ครม.ไฟเขียวไฮสปีดเทรน เชื่อมเส้นทาง‘3สนามบิน’


เพิ่มเพื่อน    

 ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินฉลุย!   ครม.ไฟเขียวจับมือซีพีลงทุน 1.49 แสนล้าน แบ่งจ่าย 10 ปี จ่อเซ็นสัญญา 15 มิ.ย. คาดใช้เวลาสร้าง 5 ปี รฟท.เร่งแผนส่งมอบพื้นที่-ทำรายงานอีไอเอ ภาคประชาชนห่วงไม่โปร่งใส ร้องนายกฯ ขอมีส่วนร่วมตัดสินใจ

    เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ    แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562  เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2562 เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ตามที่เสนอ และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจ ซึ่งเอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่า ครม.มีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.
    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่ กพอ.ได้เห็นชอบไว้ เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 พร้อมทั้งเห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่ ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ได้มีมติอนุมัติ
    ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และอนุมัติให้ รฟท.ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 สำหรับดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 149,650 ล้านบาท
    “รฟท.จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน” นายณัฐพรระบุ
    นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่นำเสนอโดยให้หน่วยงานอยู่ภายใต้การกำกับของ กพอ. และให้ กพอ.จัดทำรายละเอียดหน่วยงานเพิ่มเติม รวมทั้งให้ รฟท.และ กพอ.ไปหารือสำนักงบประมาณในรายละเอียดโดยด่วน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการตามสัญญาของโครงการที่กำหนดไว้
    อย่างไรก็ดี กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
    ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กพอ.ได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 182,524 ล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ถือเป็นโครงการแรกของ 5 เมกะโปรเจ็กต์ ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากที่ ครม.อนุมัติแล้ว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากนี้จะมีการลงนามและเริ่มดำเนินการ เท่าที่ได้รายงานใน ครม.ตัวเลขต่างๆ เป็นไปตามทีโออาร์ ทั้งหมดจะใช้เวลา 5 ปี ในการก่อสร้าง
    นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ภายหลัง ครม.เห็นชอบในร่างสัญญาให้ รฟท.ร่วมลงทุนกับเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เบื้องต้น รฟท.ยังมีกำหนดลงนามสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ หรือไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือกระบวนการสำคัญที่ รฟท.ต้องเร่งรัดคือ การจัดการแผนส่งมอบพื้นที่ของโครงการทั้งหมด และการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
    แหล่งข่าวจาก รฟท.เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังเหลือกระบวนการสำคัญที่ รฟท.ต้องเร่งรัดคือ การจัดการแผนส่งมอบพื้นที่ของโครงการทั้งหมด โดยจะต้องแจกแจงรายละเอียดและกำหนดการส่งมอบแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อทำเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการจัดหารายงานอีไอเอ ที่ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างส่งมอบข้อมูลเพิ่มเติมให้กับคณะผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (คชก.) โดยเรื่องของอีไอเอถือเป็นประเด็นใหญ่ เพราะหากไม่ผ่านการพิจารณา จะไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ ทั้งนี้ โครงการจะสามารถลงนามได้ตามเป้าหมายหรือไม่ จะต้องเป็นเรื่องของกระบวนการพิจารณาอีไอเอ ซึ่ง รฟท.ไม่มีอำนาจในการเร่งรัดขั้นตอนพิจารณา
    ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นของประกาศ กพอ.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้เมื่อมีการลงนามสัญญาระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและเอกชนแล้ว จะต้องเปิดเผยข้อมูลของโครงการต่อสาธารณะ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนและวิธีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายให้สาธารณะรับทราบเป็นการทั่วไปภายใน 30 วัน นับจากที่ได้ลงนาม รฟท.ก็พร้อมจะดำเนินการ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดเผยสัญญาผ่านช่องทางใด
    ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้าระหว่างการประชุม ครม. นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้นำกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนกว่า 45 กลุ่ม เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอีอีซี จำนวนกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดำเนินการโครงการอีอีซีและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
    "ภาคประชาชนรู้สึกกังวลและเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ มากกว่าการพัฒนาที่จะสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติตามที่รัฐบาลได้มุ่งหวังไว้ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านชีวิตและความเป็นอยู่ ทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดทั้งด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการ ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลคือซีพี โครงการดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามมากมายถึงความไม่โปร่งใสเช่นกัน" นายสาวิทย์ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"