ปชช.สับสนวันเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

  โพลชี้ประชาชนสับสนวันเลือกตั้ง หวั่นไม่ได้เข้าคูหาหลังไม่มีการประกาศชัดเจน พร้อมห่วงวิธีการแบ่งเขต ระบุต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อรู้พื้นที่ ขณะที่ กกต.สรุปยอด 42 กลุ่มการเมืองยื่นจัดตั้งพรรค รับรองโดยสมบูรณ์ 27 พรรค พร้อมจ่อรับสมัคร ส.ว.วันแรก 26 พ.ย. ด้าน "วิษณุ" ตีฆ้อง 7 ธ.ค.การันตีได้ความชัดเจนปลดล็อกแน่ๆ รับ กม.บางฉบับติดในชั้น สนช. เสี่ยงไม่ทัน 15 ก.พ.62

    เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,070 คน ระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2561 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยสรุปได้ดังนี้ 1.เรื่องที่ประชาชนสับสนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น อันดับ 1 วันเลือกตั้งที่แน่นอน 63.96% เพราะมีกระแสข่าวว่าจะเลื่อนเลือกตั้ง ยังไม่มีประกาศที่ชัดเจน กังวลว่าจะไม่ได้เลือกตั้ง ฯลฯ, อันดับ 2 การแบ่งเขตเลือกตั้ง 30.08% เพราะจะได้รู้พื้นที่ของตนเอง อยากให้กำหนดอย่างชัดเจน มีความเข้าใจตรงกัน ไม่อยากให้มีปัญหาภายหลัง ฯลฯ, อันดับ 3 พรรคการเมือง/ผู้สมัคร 29.00% เพราะมีพรรคตั้งใหม่จำนวนมาก บางพรรคตั้งชื่อใหม่ ชื่อคล้ายกัน มีผู้สมัครย้ายพรรค คนรุ่นใหม่มากขึ้น ฯลฯ
        2.ประชาชนอยากรู้เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อันดับ 1 วัน เวลา เลือกตั้งที่ชัดเจน/มีสิทธิเลือกตั้งเขตไหน 47.42%, อันดับ 2 ผู้สมัครในแต่ละเขตมีใครบ้าง สังกัดพรรคอะไร 24.48%, อันดับ 3 การได้มาซึ่งตำแหน่งนายกฯ จะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ 20.36%, อันดับ 4 หากสงสัย มีข้อร้องเรียน สามารถติดต่อได้ที่ไหนบ้าง    16.49%, อันดับ 5    การใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน 15.98%
    ขณะที่ข้อ 3 ในผลสำรวจหัวข้อสิ่งที่อยากบอกกับผู้สมัคร ส.ส. ที่ประชาชนอยากจะเลือก ณ วันนี้ คืออันดับ 1 ตั้งใจทำงาน มีจุดยืน เป็นปากเสียงให้กับประชาชน 66.74%, อันดับ 2 รักษาสัญญา อย่าทำให้ผิดหวัง 30.69%, อันดับ 3 ลงพื้นที่หาเสียง ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใส่ร้ายโจมตีกัน 20.17% และ 4.สิ่งที่อยากบอกกับ พรรคการเมือง ที่ประชาชนอยากจะเลือก ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 มีนโยบายทำเพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อประชาชน เน้นพัฒนาประเทศ 59.08%, อันดับ 2 คัดเลือกผู้สมัครที่ดี เหมาะสม และสนับสนุนอย่างเต็มที่ 32.41%, อันดับ 3 ไม่สร้างความขัดแย้ง แข่งขันด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม 23.68%
        ทั้งนี้ ในผลสำรวจความคิดเห็นสุดท้ายคือข้อ 5 ในหัวข้อ สิ่งที่อยากบอกกับ กกต. ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ วันนี้คือ อันดับ 1 ยุติธรรม เป็นกลาง ทำงานอย่างอิสระ ไม่ยอมให้โดนแทรกแซง 70.36%, อันดับ 2 การตรวจสอบต่างๆ ยึดตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด 23.61%, อันดับ 3 ออกมาให้ข่าวที่ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเลือกตั้งอย่างทั่วถึง 22.41%
    วันเดียวกัน มีความคืบหน้าการยื่นคำขอจดแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีกลุ่มการเมืองยื่นคำขอจำนวน 124 กลุ่ม โดยนายทะเบียนออกใบรับรองแจ้งการจัดตั้งพรรค  จำนวน 127 กลุ่ม มีพรรคการเมืองที่ยื่นคำขอจดตั้งพรรคจำนวน 42 พรรค ซึ่งจาก 42 พรรคนั้นมีพรรคการเมืองที่ กกต.มีมติรับรองเป็นพรรคการเมืองแบบสมบูรณ์แล้วจำนวน 27 พรรค อาทิ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคอนาคตใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น ส่วนอีก 15 พรรคการเมืองที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกับทาง กกต.นั้น อยู่ระหว่างขั้นตอนของการตรวจสอบข้อมูลเอกสารและหลักฐานต่างๆ
          ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความพร้อมการเลือก ส.ว.ว่า การเลือก ส.ว.แบ่งเป็น 3 ระดับ โดยวันที่ 26-30 พ.ย. จะเป็นการเปิดรับสมัคร ส.ว.ระดับอำเภอ ซึ่งทางอำเภอก็จะเตรียมสถานที่รับสมัครและเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกกับผู้ที่มาสมัครด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร หรือเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ซึ่งทางสำนักงาน กกต.พร้อมคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกหากติดขัดปัญหาใด ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.นั้น ตนเองได้เน้นย้ำมาตลอดว่าอยากให้ผู้สมัครเตรียมตัวให้พร้อม  อยากให้มาสมัครกันตั้งแต่วันแรกๆ เพราะหากพบปัญหาก็จะได้แก้ไขได้ทัน
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น วันที่ 25 พ.ย. จะเป็นวันสุดท้ายที่สำนักงาน กกต.จังหวัดเปิดรับคำร้อง คำคัดค้านต่างๆ เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อปิดรับแล้วทางสำนักงาน กกต.จังหวัดก็จะต้องนำเสนอให้ทางสำนักงาน กกต.ได้รับทราบ ทั้งนี้ เรื่องการแบ่งเขต ทาง กกต.จะเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว 
    เลขาธิการ กกต.ระบุด้วยว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดวันหารือกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.นั้น เบื้องต้นทางสำนักงาน กกต.ก็จะมีรายงานความพร้อมเกี่ยวกับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ทางที่ประชุมได้รับทราบด้วย
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ คสช.หรือ กกต.อาจจะเป็นผู้เชิญพรรคการเมืองเพื่อหารือกันถึงแผนและแนวทางทางการเมืองตามโรดแมป โดยขณะนี้ตนเองยังไม่สามารถระบุได้ว่าในวันดังกล่าวจะได้ข้อสรุปใดบ้าง แต่ตนเองมีเหตุผลอันควรเชื่อว่า ในวันดังกล่าวน่าจะได้ความชัดเจนในการปลดล็อกแน่ๆ แต่ไม่ทราบว่าจะมีการร่างระเบียบหรือข้อตกลงร่วมกันขึ้นมาหรือไม่ อยู่ที่ คสช.จะพิจารณา 
    นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนร่างกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลอยากผลักดันให้สำเร็จนั้น ขณะนี้มีอยู่หลายฉบับ คาดว่าจะดำเนินการได้ทัน แม้จะมีความเสี่ยงในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะพิจารณาได้เสร็จก่อน 15 ก.พ.62 หรือไม่ ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น บางฉบับพิจารณาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถพิจารณาวาระ 2-3 ได้ เพราะต้องรอฉบับอื่นเพื่อพิจารณาพร้อมกัน 
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในแง่ความพร้อมต่อการจัดการเลือกตั้ง ตนเองคิดว่าน่าเป็นห่วง ยังไม่มีสิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าพร้อมจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ จึงอยากให้กำลังใจ กกต.และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. ในการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งเพื่อคลายความกังวลของประชาชน เพราะหลายเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่
    "ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าคำสั่ง คสช.ที่ 16/61 อาจนำไปสู่การแทรกแซง กกต. ผมคิดว่า กกต.จะไม่ยอมให้ใครแทรกแซงอย่างแน่นอน เชื่อว่า กกต.ทุกคนรู้ว่าต้องยึดหลักความเป็นกลาง สุจริต ไม่เข้าข้างใครเป็นที่ตั้ง เชื่อว่า กกต.จะไม่ยอมให้ใครเข้ามาแทรกแซง แม้ว่าจะมีความพยายามแทรกแซงหรือไม่ก็ตาม" นายสมชัยระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"