โพลชู‘หญิงหน่อย’เฉือน‘บิ๊กตู’


เพิ่มเพื่อน    

  โพลยก "หญิงหน่อย" เฉือน "บิ๊กตู่"!    นายกฯ คนต่อไปที่ประชาชนอยากได้ รองลงมา "ธนาธร-อภิสิทธิ์" หนุนเพื่อไทยแกนนำตั้งรัฐบาล วอนเร่งแก้ปัญหาปากท้อง อยากเห็นบ้านเมืองสงบไม่วุ่นวาย 

         เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 5)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน 
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.67 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่าเบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า และร้อยละ 38.33 ระบุว่าพรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่าๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่
    ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 25.16 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี), อันดับ 3 ร้อยละ 14.52 ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่), อันดับ 4 ร้อยละ 11.67 ระบุว่าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์), อันดับ 5 ร้อยละ 6.90 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย), อันดับ 6 ร้อยละ 5.32 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (หัวหน้าพรรคเพื่อไทย), อันดับ 7 ร้อยละ 4.29 ระบุว่าเป็นนายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี), อันดับ 8 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็นหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย), อันดับ 9 ร้อยละ 1.19 ระบุว่าเป็น นายอุตตม สาวนายน (หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) และอันดับ 10 ร้อยละ 1.11 ระบุว่าเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี)
    เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 31.75 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 19.92 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 3 ร้อยละ 16.98 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 4 ร้อยละ 15.63 ระบุว่าเป็นพรรคอนาคตใหม่, อันดับ 5 ร้อยละ 5.32 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 2.14 ระบุว่าเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา, อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็นพรรคไทยรักษาชาติ, อันดับ 8 ร้อยละ 1.67 ระบุว่าเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.79 ระบุว่าเป็นพรรคพลังชาติไทย
    ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 44.21 ระบุว่า เป็นบุคคลที่มีผลงานประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา ร้อยละ 33.33 ระบุว่าชอบพรรค/นโยบายของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด, ร้อยละ 10.24 ระบุว่าต้องการได้ ส.ส.หน้าใหม่, ร้อยละ 7.94 ระบุว่า ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว (เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นต้น), ร้อยละ 1.75 ระบุว่าต้องการได้นายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด, ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็นอดีต ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่ หรือเป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่, ร้อยละ 0.63 ระบุว่าผู้สมัครสังกัดพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ตนเองไม่ชอบ และร้อยละ 0.55 ระบุว่าผู้สมัครสังกัดพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน
    สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกฯ คนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.13 ระบุว่าปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 28.81 ระบุว่าปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ, ร้อยละ 9.21 ระบุว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล, ร้อยละ 5.08 ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ, ร้อยละ 5.00 ระบุว่าปัญหาการควบคุมราคาสินค้า, ร้อยละ 2.62 ระบุว่าปัญหาการว่างงานและแรงงานนอกระบบ และปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน, ร้อยละ 1.11 ระบุว่าปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค และร้อยละ 1.42 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาด้านการคมนาคม ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบงานราชการ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.71 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะหลายพรรคการเมืองยังไม่พร้อม ไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่บางส่วนระบุว่าเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง เลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 48.81 ระบุว่าเชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วถึงกำหนดการเลือกตั้ง และเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
        วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แก่นแท้ของบ้านเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,156 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา พบว่า
    ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 มีความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงนี้ว่าเป็นเพียงเกมการเมืองเปลือกภายนอก เป็นการแสดง ในขณะที่ ร้อยละ 14.7 ระบุเป็นแก่นแท้ เป็นของจริง และเมื่อถามถึงความรู้สึกต่อภาพที่เห็นการย้ายพรรคของนักการเมือง พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 เฉยๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิต ในขณะที่ร้อยละ 23.9 ตื่นเต้นน่าติดตาม
    ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงแก่นแท้ของบ้านเมืองที่อยากเห็น พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ระบุบ้านเมืองสงบสุขไม่วุ่นวาย ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และร้อยละ 90.9 อยากเห็นประชาชนมีกิน มีใช้ ไม่ขัดสน หลุดพ้นความลำบากยากจน รองลงมาคือร้อยละ 72.5 อยากเห็นผู้คนมีวินัย น้ำใจดี ช่วยเหลือกัน, ร้อยละ 64.7 อยากเห็นความปลอดภัย ช่วยกันดูแล, ร้อยละ 63.1 อยากเห็นคนในชาติมีทัศนคติที่ดี ทำดี, ร้อยละ 60.2 อยากเป็นการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นขาดไม่ได้, ร้อยละ 57.5 อยากเห็นเจ้าหน้าที่รัฐรับใช้ประชาชน คนไทยหวงแหนรักษาสิทธิ และร้อยละ 24.1 ระบุอื่นๆ เช่น ความเด็ดขาดจัดการปัญหา ยึดมั่นวัฒนธรรมประเพณี การย้ายพรรคของนักการเมือง และไม่ซื้อเสียง เลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นต้น
    นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 ยังมีความหวังก้าวต่อ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 รู้สึกกลัวต่อเหตุการณ์จะเกิดขึ้นข้างหน้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"