เป้าฉีด‘วัคซีน’ เด็ก4.5ล้านคน เน้นวัย12-17ปี


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.ตีปี๊บ 1 อำเภอต้นแบบวัคซีนปูพรม 80% ด้าน สธ.เผยไทยอันดับ 2 ในอาเซียนฉีดครอบคลุมประชากร ตั้งเป้าฉีดไฟเซอร์ในนักเรียนอายุ 12-17 ปี 4.5 ล้านคน เริ่ม ต.ค.นี้ แห่ขอพาสปอร์ตวัคซีน ขอนแก่นนำร่องคึกคัก 
    เมื่อวันศุกร์ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 864,589  โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 43,342,103 โดส จำนวนนี้เป็นการฉีดเข็มที่หนึ่ง 28,436,015 ราย คิดเป็น 39.5% ของประชากรทั้งประเทศ, เข็มที่สอง 14,285,995 ราย เป็นคิด 19.8% ของประชากรทั้งประเทศ
    “ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเกิน 50% แล้วจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต  พังงา ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 70% มี 5 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี ภูเก็ต ระนอง พังงา โดยหลังจากนี้ ศบค.มีแผนว่าขอให้แต่ละจังหวัดจัดให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1  อำเภอ ที่ฉีดประชากรให้ได้ 70% อีกทั้งยังขอให้มี 1 อำเภอ ฉีดให้ได้ครอบคลุม 80% ของประชากร เพื่อเป็นต้นแบบของ Covid free area” พญ.อภิสมัยระบุ
    เธอระบุด้วยว่า ประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็มไปตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค.64 ไปแล้วนั้น จะเริ่มการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12-17 ปีนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการดูแลในส่วนของโรงเรียนทุกสังกัด โดยการฉีดเด็กต้องได้การ ยินยอมจากผู้ปกครองด้วย ส่วนที่มีบางประเภทฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีอายุ 3 ขวบขึ้นไปแล้วนั้น ในปัจจุบันองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยยังไม่ให้การรับรอง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อน 
    “นอกจากนี้มีรายงานจาก จ.ภูเก็ตว่า จากการทดลองฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังแทนการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันไม่ต่างกัน จ.ภูเก็ตจึงเสนอไปยังที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขให้รับรองวิธีฉีดดังกล่าว เนื่องจากวัคซีน 1 โดสจะฉีดได้ถึง 5 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นว่าให้เริ่มฉีดวัคซีนในลักษณะดังกล่าวที่ จ.ภูเก็ตก่อน” พญ.อภิสมัยระบุ 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีน โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนในประเทศไทยว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ในการฉีดวัคซีนภูมิภาคอาเซียน ส่วนกรณีประชาชนที่จองวัคซีนโมเดอร์นากับ รพ.เอกชน ข้อควรพิจารณาคือผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน สามารถฉีดโมเดอร์นาได้ตามแผนปกติ แต่หากมีการรับวัคซีนไปแล้วอย่างซิโนแวคครบโดส อาจจะต้องปรึกษาแพทย์  
    นพ.โสภณกล่าวถึงรายละเอียดการฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียนว่า การให้บริการวัคซีนในระยะแรกนี้เป็นวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียนอายุ 12-17  ปี ที่ภาครัฐจะจัดสรรได้ครอบคลุม โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป มีเป้าหมายอยู่ที่ 4.5 ล้านคน เน้นในกลุ่มชั้นมัธยมศึกษา หรือ ปวช. ปวส. ทั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษา ทั้งสังกัดภาครัฐและภาคเอกชน หรือสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รร.ตำรวจตระเวนชายแดน รร.พระปริยัติธรรม หรือ รร.ที่มีนักเรียนในช่วงอายุดังกล่าว เช่น รร.คนพิการ รวมไปถึงเด็กที่อายุเกิน แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยม เด็กที่ป่วยไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือศึกษาอยู่ที่บ้านด้วย 
    “ในขณะนี้การดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาสำรวจความประสงค์หรือไม่ประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ โดยจะมีการให้ข้อมูลรายละเอียดของผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่าภาวะข้างต้นเกิดขึ้นประมาณ 16 คนใน 1 ล้านโดส และในประเทศไทยพบเด็กที่มีโรคประจำตัวฉีดวัคซีนไฟเซอร์มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 1 คน  จากการฉีดไปแล้วกว่า  8.6 แสนโดส ซึ่งขณะนี้รักษาหายแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 2 สัปดาห์ และแจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัด มีการติดตามรายงานผล” นพ.โสภณระบุ 
    นพ.โสภณกล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายอย่างซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ที่ประเทศจีนมีการนำไปฉีดในเด็กจำนวนกว่า 1 ล้านคน ขณะนี้ไทยก็ได้มีการขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. วัคซีนทั้ง 2 ชนิดให้ฉีดได้ในเด็ก จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้ว่าสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะได้ฉีดในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิด mRNA สามารถที่จะรอชนิดเชื้อตายได้ ที่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ 
    ที่ จ.อำนาจเจริญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป หากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบกำหนดจะได้รับใบรับรองและสามารถเดินทางข้ามจังหวัดหรือไปต่างประเทศได้ ทำให้ชาวบ้านอำนาจเจริญตื่นตัวเดินทางเข้ามารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในแต่ละวันจำนวนมาก  
    ด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติให้สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น  และสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น สามารถดำเนินการออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ หรือวัคซีนพลาสปอร์ตได้แล้ว โดยขณะนี้มีผู้มายื่นคำร้องออกเอกสารดังกล่าวแล้วเฉพาะที่ สสจ.ขอนแก่น วันละ 50 ราย
    นพ.สมชายโชติกล่าวว่า ทุกคนจะต้องมีเอกสารหลักฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ หนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้หรือ พาสปอร์ต เอกสารการยืนยันการรับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือมากกว่า  โดยสามารถรับจากสถานพยาบาลที่เข้ารับวัคซีน หรือเอกสารดาวน์โหลดจากระบบหมอพร้อม, บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา และค่าธรรมเนียม 50 บาท ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ สสจ.และ สคร.7 ได้โดย สสจ.เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ ขณะที่ สคร.7 ให้บริการเฉพาะวันจันทร์ และจำกัดการทำวัคซีนพลาสปอร์ตวันละ 100 คน และจะสามารถออกเอกสารวัคซีนพาสปอร์ตได้ภายใน 3 วัน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"