เด็กก่อคดีเฉลี่ยวัันละ83ราย กรมสุขภาพจิตเผยน่าห่วงยิ่งขึ้น 3ปีพบก่อคดีซ้ำเพิ้ม7%


เพิ่มเพื่อน    

2ก.ย.61-กรมสุขภาพจิต เผยสถานการณ์เด็กและเยาวชนน่าห่วง  ถูกกระทำรุนแรงวันละ 30 คน  ก่อคดีความผิดเฉลี่ยวันละ 83 คน  ผลวิจัยพบเด็กที่ก่อคดีร้อยละ 96 ป่วยทางจิตด้วย สูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 5 เท่า  พบสูงสุดคือ ความผิดปกติของพฤติกรรมการใช้สารเสพติด โรคเกเรต่อต้าน  โรควิตกกังวล   ที่น่าวิตกพบอัตราการก่อคดีซ้ำในรอบ3 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ7 เร่งจัดระบบบำบัดรักษาฟื้นฟูร่วมกับสถานพินิจฯ ตั้งแต่แรกรับต่อเนื่องจนหลังปล่อยตัว นำร่องปีนี้ 4 แห่งคือกทม. สมุทรปราการ นครปฐม และสุราษฎร์ธานี ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ 
 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในขณะนี้น่าเป็นห่วงและกำลังเป็นปัญหาสังคมที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ต้องเร่งช่วยกันแก้ไขป้องกัน โดยปัญหาเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมที่พบนี้มี 2 ลักษณะ คือเป็นผู้กระทำผิด และถูกคนอื่นกระทำ  ข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในปี 2559  มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา กระทำผิด 30,356 คน เฉลี่ยวันละ 83 คน  ร้อยละ 93  เป็นชาย เกือบร้อยละ 90 มีอายุ 15-18 ปี ที่เหลืออายุในช่วง 10-15 ปี  เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมากอันดับ1 ร้อยละ41 เช่น ยาบ้า สารระเหย รองลงมาคือทรัพย์ ร้อยละ 20  ทำร้ายร่างกายร้อยละ 14  อาวุธและวัตถุระเบิดร้อยละ7 และพบว่าแนวโน้มการก่อคดีซ้ำของเด็กเพิ่มขึ้นเพียงแค่ช่วง 3 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากร้อยละ 12  ในพ.ศ.2555 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2558   

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า  ผลการศึกษาวิจัยของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2558   พบว่าในกลุ่มเด็กที่กระทำผิด ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอย่างน้อย1 โรค สูงถึงร้อยละ 96 สูงกว่าเด็กทั่วไป 5 เท่า ที่พบมากที่สุดคือ ความผิดปกติของพฤติกรรมการใช้สารเสพติดพบร้อยละ 84 รองลงมาคือ กลุ่มโรคเกเรต่อต้านพบร้อยละ  34  โรควิตกกังวลร้อยละ 11 โรคซึมเศร้าและโรคอารมณ์แปรปรวน ร้อยละ 10  โรคสมาธิสั้นร้อยละ 7   โดยมีเด็กร้อยละ 79 หรือประมาณ 4 ใน 5 ป่วยทางจิตมากกว่า 2 โรค  นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเริ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สูบกัญชา และยาบ้า เมื่ออายุ7-9 ปี หรือเท่ากับเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3  ซึ่งผลที่ตามมาจะรุนแรงกว่า คือเด็กมีโอกาสเสพติดสูง และมีโอกาสป่วยทางจิตเวช ที่ต้องการการบำบัดรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น 

“ ผลการศึกษาครั้งนี้กล่าวได้ว่า การก่อคดีของเด็กและเยาวชน  คือรูปแบบของการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ปะทุออกมาเป็นปัญหาสังคมที่เกิดมาจากความผิดปกติของตัวเด็กเอง  การเลี้ยงดู และสภาพสังคม หากไม่ได้รับการดูแลเด็กจะก่อคดีอย่างซ้ำซาก เมื่อโตขึ้น จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial PersonalityDisorder) ซึ่งเป็นลักษณะของอาชญากรสังคม  ทำผิดโดยไม่รู้สึกว่าผิด  โทษคนอื่นว่าเป็นคนผิด เป็นที่มานิสัยฉ้อโกง  ดังนั้นการส่งเสริมป้องกันปัญหาสารเสพติดและการกระทำผิดกฎหมายในเด็ก   จำเป็นต้องเริ่มในระดับประถมศึกษาเพื่อป้องกันเด็กจากสารเสพติดและการออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว 

สำหรับปัญหาเด็กที่ถูกทารุณกรรม ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในปี 2558  มีเด็กถูกกระทำรุนแรง 10,712 คน  เฉลี่ย 30 คนต่อวัน  ในเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะถูกกระทำรุนแรงทางเพศโดยคนรู้จัก   และถูกทุบตีทารุณทางกายและใจ3,108 คน ซึ่งผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าการลงโทษเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก  กลุ่มเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงนี้ จะมีผลต่อสมองและจิตใจ ทำให้พัฒนาการล่าช้า สติปัญญาลดลง เป็นเด็กเก็บกด  จะต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู   เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจระยะยาว  เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้   

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า  กรมสุขภาพจิตได้เร่งป้องกันปัญหา   โดยส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก การคัดกรองหาเด็กนักเรียนที่เป็นโรคทางจิตเวชเพื่อรักษา     และให้สถาบันกัลยาณ์ฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญด้านผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เร่งจัดระบบการดูแลเด็ก 2 กลุ่มนี้ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคมโดยเร็ว 

ทางด้านนายแพทย์ศรุตพันธุ์  จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า สถาบันฯได้จัดประชุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องคือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จิตแพทย์ทั่วไป และสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์  นักกิจกรรมบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช และจากสถานพินิจฯ  แนวทางความร่วมมือในปีนี้จะเน้น 2 เรื่องคือ การบำบัดดูแลเด็กที่กระทำผิด และการปกป้องสิทธิ์เด็กที่ถูกกระทำ  ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน  

ในการบำบัดรักษาเด็กที่กระทำผิด  จะเน้นอย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่องจนหลังพ้นโทษ  โดยให้สถานพินิจฯตรวจคัดกรองเด็กที่มีปัญหาป่วยทางจิตตั้งแต่แรกรับ และให้การดูแลบำบัดเบื้องต้น  ในรายที่ไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชจะมีระบบการส่งต่อเข้าบำบัดรักษาฟื้นฟูที่รพ.จิตเวช  เมื่อเด็กพ้นโทษจะมีระบบการประสานกับโรงพยาบาลใกล้บ้านของเด็กเพื่อดูแลต่อเนื่อง    โดยจะมีการจัดจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและทีมสหวิชาชีพจากรพ.จิตเวชในพื้นที่ตรวจประเมินเด็กในสถานพินิจฯ   เริ่มนำร่องในปีนี้ 4 แห่ง  ได้แก่ ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา เขตบางนา กทม. ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ  ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี จ.นครปฐม และที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายเขต8 จ.สุราษฏร์ธานี   จากนั้นจะประเมินผลและขยายครอบคลุมสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกและอบรมฯทั่วประเทศที่มีรวม 94 แห่งต่อไป    หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอาการป่วยก็จะสามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขได้ 

นายแพทย์ศรุตพันธุ์ กล่าวต่อว่า   สำหรับการปกป้องสิทธิกลุ่มเด็ก  ได้แก่ กลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรม  การประเมินความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรเช่นในรายที่พ่อแม่หย่าร้างกัน หรือกระทำรุนแรงต่อเด็ก    จะมีการพัฒนาแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มนี้ร่วมกันในกรมสุขภาพจิต และวางระบบเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป      ทั้งนี้ โดยทั่วไปในการพิจารณาคดีเมื่อเด็กที่กระทำผิดหรือถูกกระทำ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะมีกระบวนการพิเศษแตกต่างจากผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กและเยาวชนมีวุฒิภาวะทั้งด้านการเรียนรู้  อารมณ์และพฤติกรรม ความรู้สึกผิดชอบ มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก    ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด    จึงถือว่าเด็กและเยาวชนเป็นผู้หย่อนความสามารถในการรักษาสิทธิของตนเอง   จะต้องมีผู้ดูแลหรือตัดสินใจแทน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"