จี้"สพฐ."ยกเลิก"ใส่คิวอาร์โค้ด"ตำราเรียน


เพิ่มเพื่อน    

                       

     

10ธ.ค.61-นักวิชาการ หวั่น การปล่อยให้นักเรียนใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดในหนังสือเรียน ส่งผลผลเสียมากมาย กระทบต่อเด็กและผู้ปกครอง สร้างความฟุ่มเฟือย สังคมก้มหน้า  เผยผลสำรวจ คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการเรียนรู้เพียง 20% ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเกม เรื่องเพศ ความรุนแรง แนะ สพฐ.ควรคิดทบทวน ว่า ส่งผลเสียต่อเด็กมากแค่ไหน วอน “รมว.ศธ.” พิจารณา

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปล่อยให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ใส่คิวอาร์โค้ด (QR Code) เนื้อหาเพิ่มเติมลงในหนังสือเรียนวิชาต่างๆ ซึ่งนักเรียนต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน และมีเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการสร้างปัญหาทางสังคมตามมามากมาย เป็นภาระให้กับผู้ปกครอง สร้างความฟุ่มเฟือย ส่งเสริมสังคมก้มหน้า และปัญหาอาชญากรรมเด็กนั้น ตนมองว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจหวังดี และให้เกิดความทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยี จนอาจลืมคิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลเสียมากมาย เช่น ไปกระตุ้นให้ผู้ปกครองยิ่งสร้างปัญหาหนี้สิน หรือถ้าผู้ปกครองไม่ซื้อสมาร์ทโฟนให้ เด็กก็จะมีปมด้อย เพราะเพื่อนบางคนมี เกิดปัญหาแบ่งกลุ่มเด็กรวย เด็กจน สร้างความแตกแยก เหลื่อมล้ำ เด็กบางคนอยากได้ก็อาจไปก่ออาชญากรรมลักขโมย 

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการเรียนรู้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 80 ใช้เพื่อเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเกม เรื่องทางเพศ ความรุนแรง แม้แต่กลุ่มเด็กวัย 12-13 ปี ที่นิสิตจุฬาฯลงพื้นที่ทำกิจกรรมบางชุมชนใน กทม. พบข้อมูลว่ามีการรวมกลุ่มกัน 5-6 คน นั่งดูหนังโป๊จากสมาร์ทโฟน วันละ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเด็กๆ วัยนี้ยังไม่มีทักษะแยกแยะเสพสื่อที่ดี ไม่ดี ก็จะยิ่งไปสร้างปัญหาอาชญากรรมในกลุ่มเด็กกว้างขวางขึ้น ทั้งอาชญากรรมทางเพศ ความรุนแรง และยังส่งเสริมสังคมก้มหน้าเร็วขึ้นด้วย ซึ่งในปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส ยังสั่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ไม่ให้นำโทรศัพท์เข้าโรงเรียน เพราะเห็นถึงปัญหาต่างๆ ดังนั้นตนคิดว่า สพฐ.ควรคิดทบทวนให้ดีว่า เรื่องนี้อาจเป็นแค่เทคนิคการแข่งขันธุรกิจของสำนักพิมพ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ส่งผลเสียต่อเด็กมากแค่ไหน ควรสั่งห้ามหรือไม่ อย่างได้ก็ตาม ตนต้องการให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งทำงานได้ดีหลายๆ เรื่อง ได้ลงมาพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ปกครองโดยตรง

 

ด้านนางสุภาวดี จิรภาสพงศา ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า เรื่องนี้แม้จะมีข้อดี คือ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก็มีผลเสียตามมามากเช่นกัน ทำให้เด็กใช้เป็นข้ออ้างเรียกร้องผู้ปกครองให้ซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้ กลายเป็นภาระกับผู้ปกครอง และเมื่อเด็กได้โทรศัพท์ก็คงไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนอย่างเดียว แต่จะใช้เล่นเกม และเสี่ยงกับการเสพสื่อที่เนื้อหาไม่เหมาะสมจำนวนมากในโลกอินเตอร์เน็ต ทั้งความรุนแรง และเรื่องเพศ 

 

"อยากให้ สพฐ.ออกหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ครู เช่น ให้สำนักพิมพ์เลิกใส่คิวอาร์โค้ดในหนังสือเรียนเด็ก ให้ใส่ในหนังสือคู่มือครูแทน เพื่อให้ครูได้คัดกรองเนื้อหาในคิวอาร์โค้ดก่อนจะสอนเด็กว่า ถูกต้องหรือไม่ ดีกว่าไปเปิดกว้างให้เด็กวัยนี้ใช้สมาร์ทโฟน สุ่มเสี่ยงกับการสร้างปัญหาต่างๆ ตามมา"นางสุภาวดี กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"