ภาวะสังคม‘Q2’ อาชญากรรมพุง่ 80%‘ยาเสพติด’


เพิ่มเพื่อน    

 สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2  พุ่งสูง ชี้กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด ทำนักโทษล้นคุกเป็นแสนคน  "กรมคุก" เตรียมพักโทษนักโทษ 674 ราย พร้อมโอนตัวนักโทษชาวต่างชาติกลับประเทศ

    เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2561 โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ เปิดเผยว่า ในส่วนของการจ้างงานและหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยพบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่การว่างงานลดลงเหลือ 1.1% จาก 1.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น 10.3% แต่ความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยสัดส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำที่ 2.72%
    สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไปคือ ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร จากภาวะฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2561 และภาวะน้ำหลากและอุทกภัยที่มักเกิดในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ของทุกปี ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรและการมีงานทำของเกษตรกร ซึ่งต้องเฝ้าระวังเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 รวมถึง ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อรวมกับผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาสสามปี 2561 ประมาณ 3.2 แสนคน 
    อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ปรากฏว่าจำนวนการก่ออาชญากรรมยังคงเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นถึง 34.1% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลง 3% และ 9.2% ตามลำดับ แต่คดีที่เพิ่มขึ้นมากคือคดียาเสพติด เพิ่มขึ้น 46.5% หรือคิดเป็น 84% ของคดีอาญารวม
     ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวัง สกัดกั้น ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นำไปสู่การเปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกำหนดการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายใต้แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2561 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณผู้เข้าสู่การกระทำผิด อีกทั้งนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดอันเกี่ยวกับยาเสพติดให้เห็นอย่างชัดเจน และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคม การขจัดปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติด ซึ่งถือเป็นเหยื่อของผู้ค้ายาเสพติดควรได้รับโอกาสและการบำบัดรักษา เพื่อให้มีโอกาสได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคม
     นายทศพรกล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองแค่จีนและอินเดีย และมีอัตราผู้ต้องขัง 514 คนต่อประชากรแสนคน สูงเป็นลำดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยช่วง 10 ปีมานี้จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 201,829 คน ในปี 2552 เป็น 355,543 คน ในปี 2561 ขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 200,000 คน ก่อให้เกิดความแออัด ความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่ โดยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1 ต่อ 27 คน (เจ้าหน้าที่ 13,000 คน) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติที่กำหนด 1 ต่อ 5 คน ส่งผลต่อการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยและการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนภาระงบประมาณและต้นทุนค่าเสียโอกาสจากกำลังแรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ เมื่อจำแนกตามประเภท แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด 287,601 คน คิดเป็น 80.9% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 65,605 คน หรือ 18.5% โดยประมาณ 70% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด
     ทั้งนี้ ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายไทยใช้กระบวนทางอาญาในการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นเพียงการกระทำที่เป็นความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมโดยแท้ เช่น การผิดกฎจราจร การจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชี และหมิ่นประมาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดโทษที่ยังขาดทางเลือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำคุกและปรับ โดยโทษปรับมักกำหนดต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมมาก เนื่องจากไม่ได้ปรับตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลือกลงโทษเป็นจำคุก จนก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
    นอกจากนี้ คดียาเสพติดซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการกระทำผิดกฎหมายมีความแข็งตัว ไม่ตรงกับพื้นฐานความเป็นจริง เช่น การกำหนดนิยาม “ผู้ผลิต” “ผู้จำหน่าย” ที่กำหนดผู้ครอบครองยาเสพติดมากกว่า 15 เม็ด เป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่าย รวมทั้งถ้านำมาแบ่ง แม้จะเพื่อเสพ จะเข้าข่ายเป็นผู้ผลิตตามที่กำหนดให้แบ่งบรรจุเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้รับโทษที่ต่างกันมาก หรือกรณีนำเข้าไม่มีการแบ่งเพื่อใช้เองหรือเพื่อขาย ทำให้ผู้เสพได้รับโทษสูงเท่ากับผู้ค้า และเป็นผู้ต้องขังกว่า 30% ทั้งนี้ การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำต้องปรับปรุงกฎหมาย เช่น การให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณา (กรณีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือทำให้คดียุ่งเหยิง) อยู่นอกเรือนจำมากขึ้น การมีกฎหมายให้ผู้ถูกตัดสินคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีประวัติอาชญากรรมอีกเลยหลังรับโทษเป็นระยะ 5 ปี ได้รับการรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม ฯลฯ 
    พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ครั้งที่ 2/2561 ประจำเดือนสิงหาคม 2561 โดยที่ประชุมมีมติพิจารณาพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบของทางราชการจากเรือนจำ 64 แห่ง ในคดีความผิดทั่วไปและคดียาเสพติด จำนวน 248 ราย และได้พิจารณาพักการลงโทษผู้ที่ผ่านหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (เรือนจำโครงสร้างเบา) ประจำปีงบประมาณ 2561 รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 อีก 426 ราย รวมเป็นผู้ได้รับการพักการลงโทษทั้งสิ้น 674 ราย  โดยผู้ที่ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษเหล่านี้ ถือเป็นผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีอยู่ในระเบียบวินัย ผ่านการพัฒนาพฤตินิสัย เหลือโทษอีกไม่นาน และไม่เป็นภัยต่อสังคม
    อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศ จำนวน 50 ราย ประกอบด้วยสัญชาติอิหร่าน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ และสเปน ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยนักโทษที่จะโอนตัวต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด คดีถึงที่สุด มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาโอนตัวนักโทษ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการโอนตัวนักโทษชาวต่างชาติไปแล้ว 1,083 ราย และนักโทษสัญชาติไทยที่ได้รับการโอนตัวกลับมารับโทษต่อในประเทศไทยแล้ว 17 ราย.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"