‘แอสตร้า’ยันมาตามนัด สธ.มั่นใจฉีดตามเป้า70%


เพิ่มเพื่อน    

ปลายปีวัคซีนทะลัก! "หมอโสภณ" เผยซีอีโอแอสตร้าเซนเนก้ายืนยันส่งมอบวัคซีนครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี เดือน ก.ย.ส่ง  7.3 ล้านโดส ต.ค. 10 ล้านโดส และ พ.ย.-ธ.ค.เดือนละ 13 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ ก.ย.มาแน่ 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส พ.ย.-ธ.ค.เดือนละ 10  ล้านโดส มั่นใจภายในสิ้นปีฉีดเป้าหมาย 70% 
    เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 865,074  โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 34,292,537 โดส
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ  กรมอนามัย ได้เสนอข้อมูลต่อ ศบค.ชุดเล็กว่า ในเดือน ส.ค.เพียงเดือนเดียวมีอัตราหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดถึง 1,506 ราย โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-28 ส.ค. พบการแพร่ระบาดในหญิงตั้งครรภ์  หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด  2,878 ราย ในจำนวนนี้มีทารกติดเชื้อ 141 ราย และมีมารดาเสียชีวิต 69  ราย ทารกเสียชีวิต 29 ราย มีทารกเสียชีวิตพร้อมแม่คิดเป็น 50% และอีก 50% สามารถช่วยทารกได้แต่มารดาเสียชีวิต
    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากการระบาดของสายพันธุ์เดลตากระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ประเทศที่ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก 80 เปอร์เซ็นต์ในผู้ใหญ่แล้ว เช่นอิสราเอลซึ่งมีประชากรเพียง 9 ล้านคน ก็มีผู้ป่วยต่อวันเป็นพันและเข้าสู่หลักหมื่นแล้ว เมื่อเปรียบเทียบต่อประชากรแล้วถือว่ามากกว่าประเทศไทยเสียอีก ในอเมริกาเองก็มากกว่าแสนต่อวันแล้ว อัตราการเสียชีวิตลดลง ก็ยังวันละประมาณ 1,000 จากข้อมูล CDC’s  COVID Data Tracker วันที่ 2 กันยายน มีผู้ป่วยใหม่ 153,728 ราย เสียชีวิต 1,209 ราย
    ประเทศไทยเองก็เป็นสายพันธุ์ไวรัส Delta เกือบทั้งหมดมาเป็นเดือนแล้ว วัคซีนที่ใช้อยู่ในโลกนี้จะลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง แต่ยังสามารถลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ 
    "ทีมของเรายังมุ่งมั่นในการทำการศึกษาวิจัย การใช้วัคซีนตามทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การศึกษาวิจัยขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะให้เข็มที่ 3 อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ ทรัพยากรที่น้อยที่สุด ที่จะป้องกันสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อเตรียมรองรับการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ที่จะต้องใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน ขอโทษด้วยที่หายไปนานเพราะไปมัวเก็บขยะอยู่" ศ.นพ.ยงระบุ 
    ด้าน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดวัคซีนในประเทศไทยว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ด้วยวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3  สัปดาห์นั้น พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2  เข็ม ที่จะต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ โดยวัคซีนสูตรไขว้ระยะเวลาในการรับวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ ขณะที่การรับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องใช้ระยะเวลาการรับและสร้างภูมิคุ้มกันถึง 14  สัปดาห์ ความต่างในช่วงเวลานี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในการรับมือกับเชื้อเดลตาที่มีอัตราการแพร่เชื้อได้เยอะและเร็ว ดังนั้นทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า คณะแพทย์กำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มสาม โดยเข็มแรกต้องฉีดให้เร็วที่สุดและต่อด้วยเข็มสอง ซึ่งการฉีดวัคซีนต้องใช้เวลาห่างกัน ทำให้ต้องใช้วัคซีนสูตรไขว้ ทั้งนี้ จากการใช้สูตรนี้และจากการประเมินของแพทย์ก็ได้ผล เราต้องเชื่อมั่นสาธารณสุขเรา
    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงทิศทางการจัดหาวัคซีนของไทยในช่วง 4 เดือนนี้ว่า ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ทั้งประเทศ 70% แต่ในขณะที่สายพันธุ์เดลตามีศักยภาพในการแพร่ระบาด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น จากการติดเชื้อ 1 คน แพร่ไปสู่ 7-8 คน จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับเชื้อ จึงต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอจากวัคซีนหลักที่ใช้อยู่ คือวัคซีนซิโนแวคที่จะส่งมอบในเดือน ก.ย.-ต.ค.เดือนละ 6 ล้านโดส 
    ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีการยืนยันจากซีอีโอของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าว่า จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสภายในเดือน  ธ.ค.64 โดยจะส่งมอบในเดือน ก.ย.จำนวน 7.3 ล้านโดส หรืออาจจะขยับไปถึง 8 ล้านโดส เดือน ต.ค.จำนวน 10 ล้านโดส และเดือน พ.ย.-ธ.ค. เดือนละ 13 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ก.ย.จะส่งมอบจำนวน  2 ล้านโดส เดือน ต.ค.จำนวน 8 ล้านโดส เดือน พ.ย.-ธ.ค.เดือนละ 10  ล้านโดส จึงมั่นใจได้ว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้รับวัคซีนครบถ้วน อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 70% จึงต้องเร่งให้มีการฉีดวัคซีนและการนำเสนอถึงการใช้วัคซีนสูตรต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลได้นำไปใช้เพื่อการป้องกันโรค
    วันเดียวกันนี้ นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า  (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5.3 ล้านโดสให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมยอดส่งมอบวัคซีน ณ สิ้นเดือน ส.ค.เป็นจำนวนทั้งสิ้น  16.6 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนจำนวนทั้งหมด 61 ล้านโดสได้ภายในสิ้นปีนี้
    โดยจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ส่งมอบในเดือน ส.ค.นั้น เป็นไปตามแผนงานที่แอสตร้าเซนเนก้าได้ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะสามารถจัดสรรและส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน
    นายเจมส์กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้าตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยสิ่งที่เราให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในขณะนี้คือ การผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อปกป้องประชาชนชาวไทยและช่วยยังยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยความร่วมมือจากสยามไบโอไซเอนซ์ เราจึงสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงส่งมอบวัคซีนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสูงได้ตามกำหนด ทั้งนี้แอสตร้าเซนเนก้าจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Co-founder และ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เผยว่า วัคซีนใบยาที่ผลิตขึ้นกำลังจะนำเข้าทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืชที่ได้มาตรฐานที่จะใช้ผลิตสำหรับ มนุษย์เป็นแห่งแรกในเอเชียแล้ว 
    ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการเตรียมวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่มีการปรับสูตรที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาในเฟส 1 เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป โดยคาดหวังว่าประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 จะมีวัคซีนฉีดให้คนไทยได้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยาและวิทยาศาสตร์ของไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"