การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติครั้งที่ 11 เสนอ 7 ประเด็นสำคัญหลักสู่การแก้ไขปัญหาทางนโยบาย


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติครั้งที่ 11 ชูประเด็น “สภาองค์กรชุมชน ร่วมสร้างประเทศ สู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” เพื่อนำข้อเสนอที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ เช่น ปัญหาการจัดการน้ำ-ที่ดิน-ป่าไม้-ยางพารา-สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ เสนอต่อกระทรวง พม.-ครม.เพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมยังยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่นโยบายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็งสมาชิกองค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับจังหวัด รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ โดยจะมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถือเป็น ‘สภาของประชาชน’

 

 

โดยในปีนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 11 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2562 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ ใช้ชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า “สภาองค์กรชุมชน ร่วมสร้างประเทศ สู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มาจากตัวแทนแต่ละจังหวัดๆ ละ 2 คน รวมทั้งตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ 200 คน โดยมี พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมรับฟังข้อเสนอจากที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนเพื่อนำไปเสนอต่อ รมว.พม.ต่อไป

 

 

พลเอกสุรสักดิ์ ศรีศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นสุดยอดในการมารวมตัวกัน เพื่อขับเคลื่อนให้พี่น้องในพื้นที่ได้รับประโยชนอย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้รัฐบาลได้เห็น ทุกคนมาทำงานด้วยจิตอาสา ไม่ได้มีเงินเดือน แต่ได้ความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำงานให้กับถิ่นเกิด เป็นสิ่งที่ดีภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง เป็นตัวแทนของตำบล เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจ ในการมานำเสนอผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

นายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจดแจ้งและจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วประมาณ 7,300 แห่ง ส่วนบทบาทที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนมีทั้งหมด 12 ด้าน เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

“นอกจากนี้สภาฯ ยังสามารถเสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย” นายชูชาติ กล่าวถึงหน้าที่ของสภาฯ

 

นายชูชาติ กล่าวต่ออีกว่า “ตามมาตรา 32 กำหนดให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ (1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม และ (3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ได้พบเจอและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”

 

ทั้งนี้สาระสำคัญของการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติในครั้งนี้ ได้เสนอความคืบหน้าการดำเนินตามมาตรา 32  ประจำปี 2560 ตามมาตรา 32 (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ประเด็น ดังนี้ 1) สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) ผลกระทบพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 3) ผลกระทบจากพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 4) การแก้ปัญหายางพารา 5) การจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม 6) สังคมไทยกับการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และ 7) ความมั่นคงทางอาหารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

 

ในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นความคืบหน้าการดำเนินงานตาม มาตรา 32 ทั้งความคืบหน้าการดำเนินของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนที่ดำเนินการเอง และการสนับสนุนและดำเนินการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต่อการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ตามมาตรา 32 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีการรวบรวมข้อมูลสังเคราะห์ ตามมาตรา 32  มาจากแต่ละภาค 5 ภาค มาตรา 32 (2) จำนวน 15 ประเด็น มาตรา 32 (3) จำนวน 15 ประเด็น  ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการดำเนินการกิจการสภาองค์กรชุมชน ไปดำเนินการและจัดกระบวนการพิจารณาจัดทำข้อเสนอให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งการวางแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอทางนโยบายและประเด็นปัญหาที่ประสบอยู่ ก่อนที่จะมีการเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป

 

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ รับมอบข้อเสนอจากการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ

 

นอกจากนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีการจัดเวทีสาธารณะการเสนอแนะและแลกเปลี่ยนนโยบายขบวนสภาองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมกับพรรคการเมืองที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมประมาณ 200 คน และมีผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 16 พรรค ทั้งนี้ผู้แทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ร่วมเสนอนโยบายของพรรคในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับนโยบายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”

 

ขณะที่ผู้แทนจากสภาองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาคและภาคประชาสังคม ได้รวบรวมข้อเสนอเพื่อยื่นต่อพรรคการเมืองทุกพรรคที่มาร่วมงาน ที่เน้น “การกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดจัดการตนเอง” โดยมีการรวบรวมข้อเสนอมาจากเครือข่ายที่สำคัญ จำนวน 16 องค์กร/เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน, เครือข่ายผู้หญิง, เครือข่ายขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ฯลฯ โดยมีประเด็นสำคัญในการเสนอจำนวน 12 ประเด็น ดังนี้ 1) สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) การแก้ปัญหายางพารา 5) การจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม 6) สังคมไทยกับการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และ 7) ความมั่นคงทางอาหารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 8)รัฐกับการสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงและเส้นทางสู่ความเสมอภาคหญิงชาย 9) ส่งเสริมสิทธิของประชากรกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง 10) นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 11) แรงงานนอกระบบ และ 12) การแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้านและทะเลชายฝั่ง

 

ตัวแทนพรรคการเมืองรับมอบข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"