พระบรมราโชบาย ร.๑ การแก้ปัญหาหัวเมืองภาคใต้การควบคุมเมืองปัตตานี


เพิ่มเพื่อน    

เหตุการณ์ที่เจ้าเมืองปัตตานีคิดกบฏในปี พ.ศ.๒๓๓๒ นั้น ระบุในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ว่าเป็นปี พ.ศ.๒๓๓๔ และกล่าวถึงเหตุการณ์กบฏเมืองตรังกานูและเมืองยะหริ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๕๑ เนื่องจากพระยาตรังกานู (แยนา) กับดาตูปักลัน เจ้าเมืองยะหริ่ง ได้คบคิดก่อการกบฏโดยชักชวนแขกชาวเมืองลานน ซึ่งเป็นสลัดในทะเล ยกทัพเข้ามาตีเมืองสงขลา ซึ่งในครั้งนั้นเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นหัวเมืองที่สำคัญมากเมืองหนึ่งทางภาคใต้ 

พระยาสงขลา (บุญฮุย) ได้เกณฑ์ชาวเมืองสงขลาขึ้นเป็นกองทัพต่อสู้กับแขกกบฏแต่เกณฑ์ได้น้อย  จึงรีบมีใบบอกเข้ามาขอกองทัพกรุงเทพฯ ออกไปช่วย ทางราชธานีจึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ  (บุนนาค บ้านแม่ลา) ผู้รักษากรุงเก่า เป็นแม่ทัพยกกองทัพกรุงเทพฯ ออกไปเกณฑ์ผู้คนทางหัวเมืองปักษ์ใต้ไปช่วยสงขลาทำการปราบพวกแขก

กบฏตรังกานูและยะหริ่งแตกหนีไป และตามตีได้เมืองทั้งสองคืนด้วย การปราบกบฏครั้งหลังนั้นนครศรีธรรมราชไม่ได้ส่งกองทัพไปช่วยพระยาสงขลา ทั้งนี้เพราะเจ้าเมืองทั้งสองเป็นอริกันซึ่งนับว่าเป็นผลเสียที่ร้ายแรงมากประการหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปราบกบฏทั้งสองครั้งสามารถกระทำได้สำเร็จ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตระหนักถึงจุดบกพร่องในการปกครองเมืองปัตตานีในขณะนั้น นับแต่เมื่อครั้งที่โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีหัวเมืองทางแหลมมลายูเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ 

เมื่อเสร็จศึกจากพม่าแล้วจึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปตีเมืองปัตตานี หลังจากตีได้แล้ว โปรดตั้งให้ชาวมลายูที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าเป็นพระยาตานีอยู่รักษาบ้านเมือง 

แต่เหตุการณ์ต่อมาปรากฏว่าพระยาตานีผู้นี้เองกลับเป็นตัวตั้งตัวตีไม่ยอมจงรักภักดีต่อไป โดยร่วมมือกับแขกสลัดยกทัพมาตีเมืองสงขลา ทำให้พระองค์ไม่ทรงวางพระทัยเจ้าเมืองที่เป็นชาวต่างชาติอีก  โดยโปรดตั้งให้ปลัดเมืองจะนะชื่อขวัญซ้าย ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นพระยาตานี ปรากฏว่าพระบรมราโชบายดังกล่าวได้ผล เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองเมืองปัตตานี บ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบ

นอกเหนือจากพระบรมราโชบายแก้ปัญหาความไม่สงบในหัวเมืองปัตตานีแล้ว พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะใช้เมืองสงขลาเป็นศูนย์กลางในการควบคุมเมืองปัตตานี และสร้างความผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยโปรดให้ยกคนไทยเลขส่วยดีบุกเมืองสงขลา พัทลุง และจะนะ ไปเป็นกำลังอยู่ที่ปัตตานีพร้อมกับพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ถึง ๕๐๐ ครัวเรือน กล่าวได้ว่าพระบรมราโชบายดังกล่าวเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสะดวกในการปกครองหัวเมืองภาคใต้ในสมัยต่อมา

พระบรมราโชบายที่มีส่วนสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาหัวเมืองภาคใต้อีกประการหนึ่งคือ ปัญหาการควบคุมเมืองปัตตานี ซึ่งแต่เดิมอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อเกิดกบฏปัตตานีในปี พ.ศ.๒๓๓๔ พระยาสงขลา (บุญฮุย) ได้แสดงความสามารถในการปราบกบฏ จึงมีความดีความชอบได้รับมอบอำนาจในการควบคุมเมืองปัตตานีแทน กล่าวได้ว่าเป็นพระบรมราโชบายที่แก้ปัญหาได้ตรงเป้าหมาย 

ทั้งนี้เพราะการกำหนดเมืองนครศรีธรรมราชกำกับดูแลหัวเมืองมลายูทั้งหมด ย่อมไม่อาจปฏิบัติราชการได้ทันท่วงที อีกประการหนึ่งเมืองปัตตานีและเมืองนครศรีธรรมราชก็อยู่ห่างไกลกันมาก หากมีการรวมพลกับหัวเมืองมลายูอื่นๆ ย่อมเป็นการยากลำบากในการปราบปราม

จึงโปรดให้เมืองปัตตานีอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเมืองสงขลา เพื่อการควบคุมดูแลจักกระทำได้ใกล้ชิดกว่าเดิมเพราะเมืองสงขลาอยู่ใกล้กับเมืองปัตตานีมากกว่าเมืองนครศรีธรรมราช  

นอกจากนั้นทั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กับพระยาสงขลา (บุญฮุย) ซึ่งเคยมีความสนิทสนมชอบพอกันมาก่อน ได้มีเรื่องวิวาทเป็นอริกันด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชประสงค์จะแยกคู่พิพาททั้งสอง โดยการปูนบำเหน็จความชอบแก่พระยาสงขลาที่ตีปัตตานีได้ 


ขณะเดียวกันโปรดให้ตัดทอนอำนาจของเมืองนครศรีธรรมราช แสดงถึงนโยบายการถ่วงดุลระหว่างหัวเมืองทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งการควบคุมเมืองปัตตานีก็สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้น เมืองสงขลาจึงมีหน้าที่ตรวจตราดูแลเมืองมลายูฝ่ายตะวันออก ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชให้ตรวจตราว่ากล่าวข้างฝ่ายตะวันตกอันติดเนื่องกับเขตแดนอังกฤษ
    
ก่อนที่จะได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงพระบรมราโชบายในการปกครองเมืองสงขลา ควรกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักฐานการแบ่งแยกเมืองปัตตานีซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา และได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น ๗ เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง รามันท์ ระแงะ สายบุรี และหนองจิก กล่าวถึงตามพงศาวดารเมืองสงขลาของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๘ และตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ได้ระบุถึงการแบ่งแยกปัตตานีในรัชกาลเดียวกัน แต่เป็นปี พ.ศ.๒๓๓๔

จากหลักฐานที่ระบุจัดได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างละเอียด จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าการแบ่งเมืองปัตตานีควรเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมากกว่า ทั้งนี้มีข้อที่น่าเชื่อถือนำมาหักล้างกับข้อมูลเดิมได้กล่าวคือ

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ซึ่งอธิบายเรื่องหัวเมืองมลายู ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนหนึ่งว่า

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ราวในจุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) ถึงอสัญกรรม พระยาตานี (ขวัญซ้าย) ก็ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดให้หลวงวิเศษสุนทร (จ๋อง) เป็นพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสงขลา และนายพ่าย (น้อง) เป็นพระยาตานีต่อมา พระยาตานี (พ่าย) ว่าราชการเมืองตานีไม่เรียบร้อยได้ เกิดโจรผู้ร้ายแลจลาจลขึ้นในบ้านเมืองชุกชุม จึงโปรดให้พระยาอภัยสงครามเป็นข้าหลวงพร้อมด้วยพระยาสงขลา (จ๋อง)  ลงไปจัดแยกเมืองออกเป็น ๗ เมืองในระหว่าง จ.ศ.๑๑๗๒ จน ๑๑๗๙ จะเป็นปีใดไม่ทราบแน่.....

ตำนานของหัวเมืองปักษ์ใต้และมลายูประเทศ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการแบ่งเมืองปัตตานี ความว่า

ภายหลังระตูปักหลั่นพระยาตานีเป็นขบถ กองทัพหลวงยกออกไปจับระตูปักหลั่นเข้ามากรุงเทพฯ  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้คนไทยที่เมืองสงขลาชื่อ ก๋งชา (เห็นจะเป็นจีน) ออกไปเป็นพระยาตานี ได้บังคับเขตแดนไปตามเดิมทุกตำบล ได้ส่งต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการต่อมา จนพระยาตานีถึงแก่กรรม พอถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลา (จ๋อง) ออกไปแบ่งเขตแดนเมืองตานีออกเป็นเจ็ดเมือง...

จากคำให้การของโต๊ะหะยีศะตำ อายุ ๘๑ ปี เล่าความที่หอนั่งพระยารามัญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ แม้ว่าคำให้การของโต๊ะหะยีศะตำจะเป็นปากคำที่ให้เมื่อเจ้าตัวชราภาพมาก แต่ก็มีความสอดคล้องกับหลักฐานข้างต้นความว่า

"ครั้นอายุข้าพเจ้าได้ ๑๓ ปี ข้าพระพุทธเจ้าจำความได้ ระตูปักหลั่น พระยาตานีเป็นกบฏ กองทัพหลวงยกออกมาจับระตูปักหลั่นเข้าไป ณ กรุงเทพฯ คนไทยชื่อก๋งซายเดิมอยู่ที่เมืองสงขลาออกมาเป็นพระยาตานี ได้บังคับเขตแดนมาทุกตำบล ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายต่อมา พระยาตานีต๋งซายถึงอนิจกรรม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาให้ข้าหลวงพระยาสงขลาที่สองออกมา แยกเขตแดนเมืองตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง"

พงศาวดารเมืองปัตตานี ได้ระบุว่าการแบ่งแยกเมืองปัตตานีในสมัยพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) และพระยาปัตตานี (พ่าย) แม้จะมิได้ระบุปีที่แน่นอน แต่ก็อาจสรุปได้ว่าเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทั้งนี้เพราะพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสงขลาในปี พ.ศ.๒๓๕๕

พระบรมราโชบายในการแบ่งแยกเมืองปัตตานีนั้น ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตัดทอนกำลังอำนาจของเมืองปัตตานี เนื่องจากสาเหตุ ๒ ประการคือ ประการแรกเป็นสาเหตุดั้งเดิม 

กล่าวคือปัตตานีเป็นเมืองใหญ่มีกำลังเข้มแข็ง หากรวมกำลังก่อการไม่สงบขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นปัญหาหนักในการปราบปราม ลำพังเมืองสงขลาเมืองเดียวซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลปัตตานีก็ยังไม่มีกำลังพอที่จะปราบได้ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ยกมาตีสงขลาในปี พ.ศ.๒๓๓๔ นั้น เจ้าเมืองกรมการสู้รบมิได้ก็พาครอบครัวชาวเมืองยกหนีไปอยู่แขวงเมืองพัทลุง 

ฝ่ายพระยาศรีไกรลาศซึ่งออกไปเป็นพระยาพัทลุงก็พลอยตื่นตกใจกลัวทัพแขกข้าศึกฯ ก็ยังมิได้ยกมาถึงเมืองพัทลุง พากรมการและครอบครัวอพยพหนีเข้าป่า แม้ว่าผลสุดท้ายกองทัพเมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราช จะช่วยกันตีทัพปัตตานีแตกไปได้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า เมืองปัตตานีมีกำลังมาก จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขจัดอำนาจของเมืองปัตตานี 

ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่งเป็นสาเหตุปัจจุบันเล็งเห็นว่าเจ้าเมืองปัตตานีผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวก็มิอาจแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตนได้ เนื่องจากเกิดปัญหาโจรผู้ร้ายและการจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระยาปัตตานี (พ่าย) ไม่สามารถปราบได้ ได้มีใบบอกมายังสงขลาจึงโปรดให้พระยาอภัยสงครามเป็นข้าหลวงพร้อมด้วยพระยาสงขลา (จ๋อง) ลงไปจัดแยกเมืองออกเป็น ๗ เมือง สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระองค์ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ปัญหามิให้เกิดความวุ่นวายได้อีกต่อไป.

--------
อ้างอิง: จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ.1194 (พ.ศ.2375)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"