ข้าหลวงสิทธิจี้ 'อองซาน ซูจี' ลาออก แต่โนเบลยันไม่ริบรางวัล


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันโนเบลของนอร์เวย์ยืนยัน สถาบันไม่มีความตั้งใจจะเรียกคืนรางวัลโนเบลสันติภาพของอองซาน ซูจี เนื่องจากกฎของรางวัลไม่อนุญาตให้ทำได้ ขณะข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นไล่ส่งอดีตวีรสตรีประชาธิปไตย ควรลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่ก็กลับไปอยู่บ้านโดนกักบริเวณเหมือนเดิม ดีกว่ามาปกป้องพวกผู้นำทหาร

นางอองซาน ซูจี ลงจากเวทีภายหลังให้โอวาทต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 / AFP

    ท่าทีของสถาบันโนเบลแห่งนอร์เวย์ และเซอิด ราอัด อัลฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่แห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันพุธที่ 29 สิงหาคม 2561 มีออกมาหลังจากคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงของยูเอ็นเผยแพร่รายงานการสอบสวนสถานการณ์วิกฤติในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งกล่าวหาพวกผู้นำในกองทัพเมียนมาว่า "ล้างเผ่าพันธุ์" ชาวโรฮีนจา

    สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม อ้างคำกล่าวของโอลาฟ โยลสตัด ผู้อำนวยการสถาบันโนเบลแห่งนอร์เวย์ว่า ไม่มีข้อสงสัยถึงเรื่องคณะกรรมการโนเบลเรียกคืนรางวัลสาขาสันติภาพ เนื่องจากกฎของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไม่อนุญาตให้ทำได้

    นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนในทางพฤตินัย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2534 จากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาจนโดนกองทัพกักขังอิสรภาพ นางเพิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกเมียนมาเพื่อรับรางวัลนี้ 21 ปีให้หลัง เมื่อกองทัพผ่อนคลายการกุมอำนาจ

    ปีที่แล้ว เมื่อสถานการณ์โรฮีนจาถึงจุดวิกฤติที่สุด มีชาวโรฮีนจาหลายแสนคนทิ้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่เข้าสู่บังกลาเทศ ประชาคมระหว่างประเทศกดดันนางซูจีหนักขึ้น ให้นางกล่าวถึงชะตากรรมของผู้คนเหล่านี้ แต่ล่วงมาถึงปัจจุบัน นางซูจียังคงแทบไม่พูดถึงสภาพของชาวโรฮีนจา และยังหลีกเลี่ยงการให้ทัศนะวิจารณ์กองทัพเมียนมา

    คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเคยกล่าวเตือนไว้เมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่กำลังเลวร้ายลง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติและการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อย โยลสตัดกล่าวว่า ภายหลังรายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็น ข้อเรียกร้องนี้ยังคงเข้ากันได้กับสถานการณ์

    รายงานของยูเอ็นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ระบุว่า มีหลักฐานของการล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในระดับมโหฬารกับชาวโรฮีนจา อันรวมถึงการข่มขืน, ใช้ความรุนแรงทางเพศ และการฆ่าหมู่ ต่อมาในวันอังคาร ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น อาทิ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และสวีเดน เรียกร้องต่อที่ประชุมในสำนักงานใหญ่ยูเอ็นที่นครนิวยอร์ก ให้นำตัวพวกผู้บัญชาการทางทหาร ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา มาดำเนินคดี

    เมื่อวันพุธ โฆษกรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธรายงานของยูเอ็นฉบับนี้ว่าไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งเป็นเหตุผลที่เมียนมาไม่อนุญาตให้คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงชุดนี้เข้าเมียนมา และว่า เมียนมาได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระขึ้นมาเช่นกัน เพื่อตอบโต้คำกล่าวหาผิดๆ จากสำนักงานต่างๆ ของยูเอ็นและประชาคมระหว่างประเทศ

แฟ้มภาพ เซอิด ราอัด อัลฮุสเซน  / AFP

    คณะกรรมการของยูเอ็นชุดนี้แต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะกล่าวโทษพวกนายทหารสายบังคับบัญชา พร้อมเรียกร้องให้นำตัวพวกเขาขึ้นศาลระหว่างประเทศแล้ว ยังได้กล่าวโจมตีนางซูจีที่ไม่ป้องกันเหตุการณ์รุนแรง ในวันพุธ เซอิด ราอัด อัลฮุสเซน ข้าหลวงสิทธิฯ ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ยังกล่าวกับบีบีซีว่า นางซูจีควรจะลาออกจากตำแหน่งและควรพิจารณาตนเองกลับไปถูกกักบริเวณในบ้านเหมือนเดิม แทนที่จะมาแก้ตัวให้กองทัพ

    "นางอยู่ในสถานะที่สามารถทำอะไรบางอย่างได้" เขากล่าว "นางควรเงียบไว้ หรือให้ดีกว่า นางควรลาออก ไม่มีความจำเป็นเลยที่นางจะทำตัวเป็นโฆษกของกองทัพเมียนมา นางไม่จำเป็นต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นภูเขาน้ำแข็งของข้อมูลผิดๆ สิ่งเหล่านี้เป็นการกุเรื่องขึ้น".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"