วัดสุทัศน์ พระอารามหลวงสำคัญใช้พิธีเสกน้ำอภิเษกรวม


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีที่แสดงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในโบราณราชประเพณี เป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยต่อเนื่องมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และสืบทอดมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์

      ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการจัดทำน้ำอภิเษกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบด้วยแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด 76 จังหวัด แหล่งน้ำจากสระ 4 สระของ จ.สุพรรณบุรี และแม่น้ำ 4 สายของ จ.นครนายก สระบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม และเพชรบุรี และแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านพิธีพลีกรรมตักน้ำจัดพิธีทำน้ำอภิเษกเวียนเทียนสมโภชพร้อมกันทั่วประเทศ และเก็บรักษา ณ ห้องดอกแก้ว ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

      โดยเวลา 06.30 น.ของวันที่ 18 เมษายน 2562 จะมีขบวนเชิญน้ำอภิเษกจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามฯ เพื่อทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัดขบวนเชิญฯ มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมเดินริ้วขบวนเชิญน้ำอภิเษกระยะทางรวม 740 เมตรอย่างพร้อมเพรียงและสมพระเกียรติ

 

 

      สำหรับฤกษ์เสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพฯ และ 76 จังหวัด พิธีประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์เจริญพระพุทธมนต์ และพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ วัดสุทัศน์ กำหนดเวลา 17.19-21.30 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส จากนั้นวันรุ่งขึ้น 19 เมษายนจะมีริ้วขบวนเชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศน์ไปวางในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเตรียมพร้อมในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. จะมีพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ก่อนจะเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

      ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดอีกพิธีหนึ่งของการที่พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี โดยเป็นการครองราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลก่อน พิธีเสกน้ำอภิเษกรวมที่วัดสุทัศน์ อยู่ในขั้นเตรียมพิธีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับน้ำอภิเษกจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์  108 แห่งจากกรุงเทพฯ และทุกจังหวัด จะต้องตั้งพิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพุทธสถานที่สำคัญที่สุดของจังหวัดก่อน เช่น จ.พิษณุโลก พิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระวิหารหลวงหน้าพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, กระบี่ ที่พระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม, จ.นครปฐม มีพิธีเสกน้ำที่พระวิหารหลวงวัดพระปฐมเจดีย์, จ.สุพรรณบุรี จัดพิธีเสกน้ำพระวิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร, จ.สระบุรี ประกอบพิธีเสกน้ำที่พระมณฑปรอยพระพุทธบาทวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร, จ.อยุธยา ประกอบพิธีเสกน้ำภายในวิหารพระมงคลบพิตร ฯลฯ เมื่อประกอบพิธีเสกน้ำครบทั้ง 108 แหล่ง แล้วจะเชิญน้ำอภิเษกมาประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามฯ กรุงเทพมหานคร อีกครั้ง เป็นพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม           

      “ เหตุที่ใช้วัดสุทัศน์ประกอบพิธี เพราะสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร เป็นวัดกลางเมืองและโปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยมาประดิษฐาน บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศน์ถือเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล เดิมพระราชทานนามว่าชื่อวัดมหาสุทธาวาส ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่าวัดสุทัศนเทพวราราม ชื่อนี้หมายถึงเมืองสุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทร์ ทรงสื่อเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทร์อินอโยธยา คำว่า “รัตน” แปลว่าแก้ว “โกสินทร์” คือพระอินทร์ หมายความถึงแก้วของพระอินทร์ แก้วสีเขียวนั้นแทนพระแก้วมรกต ราชธานีใหม่จึงเป็นเมืองของแก้วมรกต พิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจึงประกอบขึ้นที่วัดแห่งนี้ เป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์" ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิกล่าวถึงความสำคัญของวัดสุทัศน์ที่เกี่ยวข้องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

 

      ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิย้อนประวัติพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ฟังว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ในวันบรมราชาภิเษกในหลวง ร.9 ประทับมณฑปพระกระยาสนานข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เจ้าพนักงานไขสหัสธาราพระวรกาย สมเด็จพระสังฆราชถวายน้ำสรง ทรงรับน้ำด้วยพระหัตถ์ จากนั้นเสด็จทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ จากนั้นจึงเสด็จไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีพระที่นั่งภายในอยู่สองพระองค์ ได้แก่ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นพระที่นั่งแปดเหลี่ยม ทำจากไม้มะเดื่อปักสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรขาว 7 ชั้น และพระที่นั่งภัทรบิฐ

      “ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องบูรพาทิศเป็นปฐม พราหมณ์ถวายน้ำราชาภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษก แล้วทรงผินพระพักตร์ไปตามทิศต่างๆ จนครบทั้ง 8 ทิศ โดยเวียนขวา พราหมณ์จะถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น ซึ่งมีความหมายดังนี้ เดิมพระเจ้าแผ่นดินของอินเดียจะมีฉัตรกางเหนือพระเศียรหนึ่งคันไปปราบทิศทั้ง 8 ได้รวบรวม 8 แว่นแคว้นมาเป็นของพระองค์เอง เมื่อมารวมกับฉัตรของพระองค์อีก 1 คันจึงกลายเป็นฉัตร 9 ชั้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีบรมราชาภิเษก จากนี้จะเรียกขานพระองค์ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในรัชกาลที่ 10 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันสำคัญที่สุด" ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ กล่าวในท้าย และว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ที่ใกล้เข้ามา ขอเชิญชวนประชาชนหลอมดวงใจร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารคในวันที่ 5 พ.ค. และวันที่ 6 พ.ค. เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ร่วมน้อมถวายพระพรชัยมงคลทั่วประเทศให้ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน พระบารมียังความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรโดยพร้อมเพรียง

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"