พปชร.แจกเก้าอี้รมต. กกต.เคาะ149ปาร์ตี้ลิสต์‘พท.-อนค.’ดิ้นขู่ฟ้องศาล


เพิ่มเพื่อน    

 ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์สูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ส.ส.มาตรา 128 ไม่ขัด รธน.มาตรา 91 ชี้เป็นรายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีคิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.ครบ 150 กกต.ประกาศรับรอง 149 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 26 พรรค ทำให้ 11 พรรคเล็กได้พรรคละ 1 ที่นั่ง ขณะที่ "อนค.-พท." ทำตัวเป็นศาลเสียเอง ซัดกกต.นำคะแนนพรรคที่ได้ต่ำกว่า 7.1 หมื่นมาคำนวณไม่ชอบด้วย รธน. ขู่ฟ้องทุกช่องทาง โวยทำให้ฝ่ายปชต.เหลือ 240 เสียง รองเลขาฯ กกต.ไม่หวั่น ยันทำหน้าที่ตามกฎหมาย พปชร.มั่นใจได้เป็นรัฐบาลชัวร์ๆ   เตรียมเกลี่ยเก้าอี้ ครม.แบ่ง ภท.-ปชป. พรรคละ 6 ที่นั่ง "สมคิด" คุมเศรษฐกิจ "ป้อม-ป๊อก" ยังอยู่ที่เดิม  

    เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความคิดเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมแถลงด้วยวาจา และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ และคิดอัตราส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 วรรคหนึ่ง (2)
    แม้บทบัญญัติ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีการบัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีคำนวณ คิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรครบ 150 คน ตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแล้ว จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับให้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
    ขณะเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ศาล รธน.ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่วินิจฉัยว่ามาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดกับมาตรา 91 ของ รธน.เท่านั้น กกต.สามารถนำฐานของกฎหมายทั้ง 2 มาตรามาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรา 91 คือห้ามเกิน ส.ส.พึงมี แต่ละพรรคจะนำคะแนนที่ต่ำกว่า 71,000 มาคำนวณไม่ได้ ดังนั้นจะมีเพียง 16 พรรคที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. ส่วนสูตรที่มี 27 พรรคไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะวินิจฉัยเช่นใด ซึ่งหากพรรคการเมืองเสียหายโดยตรงมีว่าที่ ส.ส.แล้วไม่ได้เป็น ส.ส. ก็อาศัยช่องทางตามกฎหมายฟ้อง กกต.ได้
    "ถ้าใช้สูตร 27 พรรค จะทำให้พรรคอนาคตใหม่เสียที่นั่ง ส.ส.ไปประมาณ 7-8 ที่นั่ง หรือคิดเป็นคะแนนดิบหายไป 6 แสนคะแนน ส่วนว่าที่ ส.ส.พรรคอื่นก็หายไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย หากรวมคะแนนดิบของทุกพรรคที่หายไปแล้ว จะหายไปเกือบ 1 ล้านคะแนน ส่วนพรรคเล็กได้แค่ 3-6 หมื่นคะแนน กลับได้ ส.ส. นอกจากนี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก่อนหน้านี้รวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 251 เสียง แต่หากใช้สูตร 27 พรรค จะทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเหลือประมาณ 240 กว่าเสียง" นายปิยบุตรกล่าว
    ด้านพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์คัดค้านวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กกต. ระบุว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า ม.128 ของ พ.ร.ป.ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.91 ก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่ากกต.สามารถที่จะคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. หนึ่งคนได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน รธน.ม. 91 กล่าวคือ 1.พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส.หนึ่งคน (ประมาณ 70,000 คะแนน) 
พท.-อนค.ฟ้อง กกต.ทุกทาง
    2.พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนย่อมไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมี และไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะตาม รธน.มาตรา 91 (4) ประกอบมาตรา 128 (4) แห่ง พ.ร.ป.ส.ส. ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับเท่านั้น 3.หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ม.91 (4) และ ม.128 (5) แห่ง พ.ร.ป.ส.ส. ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการจัดสรรส.ส. ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อจำนวน ส.ส.หนึ่งคน ไม่มี ส.ส.พึงมี หากมีการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคดังกล่าวจะมีผลให้พรรคนั้นมีจำนวน ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีซึ่งจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงขัดต่อ ม.128 (5) แห่ง พ.ร.ป.ส.ส.ด้วย 
     "การดำเนินการดังกล่าวมาของ กกต.ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ส.ส. กกต.ได้รับทราบข้อท้วงติง ข้อทักท้วงของพรรคการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม “สูตรแจกพรรคเล็ก” และได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว  ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย จึงเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมาของ กกต.เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อ กกต.ในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป" แถลงการณ์ระบุ 
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิแดตนายกฯรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคการเมืองจะมี ส.ส.เกินกว่า ส.ส.พึงมีไม่ได้ เพราะหากดูจากวิธีคำนวณคะแนนพึงมีของคนที่ได้คะแนนมากกว่า 30,000 จะมี ส.ส.พึงมีแค่ 0.5 คน ดังนั้นหากจะปัดคะแนนขึ้นไปเป็นหนึ่งคนซึ่งจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน นอกจาก พ.ร.ป.จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วการคำนวณออกมาโดยผลลัพธ์ก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ซึ่ง กกต.จะไปสรุปว่า พ.ร.ป.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วการคำนวณก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน หากยืนยันที่จะประกาศผลคะแนนพึงมีให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,000 คะแนนได้ที่นั่งไปนั้น กกต.จะตอบสังคมและผู้เสียหาย ซึ่งก็คือพรรคการเมืองที่สูญเสียที่นั่ง ส.ส.จากการคำนวณไปให้ได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  
    เวลา 19.00 น. ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตรแสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายปิยบุตรกล่าวย้ำว่า การใช้วิธีการที่ กกต.ใช้ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสียหายโดยตรง 600,000 คะแนน ถูกทิ้งน้ำไปหมด และยังมีคนที่เราคาดหวังว่าจะเป็น ส.ส. หายไป 7 คน เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาช่องทางในการดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1.ยื่นคำร้องไปยัง กกต. เสนอให้ กกต.เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 210 (2) เพื่อให้ศาลวินิจฉัย 2.ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ที่ระบุว่า บุคคลใดที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น มีสิทธิยื่นเรื่องฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ หากจะฟ้องตรง ต้องเริ่มจากการใช้ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากผู้ตรวจไม่ส่งเรื่องต่อ คนที่เริ่มร้อง สามารถส่งเรื่องด้วยตนเอง ซึ่งเรายืนยันว่าจะทำทั้ง 2 วิธี  เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้สูตรคำนวณแบบ 27 พรรคนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  
ปลุก ส.ส.ปิดสวิตช์ ส.ว.
    นายธนาธรกล่าวว่า ขอเสนอให้นำข้อเสนอที่เราพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง คือการปิดสวิตช์ ส.ว.กลับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แล้วช่วยกันกดดันทำให้เกิดขึ้นจริง เราสามารถเลือกนายกฯ ได้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยปิดสวิตช์ไม่ให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งไม่ได้มาจากประชาชนสามารถทำงานได้ ซึ่งพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ได้ไม่ถึง 126 เสียง ทำให้การปิดสวิตช์ส.ว.เป็นไปได้ เพราะพรรคการเมืองนอกจาก 3 พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะมีเสียงรวมกัน 378 เสียงในสภา
    เมื่อถามถึงเรื่องความมั่นใจในการตั้งรัฐบาลของพรรคประชารัฐ นายธนาธรกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคพรวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป รวมกันได้เพียงแค่ 121 เสียง ซึ่งยังห่างไกลกับ 250 เสียงอีกมาก แม้จะใช้สูตร 27 พรรค หรือมีการพยายามผลักดันให้เสียงของพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้มากขึ้นก็ตาม การจะข้ามเส้นนี้ได้ ต้องรวมให้ได้ 20 พรรคการเมืองให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยังเชื่อว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองหลายพรรคได้พูดจาหาเสียงให้กับประชาชน ซึ่งในวันนี้ได้เวลายืนยัน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน พวกเราร่วมมือกันพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้”
    ถามว่ายังยืนยันจะสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า วันนี้ผลออกมาชัดเจนแล้ว เรารู้ว่าพรรคใดได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นเราจะให้เกียรติพรรคนั้นเป็นผู้กำหนดการจัดตั้งรัฐบาล 
    ช่วงค่ำ ภายหลังสำนักงาน กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 349 เขตไปแล้ว ในวันนี้ กกต.ได้รับผลรวมคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต และได้คำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่จะจัดสรรให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 91 และ 93 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 22 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. 2560 มาตรา 129 ประกอบ 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย  พรรคพลังประชารัฐ 18 คน, พรรคอนาคตใหม่ 50 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน, พรรคภูมิใจไทย 12 คน, พรรคเสรีรวมไทย 10 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน , พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน, พรรคประชาชาติ 1 คน,พรรคเพื่อชาติ 5 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน, พรรคชาติพัฒนา 2 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน, พรรคพลังชาติไทย 1 คน
    นอกจากนี้มีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.พรรคละ 1 คน อีก 11 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม 
    สรุปรวม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับการประกาศรับรองทั้งสิ้น 149 คน จากทั้งหมด 26 พรรคการเมือง 
    เวลา 18.30 น. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. แถลงว่า กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และมาตรา 129 ซึ่งกรณีที่ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.ให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตามมาตรา 128 (7) ได้บัญญัติให้คำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคการเมืองจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปจนครบ 150 คน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณ และการคิดอัตราส่วน โดยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สามารถรับหนังสือรับรองการได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ส.ส.6/5) นับแต่วันที่ออกประกาศ คือวันที่ 8 พ.ค. เป็นต้นไป เวลา 08.30-16.30 น. ที่สำนักงาน กกต. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
เปิดสูตรคำนวณบัญชีรายชื่อ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า สูตรดังกล่าวเป็นสูตรเดียวกับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือไม่ นายแสวงไม่ตอบ โดยกล่าวเพียงว่า เป็นไปตามกฎหมาย ถามต่อว่ากังวลหรือไม่ว่าจะถูกร้องเรียนภายหลัง เนื่องจากมีพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. นายแสวงกล่าวว่า กกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้  
    เมื่อถามย้ำถึงเหตุผลที่ใช้สูตรคำนวณดังกล่าว นายแสวงกล่าวว่า ถ้าดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะบอกว่ากรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้ใช้วิธีการที่คำนวณที่กำหนดไว้ในมาตรา 128 (3) (4) (5) (6) (7) ซึ่งจัดสรรให้ทุกพรรคการเมือง และมาตราดังกล่าวก็ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบของรัฐธรรมนูญ กกต.จึงพิจารณาไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยวันนี้ทางสำนักงานได้เสนอไปเพียงสูตรเดียว โดยไม่มีเหตุผล เพราะเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าสูตรนี้ถูก ก็ไม่มีสูตรอื่น สำนักงานเสนอแบบนี้ไปแบบเดียว เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นแบบอื่น 
    ส่วนกรณีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ จะต้องนำผลคะแนนมาคำนวณใหม่หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า การประกาศผลวันนี้ เป็นกรณีที่ประกาศไม่ครบทุกเขต จึงต้องคำนวณตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 129 เมื่อการเลือกตั้งเขต 8 จ.เชียงใหม่เสร็จสิ้น และประกาศรับรอง ส.ส.แล้ว ก็จะต้องนำผลคะแนนมาคำนวณใหม่ และสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ซึ่งกฎหมายได้เขียนรับรองไว้แล้ว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิธีการคำนวณที่ กกต.นำมาคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองทั้ง 26 พรรค โดยคิดจากผลคะแนนที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใน 349 เขตเลือกตั้ง รวม 74 พรรคการเมือง เป็นคะแนนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน ซึ่งเมื่อ กกต.ประกาศ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 349 เขต จึงต้องนำ 349 มาหาร จำนวน ส.ส.เขตเต็ม 350 จะได้ค่าเฉลี่ย 0.9971 จากนั้นนำจำนวนดังกล่าวมาคูณด้วย ส.ส.ทั้งสภาคือ 500 คน จะได้จำนวน ส.ส.ที่จะประกาศผลทั้งหมด 498.5714 คน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม จึงเหลือ 498 คน เมื่อหัก ส.ส.เขต 349 จึงเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน  
    จากนั้นนำคะแนนรวมที่ 74 พรรคการเมืองได้รับคือ 35,441,920 มาหารด้วย 498 คน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนน แล้วนำจำนวนดังกล่าวมาหารคะแนนรวมของแต่ละพรรค ก็จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีเบื้องต้น จากนั้นนำจำนวน ส.ส.พึงมีเบื้องต้น ไปลบกับ ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้รับ ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้ในเบื้องต้น เมื่อรวมแล้วพบว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้ในเบื้องต้นเกินเป็น 174.2629 คน ซึ่งถือว่าเกินจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะจัดสรรแค่ 149 คน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีได้ ดังนั้นจึงต้องนำมาปรับและใช้การคำนวณใหม่ 
    โดยนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้ในเบื้องต้นมาคูณด้วย 149 แล้วหารด้วย 174.2629 ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรับให้เหลือ 149 คน ซึ่งจะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนเต็มก่อน ส่งผลให้การจัดสรรรอบแรกมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15 พรรคการเมือง เมื่อรวมแล้วจะจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพียง 129 ที่นั่ง ยังขาดอีก 20 ที่นั่ง จึงต้องนำเศษทศนิยมมาจัดสรรให้พรรคการเมือง โดยเรียงตามคะแนนทศนิยมจากมากไปหาน้อยจนได้ครบ 20 ที่นั่ง ซึ่งก็จะมีผลให้พรรคอนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ และประชาชาติ ซึ่งได้รับการจัดสรรในรอบแรกไปแล้ว ได้รับการจัดสรรเพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคละ 1 คน อีก 11 พรรคการเมือง
ส.ส.เขตรายงานตัว
     วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. บรรดา ส.ส.ใหม่ แบบแบ่งเขต ที่ กกต.ได้ประกาศรับรองไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ได้ทยอยเดินทางมารับหนังสือรับรองการเลือกตั้ง ที่สำนักงาน กกต.กันอย่างคึกคัก เพื่อนำใบรับรองไปรายงานตัวที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาคารัฐสภา (เกียกกาย) อาทิ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. เป็นต้น
    โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้มาตรวจความเรียบร้อยการรับมอบหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่บริเวณห้องประชุม 201 และให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงาน กกต. จะเปิดให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต มารับหนังสือรับรองได้จนถึงวันที่ 11 พ.ค.นี้ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ เมื่อ ส.ส.ได้รับเอกสารแล้ว ก็สามารถนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปรายงานตัวที่สภาได้ทันที
     ทั้งนี้ มีผู้มารับใบรับรอง ส.ส.เพื่อไปรายงานตัวที่สภา แล้วรวม 2 วัน จำนวน 88 คน 
     วันเดียวกัน เวลา 08.30 น. ที่รัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับการรับรายงานตัว ส.ส.ชุดที่ 25 เป็นวันแรกภายหลังจากที่สำนักงาน กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดย ส.ส.คนแรกที่เดินทางมารายงานตัวได้แก่ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เวลา 06.29 น. และเซ็นชื่อรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เป็นแรก ในเวลา 08.09 นาที โดยนายอุบลศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้ถือฤกษ์ถือยามอะไร แต่เมื่ออาสาเข้ามาเป็น ส.ส.แล้วก็ต้องพร้อมทำงานให้ประชาชนตลอดเวลา 
    ต่อมาเวลานายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค พปชร. เข้ารายงานตัว พร้อมยอมรับว่าหากพรรคจะเสนอชื่อตนเพื่อดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาพร้อมอาสาเข้าปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่าประสบการณ์ทำงานในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 9 ปี จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ตนได้ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีประเด็นที่หนักใจคือ การแสดงความคิดเห็นและการอภิปรายของสมาชิกที่มีความเป็นอิสระ และปราศจากการครอบงำของบุคคลหรือพรรคการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้ ดังนั้นการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมอาจยุ่งเล็กน้อย จึงไม่อยากให้ใครเรียก ส.ส.ที่ไม่ปฏิบัติตามมติพรรคว่างูเห่า เพราะเขาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ใช้มีสิทธิแสดงความเห็นและออกเสียงได้โดยอิสระ ดังนั้นหากสื่อมวลชนเรียก ส.ส.ว่างูเห่าอาจถูกฟ้องได้
    กระทั่งเวลา 16.30 น. ปรากฏว่ามี ส.ส.มารายงานตัวทั้งสิ้น 31 คน โดยคนสุดท้ายคือ นายมนัส พรหมเผ่า ส.ส.จังหวัดพะเยา พรรค พปชร. 
    ส่วนความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลทางฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ รอเพียงการประกาศการนับคะแนนและรับรองผล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลทันที โดยเวลานี้แกนนำของพรรค พปชร.เชื่อว่าคะแนนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมีถึง 256 เสียงแล้ว โดยการจัดโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเวลานี้ ถูกแบ่งเป็นหลายส่วนคือ สัดส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. คาดว่าจะมี 4 ที่นั่งหลักในกระทรวงสำคัญ คือ เก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์, เก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, เก้าอี้ รมว.มหาดไทย ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และเก้าอี้รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะที่พรรคพปชร.จะถูกแบ่งโควต้าออกเป็นของกลุ่ม 4 อดีตรัฐมนตรี กลุ่มสามมิตร และกลุ่ม กทม. 
พปชร.จัดสรรเก้าอี้ ครม.
    อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 พ.ค. จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค พปชร.เป็นครั้งแรกหลังจากงานราชพิธีในเวลา 11.00 น. ที่ชั้น 5 ที่ทำการพรรค ซึ่งหาก กกต.มีมติรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 9 พ.ค.ว่าที่ ส.ส.ในกลุ่มสามมิตรจะเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส.ที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย ในเวลา 09.30 น. นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย นอกจากนี้ว่าที่ ส.ส.จะเดินทางรายงานตัวครบทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ เพราะในวันที่ 14-15 พ.ค. จะมีการสัมมนา ส.ส.ของพรรคทั้งหมดอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เพื่อแนะแนวและทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ที่โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา จ.ชลบุรี 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น ในส่วนของพรรค พปชร. ผู้ที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี คือ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ประธานยุทธศาสตร์ กทม., นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้ง, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รองหัวหน้าพรรค, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ, นายอนุชา นาคาศัย ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง เป็นต้น ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่
    ขณะที่พรรคร่วมอื่นๆ อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้พรรคละประมาณ 6 เก้าอี้ ทั้งรมว.และรมช.คละเคล้ากันไป ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ 1 เก้าอี้ รมว.และ 1 รมช. นอกจากนี้ยังมีส่วนของพรรคเล็กที่จะรวมกลุ่มกันมาเพื่อต่อรองเก้าอี้ด้วย ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค,  นางนาที รัชกิจประการ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ แกนนำพรรค ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค และนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ยังรอการเลือกผู้นำพรรคให้เสร็จสิ้นก่อน โดยพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่ามติของพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ และที่ผ่านพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าโดยมติพรรค ไม่เคยมีงูเห่า
    สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯ ได้รับการยืนยันจากแกนนำพรรคว่ามีการวางตัวนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่มีความใกล้ชิดกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ มาแล้ว จึงมีประสบการณ์ และมีความอาวุโสทางการเมืองจึงน่าจะทันเกมการเมือง อีกทั้ง ตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญในการเสนอชื่อนายกฯคือ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงการบัญญัติกฎหมายสำคัญต่างๆ และการควบคุมการอภิปรายในสภา ส่วนผู้ที่พรรคเห็นว่าเหมาะสมเป็นประธานวิปรัฐบาล ยังเป็นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ที่มีคอนเน็กชั่นกว้างขวาง สามารถพูดคุยกับได้กับทุกพรรค
    ด้านแหล่งข่าวพรรคชาติไทยพัฒนาเปิดเผยว่า ทั้งฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ได้ต่อสายและเข้าเจรจากับแกนนำพรรค แต่ทางแกนนำยังไม่ตัดสินใจที่ชัดเจน เพราะกังวลต่อการทำงานการเมืองในอนาคต เพราะหากฝั่งที่ตั้งรัฐบาลได้โดยเสียงไม่ห่างกันเด็ดขาด อาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเกิดความขัดแย้งที่ทำให้สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงลำบาก ดังนั้นแกนนำจึงขอสงวนท่าทีต่อการตัดสินใจทางการเมืองใดๆ ขณะนี้ และยังรอดูผลการรวมเสียงพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยคู่ชิงตั้งรัฐบาลก่อน
    นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ในส่วนของงานการเมืองพรรคจะเดินหน้า ประสานพรรคอื่นๆ ที่ร่วมอุดมการณ์และสนใจมาร่วมกันตั้งรัฐบาล มั่นใจว่าพรรค พปชร.จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้โอกาสทำงานกับพรรคที่มีแนวทางการทำงานแบบเดียวกัน แต่ต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อน ส่วนตัวเลขที่มีการประเมินออกมาว่าฝั่ง พปชร.รวมเสียงได้ 256 เสียงนั้น เป็นการประเมินตามปกติ เราก็ประเมินของเรา หากวันนี้ กกต.รับรองผลเรียบร้อย ก็จะมาพูดคุยกัน เพราะตัวเลขจะชัดเจนขึ้น
    ส่วนประเด็นว่าที่ ส.ส.ถูกร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อ และตนเองในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นผู้เซ็นรับรองนั้น นายอุตตมกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้สมัคร และว่าที่ ส.ส.เกือบทุกพรรค เราได้หารือแนวทางโดยดูเป็นรายกรณี หากเกี่ยวกับพรรคเราพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น และเดินตามขั้นตอน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
    นายอุตตมยังกล่าวถึงกรณีกระแสคัดค้านให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ว่า พปชร.ยืนยันในเรื่องที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังใช้ครั้งแรก เราควรเคารพกติกาปัจจุบัน เดินตามนั้นบทบาท ส.ว.เป็นไง ให้เป็นตามนั้น. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"