กกต.แจงไพรมารีโหวตจะมี 7+9 รูปแบบ ส่วนวันเลือกตั้งเป็นแค่เพียงตุ๊กตา


เพิ่มเพื่อน    


“กกต.”แจงไพรมารีโหวตจะมี 7+9 รูปแบบ ย้ำผู้ตรวจการเลือกตั้ง-ผอ.กกต.จังหวัด ต้องทำความเข้าใจให้ชัด  “จรุงวิทย์” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้งแค่ตุ๊กตา การกำหนดวันชัดเจนต้องหารือคสช.เพื่อปลดล็อกและพรรคการเมืองพร้อม

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.61เวลา 13.00 น.ที่โรงแรมพินนาเคิล แกรนด์ จอมเทียน พัทยา ในการจัดทำแผนปฏิบัติการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. และจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า งานด้านพรรคการเมืองที่กกต.ต้องรับผิดชอบ จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรม (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยารเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รวมทั้งมีงานสำคัญ 3 งาน คือ 1.การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2.การสนับสนุนพรรคการเมืองผู้สมัครและการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง และ 3.ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายใหม่กำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งไพรมารีโหวตไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตรวจสอบให้การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย

ดังนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมทั้ง ผอ.สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องไพรมารีโหวต รวมทั้งศึกษา พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย ทั้งนี้การทำไพรมารีโหวตนั้นมีหลักการคือ พรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครจะแตกต่างกันเพราะพรรคเก่าจะต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย วันนี้มีพรรคตามกฎหมายเดิม 69 พรรค พรรคที่แจ้งชื่อใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนไปแล้ว 4 พรรค ซึ่ง กกต.จะต้องพยายามให้พรรคการเมืองใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้

“ทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่มีสาขาพรรค เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่หมด แต่ละพรรคจะต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหาสมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ ที่ กกต.ส่งไปยัง คสช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับคสช.จะพิจารณา”รองเลขาธิการ กกต.กล่าว

นายแสวงกล่าวอีกว่า การทำไพรมารีโหวตมีรูปแบบทั้งหมด 7+9 รูปแบบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนหัวหน้าพรรคก็จะต้องเป็นคนเซ็นต์รับรอง ส่วนการทำไพรมารีโหวตแบบภาคไม่ได้ทำให้กระบวนการทำไพรมารีโหวตน้อยลงเลย เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิกพรรคในเขตนั้นๆต้องมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามเรื่องจะมีไพรมารีโหวตหรือไม่ไม่ใช่เรื่องของ กกต. เพราะเราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายกำหนดว่าต้องทำดราก็ต้องทำ โดยมีหน้าที่ให้ความรู้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ตามกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีกำหนดอยู่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็เชื่อว่าจะมีไพรมารีโหวต อย่างไรก็ตามสำหรับกกต.คิดว่าเรื่องไพรมารีโหวตจะไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเราก็สามารถทำได้ เราได้เตรียมขั้นตอนไว้แล้ว

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนไปเยอะ เพราะจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องมือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยกกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกว่า 5 เรื่อง  อาทิ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค ซึ่งจากการคำนวเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองกับ กกต.เคยมีข้อเสนอว่าอาจจะต้องกำหนดค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อผู้สมัครแต่ละคนในแบบแบ่งเขต แต่สุดท้ายก็จะตองให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกครั้งก่อนสรุปยอดเงินที่ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ตั้งแต่ 20-70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคส่ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกซ์ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าน่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีปัญหาว่าจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายการหาเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกซ์อย่างไร เพราะนอกจากตัวผู้สมัครเอง ยังมีกองเชียร์อีก ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องรวบรวมออกมาเป็นตัวเลข ส่วนจะทำได้ทั้งหมดหรือไม่ตอนนี้ กกต.ก็คงเอาเท่าที่รวบรวมได้ ส่วนหากมีการมายื่นเรื่องร้องเรียนก็ค่อยตรวจสอบในกระบวนการสืบสวนสอบสวนกันต่อไป

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวชี้แจงการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62ว่า การกำหนดวันดังกล่าวเพื่อเป็นกรอบการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน โดยพิจารณาจากกฎหมายลูกการเลือกตั้งส.ส.ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากลางเดือนก.ย.และมีผลบังคับใช้ในกลางเดือนธ.ค.ซึ่งจะเข้าสู่การนับระยะเวลา 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยจากการหารือร่วมคสช.กกต.และพรรคการเมือง ก่อนหน้านี้ก็มีการกำหนดวันเลือกตั้งคร่าวๆ เร็วสุดคือวันที่ 24 ก.พ.62และช้าสุดคือ 5 พ.ค.62 เพราะกรอบเวลาครบ 150 วัน ในวันที่ 11 พ.ค.

แต่ทั้งนี้การจะกำหนดเลือกตั้งที่แท้จริงต้องคำนึงถึงข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่53/2560 ที่ระบุว่า เมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช.ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ครม.แจ้งคสช.เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายประกาศคสช.หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองและร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยให้หารือกับกกต.กรธ.ประธานสนช.พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ดังนั้นจึงต้องดูความพร้อมของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆด้วยเพื่อให้การเลือกตั้งสมบูรณ์ ในส่วนกกต.ถือว่าเตรียมเพื่อให้พร้อมในการจัดการเลือกตั้งให้มากที่สุด วันที่ 24 ก.พ.62 จึงเป็นเพียงตุ๊กตาที่เราตั้งไว้เท่านั้น ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการคลายล็อกของคสช.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"