ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศยื่นหนังสือถึง ‘รมต.กอบศักดิ์’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

เมืองทองธานี/ ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศประกาศเจตนารมณ์ ‘ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ และยื่นหนังสือถึง ‘รมต.กอบศักดิ์’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ 8 ด้าน  ตั้งเป้าชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเต็มแผ่นดินในปี 2579  โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  เช่น  ส่งเสริมให้ชุมชนมี ‘ธรรมนูญชุมชน-สภาพลเมืองท้องถิ่น’ สร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย  จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  ฯลฯ  ขณะเดียวกันเสนอให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขปัญหาด้านนโยบาย  เช่น แก้ไขกฎหมายต่างๆ และนำที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้ประชาชนใช้อยู่อาศัยและทำกิน   

ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมจัดงาน ‘Thailand Social Expo 2018’ ซึ่งเป็นมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย   ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค  เมืองทองธานี  โดยในวันสุดท้าย (5 สิงหาคม) มีการจัดเวทีวิชาการ  ‘การสังเคราะห์ความรู้และข้อเสนอนโยบาย  นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ การปาฐกถาพิเศษ ‘การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น  โดย ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูลรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  และการประกาศเจตนารมณ์ของผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค  โดยมีพลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์ รมว.พม.  และผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และผู้แทนชุมชนเข้าร่วมงานประมาณ 400 คน

นายชัชวาลย์  ทองดีเลิศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวสรุปถึงผลการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศว่า  ผลที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา เช่น 1. การลดหนี้ เพิ่มรายได้ มีการสร้างเศรษฐกิจฐานล่างเช่น วิสาหกิจชุมชน ร้านค้าชุมชน ซึ่งเป็นความพยายามในการคลี่คลายปัญหาในระดับชุมชน 2.ด้านสุขภาพ 3.ด้านสังคม 4. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการทรัพยากรชุมชนโดยชุมชน เช่น ป่าชุมชน โฉนดชุมชน การจัดการภัยพิบัติ การฟื้นฟูป่าชุมชน 4.การพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการความรู้โดยชุมชน  และมีการจัดการตนเองมากขึ้นตามบริบทที่แตกต่างกัน 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ปัญหาใหญ่ๆ มาจากการรวมศูนย์อำนาจ ดังจะเห็นได้จากเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องที่ดิน ความไม่มั่นคงที่อยู่อาศัย โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ เศรษฐกิจ การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ  ดังนั้นจึงนำไปสู่ความท้าทายที่ขบวนชุมชนจะต้องขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ เช่น  1.การที่ชุมชนไปต่อได้อย่างเข้มข้น ต้องมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ และจะทำได้อย่างไร ?  2.การกำหนดแผนพัฒนาตนเองทุกมิติ จะมีอำนาจ มีสิทธิกำหนดได้อย่างเต็มที่ ได้อย่างไร ?  3.สิทธิการเข้าถึงการพัฒนาของรัฐอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จะทำได้อย่างไร?   3.การกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม การผลักดันกฎหมาย นโยบาย เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง จะทำได้อย่างไร ?  และ 5.การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ที่ชุมชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นแกนหลักในการพัฒนา ที่ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง  ท้องถิ่นเป็นแกนหลัก จะทำได้อย่างไร ?      

          

จากนั้นนักวิชาการและสื่อมวลชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “แนวคิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแนวใหม่ ด้วยนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง”  นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า ตนเองได้ติดตามงานเรื่องชุมชนท้องถิ่นมานานนับสิบปี ทำให้มีความเข้าใจชุมชนท้องถิ่นพอสวควร ซึ่งพบว่าชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการสถาปนาให้เป็นทางการด้วยสภาองค์กรชุมชน เมื่อมาดูตัวเลข 6,000 กว่าองค์กรชุมชน ทำให้เห็นว่าพัฒนาการไปได้ รวมถึงการปะทะต่อรองระหว่างภาคที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีความคืบหน้าอยู่พอสมควร 

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสิทธิการจัดการตนเอง สิทธิชุมชน แต่ตนคิดว่าสถานการณ์โลกที่เข้าไปกำหนดและมีอิทธิพลต่อทุกครัวเรือนหมู่บ้าน จำเป็นต้องมีอำนาจการต่อรองที่มีพลังมาจากนวัตกรรม อาศัยการจัดการสมัยใหม่ทำให้วิสาหกิจขนาดเล็กค่อยๆ เติบโตจนข้ามชาติ ไม่ได้มองแค่การปฏิบัติในท้องถิ่นแต่ต้องไปถึงระดับโลก การบริหารจัดการเช่นนี้จะเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจได้ 

“แต่สิ่งที่ยังขาด ไม่อยู่ในรากฐานความคิดของสังคมไทยอย่างลงหลักปักฐาน คือ ในภาวะของการจัดการตนเอง ยังมีเสียงที่แตกต่าง เสียงของคนส่วนน้อยยังไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ความเข้มแข็งไม่ควรเกิดจากเสียงของคนส่วนใหญ่ แต่ควรเกิดจากความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น จะต้องมีกลไกที่เชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน สิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นแก่นแกนหลักใหม่ ที่เปิดให้ความแตกต่างหลากหลายมีพื้นที่มากขึ้น เช่น เยาวชนมีเสียงในการกำหนดชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความอาวุโสเพียงอย่างเดียว” นายชูวัสกล่าว    

นายศิโรตม์  คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและคอลัมน์นิสอิสระ กล่าวว่า ชุมชนหรือชนบทมีพลังต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ปัญหาของประเทศเรา คือ ทรัพยากรที่มีอยู่มากไม่กระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ ชุมชนไม่ใช่เรื่องพื้นที่หรือเรื่องการรวมตัวในระดับชุมชน แต่ต้องเป็นเครือข่ายหรือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนำทรัพยากรของประเทศมาสู่ประชาชน โดยชุมชนเป็นเครือข่ายเป็นฐานของการพัฒนาหรือกำหนดนโยบายของประเทศ 

“ชุมชนเป็นแหล่งที่มาของนโยบาย คือ 1.การสร้างความยุติธรรม 2.การสร้างสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นธรรม และ 3.การพัฒนาชุมชนเป็นเรื่องที่มากกว่าการรวมตัวกันของชุมชน ดังนั้น ชุมชนต้องเชื่อมโยงกับการเติบโตและการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นเรื่องของการทำให้ทรัพยากรที่มีมากกระจายไปยังประชาชนโดยชุมชนเป็นแกน” นายศิโรตม์กล่าว   

ศ.ดร.อรรจักร สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า นวัตกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดการปรับตัวเองด้านยุทธศาสตร์ โดยการตระหนักว่ามีปัญหาในเรื่องอะไร เป้าหมายข้างหน้าคืออะไร ส่วนการสร้างเครือข่ายเป็นการปรับตัวทางยุทธวิธีเพื่อไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญนวัตกรรมขยายตัวอย่างมากมายและมีมิติซ้อนทับกัน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจฐานล่าง เรากำลังสร้างสังคมผู้ประกอบการในทุกระดับ ในหลายๆ ประเทศเรื่องนี้เป็นหัวใจหลักในการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่พวกเราทำเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการในทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและเชิงสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และสร้างจริยธรรมส่วนกลางและในชุมชน 

“การทำงานกับ พอช. ที่ผ่านมา พบว่าทำให้เกิดศักยภาพหลายด้านหลายมิติ ทำให้มีการจัดสรรความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกลางกับรัฐท้องถิ่น ทำให้สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญ ในอนาคตของสังคมไทยเราต้องมีความสัมพันธ์เชิงอิสระจาก พอช. ทั้งนี้ เนื่องด้วยรัฐอาจจะกลืน พอช. ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย ดังนั้น เราต้องสร้างความสมดุล ด้วยการสร้างสังคมผู้ประกอบการในชนบท”  นักวิชาการจาก ม.เชียงใหม่เสนอความเห็น

นายพลากร วงศ์กองแก้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสนอความเห็น 3 ประเด็น  คือ 1.ในสายตาของคนภายนอกมองว่า พอช. ควรปรับบทบาทการทำงาน ไม่ใช่การทำโครงการต่างๆ เช่น บ้านมั่นคง สวัสดิการ สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ แต่เป็นบทใหม่ที่เป็นนวัตกรรม เช่น เป็นพลเมืองที่ช่วยกันผลักดันประเทศหรือเป็นผู้ร่วมพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องคิดว่านวัตกรรมใหม่ในอนาคตข้างหน้าคืออะไร ?

2.ในการทำเรื่องพื้นที่ พอช.ถูกสถาปนาให้เป็นหน่วยงานหลัก ทั้งในประเด็นที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน ฯลฯ ดังนั้น ระบบพื้นที่มีความสำคัญมาก จึงต้องทำให้ชุมชน ตำบล มีความเข้มแข็ง และมีบทบาทที่สอดคล้อง และทำงานร่วมกับ พอช.ได้ รวมถึงเกิดการกระจายอำนาจ สร้างสมดุลในการทำงาน และ 3.เรื่องปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตข้างหน้า 

 

ดร.กอบศักดิ์   ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้วยนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น”  มีใจความสรุปว่า  เรามักพูดว่าประเทศไทยพัฒนาแล้ว หากกลับไปดูจะเห็นว่าพัฒนาไปจริงหรือไม่ เศรษฐกิจดี รายได้เพิ่ม แต่หากไปดูในชนบทจะเห็นว่าหลายพื้นที่อ่อนแอลงการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา อาจจะหลงทางหรือไม่ ?  ทำไมคนจึงเป็นหนี้มากขึ้น  เหมือนคนที่หัวโตแต่แขนขาลีบ  ดังนั้นจึงถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ทำในอดีตนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือไม่ ?

การพัฒนาต้องพัฒนาทีละลำดับขั้นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง และจะนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง  เริ่มต้นจากการไปพบพี่น้องประชาชน สอบถามความต้องการของพี่น้องประชาชนที่อยากได้ และมี  6 ด้านที่ประชาชนอยากได้ คือ 1.แก้จน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง 2.แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  3.แก้โกง  4.ปฏิรูประบบราชการ  5.สร้างการมีส่วนร่วม 6.ต้องการให้ชุมชนกำหนดอนาคตของตนเอง 

ทั้งนี้การแก้จน  ต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก (Strength from Bottom) เมื่อข้างล่างเข้มแข็ง ข้างบนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย  ต้องให้พี่น้องประชาชนฐานรากความเข้มแข็ง ที่ต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ  ลดค่าใช้จ่าย  เพิ่มรายได้  และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น   

“จากการเดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ ได้เห็นการทำงานพัฒนาของชุมชน  ทั้งธนาคารชุมชน  สถาบันการเงินชุมชน สามารถเป็นแหล่งทุนภายในของชุมชนเอง  โดยภายในปีนี้จะมีกฎหมายสำหรับพี่น้องประชาชน คือ พ.ร.บ.ธนาคารชุมชน และ พ.ร.บ. ป่าชุมชนอย่างน้อย 20,000 แห่งทั่วประเทศ   ส่วนวิสาหกิจชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นนิติบุคคล  การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยการแก้กฎหมายต่างๆ  ที่เป็นอุปสรรค และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้นำชุมชน จะมีลักษณะกองทุนคล้ายๆ กับ Sif เมนู 5 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผู้นำชุมชน”  ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างการสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง

 

             นอกจากนี้จะส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน  โดยการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ธนาคารต้นไม้ การปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทรัพย์สินและเป็นหลักค้ำประกัน ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบแล้ว  การส่งเสริมธนาคารปูม้า การท่องเที่ยวชุมชน โซลาร์เซลล์ประชาชน การบริหารจัดการน้ำ สมาร์ทฟาร์มเมอร์   งานวิจัยที่กินได้  ฯลฯ  ส่วนการลดค่าใช้จ่าย จะส่งเสริมเรื่องต่างๆ เพื่อแก้ทุกข์ให้ประชาชน  เช่น  การดูแลผู้ป่วยติดเตียง บ้านพอเพียง/บ้านมั่นคง ยาเพื่อประชาชน ฯลฯ  และรัฐบาลจะสนับสนุนนวัตกรรมชุมชน  โดยชาวบ้านคิด รัฐบาลสนับสนุน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อประชาชน   ทั้งนี้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันทุกภาคส่วน

 

            ในช่วงท้ายของการจัดเวทีวิชาการ “นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองฯ”  ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนจาก 5 ภาคได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ‘ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ และยื่นหนังสือถึง ดร.กอบศักดิ์  โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง  ดังนี้

1.เป้าหมายการพัฒนาสูงสุดของขบวนองค์กรชุมชนคือ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เต็มแผ่นดินในปี 2579” โดยใช้ยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนคือ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก” ซึ่งหมายถึงว่า ชุมชนท้องถิ่นจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาทุกๆ เรื่อง เพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่น โดยมีองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนหลักร่วมกับเพื่อนภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักการทำงานสำคัญ

2.เครือข่ายองค์กรชุมชนทุกท้องถิ่นจะวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นเพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยประชาชนในท้องถิ่นเอง   จะส่งเสริมให้ทุกท้องถิ่นมี “ธรรมนูญชุมชน” ทั้งในระดับจังหวัดและตำบลหรือเมือง  เป็นกติกาการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชนพลเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้ง “สภาพลเมืองท้องถิ่น” เป็นเวทีกลางของทุกภาคส่วนในตำบลหรือจังหวัดเพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นในทุกมิติ

3.จะดำเนินการทุกวิถีทางให้ทุกครอบครัวทั้งในเมืองและชนบท มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและมีที่ดินทำกินเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ต่อเนื่องจากที่อยู่อาศัย

4.จะเพิ่มจำนวนกองทุนสวัสดิการและสมาชิกกองทุนให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในปี 2569เพื่อที่คนด้อยโอกาสทุกคนทั้งในเมืองและชนบท ได้รับการคุ้มครองทางสังคมและจะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคมระดับตำบล ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันสมทบ เป็นเครื่องมือการพัฒนา

5.จะมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนครบทุกท้องถิ่นกว่า 7,800 แห่งในปี 2563 มีสมาชิกองค์กรชุมชนทุกประเภทกิจกรรมกว่า 150,000องค์กร สภาองค์กรชุมชนจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพองค์กรชุมชนและเป็นกลไกสำคัญที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาท้องถิ่น

6. จะสร้างความมั่นคงด้าน เศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน โดยมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสถาบันการเงิน ฯลฯ

7.จะขยายผลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางด้านต่างๆ เช่น การจัดการป่าชุมชน การปลูกต้นไม้ใช้หนี้ การจัดการขยะและมลพิษต่างๆ การอนุรักษ์และบริหารจัดการแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบและทะเลชายฝั่ง ให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

8.จะส่งเสริมและขยายผลการทำเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์ให้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ เพื่อที่ผู้บริโภคจะมีอาหารที่ปลอดภัยและเกษตรกรผู้ผลิตอาหารไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีมีพิษทางการเกษตร

“แต่เครือข่ายองค์กรชุมชนจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเต็มแผ่นดินได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลและเพื่อนภาคีการพัฒนา ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างๆ คือ 1.หน่วยงานของรัฐจัดสรรที่สาธารณะที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในปี 2579 ตามแผนแม่บทที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  2.ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นวางแผนการพัฒนาระยะยาว 3-5 ปีของตนเอง  และให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการตามแผนของชุมชน  3. มีการออกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆ สนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และ 4. มีกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2579”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"