รมต.อังกฤษแห่ลาออก ประท้วงร่างดีลเบร็กซิตผ่าน ครม.


เพิ่มเพื่อน    

มรสุมเบร็กซิตถล่มรัฐบาลอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดี รัฐมนตรี 4 คนแห่งลาออกคล้อยหลังคณะรัฐมนตรีผ่านร่างข้อตกลงเบร็กซิตเมื่อวันพุธ รวมถึงโดมินิก ราบ รัฐมนตรีเบร็กซิต ที่ค้านแผนแบ็กสต็อปไอร์แลนด์เหนือ นายกฯ เทเรเซา เมย์ แจงสภาจะหนุนหรือจะออกจากอียูโดยไม่มีดีล หรือไม่ก็ไม่ต้องเบร็กซิตเลย

ภาพจากวิดีโอจากรัฐสภาอังกฤษ นายกฯ เทเรซา เมย์  แถลงต่อสมาชิกสภาสามัญ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 / AFP

    สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ว่าคณะรัฐมนตรีอังกฤษได้อนุมัติร่างข้อตกลงฉบับนี้เมื่อวันพุธ ภายหลังประชุมหารือกันนาน 5 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ ทว่าหลังจากคำแถลงของนายกฯ เมย์ผ่านมาได้ 12 ชั่วโมงเศษ รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของเธอก็ประกาศลาออกตามกันติดๆ ทั้งเอสเธอร์ แม็กเวย์ รัฐมนตรีแรงงานและบำเหน็จบำนาญ ที่สนับสนุนเบร็กซิตแบบแข็งกร้าว และโดมินิก ราบ รัฐมนตรีเบร็กซิต ที่อ้างว่าเขาไม่สามารถสนับสนุนร่างข้อตกลงนี้

    นอกจากนั้น ซูเอลลา เบรฟเวอร์แมน รัฐมนตรีช่วยเบร็กซิต และไชยเลศ วารา รัฐมนตรีช่วยด้านไอร์แลนด์เหนือ ก็ลาออกเช่นกัน

    ราบ เป็นรัฐมนตรีเบร็กซิตคนที่ 2 ที่ลาออกเพราะไม่เห็นด้วยกับแผนเบร็กซิตของเมย์ นักการเมืองหนุ่มวัย 44 ปีผู้นี้เข้ารับตำแหน่งต่อจากเดวิด เดวิส เมื่อเดือนกรกฎาคม บางฝ่ายมองว่าการลาออกของราบทำให้เขาอยู่ในข่ายที่อาจรับตำแหน่งผู้นำต่อจากเมย์

แฟ้มภาพ โดมินิก ราบ รัฐมนตรีเบร็กซิต ขณะออกจากสำนักงานนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 / AFP

    นายกฯ เมย์ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากเดวิด แคเมอรอน ที่ลาออกภายหลังประชามติเบร็กซิตเมื่อปี 2559 ยืนกรานว่า ถึงแม้กระบวนการเจรจาต่อรองนั้นไม่สะดวกสบาย แต่ร่างข้อตกลงนี้เป็นร่างดีที่สุดที่อังกฤษฝากความหวังได้สำหรับการถอนตัวออกจากอียูตามกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2562

    "เส้นทางนั้นชัดเจน เราสามารถเลือกว่าจะถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลง, เราสามารถเสี่ยงที่จะไม่เบร็กซิตเลย หรือเราสามารถเลือกที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันและสนับสนุนข้อตกลงที่ดีที่สุดที่สามารถเจรจาต่อรองได้" นายกฯ เมย์กล่าวต่อสภาเมื่อวันพฤหัสบดี

    ข้อตกลงนี้ครอบคลุมถึงประเด็นสิทธิของพลเมือง, การจัดการทางการเงินของอังกฤษ และแผนสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านภายหลังเบร็กซิต ที่ทั้งฝ่ายอังกฤษและอียูคาดหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุความตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่กันได้ แต่เมย์ยังต้องเผชิญการคัดค้านอย่างแข็งกร้าวจากฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิตแบบหัวชนฝา ที่มองว่าข้อตกลงนี้ยอมอ่อนข้อให้สหภาพยุโรป (อียู) มากเกินไป ส่วนฝ่ายที่นิยมอียูก็ต้องการให้คงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอียู หรือไม่ก็ขอให้จัดการลงประชามติครั้งที่ 2

    พวกผู้นำอียูเตรียมจัดการประชุมสุดยอดวาระพิเศษวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ หากที่ประชุมอนุมัติร่างข้อตกลงฉบับนี้ รัฐสภาของอังกฤษก็จะต้องลงมติภายในต้นเดือนธันวาคม อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้านข้อตกลงนี้อย่างรุนแรงของ ส.ส.หลายคนเพิ่มความวิตกว่า ต่อให้ร่างนี้ได้ข้อสรุปสุดท้ายแล้ว ร่างนี้ก็อาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา

    ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดในร่างข้อตกลงนี้คือแผน "แบ็กสต็อป" ที่จะทำให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในสหภาพศุลกากรของอียูต่อไปจนกว่า 2 ฝ่ายจะบรรลุเอฟทีเอฉบับใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการกำหนดด่านพรมแดนระหว่างประเทศไอร์แลนด์กับดินแดนไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ฝ่ายที่สนับสนุนเบร็กซิตกลัวว่า แผนแบ็กสต็อปนี้จะทำให้อังกฤษตกเป็นรัฐข้าทาสที่ถูกผูกไว้กับอียูอย่างไม่มีกำหนด

    ภายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟแนวทางกลาง-ขวาของเมย์ครองเสียงข้างน้อย เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานที่เป็นแกนหลักของฝ่ายค้าน กล่าวกับเมย์ว่า รัฐบาลของนางต้องยกเลิกข้อตกลงกึ่งสุกกึ่งดิบฉบับนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ข้อตกลงที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประเทศนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"