7-7-7 พลังส่ง บิ๊กตู่-พปชร.


เพิ่มเพื่อน    

 พลังประชารัฐ เราจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังไม่ได้ตอบรับเทียบเชิญพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่ง 4 อดีตรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรค นำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ซึ่งเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเทียบเชิญพลเอกประยุทธ์ให้มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ โดยพลเอกประยุทธ์ได้สงวนท่าทีและขอเวลาตัดสินใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็คาดหมายว่า คงไม่มีอะไรพลิกผัน พลเอกประยุทธ์ตอบรับแน่นอน

                การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อจากนี้ หนึ่งในแกนนำผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในนักการเมืองสายเทคโนแครตผู้ใกล้ชิดกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. แสดงความเชื่อมั่น ผ่านการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า แม้ไม่สามารถบอกตัวเลขจำนวนที่พลังประชารัฐจะได้ ส.ส.กี่คนหลังเลือกตั้ง แต่เชื่อมั่นว่าพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน และย้ำว่า ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มี 3 ปัยจัยชี้ขาดคือ ตัวผู้สมัคร ส.ส.-นโยบายพรรคและรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคที่ประกาศตอนหาเสียงเลือกตั้ง

“จุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลังประชารัฐเป็นพรรคประชาธิปไตย เราก็ซาวด์เสียงจากสมาชิก จนมาคุยกันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ตรงนี้ก็จะเรียกความเชื่อมั่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ้าท่านยินดีรับจะสุดยอดเลย เพราะท่านเป็น action man ทำงานจริงจัง ทำงานมาตลอด ทำให้เราเชื่อว่าแนวนโยบาย 7-7-7 ของพรรคที่เน้น 3 กลุ่มใหญ่ คือ สวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ สังคมประชารัฐ จะต้องได้คนที่ไม่ใช่ว่าดีแต่พูด ได้แต่ฝอย แบบนั้นไม่เอา แต่ต้องเป็น action man แล้วท่านนายกฯ ก็มี vision ของท่าน เพราะมองประเทศไปถึงการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงให้มีการปฏิรูป พลเอกประยุทธ์จึงมีทั้ง vision และ action ก็ครบเครื่อง” รองหัวหน้าพรรค พปชร.ระบุ

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ชื่ออื่นของพรรค อย่าง ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค อดีต รมว.อุตสาหกรรม ก็มีประสบการณ์มากมาย เช่น การขับเคลื่อนโครงการ EEC ทำให้คิดว่าหลายองค์ประกอบดังกล่าว ทั้งเรื่องนโยบายพรรค เรื่องตัวผู้นำ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในแต่ละพื้นที่ คือปัจจัยที่ทำให้เรามั่นใจว่าเราน่าจะได้เสียง ส.ส.อยู่ไม่น้อยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

-การมีชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะทำให้คะแนนเสียง คะแนนนิยมของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเป็นอย่างไร?

ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้ง มี 3 ปัจจัยคือ นโยบาย-ตัวผู้นำ-ตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ได้ เช่น ผู้สมัคร ส.ส.หากไม่ทำการบ้านในพื้นที่ เราก็ไม่ได้เสียง แต่หากเขาเป็นที่รู้จัก แต่ทว่านโยบายพรรคไม่ชัดเจน ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่านโยบายที่บอกประชาชนและประเทศได้อะไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องตัวผู้นำ ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวมีน้ำหนัก จังหวะจะโคนของมัน..ถ้าได้พลเอกประยุทธ์มาก็สุดยอดเลย เพราะจะไปด้วยตัวของมันอยู่แล้ว

กระนั้น ดร.สุวิทย์-แกนนำ พปชร. ออกตัวว่าไม่สามารถบอกได้ว่า พรรคจะได้ ส.ส.กี่คนในการเลือกตั้ง โดยบอกว่าพูดไม่ได้ แต่หากว่าเรามี 3 ปัจจัยที่บอกพร้อม ผมเชื่อมั่นว่าเราจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

"จะบอกว่าได้กี่เสียง คงไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นก็คือว่า ดูจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องการแบบนี้ ประชาชนต้องการแบบนี้ แล้วพลังประชารัฐมีสิ่งที่โดนๆ แบบนี้ เรามีผู้นำแบบนี้ แล้วเรามีอดีต ส.ส.แบบนี้ ผมว่าเรามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล" รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวสำทับ 

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ยังมีการพูด-วิจารณ์กันว่า พลังประชารัฐเป็นพรรคทหาร พรรค คสช. ว่า ขอให้ไปดูว่าสมาชิกพรรค ผู้บริหารในพรรค พปชร. คนในพรรค มีใครบ้างที่เป็นทหาร ก็จะพบว่าไม่มี แล้วที่พรรคเชิญพลเอกประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะเรามองว่าท่านนายกฯ เป็นเพียงไม่กี่คนที่สามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าได้ โดยพลังประชารัฐพิจารณาจากผลงานของท่านนายกฯ ความมุ่งมั่นและสิ่งที่นายกฯ ได้ทำ

พลังประชารัฐเราไม่ได้ต้องการเหมือนกับที่มีคนพยายามจะมาป้ายพรรคเราว่า มาสานต่อเผด็จการ ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่เรากำลังสานต่อการสร้างชาติ ดังนั้นความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ อย่าง 4 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้อย่างน้อยที่สุด ใครจะมาบอกว่าไม่ได้ดั่งใจ ผมไม่รู้ แต่ว่า ถามว่าหากไม่มีรัฐบาลชุดนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ไม่เคยมีใครคิด แล้วสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำขึ้นมา มันกำลังมี momentum ของการเติบโต momentum ของความสมานฉันท์ มันเริ่มมี ทำให้ความต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่อยากจะฝันร้ายอีกที ที่จะนำไปสู่การที่คู่ขัดแย้งจะกลับมาแล้วมันก็จะไม่จบ พลังประชารัฐจึงเป็นทางเลือก ทางออกของประเทศ

ถามความเห็นว่า ในช่วงการหาเสียงโดยเฉพาะโค้งสุดท้าย หลายพรรคคงชูประเด็นให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเอา-ไม่เอาบิ๊กตู่ หรือหนุน-ไม่หนุน คสช. สุวิทย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. มองเรื่องนี้ว่า ก็ว่ากันไป ก็เป็นสิทธิแต่ละพรรคการเมือง แต่นโยบายและจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ คือการหาทางออกให้กับประเทศ เขาอาจไปป้ายพรรคเราในเรื่องต่างๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่คำถามคือเรามีจุดยืนที่ชัดเจนและมุ่งมั่นแค่ไหน เราพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นได้หรือไม่ในช่วงนี้ จนถึงช่วงโค้งสุดท้าย ว่าพรรคสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้หรือไม่ และทำได้จริงหรือไม่ เพราะพรรค พปชร.ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกาลเฉพาะเรื่อง ยืนยันว่าไม่ใช่ ไม่เช่นนั้นคนในพรรคพลังประชารัฐไม่มานั่งเสียเวลาทำเรื่องนโยบาย 7-7-7 ไม่มาคิดนโยบายเรื่อง Bangkok 5.0หรือเรื่องนโยบายด้านการเกษตร แต่พลังประชารัฐทำเพราะเราเชื่อว่านี่คือการที่เราจะมาร่วมกันสร้างชาติให้ยั่งยืน

...อีกทั้งการสร้างชาติให้ยั่งยืนก็ต้องมีผู้นำ ซึ่งถึงวันนี้เราก็เชื่อว่า หนึ่งในผู้นำที่เราซาวด์เสียงกันแล้วก็คือ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง คสช. เพียงแต่ท่านเป็นอดีตนายทหารเก่า หากท่านตอบรับคำเชิญของพรรค ก็คือการตอบรับในกติกาประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤติมาก ท่านนายกฯ ถึงต้องเข้ามาแบบนั้น แต่วันนี้เรากำลังเปลี่ยนเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ตอบรับที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงว่าท่านก็เคารพกติกาประชาธิปไตย ดังนั้นเรื่องนี้ก็อยู่ที่การอธิบายความตั้งใจของพรรคพลังประชารัฐ เพราะหลังเลือกตั้ง คสช.ก็ต้องหายไป และพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เริ่มด้วย คสช.

ไม่หวั่น พปชร.โดนรุมกินโต๊ะ

ถามถึงว่า พลังประชารัฐโดดเดี่ยวทางการเมืองหรือไม่ เพราะตกเป็นเป้าอยู่ฝ่ายเดียว บางพรรคที่เคยถูกมองว่าจะจับมือกันได้ อย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็แสดงท่าทีกับพลังประชารัฐในทางไม่เป็นมิตร รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวตอบว่า การจับมือกันในลักษณะที่จะไปตอบโจทย์ประเทศ ผมว่าน่ายินดี แต่ว่าการต่อสู้การเมือง มันก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว พลังประชารัฐเป็นพรรคใหม่จะแจ้งเกิด หากพลังประชารัฐไม่โดดเด่นพอ เขาคงไม่มารุมสกรัม มาเล่นกับเราแบบนี้ ก็แสดงว่าพลังประชารัฐมีอะไรดี เขาถึงมาแบบนี้กับเรา

ดร.สุวิทย์ พูดถึงความพร้อมของ พปชร.ต่อการเลือกตั้งว่า มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งแล้ว อันเป็นความพร้อมที่เกิดจากหลายปัจจัย เช่นเราเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจน และเราเป็นพรรคทางเลือกในการก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ในเชิงนโยบายอื่นๆ ก็ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวข้ามความยากจน โดยเรื่องนโยบายพลังประชารัฐ ไม่ใช่เขียนกันมาแบบเบี้ยหัวแตก แต่ถักทอขึ้นมาแบบตกผลึก และมีการเสริมซึ่งกันและกัน เช่น สวัสดิการประชารัฐ ก็ไปเสริมสังคมประชารัฐ เพราะหากสวัสดิการไม่ดี จะไปนั่งสร้างสังคมเข้มแข็งมันเป็นไปไม่ได้ แต่สังคมถึงวันหนึ่งต้องไปต่อ คือสู้กับโลกได้ ก็คือ เศรษฐกิจประชารัฐ ดังนั้นในเชิงนโยบาย พลังประชารัฐไม่กลัวเลย ไม่ใช่ว่าคิดอะไรได้ แล้วใส่ไปก่อน แบบนี้ไม่ได้ หรือแบบประเภท พรรคการเมืองอื่น บอกเรื่องเงินที่ใช้ในการทำโครงการต่างๆ แล้วเราจะไปตัดราคาเขา แบบนี้ก็ไม่เอา เราไม่มีนิสัยแบบนั้น

ส่วนความพร้อมเรื่องตัวบุคคล ก็ต้องบอกว่าพรรคมีเสน่ห์ เพราะมีทั้งคนที่เคยอยู่ในขั้วความขัดแย้ง เช่น คนที่เคยเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง ที่เคยต่อสู้เคยขัดแย้ง ก็มาอยู่ด้วยกัน อีกทั้งเป็นพรรคที่มีคนหนุ่มสาวจากหลายอาชีพ เป็นร้อยๆ คน ที่จะมาช่วยกันนำอนาคต หรืออย่างอดีต 4 รัฐมนตรีที่อยู่พลังประชารัฐ ก็ถือว่ามีประสบการณ์การบริหารประเทศมาแล้วระดับหนึ่ง จึงเป็นพรรคที่มีความหลากหลาย ทำให้พรรคเรามั่นใจว่านโยบายของเราจะเป็นทางออกของประเทศได้จริงๆ

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องคนในพื้นที่ พรรคก็มีอดีต ส.ส.เดิม ที่เห็นว่านโยบาย อุดมการณ์ของพรรคเดิมที่เขาเคยอยู่ ไปต่อไปได้ แล้วเขาเชื่อมั่นในพลังประชารัฐ ก็มาร่วมงานกับพรรค ตรงนี้เป็นพลังสำคัญ เพราะเราเป็นพรรคใหม่ ที่ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือ เราสด เราใหม่ เรามีไอเดียที่จะหาทางออกให้ประเทศ แต่หากใหม่หมดเลย ก็อาจไม่ไหว อย่างน้อยการมีอดีต ส.ส.ที่มีประสบการณ์ในพื้นที่ เคยทำผลงานไว้ในพื้นที่ แล้วมาอยู่กับพลังประชารัฐ ก็น่าจะทำให้เราทำงานเหนื่อยน้อยลง ทำให้เราไปข้างหน้าได้เลย

รองหัวหน้าพรรค พปชร. พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะเกิดความวุ่นวายไม่น้อยว่า ผมมองในแง่ดี ผมมองว่า ทุกพรรคทั้งพรรคใหม่ พรรคเก่า ก็เห็นบทเรียนในอดีต การล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราเคยคิดว่าเราจะได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในที่สุดก็ล้มลุกคลุกคลานจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายครั้ง

...คิดว่าทุกคนต้องทบทวนบทเรียนนี้แล้วช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ไม่อย่างนั้นมันจะกลับไปสู่วงจรอุบาทว์แบบเดิม วงจรเดิมๆ ซ้ำซาก ครั้งนี้จึงควรมาช่วยกันปลดล็อก ทุกพรรคมีหน้าที่ในการมาร่วมกันปฏิรูปการเมืองไทย อย่าใช้การเมืองแบบเก่าๆ อย่าให้ถึงขั้นเกิด Hate speech เช่น พรรคนี้เป็นพรรคที่โปรทหาร อย่าไปคิด อย่าไปพูดแบบนั้น ในเมื่อทุกคนอยู่ในกติกาประชาธิปไตย จะมาเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่นแบบนี้มันไม่ถูก หากมีทัศนคติแบบนี้ที่ไม่ใช่ทัศนคติที่ดี ก็ไปไม่รอด แต่ควรร่วมกันผลักดันให้การเมืองไปได้ เพราะหากการเมืองไปไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไปต่อไม่ได้ สังคมก็ไปไม่ได้ เรามีบทเรียนมาแล้วหลังเลือกตั้ง ทั้งหมดก็อยู่ที่พวกเรา ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่การเลือกตั้งก็ต้องมาด้วยความโปร่งใส และหลังเลือกตั้งก็ต้องยอมรับกติกา.

.................

ล้อมกรอบหน้า 4-5

7-7-7 และ Bangkok 5.0  

เลือกแล้วประชาชนได้อะไร?

                นโยบายการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูแคมเปญ 7-7-7 ซึ่งถูกสังเคราะห์-เขียนออกมาโดยทีมงานด้านต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีหัวเรือใหญ่ที่คุมทีม ก็คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เข้าสู่การเมืองครั้งแรก ก็สมัยมาช่วยงานเป็นที่ปรึกษาให้กับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในยุคเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

                สุวิทย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. ที่กลายเป็นอดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ หลังยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปหัวใจสำคัญของนโยบาย 7-7-7 ของ พปชร.ที่จะใช้ในการหาเสียงว่า ด้วยความที่พรรคพลังประชารัฐคือ New Politic พรรคจึงต้องการทำการเมืองที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นการเมืองที่นำไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยการขับเคลื่อนองค์ประกอบต่างๆ เช่น การให้มีสวัสดิการประชารัฐ เพื่อให้เกิดสังคมสงบสุข สังคมที่เข้มแข็ง สังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน ทำให้มีเศรษฐกิจประชารัฐ ที่เน้นให้คนมีทักษะ ความสามารถ ภายใต้หลักการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม และสังคมประชารัฐ เป็นสังคมที่คนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล แบ่งปัน เป็นชุมชนเข้มแข็ง 

...หัวใจสำคัญของนโยบาย 7-7-7 มุ่งไปที่ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องไปพร้อมกับการก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่ดีมาก เป็นสังคมอบอุ่น ช่วยเหลือแบ่งปัน แต่การเมืองช่วงก่อน 22 พ.ค.57 มีความขัดแย้ง แตกแยกกัน ซึ่งนอกจากขจัดความเหลื่อมล้ำแล้ว ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งด้วย

...สังคมในอดีต พูดง่ายๆ มี 2 ขั้วคือ สังคมเสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วก็ตีกัน ซึ่งภาพอย่างนั้นไม่ควรเกิดอีกแล้ว ดังนั้นต้องทำให้สังคมสงบสุข เพราะหากไม่สงบสุข เราเดินหน้าต่อไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำให้เกิดความสงบสุข แล้วทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง จนเกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตเดิมอยู่ที่ 0.8-0.9 ก็ขึ้นมาถึง 3-4 เปอร์เซ็นต์กว่า

รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวอีกว่า นโยบาย 7-7-7 แนวคิดแต่ละส่วนจะมีความเชื่อมโยงต่อกัน ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้ ภายใต้หลักเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ในขณะที่คนหลายคนยังไม่ได้โอกาส โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังสูงมาก สิ่งแรกของ 7-7-7 มาจากจิ๊กซอว์สำคัญ 3 เรื่องคือ เมื่อปัญหาของประเทศยังเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นต้องขจัดความเหลื่อมล้ำออกไปก่อน คำตอบจึงออกมาเป็นเรื่อง สวัสดิการประชารัฐ ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้รับความเท่าเทียม จึงต้องทำให้ประชาชนไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง จะได้ทำมาหากิน ลูกหลานมีการศึกษา ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ความสงบสุขจึงเป็นจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐไม่เคยอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งในอดีต การเมืองก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 มีแต่ความขัดแย้ง โจทย์ของเราคือจะก้าวข้ามอย่างไร โจทย์ของเราจึงมุ่งนำไปสู่เรื่องหลักๆ เช่น ทำให้เกิดความสงบสุข ที่เราเชื่อว่าเราเป็นพรรคใหม่ ที่จะทำให้สังคมก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความสงบสุข และทำให้เกิดสังคม ชุมชน และทุกภาคส่วนที่เข้มแข็ง และทำให้เกิดสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน เราจะทำให้คนไทยกลับมาเป็นสังคมแบบในอดีตที่เกื้อกูล แบ่งปัน

ดร.สุวิทย์ กางพิมพ์เขียวแนวคิดนโยบาย 7-7-7 และบอกว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ เป็นการเปลี่ยนทั้งโมเดลการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ โจทย์ของพรรคพลังประชารัฐ คือจะทำอย่างไรให้เราสามารถตอบรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจในอนาคตต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ ทั้ง SME-Smart Farmers ที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ เราจะต่อยอดเพราะสังคมไทยเป็นสังคมเกษตร เราจึงต้องทำให้เกษตรกรเป็น Smart Farmers ซึ่งถ้าเปลี่ยนได้ ประโยชน์จะตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ สมาร์ทเอสเอ็มอี เกิด Start up ทำมา 3 ปี ที่เป็นเรื่องดี และทำให้ต้องไปต่อได้ หรือเรื่องโชวห่วยที่ยังต้องอยู่ แต่ต้องเป็นโชวห่วย 4.0 วิสาหกิจชุมชนก็ต้องทำ ต้องใช้ดิจิตอลได้

การสร้างความสามารถคือการทำให้ธุรกิจเหล่านี้ Startup - SME - Smart Farmersร้านค้าชุมชนให้อยู่บนดิจิตอล จึงต้องปรับโมเดลการทำธุรกิจใหม่ เช่น การยกเครื่องพนักงาน หรือตัวผู้ประกอบการ ต้องเปลี่ยน Mind set ทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่ เพื่อทำให้เราสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก และสร้างมูลค่าเพิ่ม จากที่รัฐบาลทำไว้ใน Thailand 4.0 เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหน จะภาคอุตสาหกรรม เกษตร ภาคบริการ การท่องเที่ยว ทำน้อยแต่ได้เยอะ ที่ต้องมีองค์ความรู้ ต้องยกเครื่องความสามารถของผู้ประกอบการ ให้ทำงานบน Digital Platform ภายใต้หลักคือทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเราต้องเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม สร้างโอกาสเท่าเทียมให้กับทุกคน ใครมีไอเดียดีๆ ก็เป็นผู้ประกอบการได้ทุกคน ไม่เช่นนั้นจะเกิดสภาพปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่เราก็เป็นห่วง ซึ่งในโลกดิจิตอล ปลาใหญ่มักกินปลาเล็ก ยกเว้นแต่เราต้องให้โอกาสเขา เราถึงเรียกรวมๆ ว่า ”เศรษฐกิจประชารัฐ” ที่ก็คือเน้นการสร้างความสามารถ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคน

                -ถ้าประชาชนเลือกพลังประชารัฐจากนโยบาย 7-7-7 เขาจะได้อะไร?

สิ่งที่ประชาชนจะได้ก็คือมีชีวิตที่ดีขึ้น เช่นมีโอกาส มีความหวัง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เขาจะมีรายได้ที่เพียงพอ ที่ก็จะมาจากการได้โอกาสมากขึ้น เช่นหากไม่มีที่ดินทำกิน ก็คือต้องทำให้เขามีที่ดินทำกิน เราถึงพูดเรื่อง ส.ป.ก.4.0 หรือการทำให้ครอบครัวเขาอบอุ่น ไม่ใช่ครอบครัวแบบแหว่งกลาง ที่พ่อแม่ต้องไปอยู่ในเมืองมาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วทิ้งลูกหลานให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เราถึงต้องสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้ทุกคนกลับไปพัฒนาบ้านเกิด แต่การให้เขากลับไปก็ต้องถามว่าแล้วมีงานให้เขาทำหรือไม่ มีโอกาสในการทำมาหากินหรือไม่ มีแหล่งน้ำหรือไม่ มีกองทุนพัฒนาชุมชนหรือไม่ ใกล้ๆ  ชุมชนมีโรงเรียนดีๆ มีโรงพยาบาลดีๆ หรือไม่ มีหมอคอยดูแลรักษาหรือไม่ นโยบายพรรคพลังประชารัฐ ถึงจะผลักดันให้เกิด 1 คน 1 หมอ มีทีมหมอครอบครัว

เราจะทำให้ประชาชนมีความหวัง มีความสุข มีชีวิตที่คนในหมู่บ้านอยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ นี้คือสิ่งที่ประชาชนจะได้ ที่เขาจะได้ด้วยนโยบาย 7-7-7 ภายใต้หลักสามแนวคิดใหญ่คือ สวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ สังคมประชารัฐ ตอบโจทย์แตกต่างกัน เช่นถ้าเป็นสังคมชนบท มีคนด้อยโอกาส เราก็จะเน้นเรื่องสวัสดิการประชารัฐ แต่ถ้าเป็นชนชั้นกลางเราก็ตอบโจทย์ด้วยเศรษฐกิจประชารัฐ หรือหากเป็นคนหนุ่มสาว พวกกลุ่มอายุสิบแปดปีถึงยี่สิบกว่า ก็จะเป็นเรื่องของโลกดิจิตอล เรื่องของการเป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพหรือเรื่องของการศึกษา

.7-7-7 จึงครอบคลุมทั้งสามกลุ่มใหญ่ๆ แต่ว่าทั้งหมดถักทอเข้าด้วยกัน บางเรื่องก็ตอบโจทย์เรื่องของคน แต่บางเรื่องของอนาคตเช่นการเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยในการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การทำมาหากิน พูดง่ายๆ ว่าองค์รวมความคิดของเรา ทางเราใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นตัวตั้ง

....เช่นดูว่าคนในอนาคตต้องการอะไร เช่นคนในอนาคตต้องการทำงาน การที่เขาจะทำงานได้เขาต้องมีองค์ความรู้ เมื่อทำงานแล้วจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เรื่องเหล่านี้เราได้นำมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะแตกต่างจากอดีตที่เราจะบอกกันว่าให้เรียนรู้ก่อนจากนั้นค่อยไปทำงาน แล้วจะใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างไร มันไม่ใช่ เพราะปัจจุบันมันเป็นวงจรเลย ภายใต้หลักคือเราต้องเรียนรู้ learning จากนั้นก็ working ทำงาน แล้วก็ living คือดำรงชีวิตอยู่ แต่ระหว่างนั้นเราอาจต้องเปลี่ยนงานเพราะทักษะที่เคยมีมันอาจเก่าเก็บ เพราะโลกมัน Disrupt เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ก็ต้อง learning อีก ก็ทำให้บางนโยบายเช่นการศึกษาของพรรคพลังประชารัฐ เราจึงมองเป็นองค์รวม คือมองเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ให้อยู่ด้วยกัน ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต บนหลักเรียนรู้แล้วต้องมีงานทำ

...พลังประชารัฐมองว่าเรื่องของคนเป็นเรื่องสำคัญ คือการทำให้คนมีหลักประกันที่ดีในชีวิต ในสามเรื่องคือ หนึ่ง-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นยามเกิดมีโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นเรื่องใหญ่ พรรคก็จะเน้นการต่อยอดบัตรทองของรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงการสร้างหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า เราจึงมีแนวคิด การเสริมทักษะ เพิ่มอาชีพ สร้างรายได้ ที่ก็คือเรื่องที่สาม การสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เช่นการการันตีรายได้ขั้นต่ำของแต่ละวิชาชีพควรเป็นเท่าใด เช่นบางคนบอกว่าอยากได้รายได้เท่านี้ แบบนี้ก็ต้องมีการฝึกฝนเรียนรู้มากขึ้น

-บางนโยบายเช่น การให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดถึง 8 ขวบ หรือการปลดหนี้ให้มีเงินออมภายใน 5 ปี ในทางปฏิบัติใช้งบประมาณมากแค่ไหน?

ทุกนโยบายของ 7-7-7 หลักคิดของพรรคพลังประชารัฐตั้งอยู่บนหลักว่าเราใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่นโยบายของพรรคเราทั้งหมดก็ตั้งอยูบนพื้นฐานสำคัญ คือเรื่องความสามารถในการหารายได้ของประเทศและวินัยการคลังด้วยเป็นสำคัญ อย่างเรื่องเด็กแรกเกิด เราเรียกว่า สวัสดิการถ้วนหน้า  มารดาประชารัฐ โจทย์ของเราพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่า เด็กไทยเกิดมาทุกคนต้องมีคุณภาพ คือในอนาคตเด็กจะน้อยลงอยู่แล้ว เมื่อน้อยลงงบประมาณที่จะนำไปใช้ก็น้อยลง จึงทำให้ก็มีงบประมาณเพียงพอในการทำให้เด็กมีคุณภาพ หลักคือตั้งครรภ์เมื่อใดก็ได้เงินช่วยเหลือเลย 3 พันบาทต่อเดือน เพราะเรามองว่าเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์คือทรัพย์สินของแผ่นดิน จะให้ไปจนคลอด และเมื่อคลอดแล้วก็ให้อีก 1 หมื่นบาท เพราะตอนคลอดมีค่าใช้จ่ายเยอะแยะเช่นค่าโรงพยาบาล และจะให้เงินให้เปล่าในการเลี้ยงดูบุตร เหมือนกับประเทศชาติฝากคุณเลี้ยงเพราะเราถือว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยเด็กแรกเกิดจะได้เดือนละ 2 พันบาทเป็นเวลา 3 ปี เพราะก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าผ้าอ้อม จากนั้นพอเด็กโตขึ้นมา ในช่วง 4-6 ปี แล้วก็จะมีเงินอุดหนุนเด็ก 1 พันบาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 ปี งบในส่วนนี้โดยรวมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อเด็กหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกับการทำให้เด็กไทยทุกคนโตมาอย่างมีคุณภาพ

ยิ่งปัจจุบันจากตัวเลขพบว่ามีเด็กแรกเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กเกิดประมาณ 7 แสนคนต่อปี และตกลงมาเรื่อยๆ ดังนั้นอย่างนโยบายนี้ไม่ใช่ประชานิยมแน่ๆ เพราะอย่างเด็กแรกเกิดจนถึงหกขวบ หากได้รับการเลี้ยงดูไม่ดีจะเสียโอกาสมาก ถ้าเราทำตรงนี้ลงทุนตรงนี้ดีๆ เด็กของเราจะกลายเป็นพลังของประเทศต่อไป

จึงเห็นได้ว่านโยบาย 7-7-7 เราจึงเป็นองค์รวม คือทำให้เด็กโตมาอย่างมีคุณภาพและอยู่ในครอบครัวอบอุ่น และอยู่ในชุมชนเข้มแข็ง เพราะหากชุมชนเข้มแข็งก็ฝากกันเลี้ยงได้

ส.ป.ก.4.0 ไม่ใช่โฉนดทองคำ

ถามถึงนโยบายที่ดินทำกิน เรื่อง ส.ป.ก.ที่ถูกพูดถึงกันมากก่อนหน้านี้ สุดท้ายตกผลึกกันหรือยังในพรรค ดร.สุวิทย์ ขยายความแนวคิดเรื่องนี้ที่เรียกว่า ส.ป.ก.4.0 ไว้โดยละเอียดว่า เรื่องนี้ใน พปชร.ตกผลึกแล้ว หลังจากตอนแรกเราไปฟังเสียงจากประชาชนที่เขาก็จะพูดแบบหนึ่ง แต่เวลาพรรคจะนำมาทำเป็นนโยบาย ก็ต้องคัดกรองว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้

 หลักง่ายๆ เรื่องนี้ พรรคเรียกว่า ส.ป.ก.4.0 ไม่ใช่โฉนดทองคำ แล้วจริงๆ ไม่ใช่โฉนดด้วย โดย ส.ป.ก.4.0 คือกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของรัฐทุกตารางนิ้ว ไม่ใช่ของประชาชน เพียงแต่สิทธิในการถือครองจะมาสู่ประชาชน เรื่องกรรมสิทธิ์จึงไม่ได้หมายถึงไปโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็ยืนยันว่าไม่ได้ แนวคิดเรื่องนี้คือต้องการให้มีการบริหารที่ดินเพื่อการเกษตรให้มากที่สุด

...เรื่อง ส.ป.ก.มีหลักอยู่ว่า กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของรัฐทุกตารางนิ้ว อีกทั้งมีนโยบายตามทวงคืนจากนายทุนเพื่อนำมาจัดสรรให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะอย่างปัจจุบันที่เวลาผ่านไป 30-40 ปี ก็มีคนที่ทำแล้วไม่ถูกต้อง นำไปให้นายทุนที่ยังครอบครองอยู่ ดังนั้นต้องมีการตามทวงคืนจากนายทุน นอกจากนี้ ต้องเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดิน เพื่อทำเรื่องการเกษตรกรรม คือจากที่ดินทั้งหมดประมาณ 40 ล้านไร่ พบว่าเหมาะที่จะใช้ในการเกษตรจริงๆ 30 ล้านไร่ ซึ่งมีทั้งแบบที่ว่าพร้อมแล้วและต้องไปพัฒนาพื้นที่เพิ่ม จะไปตอบโจทย์เกษตรประชารัฐ 4.0 ที่เป็นอีกหนึ่งนโยบายพรรคเราที่ต้องการให้เกษตรไปสู่ Smart farmers เป็นเกษตรยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมามีคนที่ได้สิทธิ์ที่เป็นชาวนา เกษตรกร แต่ปรากฏว่าเขาอายุเกิน 60 ปีจำนวนมาก พบว่ามีประมาณหนึ่งล้านครอบครัวหรือคิดเป็นประมาณ 1.4 ล้านไร่  ปรากฏว่าพวกนี้ทำไม่ไหวแล้ว อีกทั้งลูกหลานไม่อยากทำเกษตร ก็เป็นการเสียโอกาส ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้ เราก็มองว่าต้องเปิดให้มีการสละสิทธิ์เพื่อให้โอนสิทธิ์ให้กับผู้ต้องการทำการเกษตร โดยจากการเช็กตัวเลขพบว่ามีคนต้องการทำการเกษตร ที่อาจเป็นคนรุ่นใหม่อีก 3 แสนกว่ารายรออยู่ แต่ไม่มีที่ดิน คือ ก็มีคนที่ทำไม่ไหวแต่ทิ้งที่ดินไว้รกร้าง กับคนที่อยากได้

...โจทย์ของเรื่องนี้ก็คือ ต้องเปิดโอกาสให้คนสละสิทธิ์ และพร้อมกันนั้นก็จะต้องมีการเปิดโอกาสให้โอนสิทธิ์ให้กับคนที่ต้องการทำการเกษตร โดยเมื่อมีการโอนสิทธิ์ สำนักงาน ส.ป.ก.ก็จะมีการให้เงินส่วนหนึ่งกับเจ้าของสิทธิ์เดิมที่มีการทำพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว ให้นำไปใช้ทำอย่างอื่น ก็ทำให้คนที่เขาอยากคืนจะได้นำมาคืน ไม่เช่นนั้นเขาก็จะทิ้งที่เอาไว้เฉยๆ ส่วนคนที่ได้ก็จะเสียค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่ง

-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่พลังประชารัฐจะชูเป็นจุดแข็งของพรรคตอนหาเสียงเลือกตั้ง เวลานี้บางพรรคนอกจากประกาศไม่ยกเลิกแล้ว ยังจะให้เงินเพิ่มด้วย เช่นพรรคประชาธิปัตย์บอกจะให้เงินเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน?

ประชาธิปัตย์ตอนแรกเห็นบอกจะเลิกด้วยซ้ำ คือเรื่องนี้ต้องคุยกันบนหลักปรัชญาความคิดหลัก ไม่ใช่มาคุยกันที่ราคา ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นประชานิยม จะมาเติมเงินให้ แบบนี้ไม่ใช่ ลำดับแรกต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อน หลักของพลังประชารัฐคือสิ่งที่ดีซึ่งรัฐบาลทำไว้เราจะทำต่อ เช่นบัตรประชารัฐ ที่มาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยบางคนพบว่าก็ยังมีอีกมากไม่มีบัตร ยังตกหล่นอยู่  แคมเปญเราจึงต้องเพิ่มคน เพิ่มสิทธิ์ เพราะยังมีคนที่ไม่ได้จดทะเบียนตกหล่นอยู่มาก เราจึงจะสำรวจเพิ่มอีก จากปัจจุบันยอดอยู่ที่ 14 ล้านคน อาจต้องขยับถึง 17-20 ล้านคน ก็ต้องมาว่ากัน เราต้องให้โอกาสเขา ไม่ใช่จะมานั่งตัดราคากัน

บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลถือว่ามาถูกทางแล้ว ดังนั้นต่อจากนี้ก็จะเน้นขยายสิทธิ์ไปยังคนอีกหลายกลุ่ม เช่น คนสูงวัย คนพิการ สตรีมีครรภ์ กลุ่มแรงงาน เพื่อตอบโจทย์เพราะยังมีคนรอคอยอีกเยอะ

ถามให้เกิดความชัดเจนว่า นโยบาย 7-7-7 ที่อาจใช้งบประมาณมาทำพอสมควร จะมีความแตกต่างอย่างไรระหว่างประชารัฐกับประชานิยม ดร.สุวิทย์ อธิบายว่าคำว่า ประชารัฐ คือรัฐบวกกับประชา  คือเรามองว่าโลกในอนาคต ประเทศไทยจะขับเคลื่อนต่อไปได้ รัฐไม่ได้เก่งอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องใช้พลังทุกภาคส่วน คำว่าประชารัฐจึงเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งสวัสดิการประชารัฐหากดูจริงๆ ก็จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ เพื่อความเป็นรัฐสวัสดิการ เราก็เน้นไปที่กลุ่มคนด้อยโอกาสก่อน  จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจนทำให้ทุกคนได้หรือถ้วนหน้า หรือ Realfair State ที่เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยม สังคมประชารัฐ จึงนำไปสู่สวัสดิการประชารัฐ แต่เราก็ไม่อยากแบกเอาไว้ตลอดเวลา ก็ต้องเอาเรื่องที่มีสำคัญมีเหตุผล โดยเน้นที่สามเรื่องใหญ่ก่อน คือ สุขภาพ-การศึกษา-การมีงานทำ   

...ประชานิยมอาจต้องมีบ้างในโอกาสฉุกเฉินหรือเฉพาะหน้า แต่อย่าไปใช้ตลอดแล้วอย่าไปใช้อย่างเข้ม ที่ผ่านมาในอดีตไปใช้อย่างเข้ม แล้วใช้เปรอะเลย ทั้งที่ประชานิยมก็เป็นยาตัวหนึ่งที่ใช้รักษาแก้ตามอาการ แต่มีการไปใช้จนเป็นนโยบายใหญ่ของบางพรรคการเมืองที่มันไม่ถูกต้อง การทำแนวนโยบาย สวัสดิการประชารัฐ จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไปเปลื้องทุกข์เขา ทำให้เขาไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เช่นรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายบ้านล้านหลัง เราก็ต้องดูว่าจะขยายผลต่ออย่างไร เมื่อเป็นสิ่งดีๆ ทั้งหมด พลังประชารัฐเรายึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยดูว่าเขาขาดอะไร จะเติมเต็มอย่างไร ไม่ใช่การโปรยหรือไปแจกกันแบบชั่วครั้งชั่วคราว แบบนั้นพรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วย

พิมพ์เขียว Bangkok 5.0-Happy City

สำหรับพื้นที่เลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร ซึ่ง พปชร.ได้เปิดตัวนโยบายพรรค-ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตของ พปชร.ไปเมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับการชูนโยบาย Bangkok 5.0 ทางด้าน ดร.สุวิทย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงแนวนโยบาย Bangkok 5.0 ไว้ว่า กรุงเทพมหานครเป็น Global City เป็นมหานครระดับโลก พรรคจึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นมหานครแห่งความสุขหรือ Happy City ภายใต้แนวทางการกระจายโอกาส ความมั่งคั่งไปยังแต่ละเขตในกรุงเทพมหานครที่มีด้วยกัน 50 เขต หรือ Happy District เมื่อเป็น Happy District  

สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ก็คือประชาชน เป็น Happy Citizen ทั้งหมดคือการทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งความสุข ประชาชนมีความสุข ภายใต้นโยบาย Bangkok 5.0 เพราะกรุงเทพมหานคร ถ้าบริหารจัดการดีๆ มีคนดูแลดีๆ จะมีศักยภาพอีกมาก ซึ่งปัญหาที่เราเจอเช่น จราจร ขยะ ฝุ่น พรรคพลังประชารัฐจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความสุขที่แท้จริง เราก็มีนโยบายสำคัญๆ เช่น กรุงเทพฯ 5 จี หรือที่กรุงเทพฯ เคยถูกเรียกว่าเวนิสตะวันออก ก็ต้องทำอย่างไรเพื่อเรียกมันกลับคืนมา รวมถึงการทำให้ทั้ง 50 ของ กทม.มีความน่าอยู่ ถ้าเราทำให้เป็นเขตที่น่าอยู่ Happy District  กรุงเทพฯ ก็จะน่าอยู่เอง เช่นการทำให้ประชาชนอยู่ติดเขต โดยการให้ในแต่ละเขตมีโรงเรียน โรงพยาบาลที่ดี สวนสาธารณะที่ดี มีย่านการค้าในแต่ละเขต หรือการทำเรื่อง EV (Electric Vehicle-ยานพาหนะไฟฟ้า) เช่น รถกะป๊อสี่ล้อเล็กอีวี มอเตอร์ไซค์อีวี วิ่งตามเขตนั้นไปเลย

...ดังนั้นหากเราทำให้ทุกคนทำงานอยู่ที่บ้านได้ หรือ work from home เพราะระบบ 5G การมีโฮมสกูล ก็ทำให้คนอยู่ติดบ้าน ครอบครัวก็อบอุ่น แต่หากจะเดินทางก็ต้องให้เดินทางในระยะใกล้ ไม่ข้ามเขตกันมาก โดยทำให้การคมนาคมทั้งรถเรือมีการต่อเชื่อมกัน โดยหากเป็นไปได้การคมนาคมในอนาคตต้องเป็น EV หมด แต่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอีวี อย่างเรือก็ต้องเป็นเรืออีวีซึ่งตอนนี้ก็มีแล้วเรืออีวี แล้วลงไปในพื้นที่ต้องมีรถกะป๊อสี่ล้อเล็กอีวี มอเตอร์ไซค์อีวี แบบนี้ฝุ่นใน กทม.ก็หายแล้ว และยังมีอีกหลายแนวนโยบาย เช่นการทำให้มีรถไฟฟ้า 24 ชั่วโมง การทำให้แต่ละเขตมีพื้นที่เรียกว่า "ย่านนวัตกรรม-เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ก็จะทำให้ 50 เขตมีเสน่ห์ของตัวเอง เป็น Happy District 

ส่วน พปชร.จะได้ ส.ส.กทม.กี่คนในพื้นที่เลือกตั้งที่มีด้วยกัน 30 เขต รองหัวหน้า พปชร. กล่าวว่า  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้สมัครของพรรคก็มีทั้งคนที่มีประสบการณ์ เช่น อดีต ส.ก., อดีต ส.ข. รวมถึงคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมาก ก็เชื่อว่ามีสิทธิ์จะได้ ส.ส.อยู่ไม่น้อย ซึ่งพื้นที่เลือกตั้ง กทม.ปัจจัยการเลือกตั้ง  จะมีอยู่ 2-3 ปัจจัย คือตัวผู้สมัครกับนโยบาย ที่นโยบายพรรคพลังประชารัฐมองว่าต้องมีนโยบายสำหรับคนกรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพมหานครมีความหลากหลายหลายกลุ่ม มีทั้งคนที่มีรายได้น้อย คนชนชั้นกลาง คนหนุ่มสาว จึงเป็นเรื่องท้าทาย ที่ต้องดูว่านโยบาย 7-7-7 และ Bangkok 5.0 จะตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ หลังว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคได้รู้แล้วว่าประชาชนในแต่ละเขตเขามีปัญหาความเดือดร้อนอย่างไร จนมีการประมวลผลขึ้นมาให้พรรคได้รับรู้ ที่นำมาสู่การคิดว่านโยบาย 7-7-7  และ Bangkok 5.0

“ได้ความสงบ ความเข้มแข็ง ความหวัง ความสุข ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ ภายใต้หลักการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนแนวนโยบายสวัสดิการประชารัฐ  เศรษฐกิจประชารัฐ สังคมประชารัฐ ดังนั้นนโยบาย 7-7-7 จึงเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และตอบโจทย์สิ่งที่พรรคชูเสมอในเรื่องสานพลังประชาราษฎร์ คือทุกคนมีส่วนร่วม โดยการร่วมกันสร้างชาติให้ไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนโดยทั้งหมดต้องไปด้วยกัน" คือบทสรุปที่ ดร.สุวิทย์ทิ้งท้ายว่า หากประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐ พวกเขาจะได้อะไร.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

........................................................................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"