ออกหมายจับ'อดีต ผกก.กาฬสินธุ์' เบี้ยวฟังคำพิพากษาฏีกาคดีฆ่าแขวนคอหนุ่มวัย 17 เหยื่อฆ่าตัดตอน


เพิ่มเพื่อน    

6 ก.ย.6 1  ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฆ่าแขวนคอ หมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง, อายุ 49 ปี, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22-  23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปีเศษ  ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต จากนั้นจึงร่วมกันปิดบังเหตุการณ์ตายโดยย้ายศพผู้ตายจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน ม. 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 4- 6 ได้ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

ต่อมาอัยการโจทก์, โจทก์ร่วม และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี และพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ 4 ปาก สอดคล้องเชื่อมโยงกัน แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายไปแล้ว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นและถูกคุมตัวอยู่ในห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้การว่า พบเห็นจำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกไปจากห้องขังในช่วงเย็นวันเกิดเหตุ และไม่พบผู้ตายอีกเลย สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นที่พบเห็นจำเลยที่ 2 พาผู้ตายขึ้นไปห้องสืบสวน นอกจากนี้พยานปากที่เคยถูกจำเลยที่ 5 ข่มขู่เพื่อให้การเป็นประโยชน์ต่อพวกจำเลยนั้น ได้ให้การใหม่กับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกมาจากห้องขังไปยังห้องสืบสวนบนชั้น 2 ของ สภ.เมืองกาฬสินธุ์  และสามารถชี้ตัวยืนยันจำเลยที่ 1-3 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ประกอบกับพยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าน่าจะเบิกความไปตามจริง สอดคล้องกับที่ญาติได้รับโทรศัพท์จากผู้ตายให้มารับกลับบ้าน แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบผู้ตายแต่อย่างใด

ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลต่อไปว่า และเมื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยพบว่าจำเลยที่ 1-3 ได้โทรศัพท์ไปยังบ้านในบ้านหลังหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย และผู้ตายยังเคยเป็นสายลับให้กับจำเลยอื่นในคดียาเสพติด ซึ่งอาจจะกุมความลับของจำเลยไว้ ส่วนจำเลยที่ 4 แม้ไม่ได้มีหน้าที่ในการทำคดีดังกล่าว แต่กลับยื่นปล่อยชั่วคราวผู้ตาย ถือเป็นการฝ่าฝืนนโยบาย มีการหลอกลวงให้คนไปรับญาติผู้ตาย และหลอกลวงว่าผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว จำเลยที่ 4 จึงมีเจตนาร่วมกันวางแผนให้ผู้ตายได้รับการปล่อยตัว แต่จริงๆ แล้วผู้ตายกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวไป บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1-3 วางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและปิดบังซ่อนเร้นสาเหตุการตายด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 5 - 6 แม้พยานโจทก์อ้างว่าเห็นจำเลยที่ 5-6 อยู่ในการสอบปากคำด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5-6 ได้ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1-4 ฆ่าผู้ตาย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่จำเลยที่ 5 - 6 ได้มีการข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จช่วยเหลือจำเลยที่ 1-4 ไม่ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว

จากนั้นอัยการโจทก์, โจทก์ร่วม และจำเลยต่างยื่นฎีกา

วันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ 1-3 มาจากเรือนจำบางขวาง ส่วนจำเลยที่ 4 และ 6 ซึ่งได้รับการประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท เดินทางมาศาล แต่ พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ที่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน และนายประกันไม่มาศาล นอกจากนี้ยังมีญาติและคนใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตและของจำเลยเดินทางมาศาล รวมถึงนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

 เมื่อศาลออกนั่งบัลลังก์ ได้สอบถามทนายความจำเลยที่ 5 แล้ว ทนายความแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อกับจำเลยที่ 5 ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับ ปรับนายประกันเต็มตามจำนวน 1 ล้านบาท และเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นวันที่ 11 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. 

ภายหลัง นางพิกุล พรหมจันทร์ อาของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ผู้เสียชีวิต ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้รอฟังผลคำพิพากษาวันที่ 11 ต.ค. ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร กังวลว่าครั้งหน้าจำเลยจะมาครบหรือไม่ และหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัยของตน เพราะจำเลยชั้นสัญญาบัตรได้รับการประกันตัว 3 คน ยังมีอำนาจหน้าที่ราชการตำรวจตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม คือ พ.ต.ท.สำเภา อินดี จากเดิมก่อนพิพากษาอุทธรณ์เป็นรองผู้กำกับอำเภอรอบนอกของ จ.กาฬสินธุ์ หลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาไม่กี่เดือนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับสืบสวนสอบสวน ภาค 4

 ส่วนเรื่องการขอคุ้มครองพยานนั้น นางพิกุล กล่าวว่า ตนยื่นเรื่องคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม บอกไม่เข้ามาตรการทั่วไป แต่ตามกฎหมายบัญญัติว่าหากจำเลยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน ตนไม่ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ ถึงมีกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้แต่บาทเดียวกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็ไม่เคยช่วยเหลือ ตนจึงไปยื่นฟ้องอธิบดีและรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ฐานงดเว้นและเลือกปฏิบัติ ต่อศาลปกครอง อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา

 นางพิกุล ยังเผยด้วยว่า ตนเคยถูกคุกคาม มีกลุ่มคนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 3 นาย ขับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ติดฟิล์มทึบทั้งคันบุกไปที่บ้าน บอกว่าจะนำตนไปพบผู้กำกับ มีภาพวงจรปิด ตนขอดูคำสั่งว่าจากไหนที่มาตรวจเยี่ยม เขาบอกว่าถ้าอยากดูต้องไปพบผู้กำกับเอง พอตนบอกจะไปเองเขาก็บอกว่าผู้กำกับไม่ว่าง ต้องไปพร้อมกับพวกเขา ตนก็เรียก รปภ.มาอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งสุดท้ายตนก็ไม่ไป ใช้เวลาเจรจาอยู่นาน ส่วนวันนี้ก็ยังกังวล ตามที่เห็นแล้วว่าจำเลยที่ 4 มีอำนาจสืบสวนสอบสวนของภาค 4 ที่มาศาลวันนี้ก็มีลูกน้องทีมสืบของภาค 4 มาจำนวนมาก 5-6 คนขึ้นไป ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา แต่มาอยู่หน้าห้องมองหน้าโจทก์ ตนจึงรอเวลาให้จำเลยกลับแล้วถึงลงมา 

นางพิกุล กล่าวช่วงท้ายว่า ยังมีพยานปากสำคัญฝ่ายตนเสียชีวิตปริศนาที่โรงพยาบาล อายุ 22 ปี ขาดอากาศหายใจที่เตียงทั้งที่แค่เป็นหวัดไอหอบ เสียชีวิตก่อนได้ขึ้นเบิกความต่อศาล แม่มาเบิกความแทนลูกแล้วชี้หน้าจำเลยถามว่าใครที่ซ้อมลูก หลังคำพิพากษาแล้ว พยานปากสำคัญหลายคนก็หายตัวไป แล้วก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาล บางคนจนทุกวันนี้ยังไม่กล้ากลับ จ.กาฬสินธุ์ เลย เพราะรู้ว่าตำรวจกลุ่มนี้ยังรับราชการอยู่

 อย่างไรก็ตาม มีรายงานถึงที่มาของคดีนี้ว่า ในช่วงปี 2544-2549 รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก โดยหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว คือ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่ง กสม.ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2549 โดย กสม.มีข้อเสนอให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายจากการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ อันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้แก่ครอบครัวของนายเกียรติศักดิ์ ทั้งนี้ สภาทนายความได้แต่งตั้งคณะทำงานในการให้ความช่วยเหลือกรณีกลุ่มประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่เสียชีวิตและถูกอุ้มหายช่วงระหว่างปี 2546-2548 เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นทนายความให้แก่โจทก์ร่วมในคดีนี้ และทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย ในปี 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติให้กรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์เป็นคดีพิเศษ และเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2552 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหก นับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 14 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจนกระทั่งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"