35ปชป.ซบอกบิ๊กตู่ 5เด็กเฮียมิ่งก็ร่วมพปชร./อิทธิพรรับชงศาลหวังผ่าทางตัน


เพิ่มเพื่อน    

  "อิทธิพร" โอด 7 เสือ กกต.ถึงทางตัน ไปไม่เป็นคำนวณเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ เลยต้องโยนศาล รธน.ชี้ทางสว่าง เพื่อไทยตีกันไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยื่นได้ อนาคตใหม่ขู่ฟ่อ หากพบ กกต.มีเจตนาช่วยพรรคเล็ก มีสิทธิ์ติดคุก พปชร.เห็นเงียบๆ ดูดเรียบไม่เบา ทั้ง ปชป.และลูกพรรคมิ่งขวัญ ที่มาก่อนหัวหน้าพรรคแล้ว 5 เสียง หวังชนะตั้งแต่ยกแรกเลือกประธานสภาฯ 

    หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ ก็มีความเห็นตามมาหลากหลาย
    โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงมติ กกต.ดังกล่าว ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งเป็นวิธีที่สำนักงาน กกต.คำนวณ และสอดคล้องกับวิธีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญสามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีได้ครบ 150 คน แต่การอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) ที่กำหนดหลักการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะเกินกว่าที่พึงมีไม่ได้   โดยการจัดสรรในจำนวนที่ต่ำกว่า 0 อาจถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.จำเป็นต้องหาข้อยุติให้ชัดเจน แม้ว่าวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. จะจัดสรรได้ครบ 150 คน แต่อาจติดขัดต่อประเด็นว่าการจัดสรรนี้จะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ ส.ส.เกินพึงมีหรือไม่  
    ประธาน กกต.ยืนยันว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นวิธีดำเนินการเหมาะสม และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส. ร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะไม่ขอก้าวล่วงอำนาจวินิจฉัยของศาลว่าจะวินิจฉัยแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมนี้หรือไม่ ตามกรอบกำหนดวันประกาศรับรอง ส.ส.
    ประธาน กกต.ย้ำว่า กรณีที่สำนักงาน กกต.ออกมาเปิดเผยว่าจะมีอย่างน้อย 25 พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรว่าเป็นวิธีการคำนวณเบื้องต้น ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวิธีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอไว้ และมากำหนดเป็นมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งในมาตรา 91 วรรค 3 กำหนดว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และการคำนวณของสำนักงานก่อนหน้านี้เป็นการคำนวณจากคะแนนเบื้องต้นที่มีอยู่ของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ใช่คะแนนสุดท้าย ทั้งนี้ นอกจากวิธีการที่สำนักงานคำนวณมารวมถึงวิธีการอื่นก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
    นายอิทธิพรกล่าวด้วยว่า หากคำนวณตามวิธีการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน เพราะนำเศษทศนิยมมาคิด ทั้งนี้ ทราบมาว่าในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กรธ.นั้น ได้วางหลักคิดคำนวณไว้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ก่อน และเมื่อหารือกันแล้วเห็นพ้องกันว่าหลักคิดคำนวณดังกล่าวเป็นวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี จึงนำไปเขียนให้เป็นมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวิธีการคำนวณที่ กรธ.คุยกันจึงเป็นที่มาของมาตรา 91 ไม่ใช่มีการบัญญัติมาตรา 91 ก่อนและค่อยหาวิธีคำนวณ โดยในการร่างมาตรา 91 นั้น เหตุที่วิธีการคำนวณมีความยาว กรธ.จึงนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกแทน
     “ยังมีข้อถกเถียงกันถึงเลขทศนิยม ที่น้อยกว่า 1 เช่น 0.8 จะถือว่าเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีหรือไม่  เพราะศูนย์อยู่ข้างหน้า ผู้รู้คณิตศาสตร์บอกว่าเลขศูนย์ก็เป็นเลขที่นำมาคำนวณได้ แล้วอยู่ๆ จะไปตัดทิ้ง  ทั้งนี้ การคำนวณมาตรา 91 ในครั้งนั้นไม่มีใครคิดว่าจะมีพรรคใดได้จำนวน ส.ส.มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งวิธีการนี้ก็มีวิธีติดไว้ข้างฝานานแล้ว” ประธาน กกต.ระบุ
     ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดถึงไม่สามารถคำนวณตามเจตนารมณ์ได้อย่างเดียว ประธาน กกต.ระบุว่า เมื่อนำ 2 มาตรามาพิจารณา ซึ่งความจริงแล้วมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีที่มาจากมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมาตรา 91 อนุ 4 ตัวอักษรเขียนไว้เช่นนี้ ปัญหาเกิดขึ้นว่าจะต้องยึดสิ่งใด ซึ่ง กกต.คงต้องถือตัวอักษรที่ระบุในกฎหมาย ส่วนการตีความตามเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา 
    "ดังนั้นเมื่อตัวอักษรเขียนแบบนี้ คงถึงทางตันที่ไม่สามารถตัดสินในเรื่องนี้เองได้ จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัย เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ ซึ่งการที่ กกต.จะประกาศผลนั้น จะต้องมีความมั่นใจในเรื่องนี้ ว่าสิ่งที่เราจะดำเนินการขัดหรือไม่" ประธาน กกต.ระบุ
    ขณะที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่อยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีข้อที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก เหตุผลที่ กกต.อ้างเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้ออ้างของ กกต.ที่ว่ามีหลายพรรคมีจำนวน ส.ส.พึงมีได้ต่ำกว่าหนึ่งคน แต่เมื่อคำนวณตามมาตรา 128 (5) แล้วทำให้พรรคเหล่านั้นได้ ส.ส. 1 คน จึงอาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และ (4) ที่ห้ามจัดสรรที่มีผลให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.มากกว่าจำนวนพึงมีนั้น ประเด็นนี้เห็นว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อย่างเป็นขั้นตอนจะไม่มีข้อความส่วนใดขัดหรือแย้งกันเลย แต่ที่ กกต.เห็นว่ามีปัญหาเพราะ กกต.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเป็นหลัก แต่ไปเอาตามวิธีการที่สำนักงาน กกต.เสนอ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามความเห็นของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ กกต.ตั้งโจทย์แบบนี้ การคำนวณจึงผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปโทษว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตรงนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่าเมื่อกฎหมายให้ยึดจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนเป็นหลักแล้วนำไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคเพื่อหา ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ตามมาตรา 128 (2) แล้วเอาจำนวน ส.ส.พึงมีนั้นไปลบ ส.ส.เขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา 128 (3) เมื่อถึงตรงนี้ ต้องเข้าใจว่า หากพรรคใดมีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน (ต่ำกว่า 71,065 คะแนน) พรรคนั้นก็ไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมีมาตั้งแต่ต้น จึงถูกตัดตอนตั้งแต่ม.128 (2) แล้ว หลังจากนั้นการคำนวณต่อไปจะคิดเฉพาะพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีเท่านั้น โดย ม.128(4) ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามผลลัพธ์ตาม ม.128 (3) หมายถึงจัดสรรให้พรรคที่มีสิทธิจะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มี ส.ส.พึงมีและไม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม ม.128 (4) ทั้งนี้ ในการจัดสรรนั้นถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าส.ส.ที่พึงมี ก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกคือส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ แล้วเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคที่มี ส.ส.เขตต่ำกว่า ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี เมื่อพรรคเหล่านั้นไม่มีทั้ง ส.ส.เขตและส.ส.พึงมี ก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าจะทำให้พรรคนั้นมี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีหรือไม่ เพราะเขาไม่มี ส.ส.พึงมีมาแต่แรก ส่วนการจัดสรรตาม ม.128 (7) กรณีจัดสรรแล้วมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 คน กฎหมายให้คำนวณปรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ตามวิธีการที่กำหนดและในกรณีนี้กฎหมายก็เขียนชัดว่าเมื่อคำนวณตาม (5) แล้วมี ส.ส.เกิน ให้ทำอย่างไร เช่นกันพรรคที่คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ไม่อยู่ในข่ายได้รับจัดสรรตาม (5) และไม่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับจึงไม่อาจนำมาคำนวณตาม (7) ได้เช่นกัน 
    "หากตีความกฎหมายตรงไปตรงมา จึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตรงไหน และเมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคที่มี ส.ส.พึงมีและจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับตาม 128 (7) แล้วผลคำนวณก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ กกต.อ้างเลย" นายชูศักดิ์กล่าว 
    ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่สอง เรื่องที่ กกต.จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าปัญหาที่ กกต.อ้างดูเหมือนกับการจะขอคำอธิบายข้อกฎหมายกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ กกต.มีอำนาจในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจของตนเอง หากใช้อำนาจตามที่มีอยู่และพิจารณาไปตาม กม.ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าอาจยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าศาลเคยวางหลักว่าไม่มีหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูจากคำแถลงดูเหมือน กกต.จะตั้งประเด็นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ไม่เห็นประเด็นว่ามาตราไหนขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูคำร้องอย่างละเอียดกันอีกที 
    นายชูศักดิ์มองว่า เรื่องนี้ไม่ควรที่ กกต.จะปล่อยให้ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ กกต.เป็นผู้ใช้กฎหมาย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย จึงมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยตีความกฎหมาย และการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ควรชี้นำโดยอ้างสูตรคำนวณที่มีการเสนอต่อ กกต. แต่ควรอ้างวิธีการคำนวณตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นสำคัญ
    ส่วนท่าทีจากพรรคอนาคตใหม่ นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า 
ว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.โดยศักดิ์ของกฎหมาย ถือว่ารัฐธรรมนูญใหญ่ที่สุด ดังนั้น จึงไม่สามารถทำอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่ไม่ให้พรรคการเมืองได้ที่นั่ง ส.ส.สูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีได้ และ 2.โดยหลักกฎหมายของนานาอารยประเทศ เขาจะไม่ให้คนร่างกฎหมายมาตีความโดยเด็ดขาด แต่ต้องให้เป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการที่มีหน้าที่ในการตีความหรือองค์กรรัฐสภาในกรณีที่ใช้รัฐสภาในการวินิจฉัยกฎหมาย ฉะนั้นหน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงจบไปแล้ว
    นายชำนาญกล่าวว่า ตามปกติแล้ว การจะพิจารณารับคำร้องหรือคำฟ้อง ต้องเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อน ศาลจึงจะรับคำร้องหรือคำฟ้อง และโดยทั่วไป ศาลจะไม่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของใครเลย แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และองค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่ง กกต.ก็อยู่ในข่ายนี้ อย่างไรก็ตาม คำตอบของศาลเป็นการตอบหลักกฎหมาย จะไม่อธิบายลงรายละเอียดเป็นวิธีการ และถามแค่ไหนก็ตอบแค่นั้น ซึ่งสำหรับกรณีนี้ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 91 เป็นหลัก ส่วนวิธีปฏิบัติก็แล้วแต่ กกต.จะไปดำเนินการ ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เชื่อว่ากรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส.ในวันที่ 9 พฤษภาคม รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต
    เมื่อถามว่า หากสุดท้ายแล้ว กกต.ใช้สูตรคำนวณที่ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค อนค.มีจำนวนลดลง โดยการนำที่นั่งเหล่านั้นไปจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึงคะแนน ส.ส.พึงมีแทน นายชำนาญกล่าวว่า “มันเป็นอำนาจของเขา พูดตามตรง เราก็คงทำอะไรไม่ได้หากเขาตัดสินอย่างนั้น เราเป็นนิติรัฐ เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยตัดสินมาแล้ว ก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเขาทำไม่ดี ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีเจตนาที่จะช่วยพรรคเล็ก จึงจะเป็นคดีอาญาได้ ซึ่ง กกต.ชุดก่อนก็เคยติดคุกมาแล้ว” นายชำนาญระบุ
    ด้านความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล ในส่วนของขั้วพรรคพลังประชารัฐ มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า สำหรับความคืบหน้าการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐนั้น พรรคต้องการให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จนสามารถเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เลย คือเกิน 251 เสียง เพื่อสร้างความชอบธรรม และป้องกันการครหา ว่าใช้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาช่วยเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โดยขณะนี้คนในพรรคพลังประชารัฐกำลังเจรจารวมเสียง ส.ส.อยู่ ซึ่งถึงขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งการติดต่อไปที่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่า และพรรคเล็กที่ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง 12 พรรค และล่าสุดยังได้เพิ่มอีก 5 เสียงจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ตอบตกลงจะมาเข้าร่วม เพราะเห็นว่าหากต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชนจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเพื่อมาขับเคลื่อนตามที่ได้หาเสียงไว้ ส่วนตัวนายมิ่งขวัญนั้น ยังเจรจาเงื่อนไขกันอยู่ โดยให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พูดคุย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ 52 เสียงนั้น จะไม่มายกพรรค เนื่องจากสมาชิกทางฝั่งนายชวน หลีกภัย และคนรุ่นใหม่ในพรรคไม่เห็นด้วยกับการมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ว่าที่ ส.ส.ที่นำโดยนายถาวร เสนเนียม ยืนยันว่าจะมาและพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เบื้องต้นมีจำนวน 35 คน โดยถึงขณะนี้มั่นใจว่ามีเสียงมากกว่าฝั่งพรรคเพื่อไทยแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"