มหาดุริยางค์สากล“ทศมราชันขวัญหล้า” ร้อยเรียงพระราชปณิธาน ร.10


เพิ่มเพื่อน    

 

ศิลปินนักแสดงซ้อมการแสดงดนตรีสากล ชุด"ทศมราชันขวัญหล้า" เตรียมพร้อมงานมหรสพสมโภช

 

     การแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จัดมหรสพสมโภชขึ้นวันที่ 22-28 พ.ค.2562 รวมเวลา 7 วัน ณ ท้องสนามหลวง และ ณ สถานที่จัดงานส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย นอกจากจะจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก ยังมีการแสดงดนตรีสากลครั้งประวัติศาสตร์ภายใต้ชื่อ มหาดุริยางค์สากลรวมใจภักดิ์ ชุด “ทศมราชันขวัญหล้า” ในวันที่ 23 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 18.30-21.30 น. ณ เวทีสนามหลวง ด้านทิศใต้ ฝั่งพระบรมมหาราชวัง

      รูปแบบการแสดงชุด "ทศมราชันขวัญหล้า” เป็นการบรรเลงวงมหาดุริยางค์สากล วงดุริยางค์สากล และวงบิ๊กแบนด์จากเหล่าศิลปินนักแสดง ประกอบด้วยวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ วงดุริยางค์กรมศิลปากร และนักดนตรีรับเชิญจากสถาบันการดนตรีและภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและการขับร้องหมู่ประสานเสียง ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้าร่วมการแสดงรวม 19 หน่วยงานศิลปินรับเชิญ นักร้องนักแสดงที่ไปร่วมเวทีนี้มีทั้งจากบริษัท ซิเนริโอ จำกัด โดยถกลเกียรติ วีรวรรณ, สินจัย เปล่งพานิช, นันทิดา แก้วบัวสาย, สุธาสินี พุทธินันท์, รัดเกล้า อามระดิษ, กิตตินันท์ ชินสำราญ, สหรัฐ หิรัญญ์ธนภูวดล หรือสิงโต เดอะสตาร์, เกรียงไกร อุณหนันท์, ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ, ภาวิดา มอริจจิ ฯล ใช้ศิลปินนักแสดงมากกว่า 600 คน ระยะเวลาการแสดงรวม 3 ชั่วโมง

 

รวมพลังคนดนตรีสากลทุกเจเนอเรชั่นแสดงพลังจงรักภักดีผ่านบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ

 

      ชนินทร์วดี ชมภูทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต ในฐานะประธานกรรมการมหาดุริยางค์สากลรวมใจภักดิ์ กล่าวว่า งานครั้งนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ มีศิลปินนักแสดงจากทุกภาคและทุกเจเนอเรชั่นร่วมเวทีดนตรีสากล ธีมการแสดงชุด “ทศมราชันขวัญหล้า” จะเป็นการร้อยเรื่องราวพระราชประวัติ ในห้วงเวลาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชกรณียกิจต่างๆ และพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังเช่นพระปฐมบรมราชโองการ โดยบทเพลงที่จัดแสดงประกอบด้วยการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงเฉลิมพระเกียรติ การอ่านบทกวีเฉลิมพระเกียรติ ขับเสภา และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

      การแสดงจะมีด้วยกัน 5 องก์ โดยเปิดเวที Overture : King of Peace ด้วยวงออร์เคสตราขนาดใหญ่และวงบิ๊กแบนด์ กรมศิลปากร โดย ดร.วานิช โปตะวนิช องก์ที่ 1 ยุวราชันขวัญหล้า: พระประสูติกาล-วัยเยาว์ ยุวราชันขวัญหล้าปวงประชาศรัทธามาทุกสมัย พระทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจประชาไทยจงรักภักดี โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ประกอบด้วยเพลง On the wings of love, พระบารมีทรงสถิตสู่แดนไทย, ปลายรุ้ง, Relumine Theme, สยามินทร์วชิราลงกรณ และเพลงแซ่ซ้องถวายชัย

      องก์ที่ 2 วิชชาชาญการยุทธ: ทรงศึกษาด้านการทหาร พระองค์ทรงเชี่ยวชาญสามารถ องอาจชาญยุทธเทิดเกียรติศรี ทางด้านการบินยุทธวิธี ทั่วปฐพีแซ่ซ้องพระปรีชา โดยกรมดุริยางค์ทหารบกและกองดุริยางค์ทหารเรือ บรรเลงเพลง สยามินทร์ราชามหาวชิราลงกรณ, Royal Guards March (เพลงมาร์ชราชวัลลภ),The Colours March (มาร์ชธงไชยเฉลิมพล), เฉลิมรัชกษัตรา มหาวชิราลงกรณ, แสงแห่งพระบารมี และดุจดังสายฟ้า

 

ภาพบรรยากาศการซ้อมการแสดงองก์ต่างๆ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

 

      องก์ที่ 3 สยามมกุฎราชกุมาร : สถาปนาเป็นพระบรมโอรสาธิราช ไชโยโอรสาธิราชประชาชาติปรีดิ์เปรมเกษมหรรษา แผ่นดินไทยมียุพราชาเป็นมิ่งหล้ามิ่งขวัญประชาไทย โดยกองดุริยางค์ทหารอากาศและกองดุริยางค์ตำรวจ บรรเลงเพลงไชโยโอรสาธิราช, เพลงละอองทิพย์จากฟ้า

      องก์ที่ 4 สืบสานภูมิพลังแห่งแผ่นดิน: สนองงานในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 9 ทรงสืบสานพระราชปณิธานองค์ภูบาลผ่านทุกรัชสมัย พสกนิกรปลาบปลื้มทุกดวงใจ พระทรงชัยตามรอยบูรพกษัตรา โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมประชาสัมพันธ์ และมหาวิทยาลัยรังสิต พลีใจภักดิ์ บรรเลงและขับร้องเพลงเกียรติศักดิ์ทหารเสือ, คําปฏิญาณ, ไร้รักไร้ผล, ไทยสามัคคี, ไทยรวมกําลัง, พระราชนิพนธ์ศุกร์สัญลักษณ์, In The Mood และหัวใจของแผ่นดิน

      องก์ที่ 5 ทศมินทร์ปิ่นฟ้าบรมราชาภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเอกกษัตริย์ราชจักรีพงศา ทั้งแผ่นดินปีติปลื้มปรีดาในมหามงคลกาลแห่งแผ่นดิน โดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ และกรมศิลปากร ได้แก่ เพลงไทยรวมใจภักดิ์, ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น, ร่มฉัตร, ทรงพระเจริญ, ทศมราชามหาวชิราลงกรณ, ปณิธาน, แผ่นดินของเรา, Symphonic Poem Rattanakosin (R.E.146-237) และพระราชนิพนธ์แผ่นดินของเรา ปิดท้ายการแสดงด้วยเพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยศิลปินทุกคนร่วมขับร้องให้กึกก้องท้องสนามหลวง บรรเลงโดยวงเฉลิมราชย์

 

ศิลปินนักดนตรีกว่า 600 ชีวิต ฝึกซ้อมเพื่อให้วันจริงการแสดงยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ

 

      ฟังดนตรีสากลแบบสดๆ ได้ที่สนามหลวงกัน นอกจากนี้ ตลอด 7 วันของมหรสพสมโภชช่วงเวลา 21.30-23.00 น. จะมีการจัดแสดงแสง สี เสียง ม่านน้ำ ไฟประดับ ชุด “แสงแห่งพระมหากรุณาธิคุณปกหล้า” โดยประดับไฟแอลอีดีสีต่างๆ นับหมื่นดวงในรูปแบบของสวนดอกไม้และต้นไม้บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร และนำเสนอเรื่องราวความงดงามของเจ้าพระยา สายน้ำแห่งชีวิต และพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาลไปยังชาวไทยทั่วประเทศให้มีความสงบสุข ร่มเย็น ผ่านเทคนิคม่านน้ำและน้ำพุความยาวกว่า 40 เมตร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"