ปล่อย‘บิ๊กตู่’เลือกส.ว.คนเดียว


เพิ่มเพื่อน    

 จิ้มเลือก ส.ว.รอบสุดท้าย "บิ๊กป้อม" ไม่ขอแตะ หวั่นเสียงวิจารณ์ ปล่อย "บิ๊กตู่" เลือกคนเดียว  ขณะที่รัฐสภาเตรียมรับ 250 สมาชิกวุฒิสภา จ่อใช้หอประชุมธรรมศาสตร์รองรับ 750 สมาชิกรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ด้าน กกต.มีมติสั่งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอีก 11 คน 

    เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ ที่มาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน โดยทันทีที่ ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ สำนักงานจัดเตรียมสถานที่เพื่อรับรายงานตัวที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น ขณะที่ในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ การมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา, การเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา นัดแรก เบื้องต้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนด
    เขากล่าวว่า การเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อเลือกประธาน ส.ว. 1 คน และรองประธาน ส.ว. จำนวน 2 คนนั้น ต้องรอการเรียกประชุม ซึ่งตามกฎหมายต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมก่อน จากนั้นถึงจะนัดประชุมได้ เบื้องต้นในการประชุมส่วน ของ ส.ว. เพื่อทำตามขั้นตอนนั้น จะใช้สถานที่คือหอประชุมบริษัททีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะเป็นการประชุมคนละเวลากับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน
    นายนัฑยังกล่าวถึงขั้นตอนการเลือกประธาน ส.ว.และรองประธาน ส.ว.ว่า จะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม คือให้ ส.ว.ที่อาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว ส่วนบุคคลที่จะถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งต้องมาจากการเสนอชื่อและให้สมาชิกร่วมลงคะแนน ทั้งนี้ ในการนับองค์ประชุมนั้นจะใช้ระบบนับจำนวนสมาชิกที่ยกมือโดยเจ้าหน้าที่ 
    ขณะที่การลงคะแนนจะใช้การลงคะแนนผ่านบัตรลงคะแนนที่ต้องลงรายละเอียด คือ หมายเลขประจำตัวสมาชิก ขณะที่บัตรลงคะแนนประกอบด้วยบัตรสีน้ำเงิน หมายถึง เห็นชอบ, บัตรสีแดง หมายถึงไม่เห็นชอบ และบัตรสีขาว หมายถึงงดออกเสียง ทั้งนี้การลงคะแนนผ่านเครื่องลงคะแนนเสียงนั้น ยังไม่มีความพร้อม ขณะที่วันและเวลาที่จะดำเนินการนั้นตนไม่สามารถระบุความชัดเจนได้ เนื่องจากในกรณีดังกล่าวต้องเป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าการคัดเลือกส.ว.จากจำนวน 400 คน ที่ผ่านกรรมการสรรหา ส.ว.ชุดที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน เพื่อส่งรายชื่อต่อให้หัวหน้า คสช.จิ้มเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 194 คน ไปรวมกับ ส.ว.โดยตำแหน่งอีก 6 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ในบทเฉพาะกาลนั้น ขั้นตอนขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่จาก คสช.เริ่มต่อสายไปเเจ้งกับผู้ผ่านเข้ารอบ 194 คน จากนั้นจะมีเอสเอ็มเอสส่งตามไปอีกครั้งว่า คสช.จะมีเอกสารสำคัญส่งอีเอ็มเอสด่วนไปให้ทางไปรษณีย์ 
จิ้มเลือก ส.ว.รอบสุดท้าย
    มีรายงานว่า จะเป็นเอกสารเพื่อให้ผู้ผ่านเข้ารอบกรอกประวัติยืนยันตัวตนส่งกลับภายในวันที่ 4 พ.ค. ทั้งนี้ ในโควตาของ สนช. มีบางส่วนได้รับข้อความอีเอ็มเอสบ้างเเล้ว 
    อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวอีกว่า การจิ้มเลือกส.ว.ในรอบสุดท้าย พล.อ.ประวิตรจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เลือกเพียงคนเดียว เพราะต้องการหลบกระเเสของวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้หัวหน้า คสช.คัดเลือก ส.ว.ในรอบสุดท้าย 
    อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบ จำไม่ได้แล้ว เมื่อถามว่าการคัดสรรรายชื่อ ส.ว.จนถึงขณะนี้เสร็จหรือยัง พล.อ.ประวิตรตอบว่า เดี๋ยวเสร็จ 
    เมื่อถามย้ำว่า มีรัฐมนตรีหลายท่านจะไปเป็น ส.ว.ด้วยหรือไม่ รมว.กลาโหมไม่ตอบคำถาม และรีบเดินไปประชุมทันที
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายชื่อ ส.ว.ที่ คสช.จะแต่งตั้ง หากมีชื่อบุคคลในคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างไร ว่าจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขอให้ช่วยจัดการให้มีคุณสมบัติถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ก่อนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย 
    ซักว่าคณะรัฐมนตรีมีใครไปเป็น ส.ว.หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า “ครม.ชุดนี้มีคนสำคัญเยอะ คงจะมีมั้ง ส่วนผมนั้นไม่ใช่คนสำคัญ”
    รองนายกฯ กล่าวถึงกรอบเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เดิมที่ กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. โดยเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 150 วัน แต่ทราบข่าวว่าจะประกาศเร็วขึ้น โดยประกาศผล ส.ส.ระบบเขตในวันที่ 7 พ.ค. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พ.ค. ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องยึดการประกาศผลอย่างเป็นทางการร้อยละ 95 ในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นวันประกาศผลครบร้อยละ 95 จะมีผลถึงวันรัฐพิธีเปิดประชุมสภาฯ ที่ต้องทำภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันประกาศผล และการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ส.ว.ต้องทำภายใน 3 วัน จากวันที่ 8 พ.ค.
    นายวิษณุกล่าวว่า ไทม์ไลน์การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตนไม่ทราบ ต้องขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลาตายตัว เนื่องจากสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากรัฐพิธีเปิดสภาคือ การประชุมของแต่ละสภาเพื่อเลือกประธานและรองประธาน ตนเคยให้ความคิดเห็นว่าควรมีการประชุมในวันเดียวกัน เพื่อความสะดวก แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ต่อไป
ยังไม่มีไทม์ไลน์เปิดสภา
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีภายในเดือน มิ.ย. นายวิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์หมายความถึงการมี ครม.ทั้งคณะ ตนตอบแบบชี้ชัดไม่ได้ แต่ถ้าวิเคราะห์จากกรอบเวลาต่างๆ แล้ว พอมีการโปรดเกล้าฯ ประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ โดยเร็ว จากนั้นนายกฯ ไปพิจารณาพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลและตั้งรัฐมนตรี ซึ่งคงจะล้ำไปในเดือน มิ.ย.แล้ว
    นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสข่าวการเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ในวันที่ 21 พ.ค. ว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดไทม์ไลน์ใดๆ เกี่ยวกับการเปิดประชุมรัฐสภา ตนและนายวิษณุไม่เคยคุยกันถึงเงื่อนเวลาการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาในวันที่ 21 พ.ค. รวมถึงวันเวลาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงหลังวันที่ 24 พ.ค. 
    ทั้งนี้ การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีจะเป็นวันใดนั้น ต้องรอให้ กกต.รับรองส.ส.ให้ครบ 95% ก่อน จากนั้นต้องรอพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก และต้องสอบถามพรรคการเมืองว่ามีความพร้อมในวันใดในการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีอำนาจกำหนดเอง ดังนั้นไทม์ไลน์ต่างๆ ที่ออกมาจึงไม่เป็นความจริง 
       นายสรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้สถานที่เลือกนายกฯยังคงใช้หอประชุมทีโอทีแจ้งวัฒนะตามเดิม ยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนสถานที่ประชุม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาและพรรคการเมืองจะหารือกันว่าจะใช้สถานที่ใด ส่วนตัวมองว่าหอประชุมทีโอทีมีความคับแคบเกินไป ไม่สามารถรองรับสมาชิกรัฐสภา 750 คนได้ แต่ในส่วนของห้องประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น มีสถานที่กว้างขวาง รองรับสมาชิกรัฐสภา 750 คนได้ เท่าที่เคยพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย ก็ยินดีให้ใช้เป็นสถานที่เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ติดปัญหาเรื่องที่จอดรถ ที่อาจจะต้องใช้พื้นที่สนามหลวงแทน 
    ส่วนการเตรียมความพร้อมในการรับรายงานตัวส.ส.นั้น ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีความพร้อมแล้ว สามารถรับรายงานตัวได้ทันทีที่ กกต.ประกาศให้การรับรอง ส.ส. โดยเตรียมสถานที่ชั้น 4 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ฝั่งติดกับบริษัท  บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นสถานที่รับรายงานตัว ส.ส.
    สำนักงาน กกต.เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า กกต.มีมติสั่งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 11 คน ประกอบด้วย นายอธิป แท่นรัตนกุล ผู้สมัครเขต 4 นนทบุรี, นายวัฒนา เทพน้ำทิพย์ เขต 1 นนทบุรี, น.ส.พรสุปรีฐ์ บุปผานนทพัฒน์ เขต 6 นนทบุรี, นายสมพงษ์ รัตนัง  เขต 8 จ.ขอนแก่น พรรคพลังไทยรักไทย 
ร้องยุบพลังประชารัฐ
    ขณะเดียวกันยังพบว่ามีพรรคอื่นด้วย คือ นายสุทัศน์ สัตย์แสง พรรคพลังปวงชนไทย เขต 4 จ.สุรินทร์, นายธนัท วัฒนะสิริโชค พรรคประชาธรรมไทย เขต 1 นครราชสีมา, นายวัชระ วัชระกวีศิลป์ พรรคพลังชาติไทย เขต 4 จ.ร้อยเอ็ด, นายเคน วิเศษสุนทร   พรรครวมใจไทย เขต 1 จ.หนองคาย เนื่องจากขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค โดยไม่ให้นำคะแนนของผู้สมัครเหล่านั้นไปใช้ในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์   
    นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบผู้ที่ขาดคุณสมบัติเพิ่มเติมคือ นายบุญชู แก้วกระจ่าง พรรคพลังชาติไทย เขต 4 จ.ราชบุรี เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน และไม่ได้เป็นผู้ร่วมกันจดจัดตั้งพรรคการเมือง,  นายณัฑฐภณ ฉิมอินทร์ พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 7เขต 2 จ.สมุทรสาคร เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ, นายสำเร็จ วงศ์ศักดา พรรคชาติพัฒนา หมายเลข 3 เขต 13 จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 
    อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครทั้งหมดไม่ชนะการเลือกตั้งส.ส.ในแต่ละเขต แต่คะแนนของทั้ง 11 คนรวมกันแล้วมีประมาณ 12,292 คะแนน ซึ่งจะถูกนำไปหักออกจากคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่งผลให้คะแนนค่าเฉลี่ยของ ส.ส. 1 คนลดลง
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ กกต.จะยึดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมี 27 พรรคการเมืองได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง กกต.ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ พรรคเพื่อไทยมองว่าวิธีการคำนวณดังกล่าวไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก หากเป็นเช่นนั้น พรรคจะดูว่ามีวิธีการโต้แย้งอะไรอย่างไรได้บ้าง เช่น การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ส่วนความรับผิดชอบส่วนบุคคลนั้น กำลังพิจารณาอยู่เช่นกัน คือร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. หรือฟ้องเป็นคดี เพื่อให้บุคคลต้องรับผิดชอบการกระทำตองตัวเอง
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ กรณีกรรมการบริหารพรรคถือหุ้นธุรกิจสื่อ นายชูศักดิ์กล่าวว่า พรรคกำลังติดตามดูว่า กกต.จะตัดสินใจเรื่องดังกล่าวอย่างไร หวังว่า กกต.จะพิจารณาด้วยความรวดเร็ว เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.โดยตรง
ร้องเลือกตั้งใหม่นครปฐมเขต 1
    ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดนครปฐม น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จ.นครปฐม พร้อมด้วยนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน จ.นครปฐม เขต 1 ต่อเจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดนครปฐม โดย น.ต.ดำรงศักดิ์ มั่งลิ้น หัวหน้างานสืบสวนสอบสวนรับเรื่อง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแม้จะมีการนับคะแนนใหม่ทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งดังกล่าวในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แต่ทางพรรคอนาคตใหม่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง และถ้านับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไป พบว่าผลคะแนนการเลือกตั้งของเขตนี้มีการเปลี่ยนแปลง พลิกไปมาถึง 5 ครั้ง ซึ่งไม่สามารถหาคะแนนที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ 
    น.ส.สาวิกากล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้วันนี้ตนเดินทางมายัง กกต.เขตจังหวัดนครปฐม เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม อย่าให้กรณี จ.นครปฐม เขต 1 เป็นโดมิโนตัวแรกที่ทำลายความน่าเชื่อถือผลการเลือกตั้งทั้งประเทศ ยังมีโอกาสสำหรับ กกต.ที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งเรื่องการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วย การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้งซ่อมที่โปร่งใส เป็นธรรม ในเขตที่มีข้อเท็จจริงว่าการเลือกตั้งมีปัญหา เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า กกต.ยังสามารถทำงานรับใช้ประชาชนและผดุงระบอบประชาธิปไตยได้
    ที่โรงแรมจันทร์เพลส จ.นครปฐม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการนับคะแนนใหม่ที่ จ.นครปฐม เขต 1 ในวันที่ 28 เม.ย.ว่า การนับคะแนนใหม่ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย มีประชาชนหลายคนเข้าใจผิดว่าเราแพ้แล้วพาล หรือ ไม่ยอมรับผล เพราะไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะ จำนวนส.ส.พึงมีก็มีจำนวนเท่าเดิม ชนะที่นี่เท่ากับปาร์ตี้ลิสต์หายไป 1 คน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ กระดานรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องพาล สิ่งที่เรายืนยันเรื่องการควรจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะความเป็นธรรมจากความผิดปกติที่เกิดขึ้น กรณีจำนวนบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมากว่า 30 ใบ อยู่ๆ กลุ่มคนที่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเมื่อวันที่ 24 มี.ค. และวันที่ 28 เม.ย. ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ตัวเลขเปลี่ยนไปได้อย่างไร เรื่องนี้ กกต.ไม่เคยออกมารับผิดชอบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 7 (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
    ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง แต่เพื่อประกอบการพิจารณา จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 วรรคสาม ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และให้เลขาธิการวุฒิสภา จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 7 พ.ค. โดยได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 8 พ.ค.62 เวลา 09.30 น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"