ระหว่างไดโนเสาร์กับกะปอม


เพิ่มเพื่อน    

 

                                         (1)

                คงต้องยอมรับเอาจริงๆ นั่นแหละว่า...โลกของคนรุ่นใหม่ กับ โลกของคนรุ่นเก่า มันออกจะเป็นอะไรที่ผิดแผก แตกต่าง กันจริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะใน สังคมไทย ของเราเท่านั้น แต่อาจเรียกว่า...ระดับ สังคมโลก เอาเลยก็ว่าได้ และส่งผลให้มุมมอง ทัศนคติ รสนิยม หรือแม้กระทั่ง ประสาทสัมผัส มันออกจะเป็นคนละเรื่อง คนละม้วน ยิ่งเข้าไปทุกที และนานวัน...ยิ่งเป็นอะไรที่ “ต่อไม่ติด” หนักขึ้นเรื่อยๆ...

                                                     (2)

                แม้แต่อันตัวข้าพเจ้าเอง...คงต้องสารภาพเอาตรงๆ ว่า ไม่มีแรงกระตุ้น แรงจูงใจ หรือไม่มีขีดความสามารถมากพอที่เพียงแค่จะฟัง เพลง ของพวกคนรุ่นใหม่ได้เลยแม้แต่น้อย ถ้าหากเป็นเพลงฝรั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็หยุดเอาไว้แค่ช่วง ซิกส์ตี้ เซเวนตี้ เอตตี้ อะไรประมาณนั้น ส่วนถ้าเป็นเพลงไทย ก็น่าจะหยุดเอาไว้ในช่วง ดิ อิมพอสสิเบิล แกรนด์เอ็กซ์ คาราวาน คาราบาว สาว-สาว-สาว ฯลฯ หรือไม่เลยไปกว่ารุ่นคุณพี่ ก๊อต จักรพันธ์ อาบครบุรี รุ่นไชยา มิตรชัย ฯลฯ มิบังอาจเลยไปไกลถึงรุ่น ลำไย ไหทองคำ ที่หนักไปทางท่าสะพานค้ง สะพานโค้ง โดยเด็ดขาด...

                                                        (3)

                หนัง หรือภาพยนตร์ก็เหมือนกัน...ถ้าหากเลยปี ค.ศ.2000 ขึ้นไป ก็มีแต่ต้อง บิดปุ่มหนี ไม่อาจ ทำใจ รับดู รับชม ได้เกินกว่า 15 นาที 20 นาที ไปซะทุกครั้ง ยิ่งเป็น วรรณกรรม ประเภทเรื่องสั้น นิยาย บทกวี ก็แทบไม่ต้องพูดถึง เลยไปกว่ารุ่น ชาติ กอบจิตติ รุ่น เฉินซัน ฯลฯ แล้ว แทบไม่เหลือแรงจูงใจใดๆ จะไปหาอ่านอีกเลย อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่แหละ...ที่ทำให้ตัวเองออกจะ ต่อไม่ติด กับบรรดาคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ต่างไปจากครั้งที่ตัวเรายังถูกจัดอยู่ในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ยังพอ ต่อกันได้ กับบรรดาคนรุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นตา รุ่นยายของตัวเรา ไม่ว่าในแง่การดูหนัง ฟังเพลง หรือยิ่งเป็นประเภทวรรณกรรมด้วยแล้ว สามารถย้อนยุคไปต่อสายกับอภิมหากวี อย่าง ศรีปราชญ์ ย้อนกลับไปซี้ดซ้าดกับการประดิษฐ์ คิดค้น ถ้อยคำ ฉันทลักษณ์ อันสุดแสนจะสลับซับซ้อน ไม่ว่าตั้งแต่ สามัคคีเภทคำฉันท์ ไปจนถึง “ลิลิตโองการแช่งน้ำ” โน่นเลย ฯลฯ....

                                                      (4)

                และเท่าที่ลองมานั่งสมาธิ ทบทวน ใคร่ครวญ ถึงเหตุผลที่ทำให้การ ต่อสาย ระหว่าง คนรุ่นใหม่ อย่างอันตัวข้าพเจ้าเอง กับ คนรุ่นเก่า ระดับรุ่นพระเจ้าเหายังใส่กางเกงหูรูด ยังพอมีโอกาสเป็นไปได้ หรือยังพอ ต่อติด ก็น่าจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ธรรมชาติ นั่นเอง ธรรมชาติที่ถูกนำมาผสมผสาน นำมาสอดแทรกอยู่ในเนื้อร้อง จังหวะ ทำนองเพลง อยู่ในฉาก ในซีน ในบทภาพยนตร์ ในจุดมุ่งหมายของหนังแต่ละเรื่อง อยู่ในเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี หรืองานวรรณกรรมแต่ละประเภท ฯลฯ ที่มันเป็น ธรรมชาติอันเดียวกัน ไม่ระหว่างคนยุคกรุงศรีอยุธยายังไม่ทันแตก กับคนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี หรือแม้แต่คนที่อยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างกันคนละซีกโลกก็แล้วแต่...

                                                    (5)

                อย่างไรก็ตาม...แม้ ธรรมชาติอันเดียวกัน ที่ว่านี้...จะดำรง คงอยู่ ตราบเท่าทุกวันนี้ ตลอดไปจนอนาคตเบื้องหน้า แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดามวลมนุษย์ในสังคมแต่ละสังคมช่วงหลังๆ ต่างหนักไปทาง ปฏิเสธ หรือไม่คิด ไม่พยายามที่จะ เข้าถึง สิ่งที่ว่าหนักขึ้นเรื่อยๆ การเติบโตขึ้นมา ท่ามกลางธรรมชาติ ที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการเติบโตขึ้นมา ท่ามกลางเทคโนโลยี ยิ่งเข้าไปทุกที จนส่งผลให้เสียงของสายลม ขุนเขา พงไพร ห้วยละหาน ลำธาร แสงแดด ฯลฯ ที่เคยสอดแทรกอยู่ในจังหวะ ทำนองเพลง หรือในสรรพสิ่งต่างๆ มันจึงวิวัฒนาการกลายเป็นเสียงของเครื่องไฟฟ้า เครื่องยนต์กลไก ชนิดที่ทำให้ คนรุ่นใหม่ ยุคหลังๆ เลยต่อไม่ค่อยติดกับผู้ที่เคยเป็นคนรุ่นใหม่ยุคก่อนๆ หรือบรรดา คนรุ่นเก่า ทั้งหลาย ชนิดแม้เป็นมนุษย์ด้วยกัน อยู่ภายใต้ธรรมชาติอันเดียวกัน แต่แทบไม่ต่างไปจากคนละสปีชีส์ กลายเป็น ไดโนเสาร์ กับ กะปอม อะไรทำนองนั้น คือถึงมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่ด้วยกระบวนการวิวัฒนาการ มันทำให้แทบกลายเป็นคนละเรื่อง คนละพันธุ์ ไปเลยก็ว่าได้...

                                                       (6)

                สิ่งเหล่านี้...มันจะสามารถแก้ไข เยียวยายังไงกันได้มั่ง อันนี้ต้องเรียกว่า...กลายเป็น โจทย์ เป็น คำถาม ตัวโตๆ สำหรับโลกทั้งโลกไปแล้วก็ว่าได้ ชนิดไม่ว่านักคิด นักปราชญ์ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก เขาถึงกับใช้คำเรียกว่าเป็น วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน (Unprecedent Crisis) ของมวลมนุษยชาติเอาเลยถึงขั้นนั้น และทำให้นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลก ที่ได้ชื่อว่ามีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ด้านกระบวนการวิวัฒนาการมนุษย์ ไปถึงระดับยีนส์ ระดับดีเอ็นเอ อย่างศาสตราจารย์ เจอรัลด์ คาบทรี (Gerald Crabtree) แห่งภาควิชาอายุรศาสตร์และการพัฒนาทางชีววิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ท่านเคยสรุปเอาไว้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่า...“เราต้องเริ่มต้นเผชิญกับวิกฤติดังกล่าว ด้วยการยอมรับความจริงว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กำลังบอกกับเราว่า วิธีที่ดีสุดในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ก็คือการอาศัย...ศีลธรรม...หรือการหันไปฟื้นฟูความดีงามในหมู่มวลมนุษย์ให้กลับคืนขึ้นมาให้จงได้...” แบบเดียวกับ ท่านพุทธทาสฯ ของเรานั่นแหละ คือต้องหาทางทำให้ ศีลธรรม อันมีที่มาจาก ธรรมชาติอันเดียวกัน หวนคืนกลับมาก่อนที่ โลกาจะวินาศ ไปกับเงื้อมมือของบรรดาคนรุ่นใหม่ล่าสุดทั้งหลาย...

                                -------------------------------------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"