ไทยมาไกล!จ่อ'ครม.'รองรับสถานะครอบครัว LGBT


เพิ่มเพื่อน    

12 พ.ย.61-โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เปิดวิพากษ์ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … เพื่อรับรองสิทธิในการแต่งงานและการมีชีวิตครอบครัวให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในพันธะกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ 

ทั้งนี้รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ( LGBT)​ เป็นกลุ่มเป้าหมายหลังในแผนสิทธิมนุษยชน เพื่อให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตคู่ร่วมกันโดยมีกฎหมายรองรับ หลังจากการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBT  ในปี 2556 มีการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ มาแล้ว 3 ฉบับ  หลังจากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังต้องจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนใน 4 ภาค โดยภาคกลางจัดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ ที่ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น หลังจากนั้นกรมคุ้มครองสิทธิฯจะรวบรวมและประมวลความเห็นจากการมีส่วนร่วมทั้งหมด รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเวปไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิตให้ครม.พิจารณาภายในเดือนพ.ย.นี้

นายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้ามองตามกระแสโลกจะเห็นชัดว่า การจดทะเบียนคู่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งกลุ่มคนเพศเดียวกัน ระหว่างชายชาย หญิงหญิง หรือชายหญิง แต่ยังมีอีก 70 ประเทศที่ยังห้ามความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน กลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศหรือกลุ่มข้ามเพศควรมีสิทธิการมีครอบครัวและไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ กฎหมายต้องเปิดให้มีสิทธิทางทรัพย์สิน การทำนิติกรรม ซึ่งกฎหมายบางประเทศระบุชัดแต่บางประเทศก็ยังไม่ระบุ หรือในบางประเทศกฎหมายไปไกลถึงการจดทะเบียนสมรส ปัจจุบันมี 30-40 ประเทศมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต ล่าสุดคือไต้หวันและออสเตรเลีย สำหรับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของไทยมีทั้งสิ้น 70 มาตรา แม้ยังมีข้อถกเถียงกันในหลามาตรา ทั้งหน้าที่การอยู่ร่วมกันและการรับมรดก  

“หากร่างกฎหมายเข้าครม.ก็ถือว่ามาได้ไกล ในรายละเอียดยังปรับแก้ได้ในชั้นกฤษฎีกา แม้กฎหมายจะไม่ผ่านออกมาในปีนี้ แต่เชื่อว่าจะผ่านในต้นปีหน้าหรือภายในวาระของรัฐบาลนี้  ส่วนเรื่องการรับบุตรบุญธรรม ประเด็นภาษีและสวัสดิการทางสังคม ยังไม่ได้กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้ เพื่อให้กฎหมายพัฒนาควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจสร้างความยอมรับในสังคม”นายวิทิตกล่าว

น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวว่า  จากการรับฟังความเห็นในการยกร่างกฎหมายพบว่ามีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเห็นด้วยโดยมีมุมมองว่าควรจะมีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาได้แล้ว กลุ่มที่ 2 ไม่เห็นด้วยเพราะไม่สนับสนุนรัฐบาลทหาร จึงไม่ยอมรับกฎหมายทุกประเภทที่จะออกมาในรัฐบาลนี้ และกลุ่มที่ 3 ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการกฎหมายคู่ชีวิตแบบสุดโต่ง คือให้มีผลเทียบเคียงกับการจดทะเบียนสมรส ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯพยายามชี้แจงว่าเป้าหมายของกฎหมายต้องการเดินไปให้ถึงการจดทะเบียนสมรส แต่ขอเดินไปตามลำดับขั้นทีละก้าว ระหว่างนี้ยังต้องขอเวลาให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องปรับตัว ปรับกฎหมาย และมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้และยอมรับจากสาธารณชน ส่วนกลุ่มผู้นำทางศาสนาจากการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้คัดค้านร่างกฎหมาย แต่จะไม่ทำพิธีสมรสให้กับผู้ที่จดทะเบียนคู่ชีวิต 

น.ส.นรีลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่ม LGBT จะมีสัดส่วนประชากรอย่างไรนั้น ยังไม่เคยมีการสำรวจอย่างเป็นทางการ มีเพียงข้อมูลจากสมาคมฟ้าสีรุ้งที่เก็บสถิติจากชายไทยที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เฉพาะผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วพบจำนวนกว่า  1 ล้านคน ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโออ้างว่ามีตัวเลขบุคคลหลากหลายทางเพศสูงถึง 6 ล้านคน ซึ่งไม่ทราบว่านับสถิติจากฐานข้อมูลใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"