บิ๊กตู่โวไทยพ้นวิกฤตโควิด ศบค.ผวาภาคใต้ติดเชื้อพุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.เผยติดเชื้อใหม่ 11,754 ราย ดับเพิ่ม 123 ราย ศปก.ศบค. ห่วง 4 จ.ชายแดนใต้โควิดขาขึ้น ขยับถึง 17% ตั้งเป้า ต.ค.ฉีดวัคซีน 50% ประชากรทุกจังหวัด “บิ๊กตู่” ชี้ระบบสาธารณสุขไทยพ้นช่วงวิกฤต ขอร่วมมือยังเข้มงวดมาตรการควบคุมโรค สธ.สรุปเด็ก 12 ปีเสียชีวิตจากเบาหวานไม่เกี่ยวกับไฟเซอร์ ยันฉีดนักเรียนมีระบบเฝ้าระวังอาการเหมือนผู้ใหญ่ "โมเดอร์นา" แจ้งส่งมอบล็อตแรก 1.9 ล้านโดสเดือนพ.ย.
    เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,754 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,242 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,998 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,244 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 501 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม ตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,615,229 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 12,473 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,483,146 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 115,233 ราย อาการหนัก 3,144 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 709 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 123 ราย เป็นชาย 60 ราย หญิง 63 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 86 ราย มีโรคเรื้อรัง 31 ราย เสียชีวิตมากที่สุดในพื้นที่ กทม. 29 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 16,850 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 234,553,899 ราย เสียชีวิตสะสม 4,797,237 ราย
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,423 ราย,  สมุทรปราการ 861 ราย, ชลบุรี 820 ราย,  ยะลา 545 ราย, นราธิวาส 515 ราย,  ระยอง 472 ราย, สงขลา 451 ราย,  ปัตตานี 406 ราย, นครศรีธรรมราช 378 ราย, ปราจีนบุรี 353 ราย ทั้งนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วันเดียวกันนี้ มี พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. เป็นประธานที่ประชุมวันแรก โดยที่ประชุมเห็นว่า กทม.และปริมณฑลมีตัวเลขการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีความเป็นห่วงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดเชื้อรวมกันถึง 1,917 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 ของทั้งประเทศ ขยับขึ้นจากเดิมที่มีผู้ติดเชื้อร้อยละ 15 ของทั้งประเทศ รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตและอาการหนักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงขอเน้นย้ำไปยังภาคส่วนต่างๆ ให้เข้มมาตรการในพื้นที่
    อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดที่ไม่ติด 1 ใน 10 ของจังหวัดผู้ติดเชื้อมากที่สุด พบหลายคลัสเตอร์เกิดขึ้น เช่น จ.ลพบุรี พบคลัสเตอร์ศูนย์ฝึกนักกีฬาฟุตบอลเยาวชน, แคมป์ก่อสร้างที่ปราจีนบุรี ขณะที่คลัสเตอร์งานศพยังพบอย่างต่อเนื่องทั้งที่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ส่วนที่เชียงใหม่พบที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ, ที่ จ.ตราด พบคลัสเตอร์โรงงาน, จ.จันทบุรี มีคลัสเตอร์ตลาดและล้งผลไม้, จ.ระยอง พบคลัสเตอร์แรงงานประมง จึงขอให้ทุกจังหวัดยังคงระมัดระวังสถานที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ยังคงมาตรการคัดกรอง ลงพื้นที่เสี่ยงและสุ่มตรวจ ATK ตอนนี้ตัวเลขยังทรงตัวอยู่ หากตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ที่มีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นแล้วอาจจะมียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมมือกัน อีก 15 วันถ้าทิศทางการติดเชื้อลดลง คงได้เห็นการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือน ต.ค. จะฉีดให้ทั้งชาวไทยและต่างด้าว ครอบคลุมทุกจังหวัดให้ได้ร้อยละ 50 และมีอย่างน้อยหนึ่งอำเภอที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หากมีอำเภอใดที่จะเปิดเป็นพื้นที่นำร่องเศรษฐกิจให้ฉีดครอบคลุมร้อยละ 80 เป็นอย่างน้อย และให้เพิ่มการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมร้อยละ 80 รวมถึงนักเรียนนักศึกษาให้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้น บุคลากรทางการแพทย์ครบแล้ว และกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับวัคซีนสองเข็มตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. จะได้ฉีดตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. และผู้ที่ได้รับสองเข็มในช่วงเดือน มิ.ย. จะฉีดในช่วงเดือน พ.ย. และในเดือน ธ.ค.จะได้รับการฉีดกระตุ้นครบทุกราย
    ส่วนตัวเลขการฉีดวัคซีนวันที่ 30 ก.ย. อยู่ที่ 2,288,728 โดส โดยจำนวนนี้เป็นยอดการฉีดของวันมหิดล 24 ก.ย. จำนวน 1,700,523 โดส เป็นการฉีดวันที่ 30 ก.ย. 588,205 โดส โดยยอดฉีดวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. อยู่ที่ 53,784,812 โดส
    แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงการประชุม ศปก.ศบค.ว่า หากมีการใช้ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ศปก.ศบค.ต้องยุบไปตามคำสั่ง และยืนยันจะได้ใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อฉบับนี้แน่นอน เพราะรัฐบาลมีแนวทางที่จะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว 
    ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า สำหรับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีต ผอ.ศปก.ศบค. ได้ใช้เวลาหลังเกษียณอายุราชการวันแรก ลงพื้นที่ท่องเที่ยวในโครงการนำร่องภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โดยเป็นการพักร้อนครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังต้องร่วมปฏิบัติภารกิจ ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาต่อเนื่อง
    ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ว่า 1 ต.ค.ถือเป็นวันเริ่มต้นมาตรการใหม่ของ ศบค. ที่มีการอนุญาตให้เปิดหลายกิจการและสถานที่ และมีการเลื่อนช่วงเวลาเคอร์ฟิวไปถึง 4 ทุ่ม ทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถเปิดกิจการได้นานขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พี่น้องหลายอาชีพที่ต้องหยุดงานไปได้กลับมาทำงานอีก ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และพี่น้องทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หากเราสามารถดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ เข้มงวดกับมาตรการควบคุมโรค สถานการณ์การต่อสู้กับโควิดของไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ และเราจะไม่ต้องย้อนกลับไปสู่การล็อกดาวน์ที่น่าเจ็บปวดอีก ในขณะนี้เรายังรักษายอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับทรงตัวแบบค่อยๆ ลดลง ทำให้อัตราครองเตียงในโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด  การหาเตียงให้ผู้ป่วยในทุกระดับอาการจึงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป โรงพยาบาลต่างๆไม่ต้องปิดรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ หรือเรียกได้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยผ่านพ้นช่วงวิกฤตและกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย และความสามารถของบุคลากรการแพทย์ไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย
    นายกฯ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤตกับโควิดในระลอกนี้มาได้ ก็คือการฉีดวัคซีน และรัฐบาลยังไม่หยุดในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากทั่วโลก จนในขณะนี้ยอดเป้าหมายวัคซีนของเราจนถึงสิ้นปีนี้เพิ่มจาก 100 ล้านโดส ไปสู่ 178.2 ล้านโดสแล้ว และในปีหน้าจะได้วัคซีนผลิตโดยองค์กรของไทยเองอีกหลายชนิด จึงเชื่อได้ว่าวันนี้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตการขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ที่เราเคยเผชิญมา มีทางเลือกในการกำหนดนโยบายใช้วัคซีนแต่ละประเภทสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มประชาชนที่เหมาะสม เพื่อการเปิดเมือง เปิดประเทศที่มั่นคงและปลอดภัยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป
    ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ (สธ.) นพ.เฉวตสรร​ นาม​วาท​ ผู้อำนวยการ​กอง​ควบคุม​โรค​และ​ภัย​สุขภาพ​ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน ​กรมควบคุม​โรค​ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน​ เรามีระบบการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยต่อเนื่องเหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ไม่ควรกังวล เพื่อให้เกิดความมั่นใจทาง สธ.จะมีหนังสือแจ้งออกไป เพื่อให้ความสำคัญว่าหลังฉีดวัคซีนถ้ามีอาการผิดปกติ ถ้ามารายงานอาการ เราจะรีบรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีเด็กชายอายุ 12 ปี มีโรคประจำ​ตัว​เป็นเบาหวาน เสียชีวิต​หลังฉีดวัคซีน​ โดยสรุปไม่ได้เกิดจากวัคซีน ซึ่งเด็กชายคนดังกล่าวฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. และวันที่ 12 ส.ค.เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มือสั่นใจสั่น กินข้าวได้น้อย จากการตรวจชิ้นเนื้อ ไม่พบการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ​ ตรวจพบระดับน้ำตาลในสารน้ำในลูกตาสูง สันนิษฐาน​ได้ว่าเกิดจากภาวะแทรก​ซ้อนจากโรคเบาหวานเรื้อรัง
    บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นา ออกแถลงการณ์เรื่อง กำหนดการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาให้กับประเทศไทย ภายในไตรมาสสี่ โดยเริ่มส่งมอบครั้งแรกเดือนพ.ย.นี้ จำนวน 1.9 ล้านโดส และอีก 6.8 ล้านโดส คาดว่าจะส่งมอบได้ไตรมาสแรกของปี 2565.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"