ปชป.ขู่เป็นฝ่ายค้าน ‘เฉลิมชัย’ถามหาคนมีอำนาจเต็มในพปชร.ยันใช้ข้อตกลงเดิม


เพิ่มเพื่อน    

 "เฉลิมชัย" ของขึ้น เซ็งพลังประชารัฐ ถามจะเล่นการเมืองวันเดียวหรือไร เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลให้เอาใจเขาใส่ใจเรา อย่าคิดแต่ประโยชน์ตัวเอง ให้เอาคนมีอำนาจจริงมาคุยกัน ยัน ปชป.ยึดเงื่อนไขเดิม สะพัดหากตกลงกันไม่ได้ถอยไปเป็นฝ่ายค้าน "คำนูณ" ร่ายยาว สาเหตุทำไมต้องเลือก "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ

    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้มีอำนาจเจรจาประสานงานกับพรรคต่างๆ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะขอนำกระทรวงศึกษาธิการแลกกับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนโยบายพรรคค่อยมาร่วมยกร่างเมื่อตัดสินใจร่วมรัฐบาลว่า เราชัดเจนมาตลอดว่ามีมติให้นำนโยบายพรรคที่จะกำกับงานใดบ้างเพื่อบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ไม่เข้าใจว่า พปชร.เล่นการเมืองวันเดียวหรืออย่างไร
    เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า พรรคไม่ต้องการต่อรองอำนาจหรือผลประโยชน์ใดๆ แต่เราเห็นว่าจะปรับงานตามนโยบายที่รับปากไว้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้องค่าครองชีพ และแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ที่รัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแก้ไขไม่ได้ แต่เรามีทีมงานและคนพร้อมที่จะทำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงขอแนะนำพปชร.ไปคุยกันเองให้จบภายในพรรค ตนยืนยันว่าปัญหาไม่ได้เกิดจาก ปชป. เรายืนอยู่บนหลักการเดิมไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ และไม่ผลักภาระให้ประชาชน
    “คุณเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ขอให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวบุคคลหรือพรรค แต่ขอให้คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนบ้าง ขอให้ไปคุยกันภายในและให้หาคนที่มีอำนาจเต็มตัวจริงมาคุยกัน เพราะเวลานี้จะคุยกับพรรคการเมืองอื่นแล้วเป็นแบบนี้ ใครจะกล้าคุยกับคุณ ผมยืนยันว่าข่าวที่ออกมาไม่มีการตกลงเจรจาใดๆ ประชาธิปัตย์เรายึดเงื่อนไขข้อตกลงเดิม สรุปเอาเป็นว่าเมื่อพลังประชารัฐหาตัวบุคคลที่มีอำนาจเต็มและมีอำนาจในการตัดสินใจได้แล้ว ค่อยมาคุยกัน อย่าให้ข่าวดิสเครดิตกัน เพราะหากเป็นพรรคร่วมผลงานของรัฐบาลก็ผูกพันกัน ประชาธิปัตย์รอคำตอบยืนยันว่าไม่ต่อรองเรื่องผลประโยชน์ใดๆ แต่เรายึดถือถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นายเฉลิมชัยกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา  คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้นัดรับประทานอาหารเที่ยงที่โรงแรมแห่งหนึ่ง หลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตรแถลงข่าวยืนยันว่า ขอกระทรวงเกษตรฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจในการตรวจสอบรายชื่อรัฐมนตรีในฐานะนายกฯ โดยในระหว่างนั้น แกนนำพรรคทั้งหมดเห็นพ้องว่าให้ยึดข้อตกลงเดิมที่คุยกับผู้มีอำนาจนอกพรรคพลังประชารัฐที่ตกลงกันแล้ว  
พร้อมเป็นฝ่ายค้าน
    และมีการประเมินสถานการณ์ว่า หากมีการเปลี่ยนคนดีล เจรจาใหม่เพื่อขอแลกกระทรวงที่พรรคจะใช้ขับเคลื่อนนโยบายพรรค หากตกลงไม่ได้จริง มีแกนนำพรรคบางส่วน เอ่ยปากว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเป็นฝ่ายค้าน หากเจรจาไม่รู้เรื่องและถึงที่สุดแล้ว
    นอกจากนี้ มีแกนนำพรรคบางส่วนที่วิเคราะห์คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุขอตรวจรายชื่อของ ครม.ในรัฐบาลว่า แม้พรรคจะมีมติเข้าร่วมรัฐบาล  พร้อมระบุชื่อแกนนำของพรรคที่เหมาะสมจะเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค แต่มีแกนนำพรรคบางคนเกรงว่า ก่อนนี้เคยมีการรวมตัวของกลุ่ม ส.ส.ที่จะถูกทาบทามเป็นงูเห่า โดยมีแกนนำกลุ่มไปเจรจากับแกนนำพรรคพลังประชารัฐไว้ก่อนแล้วว่า พร้อมที่จะโหวตเลือกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยจะมีตำแหน่งรัฐมนตรี 3 เก้าอี้ ตามสัดส่วน 7 ต่อ 1 เก้าอี้ อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เป็นต้น  
    แต่แกนนำพรรคอีกส่วนที่มีหน้าที่เจรจาได้ยืนยัน โดยเล่าสู่วงผู้บริหารพรรคว่า ผู้มีอำนาจนอกพรรคพลังประชารัฐได้ประสานมาพร้อมยืนยันว่า ให้ยึดข้อตกลงเดิม ไม่ต้องสนใจใคร เพราะผู้ที่มาเจรจาทาบทามวันก่อนที่มาทั้ง 5 คน ต่างมีนัยซ่อนเร้นในการเรียกร้องกระทรวงที่ตัวเองต้องการ หรือทำตามคำสั่งนายของแต่ละกลุ่มก๊กในพลังประชารัฐที่ต้องการทั้งสิ้น 
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวว่า ภายหลังที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุม ส.ส.ในวันที่ 5 มิ.ย. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทางพรรคได้นัดประชุม ส.ส.ของเราในวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อกำหนดทิศทางการโหวตนายกฯ 
    อย่างไรก็ตาม เรายังรอความชัดเจนจากพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะแก้ปัญหาภายในพรรคให้เรียบร้อยได้อย่างไร และหากผลเป็นอย่างไรเราจะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าพรรคไม่ได้ยื้อหรือต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ ทั้งสิ้น
    เมื่อถามว่า หากในวันประชุมพรรค แต่ พปชร.ยังไม่มีความชัดเจนจะทำอย่างไร นายราเมศกล่าวว่า ขอให้ติดตามการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย. ว่าจะมีมติอย่างไร
    ถามต่อว่า หากมติของพรรคออกมาไม่ว่าจะเป็นร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่มี ส.ส.ของพรรคโหวตงดออกเสียง ถือเป็นงูเห่าหรือไม่ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า เรามีเอกภาพในการทำกิจกรรมทางการเมือง และเชื่อว่าทุกคนจะทำตามมติพรรค   
กรวดน้ำคว่ำขัน
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การพูดคุยระหว่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ เป็นการพูดคุยช่วงก่อนเลือกตั้ง เชิญชวนให้ร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แต่เมื่อนายสมศักดิ์ตัดสินใจไปทางพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นที่มาของการกรวดน้ำคว่ำขันว่า นายจิรายุต้องการเพียงแค่ออกมาปกป้องคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะหวังอยากเป็นลูกแม่หน่อยกับเขาบ้าง ก็เท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ประเด็นสำคัญ คือการพูดคุยระหว่างนายสมศักดิ์และคุณหญิงสุดารัตน์ในเวลานั้น เหตุใดสุดท้ายแล้วจึงไม่ได้ร่วมงานกัน เพราะคนที่ชักชวนไม่มีความน่าเชื่อหรือไม่ นายสมศักดิ์จึงตัดสินใจไม่ไปร่วมงานด้วย
          รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า การทำงานร่วมกับใครสักคน คนคนนั้นต้องเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป และเมื่อถูกปฏิเสธที่จะร่วมงานด้วย ก็ต้องนำกลับไปคิด ไม่ใช่ออกมาโวยวายว่าอีกฝ่ายไม่เคารพกติกา เป็นพวกสืบทอดอำนาจ ไม่เคารพประชาธิปไตย อยากให้ย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ว่าแต่ละประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยนั้นก็มีความต่างในแบบของตนเอง 
    "การอ้างว่าประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตยนั้น แล้วเวลาเขาประกาศให้มีการเลือกตั้ง คุณจะมาลงเลือกตั้งหาพระแสงอะไร และอย่าอ้างว่าเป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยจึงลงเลือกตั้ง เพราะลำพังประชาธิปไตยในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคตัวเอง เคยหาเจอแล้วหรือยัง เห็นมีแต่ข่าว พวกฉัน เด็กฉัน ถึงจะได้ลง" 
         นายธนกรกล่าวกรณีที่ระบุว่าการจะรวมกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่ได้ตำแหน่งหรือไม่ได้กระทรวงที่ตัวเองต้องการ เป็นการต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวจนเป็นเหตุให้คุณหญิงสุดารัตน์ปฏิเสธนั้น การออกมาแถลงข่าวของนายสมศักดิ์ครั้งนี้ ก็เพราะมีคนตั้งใจป้ายสีว่า เกิดปัญหาในการต่อรองตำแหน่ง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านจึงต้องมาชี้แจง เราไม่เคยต่อรอง ตีรวนใดๆ เรามีความเป็นลูกผู้ชายพอ นายจิรายุก็แค่ป้ายสีพรรคการเมืองที่เห็นต่างไปวันๆ 
    "หวังจะได้มีชื่อโผล่ในข่าวบ้างก็เท่านั้น ลองนึกย้อนไปถึงวันที่ประชาชนออกมาเดินเต็มถนนในวันนั้นดูบ้าง เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทย พยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยใครบางคนใช่หรือไม่"
        ส่วนกรณีที่นายจิรายุระบุว่า เคยถามพรรคเพื่อไทยว่าจะต้อนรับหรือไม่ และถ้าเจ๋งจริง ดึง 30 เสียง ออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ จะเท่กว่า ชาวบ้านจะสาธุนั้น นายธนกรยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เคยคิดแค่ว่าจะต้องทำเท่ไปวันๆ แต่เราเสนอตัวเพื่อเข้ามาดูแลประชาชน เรามีนโยบายชัดเจนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อปากท้องของชาวบ้าน เราทำงานอย่างมีอุดมการณ์ และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่พรรคเสนออย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น เป็นคนดี และจะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน
มาดู'บิ๊กตู่'ไปไหนบ้าง
    ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวและภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล และกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยวันที่ 3 มิ.ย. เวลา 07.30 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  ประจำปีพุทธศักราช 2562 ที่บริเวณพิธีท้องสนามหลวง จากนั้นนายกฯ จะลงนามถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ห้องแดง อาคารหน่วยราชการในพระองค์ 904 ในพระบรมมหาราชวัง 
      ก่อนที่เวลา 09.30 น. จะมาร่วมกิจกรรมจิตอาสา ที่บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม ถนนราชดำเนินใน และจะนั่งเรือสำรวจคลองคูเมืองเดิม ชมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาคูคลองและปรับภูมิทัศน์ และจะพบปะชุมชนปากคลองตลาด ขณะที่ในเวลา 19.00 น. นายกฯ จะเป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่เวทีใหญ่ท้องสนามหลวง 
    ส่วนวันที่ 4 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามปกติ จากนั้นวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งตรงกับวันที่รัฐสภาจะประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี วันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดการเป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ในเวลา 09.30 น. และวันที่ 12 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดการประชุมเชิงนโยบายการบริหารจัดการน้ำ ในเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว 
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กรณีที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ในฐานะที่พรรคชาติไทยซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ และมีประสบการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีฉบับปี 2540 ทำสำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้ครั้งนั้นการแก้ไขเป็นเรื่องยาก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ยากกว่าเป็น 3 เท่า เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับค่ายกล 7 ดาว คงแก้ไม่ได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา รวมทุกพรรคการเมือง องค์กรอิสระทุกแห่ง ดังนั้นต้องได้รับความเห็นเป็นเอกฉันท์จากทุกฝ่าย ตนมองว่าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่แก้รัฐธรรมนูญได้ต้องใช้การประนีประนอมร่วมกัน จะเอาทั้งหมดไม่ได้ และพิจารณาร่วมกันว่าจะแก้ไขประเด็นใด เช่น การคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องหารือร่วมกัน และตั้งคณะกรรมการเพื่อให้คนยอมรับ ซึ่งตนได้พูดคุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมไปเบื้องต้นแล้ว
แก้รธน.เป็นเรื่องด่วน
    เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ ?จะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกิดในยุค คสช. นายนิกรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลอีก 3 ปี ต้องค่อยแก้เท่าที่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางรากไว้ลึก จึงต้องค่อยๆ โค่น อย่ากินรวบคำเดียว? นอกจากนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน ซึ่งอาจยึดโมเดลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยการใช้ความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย รวมถึงต้องให้ประชาชนเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ และใช้ความปรองดองที่ยิ่งกว่าเป็นความปรองดอง ถึงจะสำเร็จได้ ส่วนใครจะเป็นผู้เสนอเรื่องนี้นั้น ตนมองว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้เสนอจะดีที่สุด ผ่านการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเป็นกุญแจปลดล็อกเงื่อนไขที่สำคัญ เมื่อประชาชนสนับสนุน เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมสนับสนุน รวมถึงพรรคฝั่งรัฐบาลเช่นกัน ขณะที่รายละเอียดนั้นต้องเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะของโลกปัจจุบัน
    “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้นไม่ว่าใครจะเสนอแก้ไข สำคัญคือต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชน ให้ประชาชนยอมรับ และให้การสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนเสนอเรื่อง ผมเชื่อว่านักการเมืองทุกฝ่ายจะเอาด้วย รวมถึงรัฐบาล แต่การแก้ไขในรายละเอียดต้องเริ่มจากการแก้ไขทีละประเด็น ไม่ใช่เสนอแก้ไขทั้งฉบับในคราวเดียว เพราะเมื่อแก้ไขทั้งฉบับ อาจเกิดความกลัวขึ้นได้ รวมถึงอาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น แก้ไขเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนโมเดลของการแก้ไขในชั้นรัฐสภานั้น ต้องตั้งกรรมการร่วมขึ้นพิจารณา และให้บุคคลภายนอกร่วมด้วย เช่น กรรมการองค์กรอิสระ” นายนิกรกล่าว
    รายงานข่าวจากพรรคชาติไทยพัฒนาแจ้งว่า ระหว่างที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐพูดคุยเพื่อเทียบเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ได้ยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหารือ เนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนาได้สอบถามความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหัวหน้าและแกนนำของพรรคพลังประชารัฐว่ามีแนวทางอย่างไร พร้อมกับเสนอแนะข้อคิดเห็นว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพบว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ แต่ขาดการยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง และหลายประเด็นมีปัญหาในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งแกนนำพรรคพลังประชารัฐ รับข้อเสนอดังกล่าวไปหารือภายในพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง
ลิเกการเมือง
    กรณีมีข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมแผนอภิปรายรับน้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในวันเปิดประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ นั้น นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้โพสต์ข้อความที่เฟซบุ๊กส่วนตัว “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” ระบุว่า
          ทราบข่าวว่า 7 พรรคฝ่ายโน้นจัดดาวสภาเจนสนามมารับน้องกับบิ๊กตู่เต็มพิกัด ซัดเต็มที่ ดังนั้น ไม่ได้การละ ศึกในเอาไว้ก่อน ผม "มงคลกิตติ์" ขออาสาเป็นองครักษ์พิทักษ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี รอบ 2 ในสภา เพื่อเปิดสวิตช์เดินหน้าประเทศไทยก่อน ให้รบชนะศึกนี้ไปก่อนแล้วค่อยคุยกัน เอาส่วนรวมมาก่อน ป.ล. : ขอเวลาเตรียมข้อทุจริตรายบุคคลนิด
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขอให้ ส.ว.งดออกเสียงในการโหวตนายกฯ เพื่อผ่าทางตันให้เสียงของพรรคการเมืองมีความเท่าเทียมว่า ตนเชื่อว่า ส.ว.มีอิสระ รวมถึง ส.ส.ก็เช่นกัน ท่านจะเลือกใครก็เรื่องของท่าน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้คนละ 1 เสียง อย่ามาพูดจาก้าวก่ายกัน ถ้า ส.ว.ไปสั่ง ส.ส.ให้งดออกเสียงบ้างจะยอมหรือไม่ หรือว่า ส.ว.ต้องงดออกเสียงตามที่ ส.ส.สั่งจึงจะเรียกว่ามีอิสระ อย่าเอาประชาชนมาอ้างหรือชี้นำ เพราะบางคนอาจคิดไม่ตรงกับ ส.ส.ก็ได้ ตนเชื่อว่าการโหวตนายกฯ จะไม่ยืดเยื้อ ผลเป็นแบบไหนทุกคนต้องยอมรับ ทุกทีที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ แต่พอถึงเวลาเราก็ผ่านไปได้ ครั้งนี้ก็เช่นกันจะมีทางออกเดินหน้าต่อไปไม่เป็นทางตันแบบพรรคเพื่อไทยอ้างแน่
         นายเสรีเปิดเผยว่า ส่วนตัวจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ในวันโหวตนายกฯ อยู่แล้ว ส่วนคนอื่นตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้พูดคุยกับใคร ซึ่งการลงคะแนนเลือกนายกฯ เป็นแบบเปิดเผย ตนไม่จำเป็นต้องปิดบัง ที่ตัดสินใจแบบนี้มาจากผลคะแนนเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐได้มาจำนวนมาก แบบนี้จึงเรียกว่าตนเลือกตามเสียงของประชาชน ดังนั้น ส.ส.บางกลุ่มอย่ามาให้ข่าวกดดัน ส.ว. เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละบุคคล จะต้องเคารพซึ่งกันและกัน
"คำนูณ"เลือก"บิ๊กตู่"
    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุถึงหลักคิดในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn โดยมีเนื้อหาระบุว่าตั้งแต่เข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา บางคนถามว่าจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะอะไร หลายคนไม่ถาม แต่พูดในเชิงว่ายังไงๆ ผมก็ต้องเลือกอยู่แล้ว อันที่จริงเป็นคำถามที่ไม่ว่าจะตอบหรือไม่ตอบ ทุกคนก็จะได้รู้ชัดว่าผมและสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นจะใช้สิทธิอย่างไร เพราะเป็นการลงมติโดยเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญ
    ขอกล่าวถึงหลักคิดและเหตุผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกวุฒิสภาในมุมมองส่วนตัวของผมพอสังเขปจะดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ตามสมควร
    สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลได้หน้าที่และอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในส่วนของ 'คำถามเพิ่มเติม' ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตอบว่า 'เห็นด้วย' ด้วยคะแนนเสียงคะแนนเสียงข้างมาก 15,132,050 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.07 ของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติทั้งหมด จึงต้องย้อนกลับไปดูคำถามเพิ่มเติมว่าอ้างอิงเหตุผลไว้อย่างไร
    "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
    สรุปให้สั้นและกระชับ..."เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ..." ผมเห็นว่านี่คือ 'เหตุผลพิเศษ' ของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุผลที่เพิ่มเติมไปจากเหตุผลทั่วไปทางการเมืองระบบรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ได้รับการวางบทบาทจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นเสมือน 'องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ' มีหน้าที่หลักพิเศษนอกเหนือจากการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
    จะเลือกบุคคลใดก็ตาม บุคคลนั้นต้องตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' นี้ได้ อาทิ บุคคลนั้นเข้าใจแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 10 (+2) ด้านหรือไม่ บุคคลนั้นจะปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือตั้งใจจะรื้อใหม่หมดไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตาม อันจะเป็นผลทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศล่าช้าออกไปอีก ?
แผนปฏิรูปประเทศ
    ขอให้ข้อมูลซ้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ขณะนี้แผนปฏิรูปประเทศรวม 10 ด้าน มีผลบังคับใช้โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ส่วนแผนปฏิรูปประเทศอีก 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา และตำรวจ ตัวร่างกฎหมายหลักยกร่างเสร็จแล้วในชั้นกฤษฎีกา รอคณะรัฐมนตรีส่งเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งนี้ โดยมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะอยู่แล้ว 2 ฉบับ มีกรรมการปฏิรูปประเทศมีอยู่แล้วทั้ง 10 ด้าน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2560
    ทั้งหมดเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น ท่านจึงออกจะได้เปรียบในประเด็นนี้ เพราะเป็นประธานในการอนุมติแผนเอง ทั้งในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายกรัฐมนตรี
    "ช่วยปลดแอกรากหญ้า คนจน ทั้งในชนบท ในเมือง ให้หลุดพ้นพันธนาการจากที่เคยเป็นเบี้ยล่างเพราะถูกมัดมือชกโดยสัญญาขายฝาก"
    ขอยอมรับ ณ ที่นี้ว่า เฉพาะประเด็นนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์  'ได้ใจ' ผมไปเต็มๆ เพราะสมัยทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 ผมได้มีส่วนร่วมกับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ ทำงานร่วมกับกลุ่มชาวนาชาวไร่ที่เข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรม ได้เห็นความเดือดร้อนและการสูญเสียที่ทำกินจากบทบัญญัติการขายฝากที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมัยนั้นเกิดการปฏิรูปใหญ่มีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาออกมา 2 ฉบับ คือ กฎหมายควบคุมค่าเช่านาและกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขาดแต่การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายขายฝาก กระทั่งผ่านมาอีกหลายยุคสมัยเกือบ 50 ปีก็ไม่สำเร็จ เพิ่งมาสำเร็จในยุคนี้ ขณะนี้กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 จะมีผลบังคับใช้ทั้งระบบภายในไม่กี่เดือนนี้
    ภายใต้สภาวการณ์การเมือง 2 ขั้ว เชื่อว่าบุคคลในข่ายที่เหลือ 7 คนน่าจะได้รับการเสนอชื่อและผ่านการรับรองให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 2 คนเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็น 1 ใน 2 คนนี้แน่ ในฐานะผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยการสนับสนุนของกลุ่มพรรคพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง
    ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นใครจากขั้วพันธมิตร 7 พรรคที่ชิงแถลงข่าวตั้งแต่หลังเลือกตั้งหมาดๆ ขณะนี้ยังไม่ชัดเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศไม่รับการเสนอชื่อแล้ว จะพลิกไปเป็นใครในอีก 2 รายชื่อที่เหลืออยู่ของพรรคเพื่อไทย? หรือจะเป็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่? เมื่อถึงเวลานั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี
    สำหรับผม ตัดสินใจได้แล้วบนฐานหลักคิดที่กล่าวมา โดยเป็นบุคคลที่ทั้ง 'ได้ใจ' และ 'ค้างคาใจ' ผม แต่เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักโดยเปรียบเทียบกับแคนดิเดตที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นใครแล้ว คำตอบออกมาชัดเจน พร้อมจะเปล่งวาจาขานชื่อบุคคลผู้นี้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการกำหนดตัวบุคคลที่จะเสนอเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ 7 พรรคการเมืองว่า หัวหน้าพรรคทั้ง 7 พรรคจะนัดหารือในวันที่ 4 มิ.ย.นี้  โดยขณะนี้มีแคนดิเดตที่สามารถเสนอชื่อไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 3 คน ประกอบด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 
    มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. ของ 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย เพื่อหามติเสนอชื่อบุคคลเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ จะเริ่มต้นที่การพิจารณาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดก่อน คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งประกาศตัวไม่ขอเข้าชิงตำแหน่งนี้ไปแล้ว 
    ทำให้เหลือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ทั้งนี้ ในรายของนายชัชชาตินั้น มีรายงานว่าเจ้าตัวอาจประกาศถอนตัว และก่อนหน้านี้มีการคุยนอกรอบของ 7 พรรคการเมือง โดยพรรคอนาคตใหม่ไม่สบายใจหากเสนอชื่อนายชัชชาติ เนื่องจากนายชัชชาติไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ซึ่งสถานะไม่ต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
    ทั้งนี้ นายชัยเกษม หนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสสูงที่ 7 พรรคการเมืองจะเห็นร่วมกันถึงความเหมาะสมที่จะถูกส่งชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ  
    ส่วนนายธนาธร นอกจากติดปัญหากรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.แล้ว กลุ่ม ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทยยังมองว่าคุณวุฒิและบารมีนายธนาธรยังไม่มากพอที่เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ  
    อีกทั้งมองในเรื่องศักดิ์ศรีของพรรคเพื่อไทย หากเสนอชื่อบุคคลจากพรรคอื่น ก็อาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่ผู้สนับพรรคเพื่อไทย และอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"