ทีวีดิจิทัลยิ้มร่า ‘กสทช.’ชดเชย 4ช่อง1พันล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ วอนอย่าคิดว่า คสช.ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ใคร หลังเคาะ ม.44 ระงับสรรหา กสทช.ใหม่ รอรัฐบาลหน้าพิจารณา ลั่นหมดเวลาใช้วิธีนี้แก้ปัญหา  ขณะที่ กสทช.เตรียมควัก 1,383 ล้าน จ่าย 4 ช่องทีวีดิจิทัลคืนไลเซนส์

    เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการออกคำสั่ง คสช. เพื่อระงับการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ แทนชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่รักษาการอยู่เกินวาระมา 2 ปีแล้วว่า ขออย่าคิดว่าการทำงานของ คสช.นั้นเพื่อผลประโยชน์ของใคร เพราะทั้งหมดเพื่อประโยชน์ประชาชน สำหรับเรื่องดังกล่าว ขอให้เอาคำสั่ง คสช.ทำงานไปก่อน เมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้ออกกฎหมาย ก็ต้องรอให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นคนพิจารณากฎหมายต่อ ซึ่งจะออกเมื่อใดก็ยังไม่รู้ เมื่อออกมาแล้วก็ต้องทำตามกฎหมายใหม่ แต่ถ้ากฎหมายยังไม่ออก ก็ยังไม่สามารถคัดสรรได้ ดังนั้น ถ้ากรรมการ กสทช.ลดลง การพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็จะมีปัญหาทั้งหมด แต่ทั้งหมดต้องทำตามกฎหมายให้ได้ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณและดำเนินโครงการต่างๆ โดยมีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว ขออย่ากังวล
        พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลายคนเรียกร้องให้ตนใช้มาตรา 44 แต่วันนี้ต้องเลิกใช้แล้ว เพราะหมดเวลาที่จะต้องใช้ แม้จะมีเวลาใช้ไปจนถึงวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก็ตาม แต่ก็ไม่ควร ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามาตรา 44 นั้น ไม่ได้ใช้ในทางที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น
    ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช.ได้เห็นชอบกรอบวงเงินชดเชยช่องวอยซ์ทีวี จำนวน 378 ล้านบาท กรณีขอคืนใบอนุญาต ตามมติคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล (คณะอนุกรรมการเยียวยา) โดยให้มีการยุติการออกอากาศในวันที่ 1 กันยายน 2562
    นอกจากนี้ มติที่ประชุม กสทช.ได้อนุมัติในหลักการ เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ตามที่กำหนดไว้ให้ดำเนินการไม่น้อยกว่า 45 วัน และให้มีการประชาสัมพันธ์ตามที่ กสทช.กำหนดไว้ ไม่ต้องเสนอต่อที่ประชุม กสทช.อีก ให้เป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น ทำให้ขั้นตอนการพิจารณาของ 3 ช่องที่เหลือ ได้แก่ ช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่), ช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) และช่อง 14 (เอ็มคอตแฟมิลี่) รวดเร็วขึ้น และเมื่อมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยากำหนดกรอบวงเงินชดเชยแล้วให้ถือเป็นมติที่ประชุม กสทช.
    นายฐากรกล่าวว่า สำหรับช่อง 14 (เอ็มคอตแฟมิลี่) ที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยา มียอดเงินประมูลใบอนุญาต 660 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 452 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นเงิน 289 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ ถึงวันที่ 15 กันยายน 2562 รวม 63 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (มักซ์) จำนวน 28 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ (มัสต์แครี) จำนวน 34 ล้านบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้รับ (ถึงวันที่ 15 กันยายน 2562) เป็นเงินจำนวน 226 ล้านบาท หักค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ที่ค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 63 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 163 ล้านบาท
    ส่วนช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่) ยอดเงินประมูลใบอนุญาต 666 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 455 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นเงิน 290 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 รวม 64 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเช่ามักซ์ จำนวน 28 ล้านบาท และค่ามัสต์แครี จำนวน 35 ล้านบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้รับ (ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562) เป็นเงินจำนวน 226 ล้านบาท หักค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ที่ค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 63 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 162 ล้านบาท
    ขณะที่ช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) ยอดเงินประมูลใบอนุญาต 2,275 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 1,517 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นเงิน 967 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 รวม 64 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเช่ามักซ์ จำนวน 28 ล้านบาท และค่ามัสต์แครี จำนวน 35 ล้านบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้รับ (ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562) เป็นเงินจำนวน 903 ล้านบาท หักค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ที่ค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 223 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 680 ล้านบาท
         “กรอบวงเงินชดเชยของช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่) และช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) ดังกล่าว อาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย เพราะทั้ง 2 ช่องเพิ่งส่งหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงไม่สามารถเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาได้ทัน จึงจะจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนออีกครั้ง ส่วนแผนการคุ้มครองพนักงานที่ถูกเลิกจ้างของทั้ง 2 ช่อง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด และมีค่าเพิ่มพิเศษชดเชยตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนทุกช่องที่ยุติการออกอากาศแล้ว สามารถทำเรื่องขอคืนเงินต่อสำนักงาน กสทช. ได้ในวันถัดไป” นายฐากรกล่าว
    นายฐากรกล่าวว่า ส่วนการสนับสนุนการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้กับสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สำนักงาน กสทช.มีข้อห่วงใยในหลายเรื่อง จึงจะมีการนัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่อง ผู้ซื้อสื่อโฆษณา รวมถึงผู้จัดทำเรตติ้ง ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อทราบถึงแนวทางในการจัดทำเรตติ้งที่ถูกต้องและเป็นธรรม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"