ยันสูบบุหรี่เสี่ยงสูง ติดโควิดมีสิทธิ์ตาย


เพิ่มเพื่อน    

 ผลวิจัยสูบบุหรี่เพิ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ป่วยรุนแรง รักษายาก ส่งผลกระทบระยะยาว และเสียชีวิตมากกว่า พบร้อยละ 10 ที่สูบบุหรี่ป่วยโควิดต้องรักษาตัวในไอซียู แย้มผลทดลองสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าและควันบุหรี่ในหนู เปรียบกับการเปิดประตูเชิญเชื้อไวรัสให้เข้าสู่ร่างกายง่ายขึ้น

    ที่ประชุมภาคีบุหรี่นานาชาติถกประเด็นร้อน “บุหรี่กับโควิด-19” งานวิจัยหลายชาติย้ำ ยิ่งสูบยิ่งเสี่ยงทั้งตาย-ติดเชื้อโควิดมากกว่าคนไม่สูบ แนะทุกประเทศเร่งสื่อสารเตือนประชาชนควรเลิกสูบทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นายกสมาคมอุรเวชฯ เผย คนสูบบุหรี่ติดโควิด ระยะยาวเสี่ยงป่วยโรคพังผืดที่ปอด โรคปอด และทางเดินหายใจเรื้อรัง
    รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร ว่า
    จากการเก็บข้อมูลผู้ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระลอกแรก เมื่อปี 2563 พบผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งในกลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเคยมีประวัติการสูบบุหรี่ และมีผู้ติดเชื้อราว 10% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ตัวเลขกลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกแรกของไทยมีจำนวนน้อย แต่ผลการเก็บข้อมูลทำให้ทีมวิจัยทราบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่จะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิดในช่วงการระบาดระลอกใหม่นี้เพื่อทำการศึกษาต่อไป เพราะมียอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดอักเสบที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก  
    “ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 การออกมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงถึงความเชื่อมโยงของเชื้อไวรัสและพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะบุหรี่ทำให้เกิดการติดเชื้อปอดด้านล่างได้ง่าย เชื้อโควิดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ยิ่งคนสูบบุหรี่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่อาจจะต้องเผชิญมีปัญหาโรคพังผืดที่ปอด โรคปอดและทางเดินหายใจเรื้อรังได้ในระยะยาวหากติดเชื้อโควิด แม้ว่าจะได้รับการรักษาหายแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งนักสูบ ต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงการล็อกดาวน์ หรือต้องรักษาตัวอยู่บ้าน อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ หากมีโครงการดูแลให้คำปรึกษาผู้สูบบุหรี่ เยียวยาทางจิตใจ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้สูบสามารถเลิกบุหรี่ได้ในอนาคต” นพ.นิธิพัฒน์กล่าว  
    นพ.คอนสแตนติน วาร์ดาวาส (Constantine Vardavas) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จากการศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดกว่าพันรายในสหรัฐเมริกา ทำให้ทราบว่าบุหรี่มีส่วนเชื่อมโยงกับสาเหตุการเสียชีวิตจากโควิด-19 ร่วมกับโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่อื่นๆ คือ โรคปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ และโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบเพศชาย ทั้งผู้มีเคยมีประวัติการสูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว และผู้ที่ยังสูบอยู่ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้อาการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงขึ้น และรักษายากขึ้นด้วย
    ดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงกรณีประเด็นข่าวที่ประเทศฝรั่งเศสพบสารนิโคตินมีส่วนป้องกันการเกิดอาการของโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ผู้เชี่ยวชาญในเวทีประชุมในครั้งนี้ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้นยังไม่มากพอ และรายงานดังกล่าวยังไม่ผ่านการกลั่นกรองและยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่านักวิจัยที่ออกมาตั้งสมมติฐานนี้ มีประวัติว่ามีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่มาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงคาดว่าบริษัทบุหรี่คือผู้อยู่เบื้องหลังการกระพือข่าวการสูบบุหรี่และนิโคตินป้องกันการติดเชื้อโควิด-19  
    “ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่ป้องกันโควิด-19 แต่มีหลักฐานจากงานวิจัยที่ยืนยันชัดในระดับนานาชาติ เป็นผลการศึกษาในสัตว์ทดลองกับบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าและควันบุหรี่ส่งผลต่อปอด และส่งผลให้ร่างกายเพิ่มตัวรับบทผิวเซลล์ ACE2 receptor ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูรับไวรัสเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย ตามทฤษฎีแล้วยิ่งร่างกายมีตัวรับ ACE-2 มาก จะส่งผลให้ร่างกายรับเชื้อไวรัสโคโรนาได้ง่าย ทำให้การติดเชื้อโควิดเกิดได้ง่ายขึ้น” ดร.สแตนตันกล่าว  
    ศ.ไซมอน แชปแมน มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า การสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดาถือเป็นการด่วนสรุป ซึ่งเกิดจาก Public Health England เผยแพร่รายงานว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อปี ค.ศ.2013 ที่ผู้วิจัยได้ออกมายอมรับข้อจำกัดของรายงานดังกล่าวว่า ยังมีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ข้อเท็จจริงคือ ขณะนั้นทั่วโลกยังมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียง 5-6 ปี หากดูจากกรณีบุหรี่ธรรมดาที่ต้องใช้เวลากว่า 60 ปี กว่าที่จะยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีอันตรายร้ายแรง  
    “เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาของอังกฤษลดลง ข้อเท็จจริงคือ อัตราการสูบบุหรี่ของอังกฤษลดลงมาก่อนหน้าจะมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว และกราฟการลดลงยังอยู่ในแนวเดิมหลังจากมีบุหรี่ไฟฟ้า สะท้อนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้คนอังอังกฤษลดการสูบบุหรี่ลงแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่คนอังกฤษสูบบุหรี่ลดลงเป็นผลมาจากอังกฤษมีการขึ้นภาษีบุหรี่ทุกปีต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้มาตรการควบคุมยาสูบอื่นๆ อย่างเข้มข้น” ศ.ไซมอนกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"