"เลอตอ" จากไร่ฝิ่น...สู่โครงการหลวงสุดท้ายของในหลวง ร.9


เพิ่มเพื่อน    

(ความงดงามของเลอตอที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก)

 

    "เลอตอ" ภาษากะเหรี่ยงหมายถึง หินสองก้อนใหญ่ซ้อนทับกันอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก และเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ระมาด ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 300-1,200 เมตร ท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน สภาพอากาศที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี เมื่อมองไกลๆ เหมือนเมืองในม่านหมอก ทอดตามองไปที่ยอดเขาแต่ละลูกก็เห็นเมฆลอยอ้อยอิ่ง

(ขบวนรถโครงการหลวงจากเชียงใหม่มุ่งสู่เลอตอบนเส้นทางที่แสนวิบาก)

    ว่ากันว่า "เลอตอ" เป็นเส้นทางฝิ่นสายสุดท้ายของประเทศไทยต่อจากสามเหลี่ยมทองคำ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. พบว่าในปี 2552 มีพื้นที่ปลูกฝิ่น 204 ไร่ และต่อมาเพิ่มเป็น 355 ไร่ในปี 2558/2559 หรือในแต่ละปีจะมี “ฝิ่น” ถูกผลิตออกจากพื้นที่แห่งนี้จำนวนมาก และหากมีการนำไป “แปรรูป” ก็จะกลายเป็นเฮโรอีนที่มีมูลค่ามหาศาล

(ที่ทำการโครงการหลวงเลอตอ)

    ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปี 2559 มูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปตั้งสำนักงานที่เลอตอ นับเป็นโครงการหลวงอันดับที่ 39 และโครงการหลวงโครงการสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีจุดประสงค์เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นและการปลูกข้าวโพดที่เป็นอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นต้นตอการบุกรุกทำลายป่าที่เป็นป่าต้นน้ำอย่างหนัก
    "เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เลอตอมีชื่อเสียงมากในแง่เป็นแหล่งปลูกฝิ่นหลัก ปราบยังไงก็ไม่หมด พื้นทื่ห่างไกล กันดาร เข้าถึงยาก และเลอตอยังอยู่กึ่งกลางระหว่างอมก๋อย แม่ระมาด ท่าสะอาด สามเงา พอเราปราบที่เลอตอก็จะขยับหนีไปปลูกที่แม่ระมาด แม่สามเงา อมก๋อยแทน เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการหลวงที่นี่” สมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ กล่าว

(สมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ)

    ในยุค 4.0 ถนนลาดยางเข้าถึงเกือบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในประเทศไทย แต่สำหรับเลอตอนั้นยังอยู่ในสภาพทุรกันดารอย่างสุดๆ เพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำได้มาจากประปาภูเขา สัญญาณโทรศัพท์มือถือมีเพียงเครือข่ายเดียวที่เข้าถึง คงไม่ต้องพูดถึงทีวี แม้แต่ศูนย์โครงการหลวงเองก็ยังใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟและโซลาร์เซลล์ พอ 2 ทุ่มก็ต้องปิดไฟ ต้องจุดตะเกียงหรือเทียนไขแทน

(ระยะแค่10เมตร แต่ไปไม่ได้ ทางลื่นมาก รถคันหน้าเกิดสไลด์ ต้องมีการเคลียร์ทาง)

    ความทุรกันดารของเลอตอน่าจะมาจากสภาพถนนที่เข้าถึงยากลำบากแสนสาหัส เพราะยังเหมือนทางเกวียน ขรุขระ เต็มไปด้วยลูกรัง โคลนเลน มีร่องรอยของการเริ่มตัดทาง เครื่องมือเครื่องใช้ของกรมทางหลวงชนบทวางไว้ให้เห็นริมทาง มีเพียงบางช่วงไม่ถึง 100 เมตร ใกล้ชุมชนที่มีการราดเทปูนไว้แล้ว
    วันที่เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการหลวงเลอตอเราใช้เส้นทางแม่ระมาด-เลอตอ ตามข้อมูลบอกว่าถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่วันที่ไปเป็นช่วงพายุเข้า ฝนตกหนัก-เบาสลับกันตลอดทาง การเดินทางกว่าจะถึงใช้เวลามากถึง 8 ชั่วโมง ในระยะทางแค่ 45 กม.
    เส้นทางที่เรียกว่าถนนนั้นเป็นทางขึ้นเขา แคบ รถสวนกันยาก และอันตรายมาก สภาพถนนวันที่ฝนตกเป็นโคลนเละๆ ลื่นมาก แม้จะเป็นรถโฟร์วีลไดรฟ์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ แถมมีโซ่พันรอบ แต่ก็ผ่านแต่ละช่วงอย่างยากลำบาก ต้องเจอกับเหตุการณ์รถหมุน ลื่นไถล ติดหล่ม แม้ขบวนรถทั้ง 5 คันของโครงการหลวงมีการเตรียมการเดินทางไว้แล้ว เพราะมีวิทยุคลื่นสั้นไว้สื่อสารกันตลอด โดยเฉพาะรถนำหน้าต้องคอยบอกทางและสถานการณ์ข้างหน้าเป็นระยะๆ ให้รถตามหลังได้รับรู้ นอกจากนี้ยังมีทีมเคลียร์ถนน มีพลั่วขุดไว้เกลี่ยดินโคลน พร้อมกับลวดสลิงลากจูงกรณีเกิดการติดหล่ม

(ทางโครงการหลวงเลอตอจัดกิจกรรมระดมชาวบ้านมา “ลงแขก” ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ภูเขาที่ลาดชัน)

 

    ระหว่างทางผ่านเหตุการณ์หวาดเสียวนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อเจอกับช่วงทางลงเขา แต่พื้นถนนข้างหน้าลื่นมากๆ พร้อมสไลด์ตกเหวลึกข้างทางได้ตลอดเวลา คนขับมือดีจากโครงการหลวงที่เคยมาเลอตอแล้วต้องใช้ประสบการณ์ขั้นสูง ต่อสู้กับสภาพถนนสุดแสนหฤโหด บางครั้งต้องเหยียบคันเร่งให้สุด ดุดัน กับถนนที่เป็นโคลน ใช้กำลังรถและกำลังแขนประคองรถที่สะบัดตัวเหวี่ยงไปมาอย่างแรงราวกับจะคว่ำเพื่อให้ผ่านระยะทางแค่ 10 เมตรให้ได้ หรือบางครั้งต้องวิ่งแบบนุ่มนวลสุดๆ พร้อมกับรักษาทิศทางของรถไม่ให้ลื่นไถล เพราะถ้ารถสไลด์ไปข้างทางก็หมายความว่าจบเห่ ตกเหวไม่รอดแน่นอน
    ไม่เพียงเป็นพื้นที่กันดารเท่านั้น การทำการเกษตรที่เลอตอยังเป็นเรื่องยากที่ต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการ สมชาย หัวหน้าศูนย์ฯ เล่าว่า ช่วงแรกโน้มน้าวชาวบ้านที่เคยปลูกฝิ่นได้ 10 คนให้หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน เช่น เบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง ถั่วแขก กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง ฯลฯ แต่พื้นที่ที่นี่มีความลาดชันเป็นส่วนมาก ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ชาวบ้านเคยแต่ทำไร่หมุนเวียนและปลูกฝิ่น โครงการหลวงจึงพยายามให้ความรู้ในการปลูกผัก แต่พอปลูกได้ผลผลิตแล้วกลับประสบปัญหาการขนส่ง เพราะกว่าพืชผักจะส่งไปถึงศูนย์รวมผลิตผลโครงการหลวงที่เชียงใหม่ได้ต้องใช้เวลาเดินทางนานมาก คิดเป็นระยะทาง 385 กม. ทำให้คุณภาพความสดของผักลดลง จึงต้องหันมาคิดทบทวนและเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ หันมาแนะนำชาวบ้านให้ปลูกผลไม้เมืองหนาวเพิ่มเติมจากพืชผัก โดยเฉพาะเสาวรส ที่จะไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่งแม้ต้องใช้เวลานาน

 

กระเตงลูกมาเป็นจิตอาสา


    "เราต้องปรับกระบวนการให้เข้ากับวิถีชีวิตของเขา และใช้ประสบการณ์ทุกอย่างที่ทำโครงการหลวงมา 50 ปีมาใช้ที่เลอตอ เพราะที่นี่มีปัญหามากมายหลายอย่าง ไม่ได้มีแต่เฉพาะความกันดารอย่างเดียว ปัญหาสภาพอากาศปิดหลายเดือน ไม่มีแดดเลย เป็นปัญหากับพืชที่ต้องการแสงแดดสังเคราะห์แสง ปัญหาการขนส่ง ปัญหาการให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการลักลอบปลูกบ้าง และนอกจากต่อสู้กับฝิ่นแล้ว ตอนนี้เรายังต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ คือ ข้าวโพด ซึ่งเป็นตัวทำลายพื้นที่ป่า เพราะข้าวโพดต้องใช้พื้นที่มาก" สมชายกล่าว ซึ่งตรงกับภาพเขาหัวโล้นที่เห็นระหว่างทางไปเลอตอ บางลูกเหลือแต่ตอไม้สีดำ
    ผ่านไป 3 ปี การทำงานที่เลอตอเริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างในปีงบประมาณ 2561 โครงการหลวงที่เลอตอสามารถปลูกพืชได้ 17 ชนิด มีเกษตรกร ได้ประโยชน์ 208 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูก 256.6 ไร่ มูลค่าผลผลิตที่ผ่านโครงการหลวง 2,218,689 บาท มูลค่าที่เกษตรกรจำหน่ายเองรวมจำนวน 250,942 บาท

ชาวเลอตอ เป็นจิตอาสาปลูกหญ้าแฝก


    เมื่อถามว่า ฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นหรือไม่ หัวหน้าศูนย์พัฒนาฯ บอกว่า ถ้าดูจากตอนนี้ที่หลายบ้านมีรถกระบะป้ายแดงออกใหม่จอดอยู่ ก็พอจะประเมินได้ว่ามีฐานะดีขึ้น ไม่ได้ยากจนเหมือนแต่ก่อนและมีคนลงไปเป็นลูกจ้างน้อยลง

(พื้นที่ปลูกเสาวรส)

    "บางคนมาเบิกเงินจากโครงการ 6 แสน มาซื้อรถ หรือในช่วงแค่ 4 เดือนเขาสามารถขายเสาวรสให้กับเรามูลค่า 3 แสนบาท แต่ถ้าเราไปถามว่าเขามีรายได้เท่าไหร่กันแน่ เขาจะไม่ตอบ เพราะกลัวว่าถ้าบอกไปจะมีคน ก็ชาวบ้านด้วยกันนั่นแหละมายืมเงิน สังคมที่นี่ยังเข้มแข็งแบบดั้งเดิม เขาไม่มีเงิน ใช้วิธีการลงแขก แลกเปลี่ยน ถ้าบ้านไหนมีการลงแขกเมื่อไหร่ คนอื่นๆ ต้องไม่ขาด ต้องไปช่วย เขาก็จะจ่ายกันเป็นข้าว หมู ไก่ หรือให้ยืมเครื่องมือ พวกรถไถ ใช้วิธีเอาแรงไปแลก" สมชายเล่า

(เสาวรส)

    นอกจากเสาวรสที่เป็นพืชทำรายได้หลักให้กับชาวบ้านแล้ว สมชายบอกว่า เป้าหมายต่อไปคือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอะโวคาโด แมคคาเดเมีย เกาลัด กาแฟ ลิ้นจี่ พลับ ที่ได้ราคาดีกว่าพืชผัก แม้ต้องใช้เวลากว่าจะได้ผลผลิต 3-7 ปี อย่างอะโวคาโด-เกาลัด ใช้เวลา 3-4 ปี แต่แมคคาเดเมียต้องรอถึง 6-7 ปีกว่าจะได้ผลผลิต

(อิทธิพล ดอยสอาด วัย 47 ปี เกษตรกรในโครงการ ที่เสาวรสสร้างรายได้หลัก)

    อิทธิพล ดอยสอาด วัย 47 ปี เกษตรกรในโครงการ ทำพื้นที่เกษตร 4 ไร่ เปลี่ยนชีวิตจากเคยปลูกข้าวโพดมาก่อน ซึ่งใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30-40 ไร่ ตอนนี้มีรายได้หลักจากการปลูกเสาวรส เล่าว่า แต่ก่อนลำบากมาก ต้องจากครอบครัวไปรับจ้างทำงานในเมือง แต่ตอนนี้ชีวิตดีขึ้น มีรายได้จากผักที่ปลูกทุกเดือน ทั้งเบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง และในช่วง 4 เดือนก็ยังขายเสาวรสได้ เทียบกับการปลูกข้าวโพดแล้วเงินไม่เหลือ เพราะต้องมีค่าปุ๋ย ค่ายา และยังต้องจ้างคนอื่นมาช่วยด้วย เนื่องจากข้าวโพดใช้พื้นที่มาก แต่ตอนนี้ทำเกษตรแค่ 4 ไร่ ก็สามารถทำกันได้ภายในครอบครัว ไม่ต้องไปจ้างใคร
    "ดีใจที่โครงการหลวงมาที่หมู่บ้านเรา มาแล้วเจริญขึ้นเยอะ แต่ก่อนถนนแย่ เดินอย่างเดียว มีคนป่วยต้องหามไป ไม่มีรถ ยิ่งหน้าฝนบางทีต้องค้างคืนกลางทาง เพราะไปไม่ได้ ตอนนี้รถเข้าถึงแล้ว ดีขึ้นเยอะครับ"

(แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา 1 ใน 10 เกษตรกรรุ่นแรกของโครงการ)

    อีกราย "แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา" อายุ 47 ปี เป็น 1 ใน 10 ของเกษตรกรรุ่นแรก ปัจจุบันมีรายได้หลักจากการปลูกผักในพื้นที่ไร่กว่าๆ บอกว่า เมื่อก่อนเคยปลูกข้าว ทุกวันนี้ก็ยังปลูกไว้กินเอง แต่ปลูกผักมีรายได้ทุกเดือน นอกจากเบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง ยังปลูกสตรอว์เบอร์รี ลูกหม่อน เสาวรส เกรปฟรุต และจะปลูกพืชผลไม้พวกอะโวคาโด แมคคาเดเมียที่ทางโครงการแนะนำ
    "ปลูกผักดีครับ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ส่วนปัญหาเรื่องขนส่ง อย่างหน้าร้อนต้องรอจนกลางคืน ก็จะไม่ตัดช่วงเช้า เพื่อผักจะได้สดนานๆ ครับ" แปะแหละเล่า
    นอกจากแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการปลูกพืช ศึกษาการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมลาดชัน เพื่อเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่ลาดชันและไร้ซึ่งความเจริญอย่างเลอตอ

(ยายชาวกะเหรี่ยงที่มาร่วมปลูกหญ้าแฝก)

    "เราฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการผลิตปุ๋ยหมัก การปลูกหญ้าแฝก ส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง ภายใต้บริบทของชุมชน โดยร่วมกันระหว่างชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการพัฒนายุวเกษตรกรโครงการหลวงเพื่อเป็นเกษตรกรที่ดีในอนาคต" หัวหน้าฯ สมชาย กล่าว
    "พืชพรรณ" ที่มาจากโครงการหลวงเลอตอจึงมีเรื่องราวเบื้องหลังและความยากลำบาก กว่าที่ผลผลิตเหล่านี้จะมาถึงมือผู้บริโภค และปีนี้จะมีการจัดงานในวาระครบรอบ 50 ปีของโครงการหลวง ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-18สิงหาคม  2562 โดยงานจะจัด ณ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"