงเกิด ก็เพราะคิดกันแค่นี้ โปรดแสดงวิธีดำรงชีพและดำเนินชีวิตประจำวันแบบพระ โดยไม่ต้องใช้เงินให้ดูด้วย แบบที่ทำได้จริง ไม่ใช่ทำได้ในทฤษฎี โปรดอย่าแสดงความต้องการเฉยๆ แต่จงแสดงลำดับการปฏิบัติ 1 2 3 ให้ดูด้วย เพื่อที่พระท่านจะได้นำไปปฏิบัติได้จริง จะให้แก้ไขปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายในวัด หรือจะให้ยกเครื่องรื้อระบบทำอะไรกันใหม่อย่างไร บอกวิธีทำมาให้ชัดๆ 

อย่าพูดเพียงแค่ว่า  พระต้องทำอย่างนี้ วัดต้องทำอย่างนี้ คณะสงฆ์ต้องแก้อย่างนั้น  มหาเถรสมาคมต้องจัดการอย่างโน้น มันไม่จบแค่พูด ต้องบอกด้วยว่า ถ้าพระไม่ทำ วัดไม่ทำ คณะสงฆ์ไม่แก้ มหาเถรสมาคมไม่จัดการ จะให้ทำอย่างไรต่อไป และข้อสำคัญ ใครจะเป็นคนทำ รายละเอียดแบบนี้แหละที่ไม่มีใครพูด ส่วนมากได้แต่พูดว่ามันควรจะอย่างนั้น มันควรจะอย่างนี้ แล้วจบอยู่แค่นั้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่เกิด โปรดเสนอวิธีอยู่ วิธีทำ ที่ทำได้จริงให้ด้วย ยิ่งถ้าช่วยผลักดันให้เกิดการกระทำเช่นนั้นได้จริงด้วย ยิ่งประเสริฐ เพื่อที่ว่า-เมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่เสนอแล้ว ภายใน 3 วัน 7 วัน หรือจะสักกี่วันก็แล้วแต่ พระในเมืองไทยจะได้ไม่ต้องใช้เงิน แล้วก็สามารถดำรงชีวิตเป็นพระในฝันในอุดมคติได้เป็นอย่างดี-สมตามความปรารถนาของญาติโยม-โดยทั่วกัน
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"