เล็งล็อกดาวน์ชายแดนใต้ ยี้ทหารคุมศปก.ส่วนหน้า


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.เผยยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 10,111 ราย ดับ 63 ราย "บิ๊กตู่" ห่วงสถานการณ์โควิดชายแดนใต้ ส่งผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคเร่งสอบสวนโรค กำชับต้องคุมเข้มมาตรการ สธ. เล็งล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนสกัดแพร่ระบาด "เลขาฯ สมช." ยันตั้ง ศบค.ส่วนหน้าไม่ซ้ำซ้อน "ภท.-นักวิชาการ" ประสานเสียงโวยส่งนายพลทหารคุมแก้โควิดใต้
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พญ.สุมนี  วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิดว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่  10,111 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,046 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,718 ราย ค้นหาเชิงรุก 328 ราย  เรือนจำ 41 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 24 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,793,812 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,612 ราย  ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 1,668,250 ราย อยู่ระหว่างรักษา  107,226 ราย อาการหนัก 2,831 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 644  ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 63 ราย เป็นชาย 39 ราย หญิง 24 ราย ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 44 ราย มีโรคเรื้อรัง 15 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 9 ราย ขณะพื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง  21 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 18,336 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 17 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 475,053 โดส  รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 65,677,794  โดส
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,046 ราย  ยะลา 756 ราย นครศรีธรรมราช 615 ราย สงขลา 579 ราย ปัตตานี 502 ราย นราธิวาส 466 ราย ระยอง 402 ราย ชลบุรี  354 ราย เชียงใหม่ 314 ราย สมุทรปราการ 247 ราย 
    "การติดเชื้อในพื้นที่ภาคใต้น่าเป็นห่วง ตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นมาถึงกลางเดือน ต.ค. นอกจากการติดเชื้อจากสถานบันเทิงแล้วยังมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และผู้ติดเชื้อมาจากพื้นที่อื่น รวมถึงมีผู้ติดเชื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซีย ทำให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี, สงขลา โดยให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์ อีกทั้งยังจะส่งผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมควบคุมโรคเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเรื่องการสอบสวนโรคเพิ่มเติมด้วย" พญ.สุมนีกล่าว 
    ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กล่าวถึงการเปิดประเทศว่า ได้มีการวางแผนการเปิดประเทศเป็นระยะๆ โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ 3 ด้าน คือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดต้องทรงตัว  2.ต้องมีการพิจารณาถึงขีดความสามารถของสาธารณสุขว่ามีความพร้อมทั้งในเรื่องการป้องกัน การควบคุม และการรักษา 3.พื้นที่นำร่องสีฟ้า 17 จังหวัด จะต้องมีการครอบคลุมการฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า  70% ดังนั้นการเปิดประเทศจะต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องทยอยเปิด พร้อมก่อนก็เปิดก่อน โดยมาตรการหลักต้องอยู่ภายใต้มาตรการโควิดฟรีเซตติง 
    ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19  ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นด้วยความห่วงใย จึงย้ำให้ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ยึดหลักปฏิบัติตนตามการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนบุคคล แบบครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด งดการรวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น แม้อยู่บ้านก็ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างกันภายในครอบครัว เพื่อลดการติด การแพร่เชื้อภายในครอบครัวด้วย 
    นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือกิจการร้านค้า ตลาด ชุมชนต่างๆ ยกระดับความปลอดภัยกิจการ กิจกรรม ตามมาตรการโควิดฟรีเซตติง รวมทั้งนายกฯ ยังได้สั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ คุมเข้มสถานบริการ ผับ คาราโอเกะ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากพบว่าแอบเปิดให้บริการหรือจำหน่ายสุราจะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
    “นายกฯ ยังเร่งให้มีการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 และชุดตรวจเร็ว ATK เวชภัณท์และยา และขณะนี้ พล.อ.ณัฐพลจะบูรณาการทำงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการควบคุมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนเพื่อเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.ได้พัฒนาระบบหมอพร้อม ซึ่งเดิมเป็นระบบที่รวบรวมรายงานผลการฉีดวัคซีนโควิดและอาการไม่พึงประสงค์ ให้เป็น Digital Health Pass เพื่อรองรับการเปิดประเทศ อำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการในการตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกประชาชนในการแสดงหลักฐานข้อมูลการรับวัคซีนโควิด ผลตรวจหาเชื้อโควิดทั้งแบบ RT-PCR และ ATK และประวัติการวินิจฉัยโควิดสำหรับผู้ที่หายป่วยแล้ว
    วันเดียวกัน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการว่า ยืนยันจะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เนื่องจากเราลงไปดูพื้นที่เฉพาะที่มีความซับซ้อนหลายเรื่องในการแก้ปัญหา ที่สำคัญคือต้องแก้อย่างรวดเร็ว และทุกหน่วยงานต้องได้รับการสนับสนุนอย่างคล่องตัว  จึงตั้ง ศบค.ส่วนหน้าขึ้นมาเพื่อบูรณาการส่วนราชการทั้งหมด ยุติการแพร่ระบาดและสร้างมาตรการป้องกันให้แข็งแรง ไม่ให้เกิดการระบาดในครั้งต่อไป  
    "เพื่อรองรับการเปิดประเทศ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกโดยเร่งด่วนคือ  การเพิ่มขีดความสามารถในการฉีดวัคซีน ส่วนจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าสามารถทำได้ แต่ที่จริงต้องดูรายละเอียดว่าสิ่งที่ออกมาตรการไปจะใช้กฎหมายใดมารองรับ และมีอะไรที่ยังจำเป็นหรือไม่จำเป็น ต้องให้คณะทำงานพิจารณาอย่างรอบคอบ" เลขาฯ สมช.กล่าว 
    ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้ง พล.อ.ณัฐพลเป็นผู้นำแก้ปัญหาโควิดภาคใต้ โดยตอนหนึ่งระบุว่า คำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อแก้ไขการระบาดของโรคในพื้นที่ปลายด้ามขวาน แล้วให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงปลัดกระทรวงอื่นๆ ไปจนถึงผู้ว่าราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องไปเป็นลูกมือของท่าน แต่หัวโต๊ะผู้มีอำนาจสูงสุดคือนายทหาร
    "ประเด็นคือ นี่ท่านกำลังเอาโมเดลความมั่นคงต้องมาก่อนมาใช้กับเรื่องสาธารณสุข ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่เหมาะสม เป็นการนำเอาการทหารนำการสาธารณสุข สอดรับกับแนวทางการทหารนำการเมืองที่ท่านนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" นายศุภชัยกล่าว
    เช่นเดียวกับ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  ม.รังสิต กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาพสะท้อนเรื่องการเอาทหารไปนำหมอ คุมโรค ซึ่งเป็นเรื่องพิลึกกึกกือ ผิดฝาผิดตัว อันที่จริงปัญหาความไม่สงบก็ให้ทหารทำไป เพราะเป็นความถนัดของท่าน ส่วนเรื่องโรคระบาดก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำ เพราะเป็นงานของแพทย์ พยาบาล แบบนี้น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"