5 ศิลปินสตรีบนหน้าประวัติศาสตร์งานทัศนศิลป์ไทย


เพิ่มเพื่อน    

ลาวัณย์ อุปอินทร์ 1 ใน 5 ศิลปินสตรีอาวุโส สร้างสรรค์ผลงานมากว่า 60 ปี

 

 

     ศิลปินสตรีที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะในไทย กลับมากระตุ้นให้คนไทยเข้าใจบทบาทของศิลปินหญิงที่มีต่อการพัฒนาแวดวงทัศนศิลป์ไทยอีกครั้ง ในรูปแบบของผลงานศิลปะอันสวยงามทรงคุณค่า เพื่อเชิดชูเกียรติผ่านนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปี 2562 “ 5 ศิลปินสตรี กับบทบาทการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จัดโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

      นิทรรศการพิเศษชุดนี้ กรมศิลปากรได้คัดเลือกศิลปินสตรีอาวุโส จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล, คุณมีเซียม ยิบอินซอย, หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร, อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ และคุณไข่มุกด์ ชูโต นำผลงานศิลปะมาจัดแสดงร่วมกัน แม้ว่าขณะนี้อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ เป็นเพียงท่านเดียวที่ยังสร้างงานศิลป์บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเอง ขณะที่ศิลปินอาวุโสท่านอื่นๆ ล่วงลับไปแล้ว แต่ได้ฝากผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปะแสดงให้เห็นถึงตัวตน ตลอดจนบทบาทของศิลปินที่เคยโลดแล่นอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์งานทัศนศิลป์ไทย ชื่อของ 5 ศิลปินสตรีอยู่ความทรงจำของผู้รักงานศิลป์สมัยใหม่

 

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้มีบทบาทสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย

 

 

      สำหรับทีมภัณฑารักษ์นิทรรศการ ประกอบด้วย ปัทมา ก่อทอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ, รัฐพงศ์ เกตุรวม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ และธิติพงศ์ เสริฐวาสนาธัญญา นักวิชาการวัฒนธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปินและทายาท ช่วยอำนวยความสะดวกในการคัดสรรและให้ยืมงานศิลปะมาแสดง ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก ได้เห็นงานศิลปะของแท้ด้วยตา ซึ่งศิลปินและทายาทเก็บรักษาไว้อย่างดี พิธีเปิดนิทรรศการมี คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, อรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร และอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ และทายาทศิลปินทั้ง 5 ท่าน มาร่วมงาน

 

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน ร่วมงานเปิดนิทรรศการ 5 ศิลปินสตรีฯ

 

 

      อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ วัย 83 ปี กล่าวว่า นิทรรศการนี้เป็นประโยชน์ในการศึกษาศิลปะของไทย ได้มารับรู้ประวัติและเห็นผลงานของศิลปินหญิงแต่ละท่าน แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถ ไม่ได้เก่งเฉพาะศิลปินชาย อย่าง ผู้หญิงหม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล ทรงงานด้านจิตรกรรม โดยเฉพาะภาพหุ่นนิ่งสวยมาก สะท้อนพระปรีชาสามารถ ภาพของท่านจะสีหม่นหน่อยด้วยทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก มีเซียม ยิบอินซอย ได้ไปพิพิธภัณฑ์เห็นผลงานของศิลปินในยุโรปด้วยตนเอง ทำให้มีความคิดที่ต้องการทำงานศิลปะจากพื้นฐานเดิมของตนเองที่มี แล้วไปเรียนศิลปะกับโมเนต์ ซาโตมิ ทูตวัฒนธรรมญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นจิตรกรจบจากสถาบันศิลปะในฝรั่งเศส ชอบเขียนภาพ ครั้งแรกที่มีเซียมส่งภาพทิวทัศน์ต้นไม้ริมทางเข้าประกวดรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ก็ได้รางวัลเหรียญทอง จากนั้นก็ได้รางวัลศิลปินชั้นเยี่ยม ก่อนจะหันมาทำงานประติมากรรม เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี งานก็เด่นมาก ส่วนหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ผลงานสวยงามมาก สไตล์ศิลปะตะวันตกเลย

      “ สมัยเรียนศิลปะก็ต้องมีความพยายามมากกว่าผู้ชาย มีคำถามมากมาย ตอนแรกตั้งใจเรียนปั้น แต่ด้วยปัญหาสุขภาพเป็นโรคหอบหืดก็เปลี่ยนมาเรียนจิตรกรรม จนจบเป็นศิลปะบัณฑิตหญิงคนแรก  เมื่อทำงานศิลปะแรกๆ ก็มีคำถามต่อผลงาน คนไม่เชื่อว่าเราทำเอง แต่ก็ได้พิสูจน์และทำงานจิตรกรรมต่อเนื่องกว่า 60 ปี และที่ภาคภูมิใจที่สุด ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ถวายงานเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ส่วนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์" อาจารย์ลาวัลย์ กล่าว

 

ชื่มชมงานศิลปะแต่ละยุคของลาวัณย์ อุปอินทร์

 

      ศิลปินสตรีอาวุโส กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันมีศิลปินหญิงเข้าสู่ในวงการศิลปะมากขึ้น แต่ยังไม่มีบทบาทโดดเด่น และส่วนหนึ่งยังมีมุมมองว่าศิลปินชายเก่งกว่า แต่ไม่อยากให้ย่อท้อ ต้องต่อสู้ต่อไป ทำให้คนยอมรับว่าความสามารถเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ตนวางแผนเดือนมกราคม ปี 2563 จะจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งสุดท้ายในโอกาสอายุครบ 84 ปี โดยจะมีผลงานตั้งแต่สมัยเรียนศิลปะ และผลงานแต่ละยุคสมัย รวมถึงผลงานใหม่ด้วย   

 

มรกต ยิบอินซอย ทายาทมีเซียม ยิบอินซอย บอกเล่าประติมากรรมถึง 'เต้นรำ'  

 

      มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YIP IN TSOI ทายาทรุ่นหลาน มีเซียม ยิบอินซอย กล่าวว่า ได้รับการประสานยืมงานศิลปะของคุณย่า มีเซียม ยิบอินซอย มาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ปกติประติมากรรมของคุณย่าจะติดตั้งในสวนศิลป์มีเซียม อ.สามพราน จ.นครปฐม และเปิดให้คนเข้าชมตามเจตนารมณ์คุณย่า ก่อนจะปิดลงเมื่อปี 2558 เพราะผลงาน Coy Girl ถูกโจรกรรมจนบัดนี้ยังไม่ได้กลับคืน เป็นสมบัติชาติที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียว ปัจจุบันประติมากรรมและภาพวาดของคุณย่าเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย สำหรับนิทรรศการนี้อยากเชิญชวนมาชมผลงานด้วยตา โดยไม่ต้องเข้าดูภาพในโลกอินเทอร์เน็ต ศิลปินทั้ง 5 มีความต่างกันในวิถีการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ 

      “ คุณย่าเริ่มทำงานศิลปะขณะที่มีอายุกว่า 40 ปี เรียนศิลปะกับโมเนต์ ซาโตมิ และอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ทราบว่า ท่านพากเพียร ตั้งใจเรียนมาก คุณย่าพูดเสมอว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” หลานๆ เติบโตมาได้เห็นชีวิตและการทำงานของคุณย่า อย่างประติมากรรมเด็ก “กระโดดเชือก” เรากระโดดเชือกเป็นอาทิตย์ ให้ท่านดูความเคลื่อนไหวด้วยจิตใจ ท่านจะปั้นด้วยดินน้ำมันขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ ก่อนขยายขนาดขึ้นและมีทีมศิลปากรมาทำโครงเหล็กรับดินน้ำหนัก จากนั้นคุณย่าจะใช้มือทำงานปั้น แต่ง ยุคหลังท่านทำประติมากรรมขนาดใหญ่อย่าง ประติมากรรมเด็กยืนต่อตัว ชื่อ "ความต่อเนื่อง” ที่ดอยตุง ท่านทำงานหนักมาก มีช่วงหนึ่งคุณย่านิ้วหัก ปั้นดินไม่ได้ก็ทำงานเชื่อมโลหะ เช้าถึงเที่ยงท่านจะปั้น บ่ายหรือเย็นจะวาดภาพ ศิลปะเป็นสิ่งที่ท่านรักและมีความสุขมากที่สุด " มรกต กล่าว และว่าทายาทมีแนวคิดจะจัดแสดงผลงานของมีเซียม ยิบอินซอย อย่างแน่นอน ฝากให้ติดตามกัน 

 

    

 

        "พักผ่อน" ผลงานประติมากรรมที่โดดเด่นของมีเซียม ยิบอินซอย 

 

 

      นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส  “ 5 ศิลปินสตรี กับบทบาทการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย” เต็มอิ่มไปด้วยชีวิตและงานศิลปะสมัยใหม่ของศิลปินสตรีผู้ผงาดในหน้าประวัติศาสตร์งานศิลปกรรมของไทย กำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ -30 มิถุนายน 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ปิดทุกวันจันทร์-อังคาร

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"