ทปอ.ไม่ละความพยายาม เล็งขอพบกรรมการ ป.ป.ช.อีกรอบ บอร์ดมหา'ลัย ไม่ต้องแจงทรัพย์สิน


เพิ่มเพื่อน    

 

19พ.ย.61- ทปอ. เตรียมประสานขอเข้าพบคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกรอบ หวังชี้แจงผลกระทบจากประกาศให้นายก-กรรมการสภาฯ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน “สุชัชวีร์” เผยยังไม่มีตัวเลขลาออกชัดเจน คาดรู้หลังจากประชุมสภามหา’ลัย ปลายพ.ย. นี้ แย้ม มหา’ลัยพยายามวิงวอนขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ช่วยต่อ 

 

ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) - ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สถาบันอาชีวศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และ สถาบันวิทยาลัยชุมชน(วชช.) ได้มีการประชุมหารือประเด็นประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน 

 

โดยนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. กล่าวภายหลังหารือว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไปอีก 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ดังนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มกราคม 2562 นั้น ที่ผ่านมา ทปอ.มีการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนับสนุน ป.ป.ช.ในเรื่องที่อธิการบดีและรองอธิการบดีจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจึงอยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ในส่วนของนายกและกรรมการสภาฯ อาจจะส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากนายกและกรรมการสภาฯ หลายคนแสดงความต้องที่จะลาออกจากตำแหน่ง เพราะกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ภายหลังจากการรับตำแหน่ง ซึ่งเหตุผลในการลาออกคงเป็นเรื่องส่วนบุคคล ว่าแต่ละคนจะมีความพร้อมในการยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการปกปิดทรัพย์สินหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตแต่อย่างใด และการหารือครั้งนี้ยังมีกลุ่มสถาบันอาชีวะและวิทยาลัยชุมชนก็ได้รับผลจากประกาศดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ ทปอ.จะประสานขอเข้าพบคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉบับนี้ เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

“ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน ว่า มีการขอลาออกจำนวนเท่าไร แต่คาดว่าจะรู้ตัวเลขที่ชัดเจนหลังจากที่มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยไปแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมีการประชุมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็พยายามวิงวอนขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ช่วยมหาวิทยาลัยต่อไป ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกสภา มรภ.ราชนครินทร์ นั้น ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ขอย้ำว่าอธิการบดี รองอธิการบดี ม.รัฐทุกแห่งพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ”ประธาน ทปอ. กล่าว

 

 

ด้านนายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะปราบปรามการทุจริตภาค 2 กล่าวว่า ตามประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว ได้กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารที่มีตำแหน่งเทียบเท่า อย่างผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษานั้น ตามพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา กำหนดว่าเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่ากับอธิการบดี รวมถึงรองผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาก็เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งกลุ่มน่าจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องยิ่นบัญชีด้วย เช่น นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา 23 แห่ง รวมถึง วชช.ด้วย ดังนั้นผู้บริหารกลุ่มนี้จึงมาคุยกัน และเชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มอาชีวศึกษาจะออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนขึ้น

“ต้องเข้าใจด้วยว่า นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา นั้นจะดูเรื่องทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ รวมถึงการโยกย้ายผู้บริหาร เพราะเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ดูแล ดังนั้นจึงเป็นอีกกรณีที่ ป.ป.ช.จะต้องมาทบทวนด้วย”นายจิตรนรา กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"