'ทรัมป์' ขู่ธุรกิจที่ฝ่าฝืนแซงก์ชันอิหร่าน


เพิ่มเพื่อน    

ผู้นำอิหร่านประณามสหรัฐทำสงครามจิตวิทยาด้วยการฟื้นมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันอังคาร ลั่นจะไม่ยอมเจรจาตราบใดที่ยังมีมีดปักกลางหลัง ด้าน "โดนัลด์ ทรัมป์" คุยแซงก์ชันครั้งนี้ทำอิหร่านเจ็บหนักสุด พร้อมเตือนใครก็ตามที่ทำธุรกิจกับอิหร่านจะไม่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐ

สตรีชาวอิหร่านเดินผ่านภาพวาดบนกำแพงสถานทูตเก่าของสหรัฐ ในกรุงเตหะราน / AFP

    มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มมีผลบังคับใช้อีกครั้งเมื่อเวลา 11.01 น.ของวันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2561 ตามเวลาไทย โดยกำหนดห้ามรัฐบาลอิหร่านซื้อหรือได้มาซึ่งพันธบัตรของสหรัฐ การแลกเปลี่ยนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินเรียล และลงโทษอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ภาครถยนต์และพรม แต่มาตรการนี้คงจะไม่ได้สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายต่อเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างทันทีทันใด

    รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า ตลาดทุนของอิหร่านค่อนข้างลอยตัวแล้วก่อนหน้านี้ โดยเงินสกุลเรียลแข็งค่าขึ้น 20% มาตั้งแต่วันอาทิตย์ ภายหลังรัฐบาลอิหร่านผ่อนคลายกฎปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และอนุญาตให้นำเข้าเงินตราและทองคำปลอดภาษีอย่างไม่จำกัด

    อย่างไรก็ดี มาตรการคว่ำบาตรชุดที่ 2 ที่จะมีผลในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งพุ่งเป้าที่ภาคน้ำมัน น่าจะสร้างความเสียหายกว่ามาก ถึงแม้ว่าลูกค้ารายใหญ่หลายชาติ เช่น จีน, อินเดีย และตุรกี ต่างปฏิเสธที่จะลดการซื้อน้ำมันจากอิหร่านอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม

    ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ ก่อนหน้าการคว่ำบาตรกลับมามีผลบังคับใช้ว่า คณะผู้นำของอิหร่านต้องเลือกว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมข่มขู่คุกคามบ่อนทำลายเสถียรภาพ  แล้วกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หรือจะยังเดินในเส้นทางที่ถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจต่อไป

    ผู้นำสหรัฐยังคงย้ำข้อเสนอของเขาด้วยว่า เขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจาทำข้อตกลงที่ครอบคลุม เพื่อแก้ไขกิจกรรมร้ายกาจของอิหร่านได้อย่างเต็มพิกัด อันรวมถึงโครงการขีปนาวุธและการสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย

    ทรัมป์กลับมารื้อฟื้นมาตรการลงโทษอิหร่านในครั้งนี้ โดยเป็นผลจากการตัดสินใจเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่นำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่อิหร่านทำไว้กับกลุ่มมหาอำนาจตะวันตก ในทวีตเมื่อวันอังคารทรัมป์ยังคุยด้วยว่า การคว่ำบาตรครั้งใหม่ที่เริ่มอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันนี้ เป็นการลงโทษที่ส่งผลร้ายต่ออิหร่านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และในเดือนพฤศจิกายนมาตรการนี้จะเพิ่มความเข้มข้นสู่ระดับใหม่

    รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปพากันโกรธเกรี้ยวกับยุทธศาสตร์ของทรัมป์ ซึ่งทำให้ธุรกิจของประเทศเหล่านี้ในอิหร่านต้องเผชิญกับการข่มขู่ของสหรัฐ และในทวีตเมื่อวันอังคารทรัมป์ก็เตือนไว้ชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ทำธุรกิจกับอิหร่านจะไม่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐ

    เอเอฟพีกล่าวว่า ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังมาตรการนี้เริ่มมีผล บริษัทเดมเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนีก็ประกาศว่า พวกเขากำลังยุติการทำธุรกิจกับอิหร่าน

ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์อิหร่านเมื่อวันจันทร์ ภาพ Iranian Presidency / AFP

    ด้านฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการเจรจากับสหรัฐตราบใดที่สหรัฐยังคว่ำบาตรอิหร่าน "หากคุณเป็นศัตรู และคุณใช้มีดแทงคนอื่นแล้วมาบอกว่าคุณอยากเจรจาต่อรอง สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือดึงมีดออกก่อน" โรฮานีกล่าวผ่านโทรทัศน์ของทางการอิหร่าน

    "พวกเขาต้องการทำสงครามจิตวิทยากับประเทศอิหร่าน" โรฮานีกล่าวต่อ "การเจรจาต่อรองพร้อมกับการแซงก์ชันนั้นไม่เข้าท่า"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"