เคาะกม.โรคติดต่อ ไม่นิรโทษเหมาเข่ง


เพิ่มเพื่อน    

 “ศบค.” แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 10,919 ราย ทำยอดระลอก 3 ทะลุ 1.5 ล้านรายแล้ว เสียชีวิตอีก 143 ราย “นพ.เกียรติภูมิ”  ยอมรับตัวเลขผู้ป่วยจะไม่ลดไปกว่านี้ เชื่อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ดีเดย์ 24 ก.ย.ให้เริ่มลงทะเบียนเข็ม 3 สำหรับบุคคลทั่วไป คาดใช้เวลา 1 เดือนจบ “ครม.” เคาะแล้วพระราชกำหนดแก้ไข  พ.ร.บ.โรคติดต่อ อนาคตอาจมาแทนกฎหมายติดหนวด “รัชดา” ย้ำไม่มีนิรโทษเหมาเข่งสอดไส้ "วิษณุ" ชี้บังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ ก่อนและให้สภารับรอง เผยหากถูกคว่ำต้องลาออก
เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่  10,919 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,490 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,846 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก  644 ราย และมาจากเรือนจำ 422 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 1,500,105 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 11,694 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,352,838 ราย อยู่ระหว่างรักษา 131,655 ราย อาการหนัก 5,548 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 759 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 143 ราย เป็นชาย 82 ราย หญิง 61 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 101 ราย มีโรคเรื้อรัง 24 ราย เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 4 ราย แบ่งเป็นที่วัดใน จ.ชลบุรี 1  ราย ที่บ้านใน กทม.และฉะเชิงเทรารวม 2 ราย และพบเชื้อหลังเสียชีวิตที่บ้าน 1 รายที่ จ.พัทลุง โดย กทม.พบเสียชีวิตมากที่สุด 40 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15,612 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 21 ก.ย. ได้แก่ กทม.  2,561 ราย, สมุทรปราการ 858 ราย, ชลบุรี 629 ราย, นราธิวาส 379 ราย, ราชบุรี 361 ราย, ยะลา 284 ราย, นนทบุรี  280 ราย, ระยอง 272 ราย, สงขลา 267 ราย และสมุทรสาคร  237 ราย และมี 1 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ จ.น่าน 
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่า อัตราการติดเชื้อโควิด-19 จะค่อยๆ ลดลง แต่จะไม่ลดลงมากไปกว่านี้ แบบตัวเลขหายไปเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยจะเหลือเพียงหลักหมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้เพราะการเปิดผ่อนคลายมาตรการกิจการบางอย่าง  ซึ่งก็ถือว่าช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น คนมีงานทำได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ 
“เชื่อว่าไม่นานจากนี้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยคงเริ่มในพื้นที่ที่มีการระบาดมากก่อนและไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง เช่นใน กทม. และภูเก็ต ส่วนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่นั้นไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าโรคนี้จะค่อยๆ หายไปหรือป่วยแต่ก็ไม่มีอาการรุนแรงอีกต่อไป” นพ.เกียรติภูมิย้ำ
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงสีแดงเริ่มดีขึ้น เตียงสีเหลืองเหลือว่างหลักร้อย เตียงสีเขียวเหลือว่างถึงหลักพันคน แต่ต้องไม่ประมาท ทั้งป้องกันตนเองสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง และเมื่อมีชุดตรวจ ATK ที่ สปสช.จัดซื้อ 8.5 ล้านชุดและกระจายไปให้ประชาชนคนละ 2 ชุดเพื่อใช้ตรวจ ก็ควรต้องมีการตรวจด้วย หากมีความเสี่ยงก็ควรตรวจสัปดาห์ละครั้ง ตรงส่วนนี้จะช่วยในการคัดกรองไปในตัว 
แจง ATK ไม่ต้องตรวจทุกคน
นพ.ธงชัย ​กีรติ​หั​ต​ถ​ยากร​ รอง​ปลัด สธ.แถลงความคืบหน้า​การกระจาย ATK ว่า ไม่ใช่ทุกคนต้องตรวจ เพราะบางคนไม่มีความเสี่ยง  จึงอาจเกิดความสิ้นเปลือง​ อีกทั้งถ้ามี ATK แล้วต้องใช้ เพราะถ้าเก็บไว้ชุดตรวจอาจหมดอายุได้ หรือเก็บไว้ไม่ดีก็ทำให้เสื่อมสภาพได้ จึงไม่จำเป็นต้องเอามาเก็บไว้ก่อน โดยกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจโควิด ถ้าท่านเป็นผู้สัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและมีอาการควรตรวจด้วย RT-PCR ที่โรงพยาบาล แต่ถ้าหากมีอาการแต่ไม่มีประวัติความสัมผัสเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัสแต่ไม่มีอาการ และกลุ่ม 608 ในพื้นที่เสี่ยง ให้ใช้ชุดตรวจ ATK ทั้งนี้เมื่อรับชุดตรวจแล้วควรตรวจซ้ำทุก 7 วัน 
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) กล่าวว่า ชุด​ตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ได้ส่งไปทั่วประเทศแล้ว 6.7 ล้านชิ้น โดยหน่วยบริการทุกหน่วยที่เป็นหน่วยเป้าหมายทั้งหมดจะมีชุดตรวจ ATK ไว้ให้บริการประชาชน​
สำหรับการฉีดวัคซีนนั้น ศบค.รายงานยอดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 469,052 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่  28 ก.พ.มีทั้งสิ้น 45,211,101 โดส    
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดสในวันที่ 24 ก.ย.หรือวันมหิดลว่า ได้มอบนโยบายให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขตดำเนินการ ซึ่งแต่ละเขตจะจัดบริการฉีดวัคซีนโควิดเฉลี่ย 1 แสนโดสของแต่ละเขต ภาพรวมประมาณ  1.2 ล้านโดส ซึ่งมีวัคซีนเพียงพอแน่นอน ส่วนการฉีดในรอบ 3 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ฉีดได้ประมาณ 40 ล้านโดส เฉลี่ยเดือนละ 12-13  ล้านโดส โดยในเดือน ต.ค.นี้มีวัคซีน 24 ล้านโดส และ พ.ย.-ธ.ค.มีอีก  23 ล้านโดส ทำให้มีวัคซีน 60-70 ล้านโดส โดยรวม 3 เดือนนี้มีวัคซีนรวม 124 ล้านโดส ขณะที่เป้าหมายคือ 100 ล้านโดส ดังนั้นฉีดได้ในปีนี้แน่นอน
ปลัด สธ.ยังกล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มว่า วัคซีนโควิด-19  ทุกตัวเมื่อฉีดไปแล้วประมาณ 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง แต่ยังป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยไทยมีการฉีดซิโนแวคมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ฉีดซิโนแวคครบ 2 โดส 3,499,802 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 827,960 คน เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง จึงให้วัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์  พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากและมีความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามปกติ
24 ก.ย.ลงทะเบียนเข็ม 3
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า บุคลากรอื่นและประชาชนทั่วไปที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็มช่วง มี.ค.-พ.ค.ประมาณ 5.5 แสนคน สธ.เตรียมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว โดยจะเสนอหลักการต่อ ศบค. หากเห็นชอบจะเริ่มแจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านระบบหมอพร้อมทั้งแอปพลิเคชันและไลน์ OA ผ่านสื่อสาธารณะ โรงพยาบาล และหน่วยบริการฉีดวัคซีน  เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบและเตรียมการลงทะเบียนตามความสมัครใจตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.เป็นต้นไป โดยใช้เอกสารรับรองการรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มทั้งแบบกระดาษหรือดิจิทัล ลงทะเบียนได้ทั้งหน่วยบริการเดิมที่รับวัคซีน หน่วยบริการอื่นในจังหวัดเดิม หรือหากจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นในจังหวัดอื่น กรณีพื้นที่ กทม.ให้ติดต่อศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประสานผ่านคอลเซ็นเตอร์ค่ายมือถือทั้ง AIS, DTAC  และ TRUE เพื่อลงทะเบียน กรณีต่างจังหวัดให้ศึกษาระบบการลงทะเบียนและระบบนัดหมายของจังหวัดนั้นให้เข้าใจ หรือประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
     “หน่วยบริการฉีดวัคซีนให้ตรวจสอบหลักฐาน จัดสรรคิวการฉีดเรียงตามเดือนคือ มี.ค., เม.ย.และ พ.ค.ตามลำดับ และตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ โดยวันที่ 21-23 ก.ย.จะจัดส่งวัคซีน 50% ก่อน และทยอยจัดส่งตามจำนวนลงทะเบียนที่เหลือ หรือจัดส่งเพิ่มตามความจำเป็น  นอกจากนี้ให้บันทึกการฉีดวัคซีนเข้าสู่ระบบและติดตามอาการไม่พึงประสงค์และรายงานผลต่อกรมควบคุมโรค คาดว่าใช้เวลาฉีดประมาณ  1 เดือน”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวหลังตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-18 ปีที่มีโรคในกลุ่ม 7 โรคกลุ่มเสี่ยงว่า มีเด็กแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนกว่า 5,000 คน ขณะนี้ฉีดแล้ว  2,000 คน เหลืออีก 3,000 คน หาก กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก สธ.จะเร่งฉีดให้ครบ ซึ่งเดิม กทม.มีความตั้งใจที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-18 ปีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทุกคนประมาณ 1 ล้านคน ส่วนความคืบหน้าภาพรวมการฉีดวัคซีนประชากรใน กทม. ขณะนี้เข็ม 2 ฉีดไปได้ประมาณ 40% กลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดไปได้ 95% 
    ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้ายาโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด เนื่องจาก อย.มีการรับรองยาดังกล่าวให้ใช้ภาวะฉุกเฉินแล้ว  โดยยาชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากนัก หรือป่วยหนักไม่เกิน 7 วัน
    นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ บางประเทศใช้เรมเดซิเวียร์ ซึ่งยังไม่มีตัวยาไหนดีที่สุด ทุกอย่างมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ดังนั้นการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่จะมาช่วยยับยั้งการติดเชื้อในระดับเซลล์ก็ถือว่าตรงจุด เพียงแต่การใช้ยานี้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องมีระบบคัดกรองคนที่จะได้รับยานี้  เช่นเป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ อ้วน เป็นต้น 
    แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้ายา  4,000 โดส กระจายให้ รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน 50 แห่งที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ซึ่งยานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้ทุกคน ในส่วนของ รพ.เอกชนอาจต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของ รพ.หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นราคานำเข้าอยู่ที่ 50,000 บาทต่อโดส 1 คนใช้ 1 โดส 
    วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ  พ.ศ.2558 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ  โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ  พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ... เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ทำให้ต่อไปไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 
    ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยครอบคลุมไปถึงผู้ช่วย อสม.และพนักงานกู้ภัย นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือวันที่ 26 มีนาคม 2563
ลั่นไม่มีนิรโทษสอดไส้
“ร่างกฎหมายนี้ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายหรือบริหารตามที่มีข้อคำถามอยู่” น.ส.รัชดาระบุ
น.ส.รัชดาแถลงย้ำว่า ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ... เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข แต่ปัจจุบันยังเป็นการบริหารราชการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ครม.ไม่ได้มีการพูดถึงจะยุบศูนย์  ศบค.และยกเลิก พ.ร.ก ฉุกเฉิน โดยร่าง พ.ร.ก.ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการพิจารณาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น ศบค.และ ครม.จะพิจารณาต่อไป
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม.เต็มคณะได้พิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ  พ.ศ.2558 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้รายงาน โดยอธิบายเหตุผลที่ต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวให้มากขึ้นในการบริหารงานด้านสาธารณสุขท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และเพื่อทำให้เป็นการบริหารงานด้านสาธารณสุขโดยตรง  เพราะไม่เคยมีที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากำกับงานด้านสาธารณสุขเหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และขณะเดียวกันก็ต้องเสนอต่อสภาเพื่อให้สภาเห็นชอบ แต่คงต้องเสนอเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาแล้วในเดือน พ.ย.เนื่องจากไม่อยากขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ 
“นายวิษณุยังระบุด้วยว่า ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อไหร่ ต้องหารือกับนายกฯ อีกครั้ง แต่เมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้วอาจส่งผลให้ไม่ต้องขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
     ส่วนสถานการณ์โควิดในจังหวัดต่างๆ ที่ จ.กระบี่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 101 ราย ส่งผลให้ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 3,143 ราย รักษาหาย 1,971 ราย กำลังรักษา 1,162 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 4  ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย และยังตรวจพบการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง คืองานบำเพ็ญกุศลศพนายภัศศ์พงษ์ สุทธิเกิด ที่ ต.เขาพนม โดยสาธารณสุขได้ให้ผู้ไปร่วมงานศพดังกล่าวในระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย.ตรวจหาเชื้อโควิด-19  
ที่ จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยรายใหม่ 399 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 13,310 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 79 ราย ส่วนความคืบหน้าการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช ซึ่งจากการประเมินคาดว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 2,000 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 2,310 คน และในจำนวนผู้ป่วยจะมี 50% ที่เป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ 20-30% จะมีอาการเล็กน้อย ประมาณ 10% จะมีอาการเชื้อลงปอดและรักษาหายได้ และ 5% ที่มีอาการหนัก ส่วนอัตราความสูญเสียจะไม่เกิน 5% เช่นเดียวกัน และคาดว่าภายใน 28 วันจะคลี่คลายสถานการณ์ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"