พรรคประชาชาติ ในศึกเลือกตั้ง 24 มี.ค.


เพิ่มเพื่อน    

 สแกนสนามเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้

                หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ทำให้นับจากนี้ทุกพรรคการเมืองต่างต้องเร่งเครื่องหาเสียงอย่างเต็มที่

พรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ซึ่งอยู่ในวงการการเมืองมาหลายสิบปี ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมานับไม่ถ้วน เช่น ประธานรัฐสภา, รองนายกรัฐมนตรี, รมว.มหาดไทย, รมว.คมนาคม, รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.ยะลาหลายสมัย

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำความพร้อมในการนำพาพรรคสู้ศึกเลือกตั้งว่า หลังจากมีการเปิดตัวพรรคตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ซึ่งในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้พรรคมีความพร้อมเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาพรรคได้เตรียมผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ จนถึงเวลานี้คืบหน้า เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยการส่งคนลงสมัคร ส.ส.ได้ดำเนินการตามความเหมาะสมและศักยภาพในฐานะพรรคขนาดกลางๆ โดยจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศประมาณ 216 เขตจาก 350 เขต ซึ่งทุกคนพรรคคัดคนที่มีคุณภาพ ไม่ได้คิดแค่ว่าจะส่งเพื่อไปหวังคะแนน 1-2 พันคะแนน เราไม่อยากได้แบบนี้ อย่างเช่นระบบบัญชีรายชื่อก็อาจส่งไม่ครบ 150 ชื่อก็ได้ เพราะไม่อยากส่งคนที่ประชาชนตั้งคำถามว่าเป็นใครมาจากไหนไม่รู้จัก ดังนั้นจะคัดคนที่ประชาชนรู้จัก มีผลงานและได้ช่วยงานพรรคมาตลอด

...สำหรับพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ พรรคประชาชาติที่ให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจ การแก้ปัญหาจราจร การจัดรูปแบบผังเมือง จึงจะส่งผู้สมัครเต็มทุกเขตใน กทม.เพื่อให้ผู้สมัครได้สัมผัสกับประชาชนในเขตต่างๆ จะได้รู้ปัญหาแล้วนำมาสะท้อนให้พรรครู้ จะได้เป็นข้อมูลไว้สำหรับการแก้ปัญหากรุงเทพมหานคร

สแกน 11 ที่นั่ง- 3 จว.ชายแดนใต้

ทั้งนี้พรรคประชาชาติถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีโอกาสสูงจะได้ ส.ส.เขตหลายคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส ที่มี ส.ส.เขตรวม 11 ที่นั่ง 

เรื่องดังกล่าว หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า จากการที่พรรคได้ทำโพลก็พบว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คะแนนของพรรคและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคนำหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ จากโพลพบว่าพรรคได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งเรื่องนโยบายพรรคที่ประชาชนสัมผัสได้  เพราะตอนเริ่มทำนโยบายพรรค ก็ได้นำประชาชนมาร่วมแสดงความเห็นในเรื่องนโยบายต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายางพารา ปัญหาการทำประมง ปัญหาการศึกษา ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่  โดยได้ไปสัมผัสกับประชาชนในทุกภาคส่วน ทำให้ยืนยันได้ว่าทุกโพลที่ไปสัมผัสในเวลานี้ คะแนนพรรคและผู้สมัครพรรคประชาชาตินำอยู่

ใน 11 เขต เกือบทุกโพลพบว่าเราจะได้มากกว่า 7 คน แต่ก็ต้องพยายามต่อไป อยากให้ได้  8-10 คน” หัวพน้าพรรคประชาชาติระบุ

 วันมูหะมัดนอร์ มะทา-หัวหน้าพรรคประชาชาติ เอกซเรย์พื้นที่เลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไล่ไปทีละจังหวัด เริ่มจาก ยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน โดยย้ำว่าถึงเวลานี้พบว่าจาก 3 เขตเลือกตั้งในยะลา คะแนนเสียงของพรรคประชาชาตินำในสองเขตเลือกตั้ง ส่วนอีกหนึ่งเขตคะแนนค่อนข้างสูสี ถ้าพรรคใช้ความพยายามทำงานให้หนักขึ้นก็อาจชนะได้ ส.ส.ทั้งสามเขตเลย ซึ่งเขตที่สูสีอยู่คือเขต 1 ที่อยู่ในอำเภอเมืองยะลา อันเป็นเขตเลือกตั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอดีต ส.ส.เดิมคือ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ รอบนี้มีข่าวว่าเขาอาจส่งลูกชายลงสมัคร ซึ่งถึงเวลาพรรคประชาชาติอาจชนะทั้งหมดก็ได้ เพราะพรรคทำงานมา 5-6 เดือนแล้วก่อนจัดตั้งพรรค ทำให้มั่นใจ แต่ก็ไม่ได้ประมาท ผู้สมัครจึงลงพื้นที่ทุกวัน

ถัดมาที่จังหวัด ปัตตานี ทาง หัวหน้าพรรคประชาชาติ วิเคราะห์ว่า มีพื้นที่เลือกตั้งรวม 4 เขต ถึงขณะนี้ชัดเจนว่าพรรคประชาชาตินำอยู่สองเขตเลือกตั้ง และสูสีอีกหนึ่งเขต และตามอีกหนึ่งเขต แต่ถ้าเราทำงานกันหนักก็อาจมาได้สามเขต เพราะเขตที่คะแนนยังตามอยู่ สุดท้ายก็อาจนำได้เพราะยังเหลือเวลาอีกสองเดือน

สำหรับ นราธิวาส ซึ่งมี 4 เขตเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ประเมินว่า เขตที่ 1 ถึงขณะนี้ คะแนนพบว่าสูสีกันอยู่ โดยเป็นการสู้กันของสามพรรคคือ ประชาธิปัตย์ ประชาชาติ และพลังประชารัฐ  โดยผู้สมัครเขต 1 ของพรรคเป็นอดีตประธานสภาจังหวัดนราธิวาส (มาหะมะรอปี เจ๊ะแว) พบว่าคะแนนดี ส่วนเขต 2 ก็สู้กันระหว่างพรรคประชาชาชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ส่วนเขตที่ 3 ก่อนหน้านี้นายกูเฮง ยาวอหะซัน เดิมอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา แข่งกับนัจมุดดีน อูมา ที่รอบที่แล้วอยู่เพื่อไทย แต่คราวนี้ทั้งสองคนมาอยู่พรรคประชาชาติด้วยกัน ก็เรียกได้ว่ารวมคะแนนกันเลย เช่นเดิมได้คนละ 3 หมื่นมารวมกันก็ควรได้ 5 หมื่น หลังทั้งสองคนมาอยู่ที่พรรคประชาชาติด้วยกัน โดยเขตดังกล่าวพรรคแข่งกับประชาธิปัตย์ แต่รอบนี้อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (รำรี มามะ) ย้ายจากประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็อาจทำให้คะแนนของพรรคอาจไม่มา คะแนนอาจลดลง เขตนี้เราชัวร์มาก

ส่วนเขต 4 นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.หลายสมัยของประชาธิปัตย์ย้ายไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในครั้งนี้พรรคประชาชาติเราส่งผู้สมัครคนที่เคยเป็นตัวเต็งตลอด ครั้งที่แล้วเขาอยู่พรรคเพื่อแผ่นดินแพ้แค่ร้อยกว่าคะแนน แต่คราวนี้มาอยู่กับพรรคประชาชาติก็ทำงานมากขึ้น โดยหลังเจะอามิง โตะตาหยงออกไป พรรคประชาธิปัตย์ก็นำผู้สมัครใหม่มาลงแทน แต่เขตนี้จริงๆ พรรคประชาชาติ แข่งกับพรรคภูมิใจไทย

-การลงคะแนนเสียงของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ตัดสินใจจากอะไร ระหว่างตัวบุคคล พรรคต้นสังกัด หรือนโยบาย?

 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเลือกของประชาชนก็มีทั้งเรื่องผู้สมัคร พรรคการเมือง และนโยบาย แต่ก็เพิ่มเรื่องหัวหน้าพรรคไปด้วย เพราะหัวหน้าพรรคประชาชาติอยู่ในพื้นที่ คือก็มีทั้งเลือกตัวบุคคล พรรคที่ชอบ และหัวหน้าพรรคที่เป็นคนในพื้นที่ ก็มีกระแสนี้ คือเลือกพรรคของพวกเรา เลือกคนที่เราชอบ โดยภาพรวมในพื้นที่หลักๆ ก็แข่งกันระหว่างพรรคประชาชาติ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ส่วนพลังประชารัฐก็ไม่อยากพูดถึงเขา แต่มองว่าไม่เด่นพอ เพราะคนก็มองว่าเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งคนในพื้นที่จังหวัดไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่หลักๆ ก็คือประชาชาติสู้กับ ปชป. โดยมีภูมิใจไทย แซมมา

ส่วนสตูลเป็นพื้นที่ซึ่งเราสู้กับ ปชป.และภูมิใจไทย ก็ยังสูสี ยังไม่รู้ใครจะได้หรือใครจะตาม สู้กันสูสีมาก ยังไม่มีใครนำมาก

-สภาพการแข่งขันในพื้นที่รุนแรงหรือไม่ มีการใช้อำนาจรัฐ มีทหารมาบล็อกหรือไม่?

ตอนนี้การใช้อำนาจรัฐก็เริ่มจะมี พรรคการเมืองบางพรรคก็ใช้พลังของเงินในการที่จะไปซื้อหัวคะแนนอะไรต่อมิอะไร ก็เป็นเรื่องต้องให้ข้อสังเกต กกต.น่าจะต้องไปติดตาม เพราะการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงินเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พรรคก็หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ กกต.มีเครื่องมือต่างๆ เช่นกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้อำนาจ กกต.เยอะ มีอำนาจมากกว่าเดิม เช่นใบส้มกับผู้สมัคร กฎหมายคราวนี้แรง คดีอาญามีโทษจำคุก 10-20 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้อำนาจ จะใช้อำนาจอย่างเสมอภาคและจริงจังขนาดไหน ถ้า กกต.ที่เป็นกรรมการปล่อยเลยตามเลยแบบสมัยก่อน การเมืองก็ไม่สามารถพัฒนาปฏิรูปได้ ผมอยู่ในการเมืองมานานก็เห็นว่าถ้าเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็จะทำให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งดีตามไปด้วย เพราะถ้าเลือกตั้งโดยไม่ต้องใช้เงิน เป็นเรื่องกระแสประชาชนจริงๆ ก็ไม่ต้องมาถอนทุนเมื่อมาเป็นรัฐบาล

-ในพื้นที่เริ่มมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลางหรือไม่?

ในด้านเจ้าหน้าที่ไปใช้อำนาจหน้าที่หรือเข้าข้างยังไม่ชัดเจน ก็มีฝ่ายที่อยู่ส่วนกลางสั่งลูกน้องไป ให้ช่วยฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แล้วก็เริ่มพูดจากับผู้นำท้องถิ่นว่าถ้าไม่ช่วยรัฐบาลแล้วจะเดือดร้อน อะไรทำนองนี้ เริ่มมี ก็มีหลายคนมาบอก แต่ว่าเมื่อยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง กกต.ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง กกต.ยังไม่มีอำนาจที่จะไปจัดการ ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็กลายเป็นว่าทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายอาญา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

ถามย้ำว่าเป็นห่วงหรือไม่ เพราะใน 3 จังหวัดมีทหารลงไปดูแลความสงบในพื้นที่เยอะ หากตอนเลือกตั้งเกิดการเอนเอียง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่าใช่ ถ้าทหารไม่วางตัวให้เป็นกลาง ซึ่งแท้จริงคนที่จะเสียก็คือทหารเอง เพราะทหารคือคนที่ประชาชนหวังว่าจะเป็นผู้ป้องกันประเทศ ไม่ใช่ผู้ป้องกันผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมือง หรือไปปกป้องพรรคการเมืองต่างๆ มันก็จะเสียเครดิตทหาร เราอยากให้ทหารเป็นที่ยกย่องของประชาชนว่าทหารคือรั้วของชาติ ทหารของประชาชน เพราะฉะนั้นทหารต้องวางตัวเป็นกลาง

...หากทหารถูกใช้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง ความเสื่อมก็ตกอยู่กับทหาร ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชาไม่ควรนำทหารมาเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง ทำให้ทหารเสียเกียรติ เพราะทหารคือผู้มีเกียรติ คือทหารของประชาชน ไม่อยากให้ลดต่ำลงมาเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง  พรรคการเมืองเขาสู้ก็สู้กันไป ทหารก็ต้องเป็นกลาง หากทหารชอบใคร เวลาเลือกตั้งก็เข้าคูหาไปกาบัตร แต่ไม่ควรที่จะประเภทนายสั่ง หรือว่าต้องช่วยรัฐบาลเพราะรัฐบาลให้เงินเดือน แบบนี้มันผิด เพราะทหารคือทหารของประชาชน ได้เงินเดือนจากภาษีของประชาชน

-พบความผิดปกติบ้างหรือยังสำหรับทหารที่เข้าไปในพื้นที่?

ทหารในพื้นที่ยังไม่ขยับอะไรมาก แต่อดีตนายทหารที่เป็นอดีตแม่ทัพ อดีตผู้บังคับบัญชาทหาร สนช.บ้าง ลงพื้นที่แล้วก็ใช้ความเป็นทหารเก่า ใช้ความเป็นผู้บังคับบัญชาไปสั่งการ ซึ่งทำให้คนปฏิบัติหน้าที่อยู่ลำบากใจมาก ผู้บังคับบัญชาเก่า ผู้หลักผู้ใหญ่เก่า เป็น สนช.ไม่ได้ไปธรรมดา ไม่ใช่สั่งธรรมดา  ยังเอาเงินทองให้ด้วย

-กังวลหรือไม่ หากไม่มีใครทำตามจะมีการเล่นนอกเกมโดยนำเรื่องความมั่นคงมาอ้าง?

ตอนนี้เราก็เพียงแต่ติดตามดู แต่ยังไม่สามารถบอกชัดเจนได้ว่ามีการคุกคามทางด้านการเมืองเกิดขึ้น เราหวังว่าจะไมมี แต่แนวโน้มไม่แน่ หากว่าผู้บังคับบัญชาไม่ระลึกถึงว่าทหารมีหน้าที่ทำอะไร

-เห็นความเคลื่อนไหวพวก สนช.-อดีตแม่ทัพลงพื้นที่ผิดปกติ?

ลงพื้นที่มี เขาก็อ้างว่าต้องมาช่วยนาย เพราะว่าถ้าช่วยได้ ถ้าชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เขาจะได้รางวัลเป็น ส.ว. ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ต่อรอง ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาต่อรองว่าถ้าได้ ส.ส.กี่คนแล้วคุณจะได้เป็น ส.ว. ซึ่งทำให้มันเป็นเรื่องเลวร้าย มะเร็งทางการเมืองที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่มาต่อรอง ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม  แต่ผมคิดว่าเขาอาจจะคิดดูถูกประชาชน คิดว่าประชาชนสั่งได้ แต่ความจริงในยุคนี้ประชาชนเขาฉลาด  เขาอาจพยักหน้าเฉยๆ แต่เวลาเข้าไปกาบัตรเลือกตั้ง เขาคงออกเสียงตามความต้องการของเขา เพราะช่วงห้าปีที่ผ่านมาประชาชนเขารู้แล้วว่าเขาเสียอะไร เขาได้อะไร

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ทัศนะว่า บทเรียนเลือกตั้งที่มาเลเซียเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่ฝ่ายค้านเวลานั้นชนะรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลมี power เยอะ พรรคอัมโนเป็นรัฐบาลมาหลายปี แล้วก็ให้ประชานิยมเช่นขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ให้เกษตรกรได้ปุ๋ยฟรี แต่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลให้เขาก็จริง แต่รัฐบาลคอร์รัปชันแล้วเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าของเงินมาเลเซียตกลง คนมาเลเซียจนกว่าเดิม พอเลือกตั้งก็ไม่เอารัฐบาลจนแพ้

เพราะฉะนั้นรัฐบาลของประเทศไทย คนที่มีอำนาจในประเทศไทยควรจะดูบทเรียนของประเทศมาเลเซียให้ดี

 ...ตอนนี้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เขาเดือดร้อนมาก เพราะราคายางตอนนี้ 4-5 กิโล ขายได้ 100 บาท ไม่น่าเชื่อ ชาวบ้านกรีดยางไม่พอกินแต่ละมื้อ ประชาชนเดือดร้อนมาก จากปัญหาเรื่องยาง ปาล์ม และการทำประมง ที่เป็นเศรษฐกิจหลักของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อรายได้ลดลงกว่าเดิม 2-3 เท่า  แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เขาลำบาก

ผมจึงคิดว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียและพม่า ก็ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อใด ประชาชนก็จะใช้อำนาจของเขา แล้วบอกว่าเขาต้องการอะไร ความเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดขึ้น” หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าวอย่างเชื่อมั่น

ถามถึงว่า มหาเธร์โมเดล-ผลเลือกตั้งที่มาเลเซีย น่าจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ ที่ประชาชนจะเทเสียงไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล หัวหน้าพรรคประชาชาติ วิเคราะห์ว่าเชื่ออย่างนั้น เพราะผมดูรอบๆ บ้านเราแล้ว คนไทยตอนนี้พวกสื่อต่างๆ ก็เยอะ ขนาดยังไม่ลงหาเสียงเลือกตั้ง  เวลาฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลพูด สื่อต่างๆ ก็เสนอกันมาก แต่ถ้าถึงเวลาเลือกตั้ง ปลดล็อกเมื่อใด ข้อมูลข่าวสารที่พรรคการเมืองต่างๆ จะพูดออกมาจะมีมาก ผมคิดว่าคนเป็นรัฐบาลมาห้าปีก็ต้องมีข้อบกพร่องมาก ผมยังคิดว่ารัฐบาลยังเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะโดยปกติที่ผ่านมาในการเลือกตั้ง เวลามีรัฐประหารผ่านไปสัก 2-3 ปี หรือ 4-5 ปีแล้วมีเลือกตั้ง ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามจะชนะถล่มทลาย ยกเว้นว่าโกง แต่ถ้าโกงก็ไปไม่รอด ซึ่งครั้งนี้ผมก็ยังไม่รู้ แต่ก็คิดว่าน่าจะแพ้มากกว่าเดิมอีก แต่รัฐบาลเขาฉลาดก็ใช้วิธีเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง ส.ว. 250 คนที่มาจาก คสช.เข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ทำให้การโหวตเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ซึ่งถ้าได้มาอีก 126 เสียงก็ชนะ แต่เวลารัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศที่ใช้เสียงแค่ ส.ส.อย่างเดียว เมื่อเจอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.-การตอบกระทู้ถามอะไรต่างๆ แม้จะชนะในการโหวตได้นายกฯ แต่ถ้าไม่ชนะในสภา มีเสียงไม่ถึง 250 เสียง รัฐบาลก็บริหารไม่ได้

ตรงนี้คือจุดวิกฤติหลังเลือกตั้ง คือโหวตได้นายกฯ แต่บริหารประเทศไม่ได้ แต่หากรัฐบาลหลังเลือกตั้งชนะทั้งโหวตนายกฯ และมีเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ผมดูแล้ว มันยากที่เขาจะได้เกิน 250 เสียง

ฝ่ายไม่เอา คสช.ได้ 280 เสียงขึ้น

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ความเห็นว่า พรรคการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย, ไทยรักษาชาติ, ประชาชาติ, เพื่อชาติ, อนาคตใหม่, พรรคเสรีรวมไทย พรรคต่างๆ เหล่านี้ประเมินแล้วน่าจะได้ ส.ส.เกิน 280 ที่นั่งขึ้นไป

....อย่างพรรคเพื่อไทยเดิมมี 265 เสียง เมื่อแตกออกไปยังไงก็น่าจะได้ ส.ส.ระดับ 200 เสียง แล้วพรรคที่แตกจากเขาไปเช่นไทยรักษาชาติ เอาว่าไม่ต้องมากยังไงก็ 30 เสียงได้ หรือพรรคอนาคตใหม่ก็น่าจะได้ 30-40 เสียง ขณะที่พรรคประชาชาติก็น่าจะได้ 15-20 เสียง หรือพรรคเสรีรวมไทยอาจได้ 15-20 เสียง รวมถึงพรรคเพื่อชาติน่าจะได้ 15-20 เสียง ก็เกือบ 300 เสียงแล้ว เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แน่บางพรรคหากกระแสมาแรงๆ ก็อาจได้มากกว่านี้ ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ผมก็คิดว่าจะมาเยอะ

...ส่วนอีกฝ่ายคือ ทางโน้นหากเขาได้เต็มที่ 200 เสียง แม้ต่อให้ฝ่ายนี้ไปโหวตจนได้นายกฯ แต่เขาได้ไม่เกิน 250 เสียง แล้วพอเอาจริงๆ หากฝ่ายแรกได้เสียงถึงระดับ 300 เสียงเมื่อใด พวกพรรคอื่นๆ  เขาก็ต้องเลือกแล้วว่าจะไปอยู่กับฝ่ายที่โหวตได้นายกฯ แต่เสียง ส.ส.ในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่อาจจะอยู่ได้ไม่นาน กับอีกทางคือเลือกมาอยู่ฝ่ายแรกที่ได้เกิน 250 เสียง ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้ยังไงก็ไม่กล้าหรอก  เพราะจะไปอยู่ทำไม อยู่แค่ 6 เดือนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถามกระทู้ต่างๆ หรือเวลาพิจารณากฎหมายต่างๆ เช่นงบประมาณ ผมว่าลำบาก

...อย่างพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ไม่อยากวิจารณ์มาก ก็อาจได้จำนวนหนึ่งแต่คงไม่มาก ส่วนหากพลเอกประยุทธ์จะไปลงในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ดูแล้วก็คงได้เท่าเดิม เพราะปัจจุบันก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ดูแล้วหาเสียงยาก ผมว่าต่ำกว่าร้อย ผมคิดว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เยอะกว่ากัน สูสี ผมว่าประชาธิปัตย์ก็ต่ำร้อย ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็คงได้น้อย

ถามถึงว่าหากพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ยังเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช.อยู่ จะมีผลอะไรหรือไม่ในช่วงเลือกตั้งต่อจากนี้ อดีตประธานรัฐสภา มองว่า หากเป็นแคนดิเดตนายกฯ และยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนายก คือกฎหมายก็ไม่ได้ห้าม แต่เขาก็ย่อมได้เปรียบ แล้วในอดีตคนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นนายกฯ อยู่ก็ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ แต่ครั้งนี้ที่แตกต่างคือหากมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้วอำนาจจะลดลง เช่นโยกย้ายข้าราชการประจำไม่ได้ หากจะทำต้องให้ กกต.พิจารณา เป็นนายกฯ รักษาการเพื่อให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กติกาตาม รธน.ครั้งนี้ให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมปกติ มีอำนาจในการโยกย้ายข้าราชการ มีอำนาจการเสนองบประมาณ โยกงบประมาณได้ตามสบาย เป็นข้อได้เปรียบของนายกฯ ประยุทธ์ แต่ผมก็ไม่ค่อยติดใจอะไร ขอให้เขาทำหน้าที่เป็นนายกฯ แล้วอย่าไปฉ้อโกงใช้อำนาจผิดๆ เพราะถ้าทำประชาชนเห็นเขาก็จะเสื่อมเอง ก็ควรใช้อำนาจไปตามปกติ อย่าไปใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพรรคการเมือง ต้องเคารพกฎหมายไม่ทำอะไรให้เสียหายแก่ประเทศชาติ

เตือนงูเห่าหลังโหวตนายกฯ  ฆ่าตัวตายทางการเมือง

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ อดีตประธานรัฐสภา วิเคราะห์การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตด้วยว่า การโหวตที่ต้องโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ใครที่รวบรวมเสียงสมาชิกรัฐสภาได้ 376 เสียงขึ้นไป คนนั้นก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อันนั้นก็จบไปตอนหนึ่ง  แล้วนายกฯ ก็ไปตั้งรัฐบาล ตั้ง ครม. แต่การจะไปดึงฝ่ายที่อยู่ประชาธิปไตยไปหรือไม่-ไม่รู้ แต่ผมดูแล้วคงดึงยากเพราะหากไปก็เสียหลักการ แต่กับพวกอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ผมก็ไม่อยากไปวิจารณ์  แต่ผมว่าก็ 50-50 แต่ถ้าไม่ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงก็อย่างที่บอก บริหารประเทศไปก็เจอวิกฤติ เป็นนายกฯ ได้แต่บริหารประเทศไม่ได้ จะบริหารได้ต้องได้ ส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง

-จะเกิดงูเห่าหลังโหวตนายกฯ เพื่อดึง ส.ส.ให้ย้ายมาอยู่หรือไม่?

ไม่อยากไปดูถูกดูแคลน ถ้ามีเหตุการณ์แบบนั้นเขาก็ฆ่าตัวของเขาเอง หลายคนที่เป็นงูเห่าพอเลือกตั้งครั้งต่อไปก็แพ้ภัยตัวเอง ยิ่งตอนนี้สื่อต่างๆ มากขึ้น คือลำบากมากขึ้น แม้กฎหมายไม่ได้ห้าม เวลาไปโหวตเลือกนายกฯ แล้วฝ่าฝืนมติพรรคจะถูกไล่ออก คือกฎหมายพรรคการเมืองให้อิสระ ส.ส.ในทางการเมือง เราไม่สามารถทำนายได้ชัดเจน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเฝ้ามอง

หัวหน้าพรรคประชาชาติ เล่าเหตุการณ์ในอดีตที่เคยมี งูเห่าการเมือง-ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ว่าสมัยผมเป็นประธานรัฐสภา (ช่วงปี 2540) ตอนนั้นเกิดกรณีงูเห่าขึ้น เพราะตอนนั้นมีสองชื่อ คือคุณชวน หลีกภัย ที่ฝ่ายค้านตอนนั้นสนับสนุน กับพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ซีกรัฐบาลเวลานั้น สนับสนุน ผมก็ไม่มีทางเลือกเพราะต้องนำรายชื่อนายกฯ ไปกราบบังคมทูลฯ ตอนนั้นการโหวตนายกฯ  ในที่ประชุมสภาไม่มี การนำรายชื่อไปกราบบังคมทูลฯ ผมก็ต้องมั่นใจว่าชื่อคนนั้นต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภา ผมก็ใช้วิธีทางอ้อมคือให้หัวหน้าพรรคการเมืองรวบรวมรายชื่อที่สนับสนุนท่านชวนกับพลเอกชาติชาย ก็มีบางพรรคอย่างพรรคประชากรไทยที่ ส.ส.ในพรรคมีส่วนหนึ่งสนับสนุนคุณชวน และอีกส่วนสนับสนุนพลเอกชาติชาย แต่คุณชวนมีเสียงมากกว่า แต่ที่มีงูเห่าไปฝ่าฝืนมติพรรคก็เป็นเรื่องภายในของทางพรรค แต่เวลาผมนำชื่อไปกราบบังคมทูลฯ ก็ต้องนำชื่อที่มีเสียงเยอะกว่า ความจริงผมจะเสนอคนที่มีเสียงน้อยกว่าก็ได้ แต่เราเห็นว่าหากเสนอชื่อคนที่มีเสียงน้อยกว่า แล้วเวลามีประชุมสภา ถ้าเสียงแพ้ก็กลายเป็นว่าเรานำคนที่แพ้ไปให้ในหลวงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็ไม่ถูก ผมในฐานะประธานรัฐสภาก็ต้องนำชื่อคนที่ชนะแล้วบริหารประเทศได้ ก็ต้องนำชื่อคุณชวนกราบบังคมทูลฯ ไป ซึ่งคุณชวนก็บริหารประเทศได้ ก็ถือว่าผมตัดสินใจในทางที่ถูก แต่รอบที่จะเกิดขึ้นมีการโหวตในที่ประชุมรัฐสภา ใครชนะเกินกึ่งหนึ่งประธานรัฐสภาก็นำชื่อคนนั้นไปกราบบังคมทูลฯ เพราะเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ

-หากเกิดเหตุพรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันแล้วได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายการโหวตนายกฯ อีกฝ่ายหนึ่งชนะ จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่โดยเฉพาะเรื่องการยอมรับ?

จะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็แล้วแต่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีข้อบกพร่อง ที่เขียนไว้ให้เกิดปัญหา ประชาชนก็ต้องรับ แต่ว่าหากเขาบริหารประเทศไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องล้มเช่นถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กฎหมายสำคัญที่สำคัญไม่ผ่านสภา รัฐบาลหลังเลือกตั้งเสถียรภาพจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียง ส.ส. ถ้าหากว่าฝ่ายตั้งรัฐบาลไม่ชนะในสภาก็มีปัญหา ไม่มีเสถียรภาพ แต่หากว่าฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลมีเสียงมากทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ก็มีเสถียรภาพ แต่เมื่อ รธน.เขียนไว้ครึ่งๆ กลางๆ ให้โหวตจากที่ประชุมรัฐสภา โดยให้ ส.ว. 250 คนที่ตั้งโดย คสช.ที่สามารถคอนโทรลได้ แต่เวลาบริหารประเทศต้องใช้เสียง ส.ส. ผมว่าเขียนไว้เพื่อสร้างปัญหาให้ประเทศ เป็น รธน.ที่ใช้ไม่ได้

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำจุดยืนของพรรคในการเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า ขอยืนยันว่าเราต้องยืนข้างประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจแล้วก็มาจาก ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แบบนี้เรายอมรับไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะปฏิเสธความเป็นนายกฯ ก็เป็นนายกฯ ไป เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ไม่ได้เสียหายอะไร การเป็นผู้แทนของประชาชนต้องมีความพร้อมทั้งที่จะเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ผมไม่ได้ห่วงว่าพรรคประชาชาติจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน แต่ผมห่วงว่าหากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพก็จะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารประเทศไม่มี แล้วจะนำไปสู่การล้มละลายของประเทศ  ประเทศเรามันแย่อยู่แล้วตอนนี้ เศรษฐกิจก็แย่ แล้วหากได้รัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาแล้วทำร้ายประเทศก็คือความเชื่อถือของประเทศ เพราะอย่างใครจะมาลงทุนกับรัฐบาลที่อาจจะอยู่แค่หกเดือนหรือหนึ่งปี นักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน ไปลงทุนที่อื่นดีกว่า แม้แต่นักลงทุนไทยก็ไม่กล้า ก็เก็บเงินไว้ในกระเป๋าก่อนดีกว่า เพื่อรอรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้วค่อยลงทุน อันนี้คือผลเสียของรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เพราะเวลารัฐบาลจะไปคิดโครงการอะไร แล้วต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา แต่สภาโหวตไม่เอา นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง เราถึงบอกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าอยู่ดีๆ เข้าไปหลังเลือกตั้งจะแก้เลย แต่ในที่สุดก็ต้องมีการนำไปสู่การแก้ไข รธน.เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เช่นการโหวตเลือกนายกฯ ที่ ส.ว.ไม่ควรมาทำหน้าที่ในการเลือกนายกฯ ด้วย แต่ควรทำหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมายเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

ถามถึงข้อเป็นห่วงต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง เช่นการทำงานของ กกต. หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตอบว่า ก็ห่วงว่า กกต.จะไม่กล้าฟันธง ไม่ตัดสินใจทำหน้าที่ให้เต็มที่ ห่วง กกต.เป็นเครื่องมือของคนอื่น เพราะกีฬาหรือเกมทุกอย่าง หากกรรมการไม่ดี กรรมการไม่กล้า กรรมการเข้าข้าง แบบนี้ เกมไม่สนุกเลย คนก็ไม่อยากดู ผมก็อยากให้สนุกด้วยกติกาที่ดี และมีกรรมการคอยดูแลให้ดีที่สุด เพราะหาก กกต.ชุดนี้ทำหน้าที่ได้ดี กกต.ชุดนี้ก็จะเป็นวีรบุรุษว่าทำหน้าที่รักษากติกาประชาธิปไตย จะเป็นแบบฉบับที่ดี ซึ่งเมื่อการเลือกตั้งดี รัฐบาลหลังเลือกตั้งก็จะดีไปด้วย แต่หากการเลือกตั้งเละ มีการซื้อเสียงขายเสียง มีการโกงการเลือกตั้ง ก็จะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยที่ล้มเหลวและรัฐบาลที่เลวร้าย

ห่วง ศก.ไม่ดี ทำซื้อเสียงหนัก

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยอมรับว่าค่อนข้างเป็นห่วงปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะบางพรรคคิดจะเอาชนะอย่างเดียวแล้วก็เตรียมเงินไว้เพื่อจะมาซื้อเสียง ซึ่งมันเป็นการทำลายประชาธิปไตย ทำลายประเทศ ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรเกิดขึ้นสำหรับคนที่มีเซนส์จะมาปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปประเทศ เพราะถ้าคิดจะชนะด้วยการซื้อเสียง แค่คิดแบบนี้ก็จบแล้ว ก็อยากให้ประชาชนได้สั่งสอน ไม่จำเป็นว่ารับเงินเขามาแล้วต้องไปเลือก ถ้าเขาตั้งใจที่จะทำลายประชาธิปไตย เราต้องทำลายกลับไปเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้พวกนี้เข็ดขยาด

-การซื้อเสียงจะหนักขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?

ประชาชนจนมากขึ้น เงิน 200-300 บาทก็มีความหมายสำหรับเขา กรีดยางวันหนึ่งๆ ได้ไม่ถึง 200 บาท ถ้าเลือกตั้งเขาให้เงินมา 300 บาทมันมีค่า แต่ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดี เงินก็ไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ ก็เป็นห่วง แต่ขณะเดียวก็อยากให้ กกต.ให้ความรู้ประชาชนว่าไม่ควรไปรับเงิน.

...................................

 

พหุวัฒนธรรม หลอมรวม-สร้างสรรค์ชาติ  แนะเลิกกฎหมาย-กลไกพิเศษ

                สำหรับนโยบายที่ พรรคประชาชาติ ใช้หาเสียงที่ถือเป็นธงนำทางการเมืองของพรรค ก็คือแนวทางเรื่อง พหุวัฒนธรรม ที่พบว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดีในหลายพื้นที่โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำว่า เราเป็นพรรคการเมืองเดียวที่เน้นเรื่องการให้เกียรติกับคนในทุกวัฒนธรรม ทุกศาสนา และกับคนในพื้นที่ต่างๆ ที่หลากหลาย โดยพรรคชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์การเมืองของเรา ที่เราเชื่อว่าความแตกต่างหลากหลายในชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา ประเพณี และความคิด  จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเกื้อกูลต่อกัน การอยู่ร่วมกันในสังคม พรรคประชาชาติมุ่งขจัดการครอบงำหรือการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรม เพราะพรรคเชื่อในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม

...ผมมีความคิดว่าเรื่อง พหุวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่า, ชาวเล, กะเหรี่ยง, ม้ง, ชาวมลายู, คนจีน, คนอินเดียที่มาอยู่ในสังคมไทยที่มีคนไทย เมื่อได้หลอมรวมกันอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ก็จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์ชาติ โดยไม่กีดกันต่อกันแต่ช่วยเหลือกัน เช่นคนจีนที่รวยกว่าก็ช่วยเหลือคนที่จนกว่า หรือชาวเขาที่อยู่บนเขาไม่มีที่ดินทำกิน ก็ควรที่จะไปดูแลเขาให้มีการศึกษา มีที่ดินทำกิน พรรคประชาชาติ เห็นว่าคนที่ด้อยโอกาส คนที่เขาเป็นพันธุ์เผ่าต่างๆ อย่างน้อยปัจจัย 4 เขาควรจะมี เช่น การให้การศึกษาที่ดี การดูแลรักษาพยาบาล พรรคเราเน้นว่าจะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาสังคมชนเผ่าทั้งหลาย อย่างเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องว่า ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางทีเราไปตีโจทย์ผิด คนบอกว่าปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนปี 2547 (เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นราธิวาส-กอง บ.ก.) ซึ่งความจริงเราต้องศึกษาให้ดีถึงรากเหง้าปัญหาความไม่สงบว่ามันเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว เช่นตั้งแต่อดีตสมัยอังกฤษเข้ามาแบ่งอาณานิคม ที่มีการแบ่งพื้นที่การปกครองในฝั่งมาเลเซีย และอีกส่วนหนึ่งปกครองโดยรัฐบาลสยาม  ปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นตอของความไม่สงบในปัจจุบัน จึงต้องเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ  เช่นการมีส่วนร่วมในการดูแลความสงบเรียบร้อย การมีส่วนร่วมในด้านการศึกษา การดูแลในภาคเศรษฐกิจ ไม่ใช่คนในพื้นที่ยากจน แต่รายได้ส่วนใหญ่ไปอยู่กับคนส่วนอื่น

...ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยต้องแก้ไข แต่วิธีที่รัฐบาลเดินมาเช่นการเจรจากับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไป แต่อาจต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับการพัฒนาในพื้นที่ก็ต้องทำไป แต่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจในพื้นที่ อยากให้คนในพื้นที่เขาได้มีส่วนร่วมในการดูแลตัวเขาเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเวลาเกิดเหตุ เช่นมีทหารเสียชีวิต ก็ปรากฏว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่หากว่าเป็นคนในพื้นที่เสียชีวิต  ซึ่งคนในพื้นที่เขามีญาติพี่น้อง เขาจะมีความรู้สึกว่าเขาสูญเสีย เขาจะช่วยป้องกัน ซึ่งอาจจะดีกว่าที่จะเอาคนอื่นเข้าไป คืออาจจะมีอีกหลายวิธี ซึ่งต้องรีบทำเพราะว่าปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาในพื้นที่เท่านั้นแล้ว แต่กลายเป็นปัญหาของชาติแล้ว เวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้นข่าวออกไปทั่วโลก คนก็ไม่อยากมาเที่ยว ไม่อยากมาลงทุน จึงต้องรีบทำให้เกิดความสงบ โดยทำอย่างที่ในหลวงท่านเคยตรัส คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้มันถึงแก่นจริงๆ ไม่ใช่เอาแค่กำลังทหารอย่างเดียว

ผมยังมีความหวังว่าถ้ารัฐบาลเข้าใจดีๆ ไปแก้ปัญหาให้ถูกทาง ความสงบเรียบร้อยต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าแก้ไม่ถูกก็ยืดเยื้ออยู่อย่างนี้ เสียงบประมาณเสียผู้คนไปเยอะแยะ ผมคิดว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาหลักอันหนึ่งที่พรรคประชาชาติต้องร่วมกันคิดกับใครก็ได้ จะเป็นรัฐบาลข้างหน้าก็ได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ให้หมดไปโดยเร็ว จริงๆ ถ้ามันสงบตรงนั้นเป็นประตูของอาเซียน เรามีมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย  บรูไน ซึ่งถ้ามันสงบคนตรงนั้นตั้ง 3 ร้อยกว่าล้านคน ถ้ามาเที่ยวโดยผ่านช่องทางนั้นก็จะเกิดการพัฒนาเยอะ เมื่อประตูบ้านเรายังไม่เรียบร้อย การเชิญคนเข้ามาก็ยากหน่อย

...ต้องรีบแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการเจรจา การพัฒนา การให้การศึกษา โดยต้องทำให้คนในพื้นที่ทั้งหมดทั้งคนไทยมุสลิม คนพุทธ คนจีน ได้มาร่วมแก้ปัญหากัน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจากส่วนกลางคิดเอาเองแล้วไปแก้ปัญหา เพราะคนพุทธ คนจีนในพื้นที่เขาก็อยากแก้ปัญหาเหมือนกัน ผมคิดว่าต้องเอาคนในพื้นที่นั่งคุยกับรัฐบาลส่วนกลางรวมถึงกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย มานั่งแก้กัน ก็ยังมีทางแก้ไข ยังไม่ถึงกับเลวร้ายอะไรมาก

ถามความเห็นว่าควรต้องมีกลไกพิเศษอะไรเข้ามาหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ทัศนะว่า ความจริงควรต้องเลิกกลไกพิเศษ กฎหมายพิเศษ ให้เป็นกฎหมายทั่วไป ใช้กฎหมายอาญาปกติ ใครทำผิดก็จับขึ้นศาลไป ไม่ต้องมีทหาร มีอำนาจนำตัวไปคุมไว้ 7-15 วัน เพราะการใช้กฎหมายอำนาจพิเศษเพิ่มความหวาดระแวงให้ประชาชน กฎหมายพิเศษต้องใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภาวะพิเศษ เช่นออกจากบ้านไม่ได้หรือ คสช.เรียกใครไปคุย ซึ่งทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าขาดสิทธิเสรีภาพ บ้านเมืองไม่สงบ แล้วที่มีกฎหมายพิเศษเห็นหรือไม่ว่า ถ้ากฎหมายพิเศษใช้ได้ป่านนี้บ้านเมืองสงบแล้ว ใช้กฎหมายพิเศษเป็นสิบปีแล้วแต่ก็ยังเหมือนเดิม มันยังไม่เกิดความสงบ

 การใช้กฎหมายอาญาทั่วไปผมก็คิดว่าเพียงพอ เพราะเราไม่ได้ทำศึกสงครามอะไร หากมีการจัดกำลังของชาวบ้าน เช่น อส.ที่ช่วยได้เยอะ เอาชาวบ้านมาช่วย แต่ทีนี้รัฐบาลมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจชาวบ้าน กลัวชาวบ้านเข้ากับผู้ก่อเหตุ ซึ่งถ้าเรามีความรู้สึกหวาดระแวงเมื่อใด รัฐบาลหวาดระแวงประชาชน ประชาชนก็หวาดระแวงรัฐบาล แต่รัฐบาลกับประชาชนจะต้องรวมเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ และผนึกกำลังกันเพื่อสู้กับผู้ก่อการร้าย.

...........

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"