สมคิดขวางแบ่งเค้ก พรรคร่วมแนะ‘บิ๊กตู่’เปลี่ยนตัวผู้จัดตั้งรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 "อุตตม" ยันเท่าที่คุยไม่มีใครตั้งเงื่อนไขไม่เอา "บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก" เพราะช่วยชาติมาเยอะ ด้าน "ณัฏฐพล" เผยเดินหน้าตั้งรัฐบาล 20 พรรค เสียงตอบรับดี รอวันเลือกประธานสภาฯ ทุกอย่างชัดเจน สะพัด! พรรคขนาดกลางขอพลังประชารัฐเปลี่ยนตัวผู้จัดการรัฐบาล เหตุ "สมคิด" ยึดกระทรวงเศรษฐกิจไม่แบ่งใคร "มาร์ค" ขำอนาคตใหม่เสนอชื่อเป็นนายกฯ  เพื่อไทยโวยถูกตีท้ายครัว ดูด ส.ส.อีสาน

    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่ามีการตั้งเงื่อนไขต่อรองจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าไม่ควรมีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้มีการพูดคุยกันเรื่องการมาร่วมกันเดินหน้าประเทศ ยังไม่มีการพูดเรื่องตำแหน่งทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น เพราะจะต้องรอความพร้อมของทุกพรรคที่จะมาหารือกันอย่างเป็นทางการ เขาเผยว่าเท่าที่ได้มีโอกาสได้พบปะกับนักการเมือง ไม่มีใครตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ และในขณะที่เคยร่วมงานกับทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ทั้งสองท่านมีความตั้งใจ และผลงานในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศอย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่าที่ประเทศสงบเรียบร้อยมา 5 ปี  ที่ผ่านมาทั้งสองท่านมีบทบาทช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างมากในการทำงานเพื่อประเทศ โดยเฉพาะในงานด้านความมั่นคง และอื่นๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและสิทธิ์ที่ทำกินของประชาชน การพัฒนาสร้างอาชีพในชุมชน 
    นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการเจรจาและแก้ปัญหาประมงไทยจนสหภาพยุโรปปลดเงื่อนไขต่างๆ ที่จะห้ามนำสินค้าประมงไทยเข้าไปขายในตลาดยุโรป  นับว่าได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
    นายอุตตมกล่าวถึงการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังมีเวลา และขณะนี้ต้องให้เกียรติกับทุกๆ พรรค เพราะบางพรรคอยู่ระหว่างการดำเนินการภายใน อย่างพรรคประชาธิปัตย์กำลังจะเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงควรรอให้กระบวนการของแต่ละพรรคเสร็จสิ้นเสียก่อน 
    "กระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้น เป็นเพียงคาดคะเนของสื่อมวลชน อาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด ผมในฐานะหัวหน้าพรรค จึงอยากให้ทุกท่านติดตามการแถลงข่าวจากพรรคอย่างเป็นทางการจะดีกว่า" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าว
    ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้มีการพูดคุยกันในการจัดตั้งรัฐบาลกับหลายพรรคการเมือง โดยมั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจากการพูดคุยกันมีการตอบรับที่ดี แต่ยังต้องรอให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกหัวหน้าพรรคก่อน รวมถึงบางพรรคที่ยังต้องจัดระบบภายในให้ชัดเจน จะเห็นภาพชัดหลังวันที่ 15 พ.ค. 
รัฐบาล 20 พรรค
    ส่วนกระแสข่าวว่าบางพรรคไม่พอใจการจัดสรรโควตารัฐมนตรี ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงการประเมินของสื่อมวลชน แต่ในส่วนของพรรคมองไปที่การโหวตประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ และต่อไปที่การเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ จะเกิดภายหลังจากที่เราได้นายกฯ แล้ว
    เมื่อถามถึงแคมเปญรณรงค์ปิดสวิตช์ ส.ว. ของพรรคอนาคตใหม่ นายณัฏฐพลกล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวล เพราะต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้พรรคให้ความสำคัญกับการรวบรวมคะแนนให้มากที่สุดเพื่อเป็นเสียงข้างมาก รวมตัวจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและพรรคการเมือง โดยคิดว่าเรื่องการทำความเข้าใจในการทำหน้าที่กับพรรคที่มาร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าทุกพรรคมีความตั้งใจมาทำงานเพื่อประเทศ 
    "ยอมรับว่ามีตัวเลขพรรคร่วมรัฐบาลประมาณ 20 พรรค แต่มั่นใจว่าไม่มีผลกับการทำงานและการลงมติในสภา เพราะ ส.ส.ทุกคนที่มาร่วมรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะรวมตัวกันเพื่อสร้างศักยภาพ แม้จะมีเสียงปริ่มน้ำก็ไม่กังวล เท่าที่พูดคุยเจรจากันไม่มีปัญหาอย่างที่สื่อได้วิจารณ์กัน"
    ถามว่า พรรค อนค.จะโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ นายณัฏฐพลกล่าวว่า เป็นแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ซึ่งต้องรอดูวันเลือกประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ซึ่งก็จะเห็นภาพและแนวทางในการเลือกนายกฯ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
    ซักว่ามีกระแสข่าวว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพปชร.จะสละสิทธิ์เพื่อขยับ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี  หรือมาดามเดียร์ ขึ้นมาเป็น ส.ส. นายณัฏฐพล ปฏิเสธว่าคงไม่มีการสละสิทธิ์เพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่อาจมีความเป็นไปได้ที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคจะลาออกเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยับลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐยอมรับว่า แกนนำ พปชร.บางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ต้องการกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอไว้กับ พปชร.ไว้ทั้งหมด เชื่อว่าการเจรจากับพรรคขนาดกลางและพรรคการเมืองต่างๆ จะยังไม่ได้ข้อยุติง่ายๆ  
    โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเสียง 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทยที่มีเสียง 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนาที่มีเสียง 10 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายสมคิด ที่จะยึดกระทรวงเศรษฐกิจล็อกไว้ที่คนของตัวเองเพียงกลุ่มเดียว รวมทั้งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ดูงานด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อน สินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านยากจนเพิ่มขึ้น และหาก 3 พรรคดังกล่าวยินยอม ก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองได้ จึงมีเสียงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนตัวผู้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคต่างๆ ราบรื่นขึ้น หรือยอมปล่อย กระทรวงเศรษฐกิจ หรือ รมช. กระทรวงเศรษฐกิจออกไปบ้าง เพราะตำแหน่งนายกฯ และกระทรวงด้านความมั่นคง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ก็อยู่ในมือ พปชร.อยู่แล้ว
ไม่เอา"ป้อม-ป๊อก"
     ยังมีรายงานข่าวว่า ก่อนหน้านี้ พรรคขนาดกลาง  ยังหวั่นกระแสสังคมที่มีต่อ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.อนุพงษ์ ที่เป็น คสช. เข้ามาใน ครม.ชุดหน้าโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งท่ามกลางกระแสล่าสุดที่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ จากการแต่งตั้ง ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คน ที่เน้นระบบพี่น้องและการเข้ามาจากคนในแม่น้ำ 5 สาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่
    แหล่งข่าวจาก พปชร.เผยด้วยว่า นอกจากนี้ จากการหารือกับ ส.ส.ใหม่ของพรรคขนาดกลางหลายคน ยังเป็นกังวล 2 ประเด็นใหญ่ 
    คือ 1.การเป็นรัฐบาลของ พปชร. เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านแค่ 10 เสียง ไม่สามารถจะผ่านมติในสภาไปได้อย่างราบรื่น เพราะในความเป็นจริง รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.จะต้องมาร่วมประชุมสภาและอยู่ลงมติทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งคนเป็นประธานและรองประธานสภาฯ ปกติตามมารยาททางการเมืองจะไม่ลงมติ    
    2.กระแสการต่อต้านจากสังคมและฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยที่จะเกิดขึ้นทั้งในสภาและนอกสภาตลอดเวลา อาทิ เช่น การสืบทอดอำนาจจาก คสช. ทั้งใน ครม.และ  แต่งตั้ง ส.ว. ที่เอาแต่ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดและมีปัญหาอื้อฉาว  มาทำงานต่อโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองที่ร่วมงานข้างหน้า   
    “เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ดี เพราะเป็นพรรคที่คร่ำหวอดกับการเมือง กรณีประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ กระแสสังคมไม่ยอมรับ การบริหารประเทศติดขัด ต้องวุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองแบบรายวัน ในที่สุดรัฐบาลประยุทธ์ก็อาจไปไม่รอด     พรรคขนาดกลาง จึงกำลังใคร่ครวญอย่างหนัก และ พวกเขายอมรับว่าเครียดมากในการตัดสินใจ ซึ่ง ปชป.จะคุยเรื่องนี้ภายหลังเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเรียบร้อยในวันที่ 15 พ.ค.นี้  ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป ขณะที่พรรคภูมิใจไทยขอเวลาไปหารือกับ ส.ส.ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ก่อนเช่นกัน” แหล่งข่าวจาก พปชร.เปิดเผย
    อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด พรรคพลังประชารัฐยังเดินหน้าจับขั้วกับพรรคการเมืองต่างๆ แต่คาดว่าการจัดตั้ง ครม.อย่างเป็นทางการจะเริ่มหลังจากการเลือกประธานรัฐสภาเสร็จ โดยทางพรรคมั่นใจว่าตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน และคะแนนเสียงจะมีมากกว่า 255 เสียง เพราะจะมีคะแนนเสียงพิเศษจากพรรคพันธมิตรคู่แข่งบางส่วน ที่ได้เจรจาพูดคุยเรื่องเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลไปบ้างแล้ว โดยได้นัดพบปะหารือและทานข้าวกัน และมีส่วนหนึ่งสนใจที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย 
แบ่งเค้กยังไม่ลงตัว
    นอกจากนี้ แกนนำพรรคยังเร่งพบปะกับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก เพื่อรวบรวมเสียงให้มากที่สุด ให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีความกังวลว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้เสียงสนับสนุนไม่ครบ 52 เสียง จึงต้องเร่งดีลสำรองไว้ ซึ่งหากประชาธิปัตย์ตกลงและมาทั้งหมด เสียงของการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะได้เกิน 260 เสียง
    ในส่วนของการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น บางกระทรวงที่พรรคมีแนวนโยบายที่ชัดเจน และโปรโมตเป็นแคมเปญหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลพยายามต่อรองเพื่อขอตำแหน่ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่พรรคพลังประชารัฐเองต้องการใช้ขับเคลื่อนนโยบาย จึงอาจไม่สามารถแบ่งให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้รับปากกับชาวบ้านไว้ตอนหาเสียง และผลักดันไปแล้วบางส่วนในช่วงรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะโครงการข้าว ที่อาจขัดแย้งกับนโยบายประกันราคาของประชาธิปัตย์ 
    โดยนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ อย่าง เพิ่มชดเชยค่าเกี่ยวข้าวจาก 12 ไร่ เป็น 20 ไร่ ชดเชยจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท เกี่ยวปุ๊บรับ 4 หมื่น และเพิ่มค่าเกี่ยวข้าวอีก 3 หมื่น รวมเป็น 7 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับไร่ยาสูบ อ้อย ปาล์มน้ำมัน รวมถึงนโยบายที่ดิน ส.ป.ก.ด้วย
    ทางพรรคพลังประชารัฐมองว่า หากไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเหล่านี้ อาจจะกระทบถึงกระแสความนิยมและความเชื่อมั่นจากเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ที่เป็นฐานคะแนนหลัก ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถามถึงความชัดเจนที่พรรคประชาธิปัตย์ จะร่วมกับพรรคการเมืองใดในการจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึง ส.ส.ภายในพรรค จะมีการพิจารณาถึงแนวทางดังกล่าว ซึ่งตามข้อบังคับพรรค การตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด ก็เป็นอำนาจของ กก.บห.และ ส.ส.ที่ต้องมาลงความเห็นกัน แต่ในการประชุมพรรควันที่ 15 พฤษภาคม ตนคาดว่าคงไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว
    ซักว่าแม้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่มีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ที่นั่ง นายอภิสิทธิ์แจงว่า กระแสข่าวลือถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะขณะนี้เรายังไม่ทราบมติของที่ประชุม กก.บห.ชุดใหม่ โดยส่วนตัวได้มีการพูดคุยภายในพรรคว่าเราจะสนับสนุนใคร แต่ยังไม่ใช่ข้อยุติ 
"มาร์ค"คุยไลน์ขำๆ
    เมื่อถามถึงการจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 รวมถึงการที่พรรคอนาคตใหม่อาจเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธว่า “ผมไม่ทราบ แต่เมื่อวานนี้ก็คุยไลน์ขำๆ กับคุณอนุทินในเรื่องกระแสข่าวต่างๆ ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ”
         ถามถึงกระแสข่าวที่พรรคการเมืองต่างๆ ตั้งเงื่อนไขกับพรรคพลังประชารัฐว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย หากมีรายชื่อของ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.อนุพงษ์อยู่ในคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ผมยังไม่เข้าใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่ใครจะไปตั้งเงื่อนไขว่าจะไปร่วมหรือไม่ไปร่วม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าต้องให้ได้ข้อสรุปในที่ประชุมของพรรคก่อน
    "ก็ไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวลือหรือเป็นการคุยกันแบบปกติ แต่ยืนยันว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีใครที่มีอำนาจหรือได้รับมอบอำนาจไปพูดคุยในเรื่องดังกล่าว"
    เมื่อถามถึงการวางตัวหรือบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อได้เข้าไปเป็น ส.ส.แล้ว ตนยังไม่คิดว่าจะทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือจะสนับสนุนใครเป็นประธานสภาฯ เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีการเปิดสภาในช่วงไหน นอกจากนี้ ยังไม่คิดที่จะรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงใด เบื้องต้นขอทำหน้าที่ ส.ส.ก่อน ขณะนี้ขอให้ทุกอย่างเป็นตามกระบวนการของสภา
    ส่วนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีขั้วที่สาม ประกอบด้วย ปชป. พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา จัดตั้งรัฐบาลว่า ข่าวทั้งหมดถ้าไม่ใช่ข่าวปล่อยก็น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีอะไร เพราะต้องรอให้มีหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เสียก่อน รวมทั้งต้องหารือกับ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 
    "ผมคิดว่าคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะจะสร้างความสับสนให้กับสังคม และข่าวที่ออกมาทั้งหมดก็สับสนมากพออยู่แล้ว เช่นเดียวกับกระแสข่าวที่ระบุว่าพรรคอนาคตใหม่จะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ นั้น ผมก็ไม่ทราบ ต้องรอให้พรรคพูดเป็นเรื่องเป็นราวก่อน และหากเสียงข้างมากเป็นอย่างไร ก็ยึดตามนั้น โดยเชื่อว่าทุกคนในพรรคจะปฏิบัติตาม" 
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่บางพรรคตั้งเงื่อนไขไม่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.อนุพงษ์เข้าร่วมรัฐบาลพรรพลังประชารัฐ นายบัญญัติกล่าวว่า ไม่ทราบ ความจริงเรื่องนี้สื่อมวลชนควรจะทำโพล เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปประกอบการพิจารณา
ลืมพรรครักษ์ผืนป่า
    นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนในการร่วมรัฐบาล ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทามมา คาดว่าน่าจะตกสำรวจแล้วหรือไม่ แต่ก็มีชื่อไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐแล้ว ส่วนเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายไหน หรือเป็นรัฐมนตรี เพราะพรรคของเราเป็นพรรคเล็กมีแค่ 2 เสียง จึงขอให้ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่รัฐบาลหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ตามนี้ก็ขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ 
    อย่างไรก็ตาม ยืนยันจะไม่จับมือกับพรรคเล็กอื่นๆ เพื่อต่อรองตำแหน่ง เพราะทุกคนก็มีอิสระ และตนไม่ใช่ล็อบบี้ยิสต์
    “วันนี้ประเทศเราประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง PM2.5 ไฟป่า สารเคมี ส่วนเรื่องกัญชา ผมสนับสนุนให้ผลิตเพื่อการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยเพื่อสันทนาการ” หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าฯ กล่าว
    ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการรวมกลุ่มพรรคเล็กเพื่อเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้พรรคเล็กรวมกลุ่มกันได้ 11 พรรค บวก 1 คือพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด ต้องรอหารือกันในกลุ่มอีกครั้ง 
    เขายืนยันว่า ยังไม่มีการตัดสินใจว่าได้ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย แต่ยอมว่าได้รับการทาบทามมาจาก 3 กลุ่มให้ไปร่วมงานด้วย ได้แก่ 1.กลุ่มพรรคเพื่อไทย 2.กลุ่มพรรคพลังประชารัฐ 3.กลุ่มพรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ หากพรรคเล็กไม่ไปร่วมงานกับขั้วใดก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้
    นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการต่อรองตำแหน่งใดๆ แต่ในสัปดาห์หน้ากลุ่มพรรคเล็กจะประชุมกันเพื่อกำหนดจุดยืน และร่างข้อบังคับการทำงานร่วมกันในสภาผู้แทนราษฎรให้ไปในทางเดียวกัน เช่น การเสนอกฎหมาย การแก้กฎหมาย การโหวตลงมติต่างๆ  
    ส่วนที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ระบุถึงความไม่เป็นธรรมที่พรรคเล็กซึ่งได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน แต่ได้ ส.ส.นั้น ขณะนี้เลยขั้นตอนดังกล่าวไปแล้ว เลยโหมดการร้อง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว เข้าโหมดจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ร้องเรียนไปก็ไม่มีอะไร ไม่พอใจก็ไปร้องศาลอะไรไม่ได้แล้ว ร้องได้แต่ศาลไคฟงให้เปาปุ้นจิ้นมาตัดสิน
ปัดโหวตให้"มาร์ค"
     นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีการเกิดการเมืองขั้วที่ 3 ว่า ขณะนี้กำลังเจรจาร่วมกัน ซึ่งขอไม่ตอบว่ามีการพูดคุยกับบุคคลระดับหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างนายอนุทิน หรือนายอภิสิทธิ์หรือไม่ แต่ระบุว่าหากมีความชัดเจนจะแถลงให้ทราบทันที
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่  ให้สัมภาษณ์ถึงคำกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. กรณีจะยกมือให้นายอภิสิทธิ์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.สกัดกั้นการสืบอำนาจ คสช.ว่า ต้องแยกแยะให้ชัดระหว่างการปิดสวิตช์ ส.ว. และการจัดตั้งรัฐบาลนั้นเป็นคนละเรื่องกัน สำหรับอนาคตใหม่ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่สำคัญเท่ากับการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยการปิดกลไกที่ คสช.วางไว้ 
    "เราจึงขอความร่วมมือในฐานะผู้แทนราษฎรด้วยกันที่มาจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่ได้ยืนยันกับประชาชนก่อนเลือกตั้งว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ขอให้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน" โฆษกพรรคอนาคตใหม่กล่าว และว่า เราพร้อมเปิดให้ทุกพรรคมาร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ขอยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่พร้อมยกมือให้บุคคลที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
    ขณะที่ ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลเชิงยุทธศาสตร์ ของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเชิญนายอภิสิทธิ์หรือนายอนุทินมาเป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้รวมเสียงกันเพื่อให้เกิน 375 เสียง ปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าตนรู้สึกเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก ณ จุดนี้ เราต้องร่วมมือกัน เพื่อสู้กับเผด็จการ ต้านการสืบทอดอำนาจ แม้ฝ่ายสืบทอดอำนาจจะวางแผนการไว้อย่างละเอียดลออ เตรียมแผนหนึ่ง สอง สาม รองรับไว้แล้วทุกสถานการณ์ 
    เขากล่าวว่า แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ยังมีอำนาจ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่อย่างน้อยหากฝ่ายประชาธิปไตยสามารถรวมตัวกันได้ เลือกนายกรัฐมนตรีของเราได้ ก็จะทำให้การสืบทอดอำนาจทำได้ไม่เต็มที่ พอจะมีโอกาสแก้ไขปัญหาของชาติได้ แม้จะไม่ราบรื่นนัก จากกับดักรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
    "ผมขอให้ทุกคน ทุกฝ่าย วางอดีต วางปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาไว้ก่อน ถึงเวลาแล้วที่เราจะสามารถร่วมมือกัน ทำเพื่อประเทศชาติ ร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. รวมใจกันให้เกิน 375 เสียง ไม่ว่าคุณอภิสิทธิ์หรือคุณอนุทิน ใครจะได้เป็นนายกฯ อย่างไร ก็คงดีกว่าปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นต่อไปอย่างแน่นอน" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว
โวยดูด ส.ส.อีสาน
    นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวความพยายามดูด ส.ส.ของพรรคว่า ในฐานะ ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย ประกาศจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ กระแสข่าวการใช้เงินดูด ส.ส. ขอฝากไปยังพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่ต้องมาติดต่อตน หรือ ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย ทุกคนมีอุดมการณ์ ไม่ต้องการเงิน หากมีใครติดต่อมาจะด่าและสาปแช่งกลับไปด้วย
         เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วหากพรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็พร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลในสภา ไม่มีปัญหาอะไร พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี ส.ส.อันดับหนึ่ง หากไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กท่ามกลางกระแสพรรคการเมืองใหญ่ชิงนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเนื้อหาระบุว่า "สวัสดีเช้าวันเสาร์ วันที่เรายังต้องวัดใจนักการเมืองบางพรรคว่า ประเทศจะเดินไปทางไหน แทงกั๊ก ยึกยัก ต่อรองเก้าอี้ จะเอาอย่างนี้กันจริงๆ หรือ?"
    ดร.เสรี วงษ์มณฑา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "จะสกัดพลเอกประยุทธ์ ไม่ให้สืบทอดอำนาจ แต่จะร่วมกับพรรคลิ่วล้อคนโกง คนเลี้ยงพวกล้มเจ้า คนสั่งให้เผาเมือง คนคิดแบบนี้เป็นคนยังไงคะ"
    "เขารังเกียจคนที่ใช้อำนาจเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง และขออยู่ต่อตามครรลองประชาธิปไตย ตอบรับการรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะการสะสางปัญหาของประเทศยังไม่จบสิ้น
    แต่เขาไม่รังเกียจคนที่สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองด้วยการโกง การใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภา การสนับสนุนคนที่ทำผิดมาตรา 112 ที่ต้องการล้มล้างสถาบันสูงสุดของประเทศ ไม่เคารพศาล ไม่ยอมรับอำนาจตุลาการ
    น่าแปลกใจยิ่งนัก ถ้าจะว่าไปก็ไม่ใช่คนโง่ แต่วิธีคิด ตรรกะของเขาทำไมถึงวิบัติได้ขนาดนี้ ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แต่พร้อมจะร่วมมือกับคนที่เคยโกง และสืบทอดอำนาจมาเกือบ 20 ปี ทั้งๆ ที่คนที่นำมาวางไว้ในตำแหน่งมีอำนาจนั้นไร้ความสามารถ สติปัญญาไม่เพียงพอที่จะดำรงตำแหน่ง
    ตาไม่บอดก็น่าจะมองเห็น หูไม่หนวกก็น่าจะเคยได้ยินนะคะ".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"