เข้มแรงงานทะลักกลับกรุง


เพิ่มเพื่อน    

ไทยติดเชื้อ 1.4 หมื่นราย ดับ 252 คน คลายล็อกวันแรก ศบค.สั่งเข้มคัดกรองแรงงานทะลักกลับกรุง ยังห้ามเล่นดนตรีในร้านอาหาร เพิ่มทำผมในร้านเป็น 2 ชม. แจงมาตรการ "โควิด ฟรี เซตติง" ยังไม่บังคับ เริ่มจริง 1 ต.ค. “บิ๊กตู่” ขอความร่วมมือ ปชช.-ผู้ประกอบการปฏิบัติมาตรการเคร่งครัด ยังกั๊กเลิกเคอร์ฟิวขอดูระยะนี้ก่อน 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 กันยายน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,580 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,892 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,688 ราย และมาจากเรือนจำ 217 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย​ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,219,531 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,996 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,040,768 ราย อยู่ระหว่างรักษา 166,922 ราย อาการหนัก 4,917 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,040 ราย​ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 252 ราย เป็นชาย 130 ราย หญิง 122 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 166 ราย มีโรคเรื้อรัง 60 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดใน กทม. 80 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 11,841 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด วันที่ 1 ก.ย. ได้แก่ กทม. 3,732 ราย, สมุทรปราการ 1,284 ราย,  ชลบุรี 879 ราย, สมุทรสาคร 864 ราย,  ระยอง 547 ราย, พระนครศรีอยุธยา 492 ราย, ราชบุรี 417 ราย, นครราชสีมา 333 ราย, ฉะเชิงเทรา 331 ราย, นราธิวาส 313 ราย  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง และสุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงในทุกจังหวัด ทั้งชุมชน ตลาดสด ตลาดนัด รวมทั้งยังมีการเน้นย้ำไปยังแคมป์คนงานต่างๆ ที่จะมีแรงงานกลับมาจากต่างจังหวัดหลังจากมีการผ่อนคลายในวันที่ 1 ก.ย.เป็นวันแรก โดยให้ตรวจคัดกรองแรงงานที่จะเดินทางกลับเข้ามาอย่างใกล้ชิด และระดมฉีดวัคซีนในคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนของระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ไปแล้ว 18 ล้านคน ฉีดในแคมป์คนงาน กทม. 50,026 คน หากแรงงานกลับมาจากต่างจังหวัดและยังไม่ได้ฉีด สำนักโยธาธิการและกระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะไม่ให้มีคลัสเตอร์กลับมาอีก นอกจากนี้ขอให้ตรึงกำลังระบบบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีหลายจังหวัดปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อจะคืนพื้นที่ จึงขอให้มีโครงสร้างรองรับไว้หากตัวเลขกลับมาสูงขึ้นอีก  
    ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ที่เป็นมาตรการที่ผู้ประกอบการต่างๆ เสนอเข้ามา โดยจะทยอยเปิดไปตั้งแต่ 1 ก.ย. ซึ่งมีการถามเข้ามาเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยองค์กร หรือโควิด ฟรี เซตติง ที่เป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ ขอชี้แจงว่ายังไม่มีการบังคับใช้ในปัจจุบัน เป็นเพียงการขอความร่วมมือและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งมาตรการย่อยที่ให้เคร่งครัดเรื่องระบบระบายอากาศ สุขอนามัย ความสะอาดปลอดภัย ร้านต่างๆ สามารถทำได้ทันที ส่วนมาตรการที่ให้พนักงานในร้านได้รับวัคซีนตามเกณฑ์และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ คงดำเนินการได้ในจังหวัดที่มีฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมาก เช่น กทม.และปริมณฑล เนื่องจากเราเข้าใจว่าวัคซีนยังไม่ทั่วถึง แต่ปักหมุดวันที่ 1 ต.ค. ความพร้อมจะชัดยิ่งขึ้น ส่วนการให้ลูกค้าต้องได้รับวัคซีนนั้น ขณะนี้ยังเป็นการขอความร่วมมือ ยังไม่มีการบังคับ 
    ส่วนกรณีที่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้แล้ว ช่วง 14 วันแรกนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ยังไม่อนุญาตให้เล่นดนตรี เพราะกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเป็นการรวมกลุ่มคน ทำให้นั่งในร้านอาหารยาวนานขึ้น และนักดนตรีจะต้องเล่นกันหลายร้าน ศปก.ศบค.จึงเน้นย้ำมาตรการครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด และรออีก 2 สัปดาห์ หากสถานการณ์ดีขึ้น การเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ จะสามารถทำได้สะดวกมากขึ้น มีข้อผ่อนผันและได้เห็นมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้นใน 2 สัปดาห์นี้อะไรยังไม่จำเป็นหรือการเดินทางที่ยังสามารถรอได้ก็ขอให้รอ สำหรับร้านตัดผมได้ขยายเวลาทำผมให้อยู่ในร้านได้ 2 ชั่วโมง  
     ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการคลายล็อกเปิดกิจการกิจกรรมเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรการที่ออกมาวันที่ 1 ก.ย. ต้องมีส่วนสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบรรดาภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง สมาคมต่างๆ ต้องช่วยกัน และผู้บริโภคคือประชาชนต้องช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการด้วย ถ้าเราไม่ร่วมมือทั้งกันจะเดินไปได้ยาก และจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีก เป็นที่น่าเสียใจกันทุกคน ขอความร่วมมือให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการตามกติกาอย่างเคร่งครัด ถ้าดีขึ้น ต่อไปจะทำอะไรได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปด้วยกัน 
    เมื่อถามว่ามาตรการเคอร์ฟิวที่ยังคงอยู่มองว่ายังได้ผลอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมอยู่ ขอดูระยะนี้ไปก่อน อาจจะมีมากขึ้นหรือไม่ ตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนไหวในกลางคืน ถ้าดึกๆ ไปไหนกัน ไปอ่านหนังสือหรืออะไร ไปสถานที่ท่องเที่ยวกัน ยังมีปัญหาอยู่ตรงนี้ สมาคมที่รับผิดชอบต้องช่วยตนไปกำกับดูแลที่ท่านรับผิดชอบ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลางคืน ผับ บาร์ ต่างๆ ต้องคุยกัน และได้ให้ช่องทางนี้ไปคุยกับ ศบค.อยู่แล้ว และ ศบค.ก็ไม่ใช่จะตัดสินใจหรือสั่งได้ ตนก็สั่งไม่ได้ ต้องข้อมูลที่จากกระทรวงสาธารณสุข ให้คณะแพทย์ดูแลว่ามีความเสี่ยงไหม นี่คือการทำงานในลักษณะนี้ อย่างที่เขาหาว่านายกฯ สั่งทุกเรื่อง สั่งไม่ได้หรอก หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาแล้วใครจะรับผิดชอบ ก็รับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด 
    เมื่อถามว่า ให้คำมั่นได้หรือไม่ว่าระบบสาธารณสุขไทยรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ นายกฯ ยืนยันว่ารับได้ ทั้งนี้ในส่วนของชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดนั้นให้ประชาชนใช้ฟรี 
    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ฉบับที่ 10) ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น ดังนี้ 1.กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชน เพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก 2.กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข 3.กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน 3.การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด และ 5.กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น มีจำนวนผู้หายป่วยรายวันมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม จากเคยมีผู้ป่วยมากกว่า 3,500 คน ลดเหลือ 1,500 คน ศูนย์นิมิบุตรมีผู้ป่วยรอส่งต่อเหลือไม่ถึง 70 คน อย่างไรก็ตามยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์หลังผ่อนคลายใน 2 สัปดาห์อย่างใกล้ชิด หากดีขึ้นรัฐบาลจะพิจารณาเปิดกิจการกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติได้ต่อไป 
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 1 ก.ย.เริ่มต้นของการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารภายในร้าน ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เหมือนเดิม ทั้งพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด, พื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่สีส้ม พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด โดยทั้ง 3 กลุ่มสีนี้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหาร และห้ามรับประทานบุฟเฟต์ ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ในส่วนของโควิด ฟรี เซตติง จะบังคับใช้กับร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือมีเครื่องปรับอากาศ เน้นเรื่องทำความสะอาด ปลอดภัย มีระยะห่าง ไม่แออัด มีระบบระบายอากาศที่ดี มีการประเมินการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี ผ่านการประเมินจากแอป Thai Stop COVID และยังครอบคลุมไปถึงผู้ให้บริการและผู้รับบริการอีกด้วย ทั้งการรับวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติติดเชื้อมา 1-3 เดือน และทำการคัดกรองความเสี่ยง ผ่าน ATK หรือ RT-PCR และต้องผ่านการประเมินผ่านแอป Thai Save Thai
    ที่ จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า พบติดเชื้อรายใหม่จำนวน 258 คน แยกเป็นคนพื้นที่ 257 คน จากแซนด์บ็อกซ์ 1 คน ซึ่งตัวเลขติดเชื้อเกิน 200 รายติดต่อกันมา 3-4 วันแล้ว ทั้งนี้ ทั้งนี้ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ตัวเลขของภูเก็ตเป็นช่วงขาขึ้น ถ้าได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะสามารถต่อสู้กับเดลตาได้ และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินต่อไปได้      จึงเสนอยุทธศาสตร์ Quick Win คือ 1.มาตรการยุติการเคลื่อนไหวของคนอย่างเป็นรูปธรรมและลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น  2.เน้นตรวจเชิงรุกเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และรีบนำมาเข้าระบบการรักษา 3.แนวทางการจัดการกลุ่มผู้ป่วย 4.ระดมฉีดบูสเตอร์แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 เสร็จภายในเดือน ก.ย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"