10 ปีบ้านมั่นคงม่อนบ่อเฮาะ....และความหวังใหม่ของคนแม่แจ่ม


เพิ่มเพื่อน    

 

             หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ  10 กว่าปีก่อน   ชาวบ้านแม่ยางหลวง  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ต่างรู้สึกหวาดหวั่นทุกครั้งเมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน  เนื่องจากพวกเขาเคยประสบกับภัยจากน้ำป่าที่พัดพาเอาดินโคลนและต้นไม้ใหญ่ถล่มเข้าใส่หมู่บ้านมาแล้วหลายครั้ง

   ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำซาก  แม้จะไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิต  แต่ก็ทำลายน้ำพักน้ำแรงที่ชาวบ้านเก็บสะสมเอาไว้เกือบทั้งชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน   ข้าวของเครื่องใช้  ยุ้งข้าว   สัตว์เลี้ยง  และทรัพย์สินต่างๆ ทำให้ชาวบ้านแม่ยางหลวงส่วนหนึ่งต้องอพยพครอบครัวขึ้นมาอยู่บนสันดอย ‘ม่อนบ่อเฮาะ’ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 2-3 กิโลเมตร  แม้ว่าผืนดินจะไม่อุดมสมบูรณ์เท่า  เพราะเป็นพื้นที่เชิงเขา  แต่พวกเขาก็รู้สึกปลอดภัย  ไม่ต้องหวาดผวาทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก

 

ย้ายบ้านสร้างชุมชนใหม่หนีภัยพิบัติ

 

                อำเภอแม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย  ด้านหลังดอยอินทนนท์  อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ  123  กิโลเมตร  มีน้ำแม่แจ่มที่ไหลมาจากดอยอินทนนท์เป็นแม่น้ำสายหลัก  ในอดีตอำเภอแม่แจ่มถือว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร  การเดินทางยากลำบาก  ข้าวปลาอาหารก็ขาดแคลน  ราษฎรจึงพากันอพยพครอบครัวไปอยู่ถิ่นอื่นที่มีความสมบูรณ์กว่า  ทำให้ประชากรลดน้อยลง   ในปี พ.ศ. 2481  ทางราชการจึงลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ  ขึ้นกับอำเภอจอมทอง  ต่อมาในปี  พ.ศ.2499  จึงยกขึ้นเป็นอำเภอแม่แจ่ม  เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการติดต่อกับทางราชการ

                 ส่วนบ้านแม่ยางหลวง  ต.ท่าผา  อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มประมาณ  4  กิโลเมตร  ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม  มีน้ำแม่แจ่มและน้ำแม่แรกไหลผ่าน  มีบ้านเรือนประมาณ 240  ครอบครัว  ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง  ขณะที่ประชากรในอำเภอแม่แจ่มมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์   มีทั้งชาวลั๊วะ  ปะกาญอ (กะเหรี่ยง)  ม้ง  และคนเมือง (ล้านนา)  อาชีพหลัก  คือ ปลูกข้าวโพดส่งขายเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์  ทำนา  ปลูกกะหล่ำปลี  หอมแดง  เลี้ยงสัตว์  ฯลฯ

ในปี พ.ศ.2545  เกิดเหตุการณ์น้ำป่าจากดอยอินทนนท์ไหลหลากลงสู่น้ำแม่แจ่มและน้ำแม่แรก   เกิดผลกระทบต่อหลายพื้นที่  แต่ที่บ้านแม่ยางหลวงได้รับความเสียหายมากกว่า  เพราะเป็นที่ลุ่มและอยู่ติดกับน้ำแม่แรก  ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ  2 เมตร  อีกทั้งดินโคลน  ต้นไม้  ที่ไหลมาตามกระแสน้ำได้พัดพาบ้านเรือน  ทรัพย์สิน  ไร่นา   เสียหายประมาณ 30  ครัวเรือน   ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงคิดอพยพครอบครัวออกจากพื้นที่

เศษซากไม้ใหญ่น้อยไหลตามกระแสน้ำเข้ามาถล่มหมู่บ้านในปี 2545

 

                นายสำราญ กุลนันท์ ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะ  เล่าว่า  พอเกิดภัยพิบัติในครั้งนั้น   ทางหน่วยงานราชการต่างๆ  ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน   พอฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแล้ว  ในปี 2546  ตนและชาวบ้าน 8  ครอบครัวจึงอพยพจากบ้านแม่ยางหลวงขึ้นมาหาพื้นที่ปลูกบ้านบนบริเวณสันดอย ‘ม่อนบ่อเฮาะ’ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง  เดิมเป็นไร่ข้าวโพด  อยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ  2-3 กิโลเมตร 

                “พอปี  2548   เกิดน้ำท่วมเพราะน้ำป่าไหลลงมาท่วมที่เดิมอีก  ชาวบ้านแม่ยางหลวงหลายครอบครัวจึงทยอยย้ายขึ้นมาอยู่ที่ม่อนบ่อเฮาะ  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีคนแก่คนเฒ่า  มีเด็กเล็ก  เพราะกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว  แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่อยากจะย้ายขึ้นมา  เพราะคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วม  น้ำป่าอาจจะไม่ได้มีทุกปี   อีกทั้งการย้ายบ้านเรือนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก   ที่ดินที่จะสร้างบ้านใหม่ก็ไม่มี”  นายสำราญบอกเหตุผล

 

จากบ้านมั่นคงสู่การพัฒนาทั้งชุมชน

 

ที่ดินบริเวณม่อนบ่อเฮาะซึ่งเป็นไร่ข้าวโพดนั้น   เป็นที่ดิน ส.ป.ก.  เมื่อชาวบ้านยางหลวงอพยพจากหมู่บ้านเดิมขึ้นมาอยู่ที่ม่อนบ่อเฮาะก็ต้องขอซื้อที่ดินจากผู้ที่จับจองปลูกข้าวโพดอยู่ก่อน   ในราคาประมาณไร่ละ 10,000 บาท   แต่เนื่องจากที่ดินบนม่อนบ่อเฮาะมีเนื้อที่ไม่มากนัก  ชาวบ้านที่ย้ายขึ้นมาปลูกบ้านจึงต้องแบ่งปันที่ดินกัน   รายละประมาณ 1 งาน  หรือ 100 ตารางวา   พอได้ปลูกบ้านอยู่อาศัย  ปลูกผักสวนครัว  และเลี้ยงสัตว์เล็กๆ น้อย 

 ผู้ใหญ่สำราญชี้ให้ดูสภาพบ้านที่ถูกกระแสน้ำพัดทำลาย

                หลังเหตการณ์น้ำป่าในปี 2548  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  สำนักงานภาคเหนือ  ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน   สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  โดยเฉพาะการสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ที่ม่อนบ่อเฮาะเพื่อไม่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอีก 

ปี 2549  ชาวบ้านแม่ยางหลวงที่ทยอยย้ายขึ้นมาปลูกสร้างบ้านเรือนที่ม่อนบ่อเฮาะได้รวมตัวกันจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทม่อนบ่อเฮาะ’ มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการในช่วงแรกรวม 48  ครอบครัว  ได้รับงบสนับสนุนสินเชื่อครัวเรือนละ 50,000 บาทจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่  และสินเชื่อครัวเรือนละ 20,000 บาทกรณีที่ต่อเติมบ้าน  ผ่อนชำระปีละ 3,000 บาท

“ชาวบ้านใช้เงินสร้างบ้านกันไม่มาก  เพราะใช้ไม้เก่า  ใช้หลังคาที่รื้อย้ายมา  แล้วแต่ละหลังชาวบ้านจะช่วยกันรื้อ  ช่วยกันสร้าง   ช่วยกันยกเสาและขึ้นโครง  ไม่ต้องเสียค่าจ้าง  ใช้เวลา 2-3 วัน  พอขึ้นโครงบ้านแต่ละหลังแล้ว   เจ้าของบ้านก็จะสร้างบ้านเอง  ให้ญาติพี่น้องมาช่วยกันสร้าง  บางหลังก็ต่อเติมไปเรื่อยๆ  จนแล้วเสร็จ”  ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะเล่าย้อนอดีต

ในการสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ที่ม่อนบ่อเฮาะนั้น  ชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกันในการจัดระบบการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยในลักษณะกรรมสิทธิ์ร่วม  และเพื่อปกป้องที่ดินเอาไว้ให้ลูกหลาน  เช่น  ห้ามขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก  ที่ดินสามารถตกทอดทางมรดกให้แก่ครอบครัว  หากมีการซื้อขายที่ดินภายในชุมชนจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุมชน   มีการจัดทำผังชุมชน   แบ่งพื้นที่ชุมชนออกเป็นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ  เช่น   พื้นที่สร้างวัด  ศูนย์เด็กเล็ก  ศาลาประชาคม  ที่อยู่อาศัยและทำกิน   ฯลฯ   

นอกจากนี้   จากประสบการณ์ที่ชาวบ้านเคยประสบปัญหาน้ำท่วมมาหลายครั้ง  ทำให้พวกเขามองเห็นความสำคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เช่น  กันพื้นที่เพื่อสงวนไว้เป็นป่าชุมชน  เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่  สร้างและซ่อมแซมเหมืองฝายเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี   จัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในน้ำแม่แจ่ม  โดยใช้พิธีกรรมและความเคารพศรัทธาทางศาสนาเป็นเครื่องมือ  สร้างกฎระเบียบให้ชาวชุมชนช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ

 บ้านม่อนบ่อเฮาะในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสร้างบ้านมั่นคงม่อนบ่อเฮาะในช่วงปี 2549-2550   แล้ว  ชาวม่อนบ่อเฮาะยังร่วมกันก่อตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือกันอีกหลายกองทุน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  หรือ ‘กองทุนวันละ 1   บาท’  มีสมาชิกเริ่มต้น 60 คน  (ตามจำนวนครัวเรือนที่ย้ายขึ้นมาที่ม่อนบ่อเฮาะในช่วงนั้น)  เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในยามที่เดือดร้อนจำเป็น 

เช่น  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล  กองทุนช่วยเหลือคืนละ 100   บาท  ปีหนึ่งไม่เกินคนละ 1,000 บาท,   เสียชีวิต  เป็นสมาชิก 1   ปีขึ้นไป  ช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 บาท  และช่วยเหลือภัยพิบัติตามความเหมาะสม  ปัจจุบันกองทุนมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ  300 คน  มีเงินกองทุนประมาณ 300,000 บาท  นอกจากนี้ชุมชนยังมีกองทุนต่างๆ เช่น  กองทุนฌาปนกิจ  กองทุนหมู่บ้าน  ฯลฯ

“ปีนี้ (2561) ถือว่าครบ 10 ปีที่พวกเราทำโครงการบ้านมั่นคงม่อนบ่อเฮาะขึ้นมา   จากตอนแรกที่มีชาวบ้านย้ายขึ้นมาไม่กี่ครอบครัว   ตอนนี้มีทั้งหมด 67  ครอบครัว  พอย้ายขึ้นมาอยู่แล้ว  ชาวบ้านก็ไม่ต้องกลัวเรื่องน้ำป่า  น้ำท่วมอีก  กลางคืนก็นอนหลับสบาย  ไม่ต้องนอนผวาเหมือนตอนอยู่ข้างล่าง”  ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะบอก  และว่า  ยังมีชาวบ้านยางหลวงที่ยังอยู่ข้างล่างหรือในหมู่บ้านเดิมอีกประมาณ  150  ครอบครัว  แต่ปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ไม่เสี่ยงภัย  อยู่ไกลจากแม่น้ำ  จึงไม่ย้ายขึ้นมา

นอกจากโครงการบ้านมั่นคงและกองทุนต่างๆ ที่ชาวม่อนบ่อเฮาะร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาแล้ว  ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะ  บอกว่า  ชาวบ้านยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำร่วมกับชาวแม่แจ่มทั้งอำเภอ  เช่น  การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  โดยการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน  เช่น  ไผ่และกาแฟ  ทำเกษตรอินทรีย์   เพื่อลดการใช้สารเคมีและฟื้นฟูสภาพภูเขาที่หัวโล้นจากการปลูกข้าวโพด  ตามโครงการ ‘แม่แจ่มโมเดล’ ซึ่งขณะนี้เริ่มไปแล้วหลายหมู่บ้าน  

รวมทั้งแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง  โดยจะต่อท่อประปาเพื่อนำน้ำที่ผุดออกมาจากใต้ดินหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำออกรู”  อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3   กิโลเมตรมากักเก็บ  โดยจะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  แล้วต่อท่อประปาเพื่อนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำดื่มและน้ำใช้ในหมู่บ้าน  เนื่องจากปัจจุบันชาวบ้านใช้น้ำประปาจากภูเขา  พอถึงช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำ  

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านแม่ยางหลวงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา  จะทำให้ชาวบ้านแม่ยางหลวงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ไม่ต้องกังวลเรื่องภัยพิบัติ  แต่ประเด็นปัญหาหลักของชาวบ้าน  ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของคนแม่แจ่มก็คือ  ‘ปัญหาที่ดินทำกิน’  ยังไม่ได้รับการแก้ไข  และยังเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ไปถึงปัญหาอื่นๆ....

 

ปัญหาที่ดินทำกิน   ขาดแคลนแหล่งน้ำ  และหนี้ข้าวโพด

 

  อำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล  มีพื้นที่ทั้งหมด  1,692,698 ไร่  ประชากรประมาณ 59,000 คน  ประกอบด้วย  คนเมือง   ลั๊วะ  ปะกาญอ (กะเหรี่ยง)   และม้ง   ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ทำนา  ปลูกหอมแดง  กะหล่ำปลี  เลี้ยงสัตว์   ฯลฯ   ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนและอยู่อาศัยมาก่อนปี พ.ศ.2504  แต่เมื่อมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ศ.2507  จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุก  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย   เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร  ทางกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจัดสร้างแหล่งน้ำให้แก่ชาวบ้านได้  โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหรืออยู่ในเขตป่าสงวนฯ หน่วยงานรัฐจึงไม่สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่แจ่ม  คือ 1,668,883  ไร่  หรือประมาณ 98.60 %  อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  และพื้นที่ป่าอนุรักษ์   ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ เช่น  โฉนด, นส.3, นส.3 ก, สปก. ฯลฯ  มีพื้นที่รวมกันเพียง  23,815 ไร่   หรือ 1.40 %  ของพื้นที่ทั้งหมด  ทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน  เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า   ปัญหาหนี้สินจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะข้าวโพด  ยิ่งปลูกยิ่งเป็นหนี้  และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เกิดภัยแล้ง  แหล่งน้ำตื้นเขิน  หมอกควันจากการเผาป่า  น้ำป่า  ผลกระทบจากการใช้สารเคมี  ฯลฯ 

จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว  ชาวแม่แจ่ม  ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  องค์กรปกครองท้องถิ่น  องค์กรพัฒนาเอกชน  หน่วยราชการ  สถาบันการศึกษา  ฯลฯ  จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2552  โดยในช่วงแรกเน้นไปที่การจัดระเบียบควบคุมที่ดินทำกิน  เพื่อยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า  ลดปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษซากพืชไร่  ฯลฯ  เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดล’

ต่อมาในปี 2559  จึงได้ยกระดับจากการจัดการปัญหาการบุกรุกป่าและหมอกควันไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’  

นายสมเกียรติ   มีธรรม  ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส  ขยายความว่า  ตั้งแต่ปี 2549  เป็นต้นมา  อัตราขยายตัวของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559   พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว  จาก  86,104  ไร่ในปี 2552  ในปี 2554 เพิ่มเป็น  105,465 ไร่  และปี 2559  เพิ่มเป็น 123,229 ไร่ 

ผลกระทบจากการขยายตัวของไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง  คือ  เกิดปัญหาภัยแล้งจากการบุกรุกพื้นที่ป่า    พอถึงช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง   ดินทรายไหลลงไปในแหล่งน้ำ  ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน   เกิดปัญหาน้ำแล้งตามมา  ผลกระทบจากการใช้สารเคมี  การเผาไร่ซากข้าวโพดที่มีปริมาณประมาณปีละ  95,000 ตัน   ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน  ปัญหาระบบทางเดินหายใจ  เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมหมอกควันประมาณปีละ 5,000 ราย 

แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด  เนื่องจากในช่วง 3-4  ปีที่ผ่านมา  รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้บริษัทเอกชนรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  ทำให้ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่ซึ่งปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือพื้นที่ป่าสงวนฯ ประมาณ  115,000 ไร่  ไม่มีตลาดรองรับ  หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน  ทำให้มีหนี้สินสะสม    โดยในปี 2560  เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ  1,400  ล้านบาท  และหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 300 ล้านบาท  (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)

  “ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน  การสร้างระบบการเกษตรที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด  เช่น  ไม้ไผ่  กาแฟ  ไม้ผล   เพื่อสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  การแก้ปัญหาระบบนิเวศน์  สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน  เช่น  การพักชำระหนี้เกษตรกร  การเชื่อมโยงระบบการผลิต  ตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ  (การแปรรูป)  และปลายน้ำ  (การตลาด) เพื่อให้เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากเขาวงกตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป”   ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา

‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ลดหมอกควัน-คืนพื้นที่ป่า

โครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ (Mae Chaem Model Plus)  คือ  รูปแบบของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าว  โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน  เช่น  ผู้นำชุมชน  ท้องถิ่น  อำเภอ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภาคเอกชน   ธุรกิจ  นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  และหน่วยงานรัฐในระดับนโยบายหน่วยงานรัฐ  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  ด้วยการยั้บยังการบุกรุกป่า  หยุดปัญหาไฟป่า  หมอกควัน  การปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ลดการใช้สารเคมี  ฯลฯ  ส่งเสริมการปลูกไผ่  กาแฟ  ฯลฯ  เป็นพืชเศรษฐกิจ  พลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้เป็นสีเขียว  สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น ‘เมืองป่าไม้’

เฉพาะการแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาไร่  จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน  ทำให้จุดความร้อน (Hotspot) ลดลงจาก 384 จุดในปี 2558  เหลือ 30 จุดในปี 2559   พื้นที่เผาไหม้ลดลงจาก 563,798 ไร่  เหลือ 232,259 ไร่   และค่า PM 10 (ฝุ่นหยาบ  มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 – 10 ไมครอน)  ลดลงจากค่าสูงสุดในปี 2558 อยู่ที่ 265 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร  เหลือ 143 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร  ทำให้อำเภอแม่แจ่มได้รับรางวัลดีเด่นในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า  โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเป็นสักขีพยานมอบโล่รางวัล   เมื่อวันที่ 27 เมษายน  2559  ที่จังหวัดเชียงใหม่

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินนั้น  นายสมเกียรติกล่าวว่า  จะใช้ฐานข้อมูลที่มีการสำรวจอย่างต่อเนื่องมาจัดทำเป็นข้อเสนอในการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชน  เช่น  พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ภายในปี 2545  จำนวน 213,462  ไร่  (12.5 % -ของพื้นที่ทั้งอำเภอ 1,692,698 ไร่)  ให้รัฐจัดที่ทำกินในรูปแบบแปลงรวมตามนโยบายของรัฐบาลให้แก่ชุมชน  พร้อมทั้งจัดหาแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์

พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ปี 2546-2554   จำนวน 161,706  ไร่  หรือ 9.5 %  (มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้รองรับ ที่ดินยังเป็นของรัฐ)  อนุญาตให้ชาวบ้านทำกินและอยู่อาศัยต่อไปอย่างมีเงื่อนไข  โดยให้ชาวบ้านร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  รัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนกล้าไม้  ปลูกไม้เศรษฐกิจ  ไผ่   กาแฟ  ไม้ผล  ปลูกป่าอเนกประสงค์  ฯลฯ

พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์หลังปี พ.ศ.2554  จำนวน 86,359  ไร่  หรือ 5 %   ให้คืนเป็นป่าถาวร  โดยให้จ้างชาวบ้านปลูกและดูแลอย่างน้อย 3   ปี  เพื่อให้มีรายได้  ปลูกไม้เป็นแนวกันชน  สร้างกลไกชุมชนในการดูแลรักษาป่า  ฯลฯ

“ทั้ง 3  แนวทางนี้จะทำให้อำเภอแม่แจ่มมีป่าไม้เพิ่มขึ้น 5 %   มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก  9.5 %  รวมเป็น  14.5   % หรือ 248,065  ไร่  ทำให้อำเภอแม่แจ่มได้ป่าเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่  73 %  เป็น 85.5 %  โดยไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น”  ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มฯ อธิบาย

ปลูกไผ่-แปรรูป  สร้างเศรษฐกิจชุมชนแทนข้าวโพด

การพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามโครงการ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” นั้น   นายสมเกียรติ  มีธรรม  ผู้ประสานงานโครงการ  กล่าวว่า  จะเน้นการปลูกไผ่  เพื่อแปรรูป  มีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรอง  ซึ่งจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดที่เกษตรกรกำหนดราคาขายไม่ได้  โดยเกษตรกรจะเป็นคนปลูก  แปรรูป และเป็นเจ้าของร่วมในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน   โดยใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่/ 70 ต้น   ซึ่งในการปลูกไผ่ช่วงแรกจะปลูกแบบผสมผสานหรือแทรกไปในแปลงข้าวโพด  เมื่อไผ่โตและสามารถตัดขายได้แล้ว  เกษตรกรจะค่อยๆ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  เพื่อปลูกไผ่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้การปลูกไผ่บนพื้นที่สูงหรือบนดอยจะช่วยป้องดินถล่มและช่วยอุ้มน้ำ  เพราะไผ่มีรากฝอยแผ่กว้างและหนาแน่น  ช่วยยึดหน้าดิน  สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า  ใบไผ่ที่ร่วงจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน  ไม่ต้องใช้สารเคมี   ไม่ต้องเผาไร่เหมือนปลูกข้าวโพด   เมื่อไผ่ที่ปลูกไปแล้วเริ่มโต  ต้นไผ่ก็จะแตกหน่อแทงยอดขึ้นมาอีก   เมื่อตัดไผ่รุ่นแรกไปแล้วก็จะมีไผ่ที่เติบโตตามมาหมุนเวียนให้ตัดได้ตลอดทั้งปี 

ไผ่ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นไผ่พันธุ์ ‘ซางหม่น’  และ ‘ฟ้าหม่น’  ซึ่งเป็นไผ่ตระกูลเดียวกัน  มีแหล่งกำเนิดที่อำเภอเชียงดาว  จ.เชียงใหม่  โดยมีผู้นำไปขยายพันธุ์ที่จังหวัดน่านจนได้ผลดี  ลักษณะเด่น  คือ  ลำไม้ไผ่โตเร็ว  ลำตรง  เนื้อไม้หนา  เหมาะนำไปแปรรูปเป็นตะเกียบ  เฟอร์นิเจอร์   หน่อกินได้  ฯลฯ  ใช้เวลาปลูก  2-3 ปีสามารถนำไปทำตะเกียบ  ส่วนเศษที่เหลือจะนำมาผลิตเป็นถ่านอัดก้อนให้พลังงานความร้อนสูง  ไม่มีควัน  ปลูก 4 ปีสามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านได้

ขณะนี้มีเกษตรกรทั้ง 7 ตำบล  26  หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่มเข้าร่วม  รวม 362 คน  มีพื้นที่ปลูก 466 ไร่  รวม  30,337 ต้น  และจะขยายพื้นที่เป็น 2,000 ไร่ภายในสิ้นปีนี้    มีเป้าหมายผลผลิต 10-30 ตัน/ ไร่ / ปี   ราคาไผ่ดิบประมาณตันละ 1,000 บาท   โดยมีแผนงานที่จะสร้างโรงงานแปรรูปขึ้นมาหลังจากที่ไผ่ให้ผลผลิตแล้ว  มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสนับสนุนเครื่องจักร  สามารถนำมาผลิตเป็นตะเกียบ  เศษไม้ที่เหลือนำมาเผาและอัดทำเป็นถ่านแท่ง  มีตลาดรองรับ  เช่น  เกาหลี  ญี่ปุ่น   รวมทั้งผลิตเฟอร์นิเจอร์  โดยจะมีการฝึกอบรมช่างหัตถกรรม  การออกแบบผลิตภัณฑ์  ฯลฯ

นอกจากนี้เศษไม้ไผ่ยังสามารถนำมาผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ (Activated  Carbon) เป็นวัสดุที่ประกอบด้วย คาร์บอนที่ได้จากถ่าน  คาร์บอนที่ได้จากถ่านกัมมันต์มีความแข็งแกร่ง  คงตัว  ไม่ถูกละลายด้วยสารเคมีใด หรือไม่เป็นสนิม ใช้สร้างแผ่นเซลล์เชื้อเพลิง  ใช้ผสมเพิ่มความแข็งแกร่งลงในปูนซีเมนต์  พลาสติก  หรือวัสดุต่าง ๆ อีกมากมาย  เช่น  ยางรถยนต์  ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา อาหาร  เป็นวัสดุประกอบสำคัญในการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง  ถ่านไฟฉาย  เม็ดเชื้อเพลิงทดแทนให้ความร้อน   ตลาดโลกมีความต้องการปีละ 10  ล้านตัน   ราคาตันละ 30,000-40,000  บาท  คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายถึงปีละ 400,000 ล้านบาท  

ดังนั้น...หากโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสสามารถพัฒนาให้มีโรงงานผลิตถ่านกัมมันต์ได้ในอนาคตก็จะทำให้คนแม่แจ่มมีความหวังอย่างแน่นอน..!!

ความหวังใหม่ของคนแม่แจ่ม

นายพิพัฒน์  ธนรวิทยา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านห้วยยางส้าน  ต.ท่าผา  อ.แม่แจ่ม  ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง   เล่าว่า  ชาวกะเหรี่ยงในอำเภอแม่แจ่มอยู่อาศัยในพื้นที่มานานกว่า 100 ปี  ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่  ปัจจุบันส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก  ปลูกหอมแดง  กระเทียม  ฟักทอง  และปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน  ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาข้าวโพดตกต่ำ  โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศไม่ให้พ่อค้ารับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูงหรือป่าสงวนฯ  ราคาข้าวโพดลดเหลือกิโลกรัมละ 3 บาท 

ส่วนต้นทุนการปลูก 1 กก.ไม่ต่ำกว่า 5 บาท  เฉพาะปุ๋ยเคมีต้องใช้ไร่ละ 2 กระสอบ  ราคากระสอบละ 800 บาท  หรือไร่ละ 1,600 บาท  มีพื้นที่ปลูก 8 ไร่  มีต้นทุนค่าปุ๋ยรวม 12,800 บาท  ซึ่งฤดูการปลูกที่แล้ว  ผู้ใหญ่พิพัฒน์ได้ผลผลิตประมาณ  500 กก.ต่อไร่  หรือประมาณ  4,000  กก.  พ่อค้ารับซื้อ กก.ละ 5 บาท   ขายได้เงินประมาณ  20,000 บาท  เมื่อหักค่าเมล็ดพันธุ์   ยาฆ่ายา  และค่าแรงงานแล้ว  แทบจะไม่มีกำไร  แถมจะขาดทุนอีกด้วย   

“เมื่อก่อนข้าวโพดราคาดี  ใครๆ ก็ปลูกแต่ข้าวโพด  เพราะไม่ต้องดูแลมาก  มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่  พอปลูกเยอะๆ  ราคาก็ต่ำ  เมื่อปลูกนานหลายปีก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน  เมล็ดพันธุ์ก็ต้องซื้อทุกปี  เพราะข้าวโพดพวกนี้เก็บเอาไว้ทำพันธุ์ไม่ได้  พอจะปลูกใหม่ก็ต้องเผาหญ้า  เผาตอข้าวโพด  ทำให้เกิดควันไฟ  ชาวบ้านเป็นโรคหอบหืดกันมาก  ชาวบ้านก็อยากจะปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่า  ปลอดภัยกว่า  ถ้ามีพืชชนิดไหนที่ดีก็จะปลูก  ตอนนี้ในหมู่บ้านผมเริ่มปลูกไผ่กันแล้ว  คนละ 1-2 ไร่  มีสมาชิก 13 คน  ถ้าปลูกไผ่แล้วได้ผลดีกว่า  คนอื่นๆ ก็จะปลูกกันอีกเยอะ”  ผู้ใหญ่พิพัฒน์พูดถึงอนาคตใหม่ของคนแม่แจ่ม

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสจะเริ่มเดินหน้าแล้วโดยคนแม่แจ่มและภาคีที่เกี่ยวข้อง  แต่หากขับเคลื่อนไปตามลำพังโดยกลไกของรัฐไม่ขยับเขยื้อน   โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม  ทั้งเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาหนี้สินของเกษตรกรชาวแม่แจ่ม  เช่น  มาตรการพักชำระหนี้ 

ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้จริง  มีพื้นที่รูปธรรมรองรับ   มีความต่อเนื่อง    มีประสิทธิภาพ  และตอบโจทย์พื้นที่รูปธรรมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน   โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง   ชาวแม่แจ่มจึงได้จัดทำข้อเสนอถึงคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่  ซึ่งมี นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ  เป็นประธานฯ (ภายใต้การกำกับของ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล) ที่ได้เดินทางมาศึกษาข้อมูลที่อำเภอแม่แจ่มเมื่อเร็วๆ นี้   ดังนี้

1. ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแบบแม่แจ่มโมเดลพลัสให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ

2. ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหา  และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับพื้นที่อำเภอแม่แจ่มขึ้นมาหนึ่งชุด

วันนี้แม่แจ่มโมเดลพลัสเริ่มเดินหน้าแล้ว  จากผืนดอยหัวโล้นกำลังกลายเป็นเมืองป่าไม้  เป็นป่าไผ่เขียวขจี  ขณะที่เกษตรกรชาวแม่แจ่มก็มีความหวังที่จะปลดหนี้สิน  มีรายได้  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เหลือแต่เพียงรัฐเท่านั้นที่จะมีนโยบายสนับสนุนชาวแม่แจ่มให้เป็นจริงได้อย่างไร ?

         


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"