4พันล.จ้างบุคลากรแพทย์


เพิ่มเพื่อน    

ยอดติดเชื้อโควิดต่ำหมื่นอีกวัน ดับ 92 ราย "ครม." อนุมัติซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ จากฮังการี 4 แสนโดส "ไอซ์แลนด์" สนับสนุนไฟเซอร์ 1 แสนโดส ได้แอสตร้าฯ ของเยอรมนีอีก 3.46 แสนโดส ส่งมอบภายใน ต.ค.นี้ พร้อมไฟเขียวงบ 1.32 พันล้าน จ่ายเยียวยาเด็กเล็กสังกัดศูนย์พัฒนาเด็ก อปท.รายละ 2 พัน ครอบคลุม 6.6 แสนคน เห็นชอบวงเงิน 4,335 ล้านบาทจ้างหมอ-พยาบาลเพิ่มสู้โควิด  "วิษณุ" แย้ม พ.ร.ก.โรคติดต่อยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย บอกรอพิจารณาจะเป็นพ.ร.บ.หรือไม่
    เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,869 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,579 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,715 ราย, ค้นหาเชิงรุก 864 ราย, เรือนจำ 273 ราย, เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,657,231 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 11,152 ราย ยอดหายป่วยสะสม 1,531,655 ราย อยู่ระหว่างรักษา 108,373 ราย อาการหนัก 3,013 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 701 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 92 ราย เป็นชาย 38 ราย หญิง 54 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 74 ราย มีโรคเรื้อรัง 17 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 23 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 17,203 ราย 
    โดยยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 4 ต.ค.มีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 770,947 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 55,921,443 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 236,165,564 ราย เสียชีวิตสะสม 4,822,761 ราย   
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. 1,224 ราย, สมุทรปราการ 577 ราย, ชลบุรี 555 ราย, ปัตตานี 530 ราย, สงขลา 468 ราย, นราธิวาส 461 ราย, นครศรีธรรมราช 457 ราย, ยะลา 431 ราย, สมุทรสาคร 357 ราย, ระยอง 318 ราย  
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า​ ครม.มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากฮังการี จำนวน 400,000 โดส พร้อมอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในร่าง Bilateral Agreement ระหว่างฮังการีกับไทย และร่าง Tripartite Agreement ระหว่างฮังการี ไทย และแอสตร้าเซนเนก้า
    ทั้งนี้ การจัดซื้อวัคซีนจากฮังการีจะมีการลงนามในร่าง Bilateral Agreement ระหว่างฮังการีและไทย สาระสำคัญของร่างประกอบด้วย 1.การขนส่งวัคซีน 2.กรรมสิทธิ์และความเสี่ยง 3.การรักษาความลับ 4.กฎหมายที่ใช้บังคับและการยุติข้อพิพาท และ 5.Indirect taxes/VAT มีการลงนามและร่าง Tripartite Agreement  ระหว่างฮังการี ไทย และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะใช้ร่างเอกสารแบบเดียวกันที่ไทยจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปน เมื่อวันที่ 14 ก.ย.64 โดยมีสาระสำคัญ 1.Indirect taxes/VAT 2.การส่งมอบ และ 3.กฎหมายที่ใช้บังคับ
    “การจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ 126.2 ล้านโดส มั่นใจปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรกลุ่มเป้าหมายภายในเดือนธ.ค.64 โดยในวันที่ 6 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะร่วมงานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็ก/เยาวชนที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งสร้างความมั่นใจในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 อีกด้วย”นายธนกรกล่าว
เท 4.3 พันล.จ้างหมอ-พยาบาล
     โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากไอซ์แลนด์และเยอรมนี โดยเห็นชอบให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เป็นผู้มีอำนาจลงนามในร่าง Donation Agreement - Delivered Doses ระหว่างไอซ์แลนด์กับไทย พร้อมลงนามในร่าง Tripartite Agreement ระหว่างฮังการี ไทย และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ และร่าง Bilateral Agreement ระหว่างเยอรมนีกับไทย
    "ไอซ์แลนด์มีความประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทยจำนวน 100,000 โดส โดย รมว.สธ.จะเป็นผู้ลงนามในร่าง Donation Agreement - Delivered Doses ระหว่างไอซ์แลนด์กับไทย ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้เยอรมนีจะให้การสนับสนุนบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 346,100 โดส โดย รมว.สธ.เป็นผู้ลงนามเช่นกัน โดยคาดว่าไอซ์แลนด์และเยอรมนีจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว 
    ส่วน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 1,320 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ในโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับการช่วยเหลือเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 660,318 คน รวม 18,540 แห่ง โดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19 รายละ 2,000 บาทต่อคน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1,389,722 คน (จากเดิมที่ไม่ครอบคลุมเด็กเล็ก) และกรอบวงเงินโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 2,779 ล้าน
    นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินรวม 4,335 ล้านบาท เพื่อเพิ่มบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยของหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และรองรับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังสามารถแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สธ.พิจารณากำหนดจำนวนกรอบอัตรากำลังที่จะจ้างงานภายใต้โครงการให้เป็นไปตามความเหมาะสม จำเป็น และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ 
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. พร้อมด้วยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม” ระหว่าง นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัด สธ. และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
    "เชื่อว่าความร่วมมือในโครงการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้ภายในปี 2565 และประเทศไทยจะพร้อมรับมือการระบาดในระลอกต่อๆ ไป รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายอนุทินกล่าว
    ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้แจ้งแนวทางการดำเนินงานเตรียมความพร้อมให้บริการวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียนนักศึกษาอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า โดย ศบค.มท.ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 
พรก.โรคติดต่อยังไม่ทูลเกล้าฯ 
    จ.สงขลา มีรายงานจากสำนักงานศึกษาธิการ จ.สงขลา ระบุข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย.64 ว่ามีนักเรียนอายุ 12 ขึ้นไปในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ขอรับวัคซีนด้วยความสมัครใจทุกสังกัด 92,235 คน จากเด็กนักเรียนทั้งหมด 114,895 คน ที่ยังเหลือนักเรียนไม่ขอรับวัคซีนประมาณ 22,660 คน  อาจจะมาจากผู้ปกครองบางคนยังไม่กล้าตัดสินใจ หรือผู้ปกครองต้องการดูตัวอย่างก่อน ต้องมีการทำความเข้าใจอีกระยะหนึ่ง และก่อนโรงเรียนเปิดเทอมที่ 2 เดือน พ.ย.64 จะมีนักเรียนขอรับวัคซีนเพิ่ม 
    โดยหากแยกสังกัดมัธยมศึกษา เด็กขอรับวัคซีน 37,557 คน จากทั้งหมด 43,049 คน, ประถมศึกษา  สพป.1 รับวัคซีน 655 คน จาก 715 คน, สพป.2 รับวัคซีน 1,213 คน จาก 1,487 คน และ สพป.3 รับวัคซีน 1,759 คน จากนักเรียน  2,162 คน และนักเรียนในสกัดเอกชน รับวัคซีน 27,482 คน จากเด็ก 32,260 คน   
    ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา รายงานสถานการณ์โควิดว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 468 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต จากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาจากกลุ่มรอการสอบสวนโรค กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน ร้านค้าและบริษัท และกลุ่มติดเชื้อในชุมชน ยอดสะสม 33,217 คน เสียชีวิตสะสม 158 คน รักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 6,000 คน 
    จ.ยะลา มีรายงานถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี ได้เริ่มขึ้นในวันที่ 4 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ตามความสมัครใจที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดยะลามีนักเรียนที่ประสงค์ฉีดและผ่านการยินยอมของผู้ปกครองแล้วจำนวนทั้งสิ้น 33,195 คน คิดเป็นร้อยละ 62 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด โดยที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดของ รพ.ยะลา อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นายนพปฎล มุณีรัตน์ ผอ.รร.คณะราษฎรบำรุงยะลา ได้นำนักเรียนจำนวนกว่า 2,000 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพ.ย.นี้ 
    นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าฯ ยะลา ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจแก่นักเรียนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ พร้อมระบุว่า จังหวัดยะลาได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์นำมาฉีดให้กับนักเรียนในพื้นที่จำนวน 20,000 โดส และจะทยอยส่งมาเพิ่มอีก ส่วนที่ตกค้างยังไม่ได้ฉีดนั้นก็คงจะให้มาฉีดกันทั้งหมด ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจำนวนวัคซีน 20,000 โดส จะสามารถฉีดครบภายใน 7 วันคงจะเรียบร้อย และเท่าที่สังเกตดูแล้ว เด็กๆ มีกำลังใจดี พร้อมฉีดวัคซีนเพื่อจะได้เจอเพื่อนๆ และเปิดเรียนต่อไป
    นางอัจฉรา เนื่องตีบ ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า มั่นใจในการให้ลูกได้ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้กับตัวเขาในการรับมือกับโควิดแล้ว ยังสามารถให้เราในฐานะผู้ปกครองก็ได้สบายใจไปด้วย ที่สำคัญคือลูกๆ จะได้ไปโรงเรียนเสียที เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์
    วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเอาเป็น พ.ร.บ.หรือไม่ เพราะถ้าเสนอเป็น พ.ร.บ.ก็ต้องรอให้สภาเปิด และเสนอเข้าเป็น พ.ร.บ.ปฏิรูปเข้าสองสภาพิจารณาร่วมกัน 
    ถามว่าไม่ได้รีบร้อนอะไรใช่หรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ก็รีบเหมือนกัน แต่ขณะนี้ไม่มีประชุมสภา และอีกประการหนึ่ง ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เร็วไป ในรัฐธรรมนูญระบุว่าการออก พ.ร.ก. หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุมให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ ดังนั้นไม่ต้องรีบอะไร
    “เห็นมั้ย ไม่เห็นมีอะไรเดือดร้อน หรือเร่งรีบสักเรื่อง ประกาศฉุกเฉินก็ยาวไปจนถึงเดือน พ.ย.อยู่แล้ว” นายวิษณุกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"