รถรับจ้าง-รีสอร์ทค้านถนนคอนกรีตขึ้นเขาพะเนินทุ่ง กระทบอาชีพห่วงสัตว์ป่าตายเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

31 ต.ค.61 - กรณีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศปิดเส้นทางท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่งเพื่อสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตร ยาว 20.5 กิโลเมตรทดแทนถนนเส้นเก่า ซึ่งได้รับการคัดค้านและเกิดเสียงวิจารณ์มากมายถึงความไม่เหมาะสมเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า นายโกศล เย็นจิตร ผู้ประกอบการรถรับจ้างในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทั้งรถรับจ้างและบ้านพักที่อยู่เหนือเขื่อนแก่งกระจานซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับจองจากนักท่องเที่ยวบางส่วนไว้แล้ว แต่จู่ๆอุทยานฯได้ติดป้ายประกาศปิดเส้นทางเพื่อทำถนนคอนกรีต 560 วันนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

"พวกเราไม่ทันรับมือหรือรู้ล่วงหน้ามาก่อนเลย ผมเองก็รับจองล่วงหน้าจากนักท่องเที่ยวไว้หลายราย ส่วนใหญ่เป็นแขกเก่าๆที่เคยมาเที่ยวทุกปี นักท่องเที่ยว 80-90 % ที่มาพักในรีสอร์ทเหนือเขื่อนแก่งกระจาน เขาจะไปเที่ยวชมทะเลหมอก หรือดูนก แล้วอย่างนี้เราจะให้คำตอบเขาอย่างไร ผมคิดว่าอุทยานฯควรชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน ควรแจ้งล่วงหน้าให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมมากกว่านี้”นายโกศล กล่าว

นายโกศลกล่าวว่า ได้รับความเดือดร้อนมากเพราะตนเพิ่งซื้อรถกระบะมาได้ 2 ปีเพื่อใช้ขับรับจ้างพานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติเส้นทางเขาพะเนินทุ่ง โดยตลอด 10 เดือนได้รับจ้างขึ้นๆลงๆบริเวณนี้ บางครั้งก็ขนหินขึ้นไปซ่อมทาง ซึ่งทุกวันนี้ตนยังต้องผ่อนรถ แถมยังมีลูกมีเมียต้องเลี้ยง แต่อุทยานฯกลับประกาศปิดเส้นทางโดยที่ผู้ประกอบการไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน ทำให้ไม่มีรายได้ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็คงต้องปล่อยให้รถถูกยึด

นายโกศล กล่าวอีกว่า ตนขับรถขึ้น-ลงเขาพะเนินทุ่งมาหลายปี จริงๆแล้วไม่มีความจำเป็นต้องสร้างถนนคอนกรีตใหม่ตลอดทั้งสาย เพราะถ้าขับช้าๆอย่างระมัดระวังก็สามารถไปสู่จุดหมายได้ไม่ยาก เพียงแต่ในบางจุดที่พังหรือเสียหายก็ซ่อมแซมกันไป ซึ่งทุกๆปีก็ทำเช่นนั้น และเชื่อว่าหากสร้างเป็นถนนคอนกรีตยิ่งจะทำให้รถวิ่งเร็วและส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า เพราะขนาดถนนเป็นอย่างทุกวันนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวบางรายขับรถเร็วด้วยความคึกคะนองและพยายามแซงคนอื่นอยู่ประจำ

ด้าน ดร.ดุสิต งอประเสริฐ นักวิจัยประจำกลุ่มนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าตนได้วิจัยถึงผลกระทบของการกิจกรรมมนุษย์กับการใช้ชีวิตของเสือดาว บริเวณถนนตั้งแต่ด่านสามยอดจนถึงบ้านกร่างในอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถนนลาดยางโดยพบว่ายิ่งมีความถี่ของการใช้ถนนหรือมีคนใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมากเท่าไร ก็ยิ่งมีผลต่อพฤติกรรมการใช้พื้นที่ดังกล่าวของเสือดาวโดยเสือพยายามหลีกเลี่ยง หากคนเยอะขึ้นก็อาจเลี่ยงไปหากินตอนกลางคืนมากกว่า

“ที่เราวิจัยผ่านเสือดาวเพราะเป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีความไวต่อการรับรู้ ถ้าเสือดาวยังอยู่ในพื้นที่ได้ สัตว์อื่นๆก็น่าจะอยู่ได้”ดร.ดุสิต กล่าว

ดร.ดุสิตกล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตรสู่เขาพะเนินทุ่งต้องขยายถนนเส้นเดิมหรือไม่ แต่หากต้องขยายไหล่ทางเพื่อให้ได้ความกว้าง 4 เมตรก็ทำให้ต้องเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้รอบคอบเพราะสัตว์หลายชนิดก็ไม่ชอบพื้นที่เปิดโล่ง

ทั้งนี้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 เครือข่ายภาคประชาชน ได้รวมกันจัดกิจกรรมปกป้องผืนป่าแก่งกระจาน “ถนนในป่าอนุรักษ์ ความพอดีอยู่ตรงไหน..Road Kills !!”ขึ้นที่บริเวณลานสามเหลี่ยม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีนิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานโดยเฉพาะในพื้นที่ที่โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตสู่เขาพะเนินทุ่ง นอกจากนี้ยังมีการเสวนาสะท้อนมุมมองต่างๆทั้งนักวิจัย นักวิชาการ ช่างภาพ ศิลปินและประชาชน ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป

ขอบคุณภาพจากกลุ่มนักนิยมไพร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"