นักโทษทางภูมิศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    

 

                                            (1)

                เผอิญช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา...พรรคพวกที่รักและห่วงใย เขาได้มอบของขวัญปีใหม่เป็นหนังสือให้ 2 เล่ม แต่เป็นภาษาปะกิตล้วนๆ ซึ่งออกจะยากซ์ซ์ซ์เอามากๆ กับการเคี้ยว การย่อย แต่ก็นั่นแหละ...เพื่อเป็นการ ฉลองศรัทธา ของพรรคพวก เลยต้องลากของขวัญดังกล่าวเอาไปอ่านในห้องน้ำตอนเช้าๆ ซึ่งก็พอได้ความสุข สดชื่น ความสวัสดีปีใหม่ตามสมควร...

                                                    (2)

                เล่มที่กำลังอ่านไปได้แล้วเกือบครึ่งเล่ม...ก็คือเรื่อง Prisoners of Geography หรือประมาณ นักโทษทางภูมิศาสตร์ อะไรทำนองนั้น คือเป็นเรื่องราวของการนำเอาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศสำคัญๆ ประมาณ 10 ประเทศบนโลกใบนี้ มาใช้เป็นตัวตอบคำถาม อธิบายถึงความตื้น-ลึก-หนา-บางในการกำหนดนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดไปจนถึงลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของแต่ละประเทศ ได้อย่างน่าทึ่ง น่าประทับใจเอามากๆ โดยสำนวน ลีลา และมุมมองของนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ อย่างนาย ทิม มาร์แชล (Tim Marshall) ที่ค่อนข้างเฉียบขาด เฉียบคม มิใช่น้อย...

                                                     (3)

                อย่างการหยิบเอาแผนที่ เอาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศ รัสเซีย มาวางขึง แล้วค่อยๆ ตีความไปตั้งแต่ยุคที่บรรดาชาวสลาฟเพิ่งเริ่มก่อตั้ง อาณาจักรเคียฟ โน่นเลย ไล่จนมาถึงยุค อีวานผู้เหี้ยมโหด ยุค ปีเตอร์มหาราช ไปจนยุคพระจักรพรรดินี แคทเธอรีนมหาราช ที่สามารถนำเอามาอธิบายได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืน ว่าเหตุใดนโยบาย วิเทโศบายของประเทศรัสเซียในยุคกษัตริย์ ศักดินา อย่างบรรดา พระเจ้าซาร์ ทั้งหลาย จึงไม่ได้ผิดแผก แตกต่าง ไปจากยุคคอมมิวนิสต์ หรือยุค สหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่มี เลนิน, ทรอสตกี้ หรือ สตาลิน กลายสภาพมาเป็น พระเจ้าซาร์องค์ใหม่ เหมือนอย่างคำเรียกที่นักเขียนรัสเซีย บอริส พาสเตอร์แนค ว่าเอาไว้ในนิยายเรื่อง ดร.ชิวาโก อะไรประมาณนั้น...

                                                  (4)

                ภายใต้ความใหญ่โต มโหฬาร ของอาณาจักรแห่งนี้ ที่อาจถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วย ลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์ อันทำให้พื้นที่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ อยู่ลึกเข้ามาในเอเชีย หรืออยู่หลังเทือกเขาอูราล แต่ดันเป็นพื้นที่ที่มีประชากรชาวรัสเซียอาศัยอยู่เพียงแค่ 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่พื้นที่อีก 25 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ล้ำเข้าไปในยุโรป กลับดันมีจำนวนประชากรชาวรัสเซียอาศัยอยู่ถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นประเทศ ยูเรเชีย ของรัสเซีย เลยต้องหนักไปทางฝรั่ง หรือหนักไปทางยุโรปมาโดยตลอด แถมยังออกไปทาง ฝรั่งช้า หรือฝรั่งที่มีลักษณะอุปนิสัยคล้ายๆ หมี ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที คือบางครั้งก็ดุ ก็ออกอาการฉุนฉิวกริ้วโกรธเอาง่ายๆ แต่บางครา ก็พร้อมจะนอนหลับจำศีล เซื่องๆ หงอยๆ ไปตามสภาพ...

                                                   (5)

                ด้วย ลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์ อย่างที่ว่าเอาไว้นั่นเอง ที่ทำให้นาย ทิม มาร์แชล แกหยิบเอามาใช้เป็นคำตอบ คำอธิบาย ถึงทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิเทโศบายด้านการต่างประเทศ ของประเทศรัสเซียตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน-และอนาคต ได้อย่างน่าสนใจเอามากๆ แม้แต่เรื่องการผนวกดินแดน ไครเมีย เอาไว้ครอบครอง ที่ทำให้เกิดการ แซงชั่น รัสเซียของคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรยุโรปอยู่จนทุกวันนี้ ไปจนถึงเรื่องโครงการท่อส่งแก๊สที่ยาวที่สุดในโลก อย่างโครงการ Nord Stream 1-2 ก็ถูกนำมาไล่เรียงเอาไว้หมด และก็ออกจะมี น้ำหนัก ของความมีเหตุ มีผล รองรับ เอาไว้ตามสมควร...

                                                      (6)

                ส่วนเรื่องลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดินแดนมังกร หรือประเทศจีนนั้น กำลังอ่านไปได้แล้วกว่าค่อนเรื่อง ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากรัสเซียมากมายซักเท่าไหร่นัก คือด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์นั่นเอง ที่เป็นตัวทำให้อาณาจักรจีนตั้งแต่สมัย จิ๋นซีฮ่องเต้ มาจนถึงสมัยจักรพรรดิแดง อย่าง เหมา เจ๋อตง เลยไม่ได้ผิดแผก แตกต่าง ไปจากกันซักเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งทำให้โครงการ One Belt, One Road ของท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในทุกวันนี้ ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายไม่ต่างไปจากโครงการสำรวจทางทะเลของ แม่ทัพเจิ้ง เหอ ในยุคราชวงศ์หมิงโน่นเลย ส่วนจะมีผลสรุปออกมาในแบบไหน อย่างไร เอาไว้อ่านจบค่อยมาเล่าให้ฟังกันอีกเที่ยว...

                                                       (7)

                แต่โดยสรุปรวมความแล้ว...สิ่งที่น่าคิด สะกิดใจ ของการใช้มุมมองทำนองนี้เข้ามาจับ หรือมาเป็นตัววิเคราะห์ สังเคราะห์ ถึงความเป็นไปของประเทศ ของบ้านเมืองในแต่ละแห่ง แต่ละที่ อาจเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า...ยังน่าจะมีอะไรที่นอกเหนือไปจากเรื่องของระบบการเมือง การปกครอง เรื่องของความเป็นรัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลใด ที่ผ่านมาก็ผ่านไป ไม่ต่างไปจากฝุ่นธุลีที่ปลิวไปปลิวมาตามกระแสลม ทำนองนั้น แต่ตราบใดที่ขุนเขา ทุ่งราบ แม่น้ำ ลำธาร ท้องทะเล ฯลฯ ของแต่ละประเทศ ยังคงดำรงอยู่ตามลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ความเป็นรัฐ ความเป็นประเทศ หรือ ความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน นั่นเอง ที่ยังต้องกลายมาเป็นตัวกำหนดแทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของประเทศนั้นๆ ต่อไป อย่างมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ...

                           --------------------------------------------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"