มหกรรมหนังสือระดับชาติ ชวนอ่านออกเสียง - ปลุกหนังสือสาบสูญ


เพิ่มเพื่อน    

 

     "อ่านออกเสียง" เป็นแนวคิดของการจัดมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม 2561 ซึ่งต้องถือเป็นงานหนังสือใหญ่ประจำเดือนตุลาคมที่นักอ่านสายแข็งหรือผู้รักการอ่านเฝ้ารอ จะมีหนังสือดีและหนังสือใหม่ๆ วางขายมากมาย  ครั้งนี้มีสำนักพิมพ์ 376 แห่ง ร่วมออกบูธและแจกส่วนลดให้นักอ่านซื้อหนังสือราคาพิเศษในงานด้วย  

สำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติและเทศกาลหนังสือเด็กฯ จัดขึ้นพร้อมกันโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) นอกจากบูธหนังสือ พื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จัดสรรเพื่อการเรียนรู้เน้นๆ จะมีนิทรรศการ 30 แห่ง กิจกรรมบนเวที 96 รายการ ให้เลือกตลอด 12 วัน 

 

โปสการ์ดอ่านออกเสียงจาก17นักวาด ร่วมกิจกรรม 1 อ่านล้านตื่น 

 

     สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานแสดงหนังสือระดับชาติปีนี้ผนวกการจัดงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 ไว้ที่เดียวกัน ภายใต้แนวคิด "อ่านออกเสียง"  การอ่านให้มีเสียงดัง เป็นการอ่านเพื่อส่งเสียง การอ่านออกเสียง ยิ่งดังเท่าไหร่ ช่วยให้มีสมาธิจดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งสะท้อนใกล้เลือกตั้ง อยากชวนคนไทยอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพื่อรู้เท่าทันนักการเมือง และมาออกเสียงกันเมื่อถึงเวลาใช้สิทธิ งานครั้งนี้สำหรับนักอ่านทุกเพศทุกวัยจริงๆ  

" ปีนี้มี 3 นิทรรศการหลัก คือ นิทรรศการ"หนังสือสาบสูญ 3018" ,นิทรรศการ "WONDER LAND ดินแดนการค้นพบตัวตน" สำหรับน้องอายุ 5-11 ปี และนิทรรศการ"ท่องโลกมหัศจรรย์ HOSODA MAMORU...จากภาพฝันสู่แผ่นฟิลม์" แล้วยังมีนิทรรศการ"หนังสือติดดาว" เป็นหนังสือแนะนำสำหรับผู้อ่านที่คัดมาแล้ว 600 เล่ม ครบทุกหมวด ทั้งเคยและไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อน   นิทรรศการ "100 ABCD" เป็นนิทรรศการออกแบบปกหนังสือ และนิทรรศการ"TK Book Rally รู้จักกันผ่านหนังสือ ซึ่งนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย เพราะพันธมิตรและภาคีเครอข่ายอยากโชว์ของ " สุชาดา เผย

 

แบบจำลองนิทรรศการหนังสือสาบสูญ จินตนาการโลกอนาคตไม่มีหนังสือ

     

     อีกไฮไลท์ในงานหนังสือครั้งนี้ นายก PUBAT กล่าวว่า เป็นกิจกรรมเสวนาชื่อ"เสียงที่ไม่(เคย)ได้ยิน"  จัดขึ้น 2 วัน วันที่ 18 ต.ค. จะเป็นเสียงจากเยาวชน คนรุ่นใหม่ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ จนกระทั่งคนข้ามเพศ ได้แก่ เดย์ ฟรีแมน นักแสดงนางโชว์และนักอ่านตัวยง บังเจ๊ะหัน ยะลา ชาวกระบี่ผู้พลิกชีวิตจากการอ่านหนังสือจนมีธุรกิจเงินล้าน ช่วยพัฒนาชุมชน พลอย -สโรชา กิตติสิริพันธ์ุ นักเขียนผู้มองไม่เห็น เจ้าของหนังสือ"จนกว่าเด็กปิดตาจะโต" และจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์อายุน้อยที่สุด 

ส่วนวันที่ 19 ต.ค. จัดเสวนาจากผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งจะมีการเสนอแนวคิดและโครงร่างนโยบายส่งเสริมการอ่านในสังคมไทยบนเวที เริ่มเวลา 17.00-19.00 น. ก่อนเวทีภาคการเมืองก็มีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ "ผู้หญิงของเช เกวารา"  ซึ่งอาเลย์ดา เกวารา ลูกสาวคนโตของเช บินตรงจากคิวบา เพื่อร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วย 

ความน่าตื่นเต้นของงานที่แตกต่างไป ครั้งนี้ผู้จัดเพิ่มกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสนุกกับหนังสือและการอ่านอย่างเต็มเหนี่ยว 

คธาวุฒิ เกนุ้ย อุปนายกฝ่ายในประเทศ PUBAT เผยว่า ปีที่แล้วมหกรรมหนังสือระดับชาติมีผู้เข้าชมงานกว่า 2 ล้านคน  โดย 60-70% เป็นวัยรุ่น นอกจากสำนักพิมพ์ต่างๆ เตรียมผลงานหนังสือต้อนรับแฟนคลับแล้ว  ยังสั่งตรงนิทรรศการ"ท่องโลกมหัศจรรย์ HOSODA MAMORU...จากภาพฝันสู่แผ่นฟิลม์" มาจากญี่ปุ่น  นิทรรศการระดับโลกโด่งดังในหมู่วัยรุ่นจัดแสดงมาแล้วในกรุงปารีส  เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และไทเป  นำภาพสเก็ตซ์และสตอรี่บอร์ดจริงของโฮโซดะ มาโมรุ ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะที่มีชื่อเสียง และผลงานหนังของเขาที่ฉายในไทย และตีพิมพ์เป็นนิยายและการ์ตูน มาแสดงนิทรรศการนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่การทำหนัง  พิเศษสุดโฮโซดะทำโปสการ์ด 5 แบบ เพื่อมหกรรมหนังสือแจกจำนวนจำกัด  200 ชุดต่อวันด้วย ในงานฮอลล์ เอ เนรมิตรเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น มีบอร์ดเกม เสริมทักษะ สร้างสัมพันธ์ โดยสยามบอร์ดเกม

 

คธาวุฒิ เกนุ้ย อุปนายกฝ่ายในประเทศ

     ส่วนนิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018 ที่จะเกิดขึ้นบริเวณหน้าห้องเพลนารีฮอลล์  หนังสือที่สาบสูญได้ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ โดย  กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้จัดทำนิทรรศการดังกล่าว บอกว่า  แนวคิดเริ่มมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า หนังสือ 99.5% สูญสลายหายไปตามกาลเวลา และมีเพียงส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำที่จะสามารถอยู่ต่อไป ผู้ชมจะจินตนาการไปสู่โลกอนาคตอีก 1,000 ปี ข้างหน้า จำลองศูนย์เก็บข้อมูลหนังสือที่ไม่มีอยู่อีกแล้ว พานั่งไทม์แมชชีนย้อนประวัติศาสตร์ ผ่านไทม์ไลน์บันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกหนังสือและการอ่านที่เปลี่ยนแปลงตลอดมา สู่จุดกำเนิดยุคหนังสือ  

 กิตติพล บอกอีกว่า หนังสือสาบสูญนำประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงมาเล่าใหม่ให้สนุก น่าสนใจ แม้โลกจะพยายามบันทึกเก็บข้อมูลหนังสือทั้งหมด แต่ก็มีหนังสือมีที่ถูกลืมและหายไป เป็นหนังสือสาบสูญที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ตัวอย่างเช่น ฌอง ฌาค รุสโซ นักเขียนปรัชญาชาวสวิส  ก่อนมีผลงานสร้างชื่อเสียงอย่าง The Social Contract   เคยเขียนนวนิยายรักเรื่อง Julie เป็นหนังสือเรื่องแรก ขายดี พิมพ์ไม่ทัน  แต่พอผ่านพ้นศตวรรษมีใครจำ Julie ได้บ้าง 

อีกตัวอย่างยุคที่นิยายเชอร์ล็อก โฮมส์ โด่งดังมาก หนังสือมีวิวัฒนาการอย่างไร  หันกลับมาที่บ้านเราก็เช่นกัน เหมือนนวนิยายเรื่องแรก "ความไม่พยาบาท" ของหลวงวิลาศปริวัตร  เคยสูญหายไป ต่อมามีผู้พบต้นฉบับนำมาสู่การตีพิมพ์ซ้ำ  " นิทรรศการหนังสือสาบสูญอธิบายปรากฏการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ และหนังสือ   นิทรรศการไม่ได้บอกว่า ทำไมไม่เหลือรอดมา แต่ผู้อ่านมีส่วนตัดสินงานชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์วงการวรรณกรรมเสมอ ผู้อ่านมีบทบาทกำหนดชะตาหนังสือ ไม่ใช่อาจารย์ นักวิจารณ์ หรือรางวัลอย่างที่เราเข้าใจกัน " กิตติพล ย้ำแก่นของนิทรรศการหลักในงานมหกรรมหนังสือนี้

 

กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้จัดทำนิทรรศการ'หนังสือสาบสูญ 3018' 

 

     ผู้จัดทำนิทรรศการยังเชิญชวนผู้ชมทุกวัยเข้าชม สามารถเข้าชมได้ 2 ทางอย่างอิสระ โดยนิทรรศการเน้นการมีส่วนร่วม ใส่ลูกเล่นจะทำให้เข้าใจความเป็นมาของหนังสือหรืองานเขียนต่างๆ และ มีไทม์แมชชีนพาไปถ่ายรูปคู่กับนักเขียนที่จากโลกนี้ไปแล้ว ทั้งนักเขียนไทยและต่างประเทศ ผู้เข้าชมจะได้รับภาพที่ระลึกถือเป็นประสบการณ์จากงานครั้งนี้ที่แสนประทับใจ 

หนอนหนังสือรุ่นใหญ่รุ่นเยาว์สนใจไปช้อปหนังสือ พบปะนักเขียนในดวงใจ หรือร่วมเรียนรู้กิจกรรมและนิทรรศการในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติและเทศกาลหนังสือเด็ก แวะเวียนไปได้ตั้งแต่วันที่ 17-28 ตุลานี้ เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์สิริกิติ์ ที่ๆ คุ้นเคย 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"