ผู้แทนภาคประชาชนในเอเซียถกปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ‘ASIAN PARTNERSHIP URBAN POOR AND INCLUSIVE CITY DEVELOPMENT’


เพิ่มเพื่อน    

ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี / ผู้แทนภาคประชาชนในเอเซียถกปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง  ‘ASIAN PARTNERSHIP URBAN POOR AND INCLUSIVE CITY DEVELOPMENT’  ในงาน ‘ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019’ โดยมีผู้แทนภาคประชาชนจากกัมพูชา  เมียนม่าร์  ศรีลังกา  และผู้แทน UNHABITAT เข้าร่วม  แลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน  ผู้แทนเมียนม่าร์เผยเทคนิค ‘ยึดพื้นที่สื่อ’ สร้างความสนใจให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา

 

ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฏาคมนี้  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  หน่วยงานในสังกัด  และภาคีที่เกี่ยวข้อง  ร่วมกันจัดงาน ‘ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019’ งานแสดงนวัตกรรมทางสังคมครั้งใหญ่ของประเทศไทย  โดยมีการแสดงนิทรรศการ  ผลงาน  การออกร้านจำหน่ายสินค้า  ฯลฯ  ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้จัดประชุมทางวิชาการ  เพื่อนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาชุมชน  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ  และผู้แทนภาคประชาชนในประเทศเอเซียเข้าร่วมงาน

 

โดยในวันนี้ ( 6 กรกฎาคม) มีการประชุมวิชาการ   หัวข้อ  ‘ASIAN PARTNERSHIP URBAN POOR AND INCLUSIVE CITY DEVELOPMENT’ มีวิทยากรจากประเทศต่างๆ ในเอเซีย  มีผู้เข้าร่วมงานจากเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมงานประมาณ  150 คน

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวเปิดการสัมมนามีใจความตอนหนึ่งว่า พอช. ทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ  ทำงานโดยไร้รอยต่อ  สร้างแกนนำ  สร้างขบวนองค์กรชุมชน  และสร้างเครือข่าย เรียกง่ายๆ ว่า “ก ข ค”  คือ แกนนำ ขบวนองค์กรชุมชน และเครือข่าย  ‘ก’  คือ การไปสร้างให้เกิดความแกร่ง  ข’ ไปสร้างให้เกิดการขยายผล  ‘ค’ คือ ให้เกิดเครือข่าย ซึ่ง พอช.ได้อาศัยแกนนำเคลื่อนงาน  ทำให้เกิดพลังในการทำงาน  นี่คือบทบาทของ พอช.

 

“ที่ผ่านมา พอช.ทำงานแบบปิดทองหลังพระมาโดยตลอด  และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เช่น  เรื่องที่ 11 การจัดที่อยู่อาศัย  เรื่องที่ 16 ความเป็นธรรม  เรื่องที่ 17 Partnership  โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ซึ่ง พอช.ทำมากว่า 19 ปี เป้าหมาย คือ บ้านมั่นคง  ความมั่นคงของมนุษย์ที่มี 12 มิติ เช่น  มีสุขภาวะ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิต สิทธิพลเมือง การมีส่วนร่วมในสังคม โดยประมาณ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่บุกรุกกฎหมาย ไม่แออัด มีกรรมสิทธิ์ในตนเอง มีทั้งซื้อและเช่า มีทั้งที่ดินของรัฐและเอกชน ที่เป็นบ้านที่มากกว่าบ้าน ที่มีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องมีความสุขสมบูรณ์” นายไมตรีกล่าว

หลังจากนั้นเป็นการเสวนา ในหัวข้อ  ‘ASIAN PARTNERSHIP URBAN POOR AND INCLUSIVE CITY DEVELOPMENT’  โดยมีผู้แทนภาคประชาชนจากประเทศกัมพูชา  ศรีลังกา  เมียนม่าร์  และผู้แทนจาก UNHABITAT (โครงการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ของสหประชาชาติ)  โดยมีนางทิพย์รัตน์  นพลดารมย์  ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของ พอช.เป็นผู้ดำเนินรายการ  โดยเกริ่นนำว่า  ปัจจุบันในทวีปเอเซียมีประชากรที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย  หรือมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงประมาณ 500 ล้านคน

กัมพูชา :  นำประสบการณ์จาก พอช.ไปใช้ “ให้ชาวบ้านแก้ปัญหาเอง”

นายบานชื่น  ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชน  และวุฒิสมาชิก ประเทศกัมพูชา  กล่าวว่า  การพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยในประเทศกัมพูชาเริ่มจากกลุ่มออมทรัพย์ก่อน  มีโครงการเล็กๆ  ที่นำไปสู่เรื่องที่อยู่อาศัย และมีการขยายกองทุนฯ ไปทั่วประเทศ ขณะที่ปัญหาของกัมพูชา  คือ การขยายตัวของเมืองที่เร็วเกินไป  เศรษฐกิจไปไกลแต่ชาวบ้านตามไม่ทัน  สิ่งที่ท้าทายและสิ่งที่ต้องทำ คือ เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ซึ่งตนเคยเดินทางมาดูงานเรื่องบ้านมั่นคงที่ พอช.ทำที่จังหวัดอุดรธานี  และตนได้นำแนวคิดนี้ไปทำต่อที่กัมพูชา

“การพัฒนาที่อยู่อาศัยในกัมพูชา  เดิมชาวบ้านไม่เข้าใจ  ต่างคนต่างทำ ต่อมาจึงเริ่มใช้แนวคิดของ พอช.ที่เน้นให้ชาวบ้านแก้ปัญหาเอง  สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากฝีมือของชาวบ้านจนรัฐเอาไปกำหนดทิศทางของประเทศในระดับนโยบาย คือ  เรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน   การแก้ปัญหาคนจนในที่ดินของรัฐ  เช่น  คนจนในที่ริมแม่น้ำ  ทางเท้า  ริมทางรถไฟ  จึงเริ่มแก้ปัญหาโดยให้ชาวบ้านสำรวจข้อมูลทั้งเมือง  พบว่า 27 เทศบาลทั้งประเทศ มี 1,123 สลัม ประมาณ 180,000 ครอบครัว  จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวางแผนแก้ไขปัญหา” นายบานชื่นกล่าว

 

และยกตัวอย่างชุมชนริมน้ำในกรุงพนมเปญ   ชาวบ้านสร้างบ้านอยู่บนคลองเก่า  และต่อมาได้เจรจากับรัฐเพื่อขออยู่ในที่เดิมจนประสบความสำเร็จ  จากนั้นชาวบ้านจึงเริ่มออมทรัพย์  ปรับปรุงที่ดินและที่อยู่อาศัยเอง  ส่วนการก่อสร้างบ้านใหม่ต้องใช้งบเยอะจึงกู้เงินจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนมาใช้ในการก่อสร้าง  มี 3 รูปแบบ  คือ สร้างในที่ดินเดิม  จัดการที่ดินใหม่  และย้ายที่อยู่อาศัยจากที่เดิมมาอยู่ที่ใหม่

 

สหกรณ์สตรีศรีลังกาเริ่มจาก 8 คนเป็น 100,000 คน  เงินเพิ่มเป็น 9,000 ล้านรูปี

นายมีโกด้า นัททะศิริ  ผู้แทนภาคประชาชนจากประเทศศรีลังกา  กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศศรีลังกา  โดยสหกรณ์กลุ่มสตรีศรีลังกา  เริ่มจากการมาดูงานในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปปรับใช้  แต่ความท้าทายแรก คือ คนในประเทศไม่พร้อมใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเอง  อันเนื่องมาจากความเคยชินในการที่ประชาชนมีหน้าที่เพียงการเลือกผู้แทน  แล้วให้ผู้แทนไปแก้ปัญหาของตน  จึงส่งผลต่อการพัฒนาด้านความสามารถ 

อย่างไรก็ตาม  สหกรณ์สตรีศรีลังกาเริ่มงานจากการประชุมผู้หญิงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการออมทรัพย์ แต่มีคนสนใจน้อยเพียงแค่ 8 คน  และเริ่มทำงานจาก 8 คนจนขยายเป็น 100,000 คน  เริ่มแรกมีเงินเพียง 40 รูปี  ปัจจุบันเพิ่มเป็น 9,000  ล้านรูปี

นางอโชก้า ประธานสหกรณ์สตรีศรีลังกา  เล่าว่า  ตนเข้าร่วมกับสหกรณ์  โดยตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขนาดเล็กขึ้นมา จากกลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ ได้รวมกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ จนกลายเป็นสหกรณ์ขึ้นมา   หลังจากการรวมกลุ่มได้มีการขยายเป็นสาขาย่อยของสหกรณ์  ให้สมาชิกกู้เพื่อที่อยู่อาศัย การศึกษา และอาชีพที่หลากหลาย  เงินสหกรณ์สามารถเอาไปใช้ได้หลายหมวด นอกจากนี้ที่ประเทศศรีลังการัฐบาลไม่มีนโยบายไล่ที่คนจน  แต่จะมีการจัดการที่ดินให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย

 

“เนื่องจากเป็นสหกรณ์สตรี  แต่มีสมาชิกทั้งผู้หญิงและผู้ชาย   โดยผู้ชายมีสิทธิ์โหวตเพื่อลงเสียงในสหกรณ์  แต่ไม่มีบทบาทในการบริหารจัดการ  และจากประสบการณ์พบว่า  การชวนกลุ่มผู้หญิงเพื่อลงหุ้น 5 รูปีจะได้ทันที  แต่ผู้ชายจะคิดก่อน อย่างไรก็ตาม  การที่ผู้หญิงเห็นความทุกข์ยากของชุมชนจึงมาร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน  จนในปัจจุบันสหกรณ์สตรีฯ มีศูนย์รักษาสุขภาพของตนเอง”  ประธานสหกรณ์สตรีศรีลังกาเล่าประสบการณ์ 

 

ประสบการณ์จากเมียนม่าร์ : ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์

นางลิซ่า  ผู้แทนภาคประชาชนจากองค์กรผู้หญิงเพื่อโลก  ประเทศเมียนม่าร์  กล่าวว่า  พม่ามีปัญหาเรื่องราคาที่ดินที่สูงขึ้น  การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  เกิดผลกระทบกับชุมชน  ปัญหาที่อยู่อาศัยมีการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร  แต่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณสมสุข บุญญะบัญชา (อดีต ผอ.พอช.) และใช้วิธีง่ายที่สุด คือ พาคนที่ประสบภัยพิบัติสึนามีมาดูงานที่ประเทศไทย  ซึ่งตอนประสบภัยพายุนากิสในประเทศ  หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ  โดยทำบ้านเป็นลักษณะกล่องให้ชาวบ้านอยู่  ซึ่งชาวบ้านก็ไม่พอใจ  จึงมาดูงานสึนามิที่เมืองไทยที่เห็นชาวบ้านทำเอง  จึงกลับไปทำที่พม่า  โดยให้ชาวบ้านทำเอง  ชาวบ้านเหนื่อยมาก  แต่พอใจ ถูกใจ และแก้ปัญหาได้เร็ว 

“พอประสบภัยพิบัติพายุนาร์กิสในปี 2551  ชาวบ้านไม่มีงบประมาณ ไม่มีที่ดิน เรื่องที่ยากคือคนในเมืองที่ไม่สิทธิ์อะไร  คนจนในเมืองจึงรวมตัวกัน  ทำการสำรวจข้อมูล  การมาดูงานที่เมืองไทยทำให้ชาวบ้านมีพลังในการทำงานมากขึ้น  โดยใช้กระบวนการออมทรัพย์สหกรณ์  เป็นเครื่องมือในการจัดการชุมชน  ทดลองทำใน 3 ชุมชน ในระยะเวลา 5 ปี  ซึ่งนโยบายรัฐไม่ได้สนับสนุน  แต่สิ่งที่ทำได้  คือ เห็นเพื่อนบ้านในประเทศอื่นๆ ทำได้  จึงได้ลงมือทำให้เป็นจริง   โดยไม่สนใจกฏหมาย  เพราะหากสนใจกฏหมายจะทำอะไรไม่ได้  จึงต้องมีความพยายามปรับเปลี่ยน  หลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการ 3 โครงการ จึงได้เข้าหารัฐบาลและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่รัฐเน้นแต่ผลผลิตและปริมาณ ซึ่งชาวบ้านยังไม่พอใจ จึงได้มีการปรับไปใช้งบจากบริษัทเอกชนขนาดเล็ก” ผู้แทนจากเมียนม่าร์เล่าถึงการแก้ไขปัญหา

 

และเล่าถึงการใช้สื่อมวลชนเพื่อแสดงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน  ในช่วงที่นางอองซานซูจีไปเยี่ยมชุมชน มีสื่อมวชนตามไปทำข่าวเป็นจำนวนมาก  ชาวบ้านจึงสร้างความสนใจโดยการร้องห่มร้องไห้  พูดถึงปัญหาความเดือดร้อนเรื่องไม่มีที่อยู่อาศัย  ทำให้สื่อสนใจนำข่าวไปเผยแพร่  รัฐบาลจึงสั่งให้มีการเร่งแก้ปัญหา

 

“การเริ่มต้นของชาวบ้านคือมีกลยุทธ์ยึดสื่อ แถลงข่าวในการทำงาน  การจัดการต่างเรียนรู้จาก พอช. ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็พอใจกับกระบวนการแบบ พอช.  แต่องค์กรในเมียนม่าร์ยังไม่เป็นทางการหรือยังไม่เป็นสถาบันเหมือนกับ พอช.  แต่ในอนาคตจะขยับเป็นองค์กรระดับชาติ  และใช้กรณีศึกษาจากประเทศไทยเพื่อนำเสนอและต่อรองกับรัฐ  และสิ่งสำคัญในการทำงาน คือ ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหา  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนบ้าน  ทำงานกับชุมชนต้องทำเรื่อยๆ ไม่หยุด  พยายามเชื่อมโยงกับนโยบายให้ได้  ภาคีร่วมพัฒนาที่เป็นเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศก็ต้องร่วมมือกัน”  ผู้แทนจากเมียนม่าร์กล่าว

 

UNHABITAT : “การทำเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องการสร้างสุขภาวะ สร้างความมั่นคง ไม่ใช่เพืยงการสร้างบ้าน”

 นายแฮม  ผู้แทนจาก UNHABITAT (โครงการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ของสหประชาชาติ)  กล่าวว่า  ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย คือ ความไม่เท่าเทียมในชีวิตคนเมือง เป็นเรื่องที่เกิดในทุกๆ เมือง  ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมานานแล้ว  และตนมีความรู้สึกดีที่มีองค์กรแบบ พอช.ที่ทำงานมานานและต้องทำงานต่อเนื่อง  โดยรัฐต้องมุ่งมั่นในการสนับสนุน และขบวนชาวบ้านต้องมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา 

“ในเอเชียจะเห็นว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด  จะอยู่อาศัยในชุมชนแออัด  แต่รัฐแก้ได้เพียง 1 ใน 3 ส่วน ที่เหลือยังแก้ไม่ได้  การทำที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องการสร้างสุขภาวะ  สร้างความมั่นคง  มีความเป็นองค์รวมไม่ใช่เพียงการสร้างบ้าน  และองค์ประกอบของการพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ  ต้องมีนโยบายรัฐที่สนับสนุนการทำงานของชุมชน   และชุมชนต้องได้รับการสร้างเสริมพลังความเข้มแข็ง  การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยต้องมองจุดสัมพันธ์หลายระบบ  ทั้งการศึกษา  การปกครอง และเรื่องธรรมาภิบาล  เช่น  ในประเทศเมียนม่าร์ที่กำลังมีการเลือกตั้งเป็นช่วงที่ดีที่พร้อมในการโน้มน้าวให้รัฐมีนโยบายการพัฒนา  และการใช้สถิติตัวเลขที่อยู่อาศัยน่าจะเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับรัฐได้”  ผู้แทนจาก  UNHabitat  แนะแนวทางการร่วมมือแก้ไขปัญหา

 

นอกจากนี้รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีหลักการและแนวคิดอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องทำให้ผู้ที่กำหนดนโยบาย  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  เชื่อมั่นต่อกระบวนการทำงานที่นำไปสู่การสร้างผลผลิตที่เป็นรูปธรรม  เช่นกองทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสามารถทำได้โดยไม่ขาดทุน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"