'บิ๊กตู่' โพสต์ขอทุกคนเชื่อมั่น พลังสามัคคีผสานต้นทุนทางวัฒนธรรมจะพลิกโฉมสู่ประเทศที่มีรายได้สูง


เพิ่มเพื่อน    

8 ต.ค.64 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก“ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha” ระบุว่า เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.64) เป็นอีกวันที่ผมมีความสุขและได้แนวคิดใหม่ๆมากมาย จากการล่องใต้สู่ดินแดนด้ามขวานทองของไทยเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ “เมืองคอน” ซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามด้วยความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตชุมชน แต่ในอดีตมักจะประสบกับอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดทางตอนเหนือที่เกิดขึ้น ทำให้ผมและรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องชาวใต้ จึงต้องได้มีคำสั่งเร่งรัดการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมทางภาคใต้ในปีนี้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และอยากที่จะมาติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการด้วยตนเอง

จากการตรวจราชการในครั้งนี้ ผมได้รับรายงานการเร่งรัดขุดลอกไปแล้ว 5 ร่องน้ำ และจะเร่งดำเนินการต่ออีก 9 ร่องน้ำใน 4 อำเภอ และมีการปรับปรุงและก่อสร้างเขื่อน 3 แห่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เตรียมเจ้าหน้าที่ เรือยนต์ รถยนต์ คอยออกประกาศเตือนชาวเรือและชาวบ้าน ติดตามสภาพอากาศ ประสานหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วคอยเข้าช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุสามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ผมยังได้กำชับให้กับกระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ป.ภ.) ให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อมเต็มที่จนกว่าจะผ่านหน้ามรสุมนี้ไปได้ ผมเชื่อว่าเมื่อเรามีการวางแผนที่ดี หากเกิดปัญหาขึ้น เราก็จะสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

นอกจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แล้ว ผมยังตั้งใจมารับฟังความคืบหน้าและปัญหาต่างๆ จากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 ในการอนุมัติงบกลาง เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีวงเงินรวมกว่า 354 ล้านบาท ในเกือบ 60 โครงการ อาทิ การพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, การยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, การส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังการระบาดของโควิดโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาของพี่น้องชาวใต้ในภาพรวม ตามนโยบาย “การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน” (Southern Economic Corridor - SEC) มีความต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based and Processed Agriculture Products) รวมทั้งการพัฒนาการผลิตด้านการเกษตรแบบครบวงจรอีกด้วย

ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสำหรับโลกสมัยใหม่นั้น จำเป็นต้องก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในครั้งนี้ผมได้เข้าไปเยี่ยมชม ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่ง “โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน” นี้ เป็นผลผลิตจากการขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตนเองและชุมชน จนเกิดการผลิดอกออกผลของความสำเร็จในวันนี้ จนได้รับการยกย่องในเวทีระหว่างประเทศ ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย “โครงการเน็ตประชารัฐ” ที่เป็นการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน ภายใน 1 ปี ได้รับรางวัลด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสาร WSIS Prize 2019 ซึ่งโครงการเน็ตประชารัฐนี้ได้ขยายผลไปสู่ “โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน” เพื่อสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้แต่ละชุมชน ช่วยสร้างความเท่าเทียมทางการเข้าถึงเทคโนโลยี ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จนล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศ WSIS Project Prizes 2021 ด้านสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างน่าภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนไม่ใช่เพียงพื้นที่การเรียนรู้ด้านดิจิทัลสำหรับพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์บริการของชุมชนที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆ ด้วย ซึ่งผมคาดหวังว่าจะเกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน การค้าออนไลน์จากพืชผลทางการเกษตร จากท้องถิ่นสู่ต่างจังหวัด ต่างภูมิภาค หรือแม้กระทั่งสู่ตลาดโลกโดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ให้ผู้ผลิตได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำเอง ขายเอง โดยรัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ ส่วนประชาชนลงแรงกายและแรงสมอง คือต้องเรียนรู้ ปรับตัว และไม่หยุดพัฒนา ต่อไปเกษตรกรไทยจะไม่ขายผลผลิตในลักษณะวัตถุดิบ แต่จะต้องยกระดับไปสู่การแปรรูป การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ทนทาน รักษามาตรฐานสินค้า และมีเรื่องราวที่สร้างความน่าสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ หากเกษตรกรรุ่นใหม่เรียนรู้การทำการตลาดได้ด้วยตนเอง ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งศูนย์ดิจิทัลชุมชน ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้แต่ละชุมชนไปถึงเป้าหมายนั้นได้

นอกจากนี้ ผมได้สัมผัสอีกโมเดลความสำเร็จของการบริหารจัดการโดยชาวชุมชน เพื่อชาวชุมชน ก็คือ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ที่เป็นถนนสายวัฒนธรรม ตามแนวคิด “คุณค่าสู่มูลค่าเพิ่ม” เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากเอกลักษณ์รากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านอาหารการกินวิถีชีวิต การแสดง งานฝีมือ สิ่งประดิษฐ์ หัตถกรรมจากวัสดุท้องถิ่นด้วยฝีมือคนในท้องถิ่น สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากกว่า 70 ล้านบาท จาก 200 ร้านค้า บนถนนคนเดินเพียง 160 เมตร โดยจัดสัปดาห์ละครั้งช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (รวม 160 ครั้ง) นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สูงถึง 20 เท่า จากเงินที่รัฐบาลสนับสนุนลงไป ถือเป็นความสำเร็จทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การอนุรักษ์วัฒนธรรม และการแปลงต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดมูลค่าอีกด้วย ซึ่งผมยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จเช่นนี้ และอยากเห็นความสำเร็จเช่นนี้ในลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ

จากที่ผมกล่าวมาจะเห็นได้ว่า ความเข้มแข็งของประเทศ นั้นมีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้น ถ้าทุกชุมชนสามารถถอดรหัสความเข้มแข็งของตนเอง รากเหง้าทางวัฒนธรรม จุดเด่นและอัตลักษณ์ที่มี นำมาแปรเปลี่ยนให้เป็นต้นทุนในการต่อยอดทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และผลผลิตสินค้าชุมชนต่างๆ ย่อมจะเกิดพลังขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนพลังที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอยู่แล้ว และดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดเป็น Soft Power ที่เป็นระบบและยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในเวทีโลก และจากการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้ทำสำเร็จตามแผนไปแล้วในหลายประการ จนประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากหลายสถาบันให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมดีที่สุดของโลก

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากความโดดเด่นของชุมชนทั่วทุกแห่งในประเทศ ที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสนับสนุน ต่อยอดศักยภาพให้เกิดความน่าสนใจ แข่งขันได้ น่าดึงดูดใจ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเมือง เปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด ขอเพียงเราทุกคนเชื่อมั่นและศรัทธาในชาติของตนเอง ว่ามีดีไม่เป็นสองรองใครในโลก ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พลังแห่งความรักความสามัคคีของคนในชาติ ผสานกับต้นทุนของมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามี จะสามารถพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้น พลิกโฉมประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ในเวลาไม่นานเกินรอครับ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"